ผมเขียนมาหลายครั้งแล้วเกี่ยวกับวงการฟุตบอลไทยตั้งแต่ได้รับมอบหมายพื้นที่คอลัมน์นี้มา อันเนื่องด้วยเป็นกีฬาที่ผมชื่นชอบและสนใจ รวมทั้งมีพรรคพวกเพื่อนฝูงหลายคนที่อยู่ในวงการ ทำให้เราพลอยได้รับทราบเรื่องราวอัพเดตและข่าวภายในอยู่ตลอดเวลา เรียกได้ว่าไม่เคยตกข่าวเลยก็แล้วกัน ทำให้ผมพอที่จะมี insight บางอย่างมาเล่าสู่กันฟังประสาคนอยากเห็นวงการฟุตบอลไทยพัฒนาไปในทางที่ดีเหมือนกับทุกท่าน ซึ่งช่วงนี้ผมมีความกังวลอยู่ 2 เรื่อง
สาเหตุแรกที่ทำให้ผมต้องมีความกังวลในช่วงนี้ก็คือ การวางแผนและบริหารลีกฟุตบอลไทย ที่ผมก็ยังเห็นว่าไม่มีประสิทธิภาพมาโดยตลอด ความเป็นมืออาชีพและวิสัยทัศน์ของคนที่มาบริหารสมาคมยังไงๆ ก็ยังขัดหูขัดตาคนทำธุรกิจอย่างผมที่ต้องพึ่งพาการ “บริหาร” ความคาดหวังของลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงาน สังคม ให้สมดุลย์ และมีประสิทธิภาพถึงจะได้รับความไว้วางใจจากทุกฝ่ายที่กล่าวมา เช่นเดียวกัน สมาคมฯ มีหน้าที่ที่จะต้องบริหารความรู้สึกและผลประโยชน์ของทุกส่วนที่เกี่ยวข้องให้สมดุลย์ อย่างในกรณีล่าสุดที่ทีมชัยนาทประกาศยุบทีม หากตัวเองต้องตกชั้นเนื่องจากมีการยุติฤดูการแข่งขันก่อนกำหนด ผมก็เคยคิดครับว่าถ้าผมเป็นผู้ใหญ่ในสมาคมฯ จะทำยังไง ยากนะครับที่จะต้องตัดสินใจในเรื่องแบบนี้ แต่นี่คือหน้าที่ของผู้บริหารสมาคมฯ ที่คนโหวตเข้ามาต่างไว้ใจให้พิจารณาหาทางออกให้เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกฝ่าย
ผมเชื่อว่าเราทุกคนเคารพในการตัดสินใจครั้งนี้ของสมาคมฯ แต่เราจะสบายใจยิ่งขึ้นถ้าเรารู้ว่าสมาคมฯ ได้พยายามศึกษารายละเอียดในทุกเรื่องและมีการประเมินความเสี่ยงในทุกๆ ด้านไว้อย่างถ้วนถี่แล้ว สำหรับตำแหน่งแชมป์ในปีนี้ผมเชื่อว่าไม่มีความหมายมากนักท่ามกลางบรรยากาศที่เราทุกคนยังโศกเศร้ากันอยู่ แต่สำหรับทีมที่จะแย่งกันไม่ตกชั้น นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น สำหรับทีมที่กำลังเสี่ยงตกชั้นและต้องวัดกันที่ 3 เกมสุดท้าย ทางสมาคมฯ ได้ลองพิจารณาดูไหมว่า ในเกมกับทีมที่เหนือกว่าก่อนหน้านี้ เค้าได้เก็บตัวนักเตะเอาไว้เพื่อใช้ใน 3 เกมชี้ชะตานี้หรือเปล่า โอกาสรอดของทีมเหล่านี้ได้ถูกทางสมาคมพยายามพิจารณาอย่างถ้วนถี่ในการเลื่อนตารางการแข่งขันต่างๆ ของทั้งลีกและทีมชาติให้สอดคล้องกับสถานการณ์แล้วใช่ไหม นี่เป็นเรื่องที่ผมอยากฝากให้ผู้ใหญ่ในสมาคมฯ ได้ลองขบคิดสำหรับกรณีสุดวิสัยต่อไปในอนาคต
อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ผมกังวลว่าปัญหา “ภายใน” ของเราจะทำให้ทรงของฟุตบอลไทยเราเสียก็คือ บทบาท และหน้าที่ของตำแหน่งอุปนายกทางเทคนิค ของคุณวิทยา เลาหกุล ในปัจจุบันกับสต๊าฟทีมชาติชุดปัจจุบัน ซึ่งด้วยความเห็นส่วนตัวแล้วผมไม่แน่ใจกับคุณวิทยาในตำแหน่งนี้เสียเท่าไหร่
ลองอ่านดูในโลกโซเชียลฯ ของแฟนบอล ก็มีความเห็นที่แตกต่างกัน เป็นติ่งคนโน้นคนนี้กันให้วุ่นวายไปหมด นี่แหละครับสิ่งที่ผมกลัว คนไทยเราดราม่ากันได้ในทุกเรื่อง คนที่ชอบก็ชอบ คนที่ไม่ชอบก็ด่า แต่เอาเข้าจริงๆ นะครับ ต้นเหตุต้องแก้กันที่ตัวเลือกของสมาคมฯ ตั้งแต่แรกครับ ถ้าผมเป็นสมาคมฯ ผมจะคิดให้ถี่ถ้วนก่อนที่จะตัดสินใจ
แฟนบอลไทยทุกคนทราบดีว่า คุณวิทยา คือคนที่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับแม็ทช์อัปยศ ไทย-อินโดนีเซีย ในทัวร์นาเมนต์ ไทเกอร์คัพ ปี 1998 ซึ่งลองไปหาอ่านดูในฟอรั่มต่างๆ มีทั้งคนเห็นใจและคนชิงชังคุณวิทยาที่ทำหน้าที่คุมทีมในยุคนั้น กรณีนี้ผมไม่โทษว่าเป็นความผิดของคุณวิทยาเพียงคนเดียว แต่นี่คือตราบาปที่คุณวิทยาต้องอยู่กับมันไปอีกนาน สมาคมฯ คิดไหมว่า “อุปนายกทางเทคนิค” ของทีมชาติไทยทุกชุดควรเป็นคนที่ไม่มีประวัติด่างพร้อยและมี moral standard ที่ได้รับการยอมรับจากนักฟุตบอลทีมชาติทุกรุ่นและแฟนบอลทุกคน “อุปนายกทางเทคนิค” ของวงการฟุตบอลไทยอาจต้องมีชื่อยาวนิดนึงเช่น “อุปนายกทางเทคนิคและจรรยาบรรณในอาชีพ” ถ้าเราได้คนแบบนั้นแล้ว “ศรัทธา” ถึงจะตามมาครับ
สมัยเกือบ 10 ปีก่อน ตอนคุณกิตติรัตน์ ณ ระนองเป็นผู้จัดการทีมชาติไทยและผมได้มีโอกาสเข้าไปช่วยในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทีมชาติไทย ถ้าผมจำไม่ผิดตอนนั้นคุณวิทยาคุมทีมในดิวิชั่น 2 หรือ 3 ในลีกของญี่ปุ่นอยู่ ผมยังจำได้ตอนที่น้องๆ ในทีมและเพื่อนของผมชี้ชวนให้ดูว่าคุณวิทยาแอบมา scout ฟอร์มทีมชาติไทยของเราก่อนแม็ทช์ฟุตบอลโลก 2010 รอบคัดเลือกโซนเอเชียกับญี่ปุ่นครับ จะให้ผมคิดยังไงครับ ตัวเองคุมสโมสรแต่กลับมาทำหน้าที่ scout ให้ทีมชาติคู่แข่งของเรา อันนี้เจอมาด้วยตัวเอง ศรัทธาของผมกับคุณวิทยาแทบไม่เหลือครับ
วกกลับมายุคนี้ภายใต้การทำทีมของซิโก้ อ่านข่าวเจอพาดหัว “เชื่อพี่นะน้อง โค้ชเฮงปิดห้องติวซิโก้และนักเตะก่อนบุกอาหรับ” เมื่อปลายเดือนก่อน ยิ่งทำให้ผมสับสนกับตำแหน่ง “อุปนายกทางเทคนิค” ของคุณวิทยาครับ ผมเข้าใจมาตลอดว่าตำแหน่งนี้มีหน้าที่ในการ “รับผิดชอบทีมชาติทุกชุด การพัฒนาเยาวชนโปรแกรมการฝึกสอนและโค้ช ดูแลตรวจสอบประเมิน ออกแบบการฝึก ดูแลข้อบกพร่อง ทำงานช่วยเหลือผู้จัดการทีม” ตามที่คุณวิทยาให้สัมภาษณ์ไว้เสียอีก แต่ภาพที่ได้ยินได้ฟังมากลับกลายเป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะเรียกว่า “ก้าวก่าย” การทำงานของโค้ชและทีมงานหรือเปล่าครับ แต่ถึงจะมาก้าวก่ายในเรื่องรายละเอียดแบบนี้ ผมก็ไม่แน่ใจว่าเทคนิค และแนวคิดแบบดั้งเดิมของคนรุ่นอย่างคุณวิทยาจะสามารถชี้นำและเป็นประโยชน์กับเด็กๆ นักฟุตบอลสมัยใหม่ได้มากน้อยแค่ไหน อีกทั้งผมว่าเรามีตัวเลือกรุ่นใหม่ๆ หลายคนไม่ว่าจะเป็นคุณแบน ธชตวัน หรือคุณง้วน สุรชัย ฯลฯ ที่เราต้องเริ่มลงทุนกับคนเหล่านี้เพื่อขึ้นมาแทนที่คนรุ่นเก่าบ้างแล้วนะครับ
ทั้งนี้และทั้งนั้นผมไม่ทราบจริงๆ ว่าคุณวิทยาถูกวางตัวมาเป็นหมากที่จะสร้างแรงกดดันให้กับทีมโค้ชชุดใหญ่หรืออย่างไร แต่แค่อยากบอกว่าถ้าเป็นเช่นนั้นผมว่างานที่สำคัญกว่าในระยะยาวที่เราทุกคนคาดหวัง คือ การวางโรดแม็ปนะครับ ไม่ใช่มาวุ่นวายกับการทำทีมในรายละเอียดแบบนี้ ผมเป็นโค้ชผมก็ไม่แฮปปี้ครับ
ในฐานะแฟนฟุตบอลไทยธรรมดาๆ คนหนึ่ง อยากให้ผู้ใหญ่ในวงการหรือผู้ที่มีอำนาจในสมาคมฯ ได้ระลึกกันบ้างว่าศักยภาพของฟุตบอลไทยจะดีหรือแย่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเก่งกาจหรือพัฒนาการของประเทศคู่แข่ง แต่เป็นการบริหารจัดการภายในของเรากันเองเสียมากกว่า พูดกันตรงๆ ว่าถ้า “ภายใน” ของเราเองมันเน่าเสียนั่นแหละคือต้นเหตุของการล่มสลายอย่างถาวร เหมือนอย่างที่ตัวร้ายในหนัง Captain America: Civil War กล่าวไว้ว่า “An empire toppled by its enemies can rise again, but one which crumbles from within? That’s dead… forever.”
ข้อมูลจาก: คอลัมน์ “เศรษฐา & กีฬา” ฟุตบอลไทย: อดกังวลไม่ได้อีกแล้ว โดยคุณเศรษฐา ทวีสิน (สยาม สปอร์ต รายวัน) วันที่ 28 ตุลาคม 2559
ถ้าคุณสนใจบทความกีฬา:
รับน้องใหม่มาแรงใน Bundesliga คลิก
ว่าด้วยเรื่องของ “เพศ” ในวงการกีฬา คลิก