รู้ไหมว่า “ขยะ” ที่เรามองเห็นในแต่ละวัน ไม่ได้เป็นแค่เศษของเหลือที่รอวันทิ้งเสมอไป แท้จริงแล้ว ขยะทุกชิ้นที่ผ่านมือเราล้วนสามารถเพิ่ม “มูลค่า” ดัดแปลงและสร้างสรรค์ให้เป็นสิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ!
ในปัจจุบันที่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งจำเป็น การมองขยะหรือสิ่งเหลือใช้ในมุมที่ต่างออกไปจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเศษอาหารเหลือใช้ พลาสติกใช้แล้ว กระดาษเก่า ขวดแก้ว หรือแม้แต่เสื้อผ้าที่ไม่ได้ใส่แล้ว สิ่งเหล่านี้สามารถแปลงเป็นทรัพยากรที่มีค่า พัฒนาเป็นสินค้าติดเทรนด์ และสร้างรายได้อีกมาก
วันนี้แสนสิริจะพาคุณไปสำรวจแนวคิดที่ว่า “Waste” ไม่ได้แปลว่าต้องทิ้งเสมอไป ชวนคุณศึกษา ทำความเข้าใจ แนวคิดการจัดการของเหลือทิ้ง ตั้งแต่การ Recycle, Upcycle ไปจนถึง Downcycle ครบจบ เพื่อให้คุณจัดการกับขยะได้ดีขึ้น และชวนคุณมาค้นพบว่าขยะทุกชิ้นสามารถเพิ่มมูลค่าได้ด้วยมือเรา เพื่อให้ของนั้น ๆ กลับมาเป็นสิ่งของใหม่ที่ใช้ประโยชน์ได้ดีอีกครั้ง
หากพร้อมที่จะนำเทรนด์การรักษ์โลกแบบสร้างสรรแล้ว ลองหันไปดูสิ่งของรอบตัวในบ้านและเริ่มจัดการอย่างถูกวิธีไปกับแสนสิริดีกว่า!
วนไขความลับแนวคิด Recycle – Upcycle – Downcycle ปลดล็อกความลับการสร้างสรรค์ของเหลือใช้ใกล้ตัว เพื่อโลกที่ดีกว่า
ก่อนอื่นเราขอพาทุกคนทำความเข้าใจแนวคิดกระบวนการการจัดการวัสดุใช้แล้วและขยะอย่างยั่งยืน ด้วย 3 แนวคิดหลักที่ทุกคนอาจพอคุ้นหูกันบ้างแล้ว เพื่อให้จัดการกับวัสดุและบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วได้อย่างถูกต้อง พร้อมเปลี่ยนเป็นสิ่งของที่มีค่ายิ่งขึ้น
Recycle คือ ขบวนการนำวัสดุใช้แล้วหรือเหลือทิ้ง มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรม เช่น การหลอม การบด ซึ่งจะกลายเป็นวัตถุดิบตั้งต้นเดิมสำหรับใช้งานต่ออีกครั้ง โดยที่คุณภาพของวัตถุดิบที่รีไซเคิลแล้วอาจเทียบเท่าหรือใกล้เคียงคุณภาพเดิม
แต่ไม่ใช่วัสดุทุกชนิดจะรีไซเคิลได้ 100% มีเพียงวัสดุไม่กี่ชนิด อย่าง อลูมิเนียม แก้ว โลหะ พลาสติก ที่สามารถทำได้ และที่สำคัญการรีไซเคิลเป็นเพียงขั้นตอนลดใช้ทรัพยากรใหม่ ผ่านการหมุนเวียนทรัพยากรเดิมให้กลับมาใช้ใหม่เรื่อย ๆ
Upcycle คือ ขบวนการนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างสรรค์เป็นสิ่งใหม่ มาจากแนวคิด Green Design หรือ Eco-Design นั่นเอง ดังนั้น Upcycle จึงเป็นการยืดอายุวัสดุใช้งานแล้วให้เกิดเป็นของใช้ใหม่ ๆ ที่อาจใส่ไอเดียสร้างสรรค์เข้าไปได้ทำให้ของมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
Downcycle คือ หนึ่งในกระบวนการยืดอายุวัสดุที่ผ่านการใช้งานแล้วให้ได้นานที่สุด ก่อนที่จะไม่สามารถใช้งานวัสดุนั้นต่อไปได้และกลายเป็นขยะในที่สุด
นอกจากนี้ขั้นตอนที่เราต้องเริ่มใส่ใจให้ดีตั้งแต่แรกคือ การคัดแยกขยะ เพื่อให้จัดการขยะแต่ละประเภทได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะนำไป Recycle, Upcycle หรือ Downcycle ก็ตาม และหากวัสดุเหลือทิ้งสามารถทำให้เป็น “Closed Loop Recycling” ได้ จะยิ่งได้ประโยชน์สูงสุด เพราะเกิดการหมุนเวียนทรัพยากรผ่านการรีไซเคิลอย่างไ
ปัจจุบันสถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชนในไทย 2567 มีปริมาณขยะมากถึง 27.20 ล้านตัน แต่มีขยะเพียง 10.51 ล้านตัน ที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เท่านั้น นั่นนำมาสู่คำถามที่ว่าทำอย่างไรให้อนาคตของขยะไทยมีมูลค่ามากยิ่งขึ้น? และที่สำคัญคือต้องมากขึ้นอย่างยั่งยืนด้วย
การเปลี่ยนความสนใจมาสู่แนวคิดแปลงขยะให้เป็นสินค้ามูลค่าสูง จนนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้จริง จากข้อมูลปี 2568 ที่คาดการณ์ว่าตลาด Upcycle อาจมีมูลค่าถึง 9.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะยังเติบโตต่อไปอีกมาก
ปัจจุบันมีเทคโนโลยีช่วยสนับสนุนมากมาย อย่างการผสานเทคโนโลยีเข้ากับการรีไซเคิลและอัพไซเคิล การใช้ AI เพิ่มประสิทธิภาพแยกขยะ การใช้นวัตกรรมในการผลิตวัสดุเหลือใช้ให้เป็นสินค้าใหม่ หรือเทคโนโลยี 3D Printing ช่วยออกแบบ หรือใช้เทคโนโลยีสกัดโลหะมีค่า อย่าง ทองคำ จากขยะอิเล็กทรอนิกส์
และด้วยโอกาสทางธุรกิจอันมากมายนั้น แน่นอนว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือแรงสนับสนุนธุรกิจรีไซเคิลและอัพไซเคิล โดยเฉพาะในประเทศไทย
เริ่มง่าย ๆ ได้ที่การสร้างความตระหนักรู้และสร้างการยอมรับผลิตภัณฑ์ Upcycle ให้มีมากขึ้นเป็นวงกว้าง
การใช้เทคโนโลยีช่วยสนับสนุนตั้งแต่แยกขยะ ออกแบบ ไปจนถึงขั้นตอนผลิตสินค้า
การสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เช่น มาตรการทางการเงิน มาตรการภาษี
เช่นนี้แล้ว โอกาสการเติบโตของธุรกิจที่ช่วยสร้างอนาคตของขยะให้ดียิ่งขึ้น ย่อมเติบโตได้อีกมาก และที่สำคัญเป็นโอกาสในการสร้างมูลค่าสินค้าจากขยะอย่างยั่งยืน และเป็นการช่วยชะลอการผลิตวัสดุใหม่ ๆ เข้าสู่กระบวนการในปัจจุบัน
ขยะมีค่าแค่ไหน? นอกจากนำไปขายส่งระบบขายของเก่าหรือซาเล้งแล้ว ขยะสามารถพัฒนาไปสู่สินค้าได้อีกมาก และแน่นอนว่าบางทีอาจมีมูลค่ามากกว่าของตั้งต้นเสียอีก
โพสต์นี้เราอยากพาไปดู 4 แบรนด์ดัง ที่ใช้วัสดุเหลือทิ้ง มาสร้างสรรใส่ไอเดียและใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มมูลค่า ให้สินค้าเป็นที่ต้องการจนไม่ต้อง waste ส่วนใดทิ้งไปเป็นขยะเลย
PDM Brand : แบรนด์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล และ 100% PP Recycled จาก Post Production Material นำกลับมาขึ้นรูปใหม่ นอกจากนี้แบรนด์นี้ยังไม่มีสต๊อกสินค้า (Zero Stock) เน้นผลิตสินค้าตามความต้องการของลูกค้าเพื่อลดการสร้างขยะในปัจจุบัน
Notep Store : แบรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าและเครื่องประดับรักษ์โลกสุดครีเอท ที่มีเป้าหมายต้องการ slow fashion เพื่อให้ทุกคนได้ใช้สินค้าอย่างยั่งยืน ด้วยสินค้าที่ผลิตจากพลาสติกบดละเอียดและผ้าค้างสต็อค กลายมาเป็นชุดและเครื่องประดับสุดยูนีค ไม่เหมือนใคร
Haoma : ร้านอาหารไฟน์ไดน์นิ่ง Neo – Indian ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน 6 Sustainable Restaurants in the World ด้วยเอกลักษณ์การปรุงอาหารจากวัตถุดิบที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาจากฟาร์มผักและสมุนไพรปลอดสารพิษ โซนบ่อปลาและฟาร์มสัตว์ต่างๆ นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นร้านอาหารแบบ zero – waste ร้านแรกในประเทศไทยอีกด้วย
แผ่นฟิล์มคลุมโรงเรือนแบรนด์ Harumiki : คือแผ่นฟิล์มช่วยดูแลสตรอว์เบอร์รีทุกส่วน ตั้งแต่คลุมกระถางและลำต้น ปกป้องฝุ่นผงและแมลง ส่วนกักเก็บน้ำและหยดกลับลงดิน ส่วนสุดท้ายช่วยดูดซับแสงแดด และเมื่อหมดอายุใช้งาน จะถูกทำความสะอาด บด เป่าขึ้นมาเป็นฟิล์มในรูปร่างใหม่ เป็นการใช้งานอย่างไม่รู้จบนั่นเอง
การเริ่มต้นผนึกกำลังจัดการขยะให้ดีอย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นทาง คือหนึ่งในการเริ่มต้นที่สำคัญเพื่อทำให้เรามีเมืองที่สะอาดและยั่งยืน 🌱
#แสนสิริ ขอร่วมเป็นส่วนสำคัญในขบวนการดูแลสิ่งแวดล้อมในทุก ๆ พื้นที่ที่เรามีโครงการก่อสร้าง โครงการที่อยู่อาศัย สำนักงาน และทุก ๆ พื้นที่ เราตั้งใจจัดการขยะให้ดีตั้งแต่ต้นทางด้วยโครงการ “1 โปรเจค 1 ผลิตภัณฑ์”
โครงการ 1 โปรเจค 1 ผลิตภัณฑ์ ของแสนสิริ มีขั้นต้อนหลักที่เราทำในทุกๆ โครงการ ตามนี้
เริ่มตั้งแต่การคัดแยกขยะให้ถูกต้องตามประเภท ซึ่งเรามีถังขยะที่แตกต่างกันเพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น หัวใจหลักคือการไม่เทรวมนั่นเอง
Recycle ของเหลือใช้ วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้จะถูกนำไปจัดการเพื่อรีไซเคิลต่อไป
Upcycle เศษวัสดุเป็นของชิ้นใหม่ โดยเฉพาะในโครงการก่อสร้าง ที่มีเศษวัสดุเหลือทิ้ง อย่าง แผ่นไม้พาเลท เศษหินอ่อน ท่อเหล็ก เชือก สายยาง เราจึงนำวัสดุเหล่านี้ มาออกแบบจัดการใหม่ ร่วมกับทีมสถาปนิก วิศวกร และคนงานในไซท์ก่อสร้าง
ยกระดับการจัดการขยะรูปแบบใหม่ นอกจากจะจัดการขยะด้วยวิธีข้างต้นแล้ว เรายังมีการศึกษาหาวิธีการจัดการขยะให้แตกต่างและได้ผลลัพธ์ที่ดีและมีมูลค่าขึ้น คนงานและเจ้าหน้าที่ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ #1โปรเจค1ผลิตภัณฑ์ ได้นั่นเอง
ปัจจุบันผลลัพธ์ของโครงการ 1 โปรเจค 1 ผลิตภัณฑ์ ทำให้เราลดขยะไปกว่า 19,000 กิโลกรัม และได้ผลงานสุดสร้างสรรค์จากวัสดุเหลือทิ้งและขยะในโครงการ เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่มากกว่า 150 ชิ้น จาก 80 โครงการทั่วไทย อย่าง เตาบาร์บีคิว ชุดอุปกรณ์ออกกำลังกาย อุปกรณ์ทำสวน Tools Cabinet เฟอร์นิเจอร์เก้าอี้และโต๊ะ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ในสวนต่างๆ อีกมาก
เพราะเราเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นขยะภายในบ้านหรือขยะจากการก่อสร้าง หากมีการจัดการที่ดีตั้งแต่แรก ก็สามารถพัฒนาให้วัสดุเหลือทิ้งมีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อคนอีกมาก