นักธุรกิจจีนหอบตังกว้านเทคโอเวอร์สโมสรฟุตบอล Domino Effect

ท่านผู้อ่านที่มีบุตรและเคยไปเดินเล่นแผนกของเล่นเด็กในห้างสรรพสินค้า จะสังเกตุเห็นว่ารถบังคับวิทยุที่มีขายนั้นเดี๋ยวนี้มีเยอะแยะมากมาย มีอยู่ยี่ห้อหนึ่งที่มีขายทั่วไปและแพร่หลายลองหยิบกล่องขึ้นมาดูครับจะเห็นว่าเป็นยี่ห้อ Rastar ซึ่งผลิตในประเทศจีน

มีใครทราบไหมครับว่ารถบังคับวิทยุที่ผมพูดถึงนี้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับวงการฟุตบอลบ้าง ไม่ต้องเดาครับ บอกให้ก็ได้ว่า Rastar เป็นเจ้าของสโมสร Espanyol ที่เป็นสโมสรร่วมแคว้น คาตาลัน กับ Barcelona นั่นเองโดย Rastar เข้าไปถือหุ้นเกิน 50% ของสโมสรนี้เมื่อสองปีก่อน

นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของสโมสรในทวีปยุโรปที่ถูกนักธุรกิจหรือมหาเศรษฐีของจีน Takeover ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาอันเนื่องมาจากนโยบายของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่ต้องการเสริมสร้างศักยภาพของฟุตบอลจีนในหลายๆ ด้านเพื่อให้ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจลูกหนังให้ได้เร็ววัน ซึ่งเมื่อเป็นความต้องการของประธานาธิบดี (ผู้ซึ่งได้รับการวิเคราะห์ว่ามีอิทธิพลสูงที่สุดของจีนตั้งแต่ เหมา เจ๋อ ตุง เป็นต้นมา) ทุกคนก็ต้องพยายามสนองตามนั้น

AC Milan ในอิตาลี Southampton ในอังกฤษ Slavia Prague ในสาธารณรัฐเชค Atletico Madrid ในสเปน เป็นตัวอย่างของสโมสรที่ถูกคนจีนซื้อไปและเข้าไปบริหาร นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการ Takeover ที่มีเม็ดเงินถูกใช้ไปกว่า 2.5 พันล้านเหรียญในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อเทียบกับเม็ดเงินกว่า 2 แสนล้านเหรียญที่ไหลออกจากจีนไปเทคโอเวอร์กิจการธุรกิจอื่นๆ ทั่วโลกในปีที่แล้วปีเดียว ถือว่าน้อยมาก แต่เป็นการลงทุนที่ทั้งนาย สี จิ้นผิง และมหาเศรษฐีเหล่านี้เชื่อว่าจะช่วยสร้างรากฐานของวงการฟุตบอลจีนเพื่อไปให้ถึงฝัน รวมทั้งในสเกลใหญ่ เป็นการสร้าง Soft Power หรืออิทธิพลทางอ้อมที่ส่งผลให้ประชาคมโลกหันมามองประเทศจีนในมุมที่ต่างออกไปและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีได้ แต่ก็นั่นแหละครับ เราได้เห็นการลงทุนจากทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และประเทศในตะวันออกกลางที่กว้านซื้อสโมสรฟุตบอลใหญ่ๆ ไปก็หลายสโมสร ผมก็ยังไม่เห็นว่าแฟนบอลหรือประชาคมโลกจะมีทัศนคติที่เปลี่ยนไปแต่อย่างใดกับความพยายามเหล่านี้

การลงทุนของมหาเศรษฐีชาวจีนเพื่อตอบสนองความต้องการของประธานาธิบดีเริ่มถูกมองแล้วว่าเป็นการเล่นเกมตามน้ำที่โฉ่งฉ่างไปหรือเปล่า เม็ดเงินจำนวนมากไหลออกจากจีน การ Takeover บางสโมสรอย่าง Espanyol นี้ตามรายงานข่าวบอกว่าเป็นการจ่ายเงินสดด้วยซ้ำ ไม่ได้ใช้กลไกการกู้เงินหรือเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ เลย ลองคิดดูสิครับ น่าตกใจไหม

ไม่ใช่เราเองคนเดียวที่ตกใจนะครับ แม้กระทั่งรัฐบาลจีนเองก็เริ่มตกใจกับการทุ่มเงินมหาศาลเหล่านี้ออกนอกประเทศ ส่งผลให้ระยะหลังๆ รัฐบาลของนาย สี จิ้นผิง ได้ประกาศมาตรการควบคุมการไหลออกของเงินไปนอกประเทศ ยิ่งมหาเศรษฐีหลายคนคิดว่าทำแบบนี้น่าจะช่วยให้ประธานาธิบดีเห็นชอบด้วยและธุรกิจของตนได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในฐานะช่วยวงการฟุตบอลจีน ยิ่งทำให้ตัวประธานาธิบดีเองเริ่มรู้สึกไม่สบายใจที่แนวคิดการปั้นวงการฟุตบอลจีนของตนถูกนำไปเป็นข้ออ้างในการซื้อสโมสรดังกล่าว ดังนั้นการกลับลำมาตรการทางการเงินดังกล่าวก็เป็นตัวช่วยหนึ่งที่ Buffer การเทคโอเวอร์อย่างบ้าคลั่งนี้ได้

ทีนี้ปัญหาใหญ่ก็กลับมาอยู่ที่บรรดามหาเศรษฐีหลายคนที่กำลังจะลงทุน หรือเพิ่งได้ลงทุนไป เพราะอะไรครับ ถ้ากำลังจะลงทุนซื้อสโมสรต่างประเทศ นั่นหมายความว่าการเอาเงินออกนอกประเทศทำได้ยากมากขึ้นกว่าก่อนเยอะ ถ้าจะทำจริงอาจต้องใช้แผนการระดมทุนนอกประเทศ ซึ่งนั่นหมายความถึงการกู้ยืมเป็นภาระหนี้สินอีก ส่วนเจ้าที่เพิ่งได้ลงทุนไปและมีแผนการที่จะเอามูลค่าการลงทุนคืนมาด้วยการเอาสโมสรนั้นกลับเข้ามา IPO ในตลาดหุ้นจีนก็ทำไม่ได้แล้ว เพราะรัฐบาลเพิ่งออกกฏหมายห้ามการดำเนินการดังกล่าว

Richard Lee Credit : www.scmp.com

ยกตัวอย่างเจ้าที่น่าจะเริ่มหวาดเสียวกับการลงทุนของตัวเองไปก็คือเจ้าของสโมสร AC Milan ซึ่งถูก Takeover ไปโดยกลุ่มธุรกิจชาวจีนนำโดยนาย Richard Lee โดยกลุ่มธุรกิจนี้เพิ่งจ่ายค่ามัดจำแบบไม่มีการคืนจำนวนมหาศาลถึง 117 ล้านเหรียญให้กับเจ้าของเก่านาย Berlusconi ไปก่อนหน้าที่กฏระเบียบใหม่ของรัฐบาลจีนจะออกมาใช้บังคับ สิ่งที่นาย Lee หวังไว้ก็คือจ่ายมัดจำเสร็จ นำเอา AC Milan มาระดมทุนในประเทศจีนแล้วค่อย IPO เข้าตลาดหุ้นเพื่อสร้างมูลค่าและทำกำไรต่อไป เป็นยังไงครับ เจอ 2 ต่อเลย นักลงทุนรายอื่นในจีนจะเอาเงินตัวเองไปลงทุนด้วยกับสโมสรก็ทำได้ยากเพราะรัฐบาลจำกัดการเอาเงินออก แม้จะทำได้เข้ามา IPO ในจีนก็โดนด่านห้ามจากรัฐบาลอีก

ว่ากันว่าครั้งนี้นาย Lee อาจจะเจ็บตัวแน่นอน โดยภายหลังที่มีการประกาศกฏใหม่ในเรื่องดังกล่าวออกมาเกือบทำให้ดีลดังกล่าวล้มลง แต่ด้วยมัดจำที่ไม่มีการคืนกว่า 117 ล้านเหรียญส่งผลให้นาย Lee ต้องหาทางออกใหม่ในการซื้อสโมสรด้วยการมองหาแหล่งทุนหรือกู้ยืมในต่างประเทศอย่าง Hedge Fund ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งคงคิดดอกเบี้ยสูงทีเดียว

สำหรับกรณีแบบนี้ฟังดูแล้วก็น่ากลัวนะครับสำหรับสโมสรที่อยู่ในมือของจีน ถ้านโยบายของรัฐบาลยังไม่ค่อยเอื้อให้มีการลงทุนเอาเงินออกนอกประเทศเพิ่ม นายสี จิ้นผิง ไม่อยากเปลืองตัวกับการถูกนำไปอ้างอิง สิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะเกิดขึ้นก็คือบรรดามหาเศรษฐีเหล่านี้ก็เหมือนถูกปล่อยเกาะล่ะครับ ทีนี้ก็ตัวใครตัวมัน สิ่งที่แต่ละคนต้องทำก็คือพยายามปั้นโมเด็ลธุรกิจของสโมสรให้สร้างรายได้สูงสุดให้ได้ สำหรับสโมรสรเล็กๆ ที่ฐานแฟนบอลน้อยๆ นั้นก็น่าเป็นห่วงหน่อย เพราะรายได้ส่วนหนึ่งก็มาจากการขยายฐานแฟนบอลไปทั่วโลกซึ่งการจะเข้าไปแทนที่สโมสรใหญ่ๆ ระดับโลกในใจของแฟนบอลคงทำได้ยาก

ที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือการล้มละลายหรือการขาดทุนมหาศาลของสโมสร เพราะไม่ใช่เจ้าของสโมสรชาวจีนทุกคนจะมีทุนมหาศาลเป็นเงินก้นถุง หลายรายใช้กลไกทางตลาดการเงินในการเข้า Takeover และต้องดิ้นรนเพื่อหาเงินมาดำเนินการต่อให้จนจบ ทีนี้ถ้าเกิดฟองสบู่แตกขึ้นมาล่ะก็ รับรองครับว่าส่งผล Domino Effect ในวงการฟุตบอลลีกยุโรปอย่างแน่นอน กลายเป็นเรื่องปวดหัวที่สมาคมฟุตบอลของแต่ละประเทศต้องมานั่งประกับประคอง สโมสรเล็กๆ ที่หวังเม็ดเงินเหล่านี้ก็จบข่าว สโมสรใหญ่ๆ กินขาดเหมือนเดิม บรรดานักเตะในสโมสรที่ถังแตกมีสิทธิ์ถูกลอยแพ ฯลฯ ก็ลองมาดูกันครับว่าผลกระทบระยะยาวจะเป็นเช่นไร ถ้าไม่ลืม กลางปีหน้าจะมาเล่าให้ฟังว่า 6 เดือนผ่านไปเราได้เห็นผลอย่างที่ผมคิดหรือเปล่า

 

บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามกีฬา ฉบับวันที่  24 พฤศจิกายน 2560

ติดตามมุมมองสบายๆ ของเศรษฐา ทวีสิน เกี่ยวกับกีฬาและสังคมได้ที่ คลิก