ความสำเร็จ

ความสำเร็จ ความน่าเชื่อถือ และความเสื่อมโทรม ของลีกฟุตบอล

ความสำเร็จ ของทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งประกอบไปด้วยสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เป็นทวีปที่ประชากรเรียกได้ว่า บ้ากีฬา มากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นตลาดกีฬาที่ใหญ่มากที่สุดแห่งหนึ่ง มูลค่าตลาดกีฬาภาพรวมของทวีปสหรัฐอเมริกาที่บริษัท consultant ใหญ่อย่าง Price Water House Cooper รายงานสรุปบอกว่าจะสูงกว่า 7 หมื่นล้านเหรียญภายในปี 2018 หรืออีก 3 ปีข้างหน้านี้ ก้าวกระโดดจากมูลค่าประมาณ 5.7 หมื่นล้านเหรียญในปี 2013 (นับจากเม็ดเงินที่ได้จากค่าตั๋วเข้าชมในสนาม ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดที่มีการซื้อขาย ค่าสปอนเซอร์ต่างๆ และค่าลิขสิทธิ์ที่ได้จากการขายของหรือ merchandising)

และเมื่อเอ่ยถึงตลาดกีฬาในทวีปนี้และสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะแล้ว ก็หลีกไม่พ้นกีฬายอดฮิตอยู่ประเภทหนึ่งที่ก่อให้เกิดรายได้และเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาล ก็คืออเมริกันฟุตบอล และมีความพยายามที่จะก่อตั้ง ลีก การแข่งขันในกีฬาประเภทเดียวกัน หรือ คล้ายคลึงกัน ขึ้นมาในอดีต อันเนื่องมาจากการมองเห็นโอกาสและหวังจะสร้างความนิยมและสร้างมูลค่าส่งผลให้ผู้ก่อตั้งร่ำรวยไปตามๆ กัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความล้มเหลวไปตามๆ กัน ผมจะลองยกตัวอย่างมาเล่าให้ฟัง

NFL เคยพยายามที่จะ export กีฬาอเมริกันฟุตบอลเข้าไปในระดับนานาชาติด้วยการก่อตั้ง World League of American Football ขึ้นในปี 1991 โดยประกอบไปด้วย 10 ทีมที่แข่งขันกัน (มีถึง 7 ทีมที่มาจากสหรัฐฯ) มีการเปลี่ยนกฎบางอย่างที่พยายามให้เกมดูง่ายขึ้นแต่อย่างไรก็ตามลีกนี้ไม่ประสบความสำเร็จปิดฉากลงในปี 1997 แม้มีความพยายามต่อเนื่องที่จะ rebrand เป็น NFL Europe ด้วยความหวังที่จะเอาชื่อ NFL มาดึงดูดก็ไม่ประสบความสำเร็จอยู่ดีอันเนื่องด้วยจำนวนคนดูที่น้อย ไม่ได้รับความนิยม ทีม NFL ไม่อยากเอาผู้เล่นชั้นดีมาเสี่ยงเจ็บนอกฤดูกาล สุดท้ายก็ปิดฉากลงในปี 2007

เข้ามาใกล้วงการฟุตบอลกันอีกนิด ถ้ายังจำกันได้เราเคยเห็นนักฟุตบอลระดับตำนานอย่าง Pele มาโลดแล่นโชว์ลีลาในทวีปอเมริกาภายใต้สังกัดทีม New York Cosmos โดยสมัยนั้นยังไม่มี Major League Soccer อย่างตอนนี้แต่เป็นลีกฟุตบอลที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาในปี 1968 โดยเรียกว่า North American Soccer League โดยนักเตะต่างชาติส่วนมากที่มาเล่นก็คล้ายกับ Pele คือผ่านช่วงสุดยอดของตัวเองมาแล้วกำลังร่วงโรยแต่ก็ถือว่ายังเล่นได้เทพกว่านักเตะ local ของทีมต่างๆ ในลีกดังกล่าว แต่สุดท้ายในช่วงยุค 80’s จำนวนคนดูลดลง รวมทั้งบรรดาสปอนเซอร์ต่างๆ เริ่มถอนตัว รายได้หดลงเรื่อยๆ สุดท้ายลีกนี้ก็ปิดฉากลงในปี 1985

จากตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดก็เพื่อจะบอกว่า ไม่ง่ายนะครับที่ ลีกกีฬา สักอันจะถูกจัดตั้งขึ้นมาแล้วสามารถมีชีวิตยืนยาวได้ เพราะต้องมีทั้งเงินสนับสนุนและศรัทธาจากกลุ่มคนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยกันผลักดันให้เกิดความสำเร็จในระยะยาว

หันมามองที่บ้านเรา ตอนนี้ฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกของเราก็เรียกได้ว่าอยู่ในฐานะที่ค่อนข้างมั่นคง ประสบความสำเร็จทั้งในด้านเงินและกล่อง ทุกคนที่มีส่วนร่วมโดยส่วนมากแฮปปี้กันถ้วนหน้า ลีกสามารถเป็นรากฐานและยกระดับในการสร้างนักเตะทีมชาติได้อย่างต่อเนื่อง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาไม่มีนะครับ เมื่อทุกอย่างไปได้สวย ทุกคนก็อยากที่จะชื่นชมและมีส่วนร่วมกันเสียทั้งหมด ในขณะที่ปัญหาเล็กบ้าง ไม่เล็กบ้าง ถูกมองข้าม และยกให้เป็นภาระของคนที่เกี่ยวข้องโดยตรงไม่กี่คนให้ไปหาทางจัดการกันเองอย่างไร้ความชัดเจน

ไล่มาตั้งแต่เรื่องวุ่นๆ ของการค้างค่าตอบแทนกรรมการตัดสินที่ถือว่าเป็นกลุ่มบุคลากรสำคัญมากกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจะว่าไปก็อาจจะมีผลต่อความไม่มีประสิทธิภาพหรือด้อยประสิทธิภาพของกรรมการในสายตาของแฟนบอลอย่างเราๆ ในหลายๆ เกมสำคัญๆ ซึ่งหลายๆ ครั้งก็มักถูกมองว่าเป็นการ โอนเอียง เข้าข้าง ทีมบางทีมอย่างน่าเกลียด ซึ่งในขณะที่เม็ดเงินที่แต่ละทีมลงทุนไปเป็นหลักร้อยล้านพันล้าน เรื่องการจัดการในส่วนของผู้ตัดสินยังทำอย่างกับบอลวัดสมัครเล่นเสียอย่างนั้น

ล่าสุดปัญหาคาราคาซังของมาตรฐานการตัดสินที่กังขาส่งผลให้แฟนบอลสตูลอดทนไม่ไหวลงมือลงไม้ทำร้ายผู้ตัดสินก็ถือเป็นประเด็นหนึ่งที่น่าจับตาเพราะกรณีนี้เป็นผลของหลายๆ ปัญหาเล็กๆ มาประกอบกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานการตัดสิน มาตรฐานความปลอดภัยในสนาม การควบคุมแฟนบอล และการยอมรับผลแพ้ชนะของคนดู แต่สุดท้ายภาพออกมาแสดงถึงการเดินหน้าไปในทิศทางที่มิควรจะเกิดขึ้นของวงการฟุตบอลบ้านเราอีกหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการค้างค่าแรงของทั้งนักเตะและสต๊าฟโค้ช ที่เกิดขึ้นและได้ยินกันบ่อย ล่าสุดทีมอย่างเพื่อนตำรวจที่ได้แชมป์ดิวิชั่น 1 และเลื่อนขึ้นมาพรีเมียร์ลีกอย่างภาคภูมิหลังตกไปปีเดียวก็มีปัญหาค้างเงินเดือนอยู่กว่า 4 เดือนและถังแตกถึงขึ้นต้องส่งนักเตะนั่งรถบัสลงไปกระบี่เพื่อแข่งขันแทนการนั่งเครื่องบินส่งผลให้นักเตะหลายคนไม่ร่วมเดินทางไปด้วย ก็เป็นตัวอย่างปัญหาที่น่าสนใจครับ เพราะในขณะที่ทีมอันดับหนึ่งของพรีเมียร์ลีกคุยว่ากำไรเป็นหลักร้อยล้าน ทีมใน tier ล่างๆ กลับไม่สามารถประสบความสำเร็จทางด้านพาณิชย์ได้ สุดท้ายจะเป็นฟองสบู่แตกหรือเปล่าสำหรับวงการฟุตบอลลีกไทย

มากกว่านั้น ยังมีเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความหละหลวมในเรื่องของกฏเกณฑ์และผู้ที่ดูแลเรื่องดังกล่าวที่ลีกบอลไทยเรายังไม่พัฒนาเทียบเท่ากับลีกที่เจริญแล้ว อย่างเช่นกรณีโควต้านักเตะต่างชาติที่เป็นปัญหาในเกม BEC TERO กับบางกอกยูไนเต็ดส่งผลให้เกิดความไม่ชัดเจน ฟ้องร้องยืดเยื้อเกินความจำเป็น และอาจส่งผลกระทบดราม่ากันไปถึงสโมสรอื่นๆ ที่ต้องตกชั้นแทน และยังมีเรื่องของทีมสุพรรณบุรีที่ถูกประเมิน club licensing ไม่ผ่านเกณฑ์ของ AFC อีกส่งผลให้ไม่แน่ว่าชลบุรีอาจส้มหล่นได้เข้าแข่ง AFC Champions League รอบเพลย์ออฟแทน ผมว่าผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะฝ่ายบริหารอาจต้องดูตัวอย่างกรณี Real Madrid ถูกปรับตกรอบฟุตบอลถ้วยเพราะส่งตัวผู้เล่นที่ไม่มีสิทธิ์ลงเล่น จบก็คือจบ กฏเกณฑ์ หลักการ มีอยู่ ก็ต้องว่ากันตามนั้น ไม่มีใครมีสิทธิ์มีเสียงมากกว่าใคร ของเราทำได้หรือไม่

สุดท้ายก็เป็นเรื่องเดิมที่ผมเคยพูดถึงไปแล้วก็คือเรื่อง การเมือง ที่เข้ามาพัวพันในวงการฟุตบอล มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย สร้างกระแส โหนกระแส เสมือนเข้าใจว่าแฟนบอลไทยสนุกกับการดูปาหี่ของผู้ใหญ่ในวงการ ซึ่งจริงๆ แล้ว 100 ทั้ง 100 ผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากเห็น แต่ผู้ใหญ่ที่เคารพก็ยังหลับหูหลับตาทำเสมือนว่าวงการฟุตบอลไทยเป็นสมบัติของพวกท่านๆ แต่เพียงพวกเดียว

ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้แก้กันได้ในวันสองวันด้วยบุคคลเพียงคนหรือ 2 คน แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจและหน้าที่ที่สามารถช่วยกันผลักดันหาวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ อย่าลืมนะครับ วันไหนที่แฟนบอลเกิดเบื่อขึ้นมามากๆ จะโทษใครไม่ได้นอกจากพวกท่านๆ กันเองทั้งนั้น