พร้อมกันหรือยัง? กับฟุตบอลไทย มาเลเซียซีเกมส์ 2017

เดือนหน้าแล้วครับที่จะถึงการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ซึ่งกีฬาประเภทหนึ่งที่คนไทยจะจับตาดูและมีความหวังมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นฟุตบอลชายอีกเช่นเคย จากที่เคยได้แชมป์มาแล้ว 2 สมัยติดในซีเกมส์ 2 ครั้งที่ผ่านมา สำหรับซีเกมส์คราวที่แล้วแม้จะมีดราม่ากันเล็กน้อยระหว่างหัวหน้าโค้ชทีมชาติชุดใหญ่กับทีมชาติชุดซีเกมส์ก่อนการแข่งขัน สุดท้ายก็นำเอาเหรียญทองกลับมาให้ประชาชนชาวไทยพร้อมกับจูบปากทำความเข้าใจ happy ending กันไป ส่วนในครั้งนี้ต้องนับว่าในตอนช่วงแรกจะมีเรื่องวุ่นวายเล็กน้อยในการเคลียร์บทบาทของโค้ชโย่งกับตำแหน่งในทีมสุพรรณบุรีและการทำหน้าที่รับใช้ชาติ รวมถึงการคาดการณ์ว่าใครจะมาเป็นโค้ชทีมชาติแทนซิโก้ที่ลาออกไป ซึ่งมีการเอ่ยถึงโค้ชโย่งด้วยเช่นกัน โชคดีที่ทั้งสองเรื่องนั้นมีจุด landing ที่ลงตัวแล้วอย่างไม่ได้ดราม่ามากมายนัก ทำให้โค้ชโย่งได้โฟกัสอย่างเต็มที่สำหรับการป้องกันแชมป์ในครั้งนี้

เมื่อเรื่องที่เกือบจะวุ่นในวงการฟุตบอลไทยของเราจบลงก็มาดูกันต่อว่าภาระอันหนักอึ้งซึ่งตกอยู่กับสต๊าฟโค้ชภายใต้การคุมทีมของโค้ชโย่งจะมีเรื่องอะไรให้ปวดหัวอีกหรือไม่

shutterstock_683133754

ว่ากันด้วยเรื่องของการแบ่งสายแข่งขันก่อนเลยครับ ก่อนหน้าที่จะมีการจับสลากแบ่งสายเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ก็มีเรื่องวุ่นๆ เกิดขึ้นประปราย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มีการนำเสนอจากบางสมาพันธ์ว่าทีมชาติที่จะเข้าแข่งขันซีเกมส์ในครั้งนี้ควรเป็นชุดอายุต่ำกว่า 21 ปีบ้าง 22 ปีบ้าง ถ้าผมเป็นโค้ชล่ะก็ปวดหัวเหมือนกันนะครับ ไหนจะมีต่ำกว่า 17 ต่ำกว่า 19 ถ้าแยกย่อยไปอีกเผลอๆ นักฟุตบอลที่จะให้เรียกใช้ในแต่ละรุ่นจะผลิตกันทันไหม

นอกจากนี้แล้วยังมีลูกเล่นแกมพลิ้วนิดๆ จากเจ้าภาพมาเลเซียออกมาในเดือนสองเดือนที่แล้วว่าจะออกกฏใหม่ในฐานะตัวเองเป็นเจ้าภาพว่าสามารถเลือกได้เองว่าอยากอยู่กลุ่มไหน ไม่ต้องเข้าร่วมจับสลากแบ่งสายเหมือนคนอื่นเขา โชคดีที่ประเทศอื่นๆ อย่างเวียตนาม อินโดนีเซีย ไม่ได้บ้าจี้ตามไปด้วยออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยและสุดท้ายแนวคิดนี้ก็ถูกปัดตกไป

ฝั่งทีมมาเลเซียเองก็กดดันนะครับ เนื่องจากสมาคมลูกหนังของเขาตั้งเป้าไว้สูงในฐานะเจ้าภาพว่าควรจะต้องเป็นแชมป์ให้ได้ในครั้งนี้ หรืออย่างน้อยที่สุดต้องเข้ารอบชิงชนะเลิศให้ได้เพื่อเอาใจแฟนบอล ในขณะที่ทางโค้ชเองก็มีปัญหาจากการที่นักเตะที่ได้รับการคัดเลือกไม่สามารถมารายงานตัวร่วมแค้มป์ฝึกซ้อมได้ตามกำหนดเนื่องจากโปรแกรมการเตะของลีก Malaysia Super League และบอลถ้วยของพวกเขา โดยการรายงานตัวครั้งแรกในต้นเดือนที่ผ่านมาเพื่อเก็บตัวเล่นฟุตบอล U23 AFC 2018 รอบคัดเลือกที่เพิ่งจบไปมีนักเตะของเขามารายงานตัวแค่ 6 คนเท่านั้นเอง

shutterstock_597066671 (1)_Fotor

จึงไม่แปลก (น่าจะฟลุ้คหรือเปล่า) ที่มาเลเซียเจ้าภาพจับสลากได้อยู่ในกลุ่มที่มีทีมร่วมสายทั้งหมด 5 ทีม ในขณะที่ทีมไทยแชมป์เก่าที่ทุกคนหมายมั่นว่าจะโค่นให้ได้นั้นต้องอยู่ในกลุ่ม Group of Death ที่แข็งกว่าแถมยังมีทีมมากกว่าเป็น 6 ทีมในสายด้วย สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือทีมมาเลเซียเจ้าภาพจะเสียแรงน้อยกว่าเพื่อนในอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ารอบมาเจอกันเพราะเตะน้อยกว่า 1 นัด

แล้วถ้าเราอ่านข่าวที่โค้ชโย่งให้สัมภาษณ์จะพอทราบกันดีถึงโปรแกรมการเตะในรอบแบ่งกลุ่มที่โหดมากๆ ครับ เล่นกันแบบวันเว้นวันเลย ครั้งที่แล้วรอบแบ่งกลุ่มแข่งกันประมาณวันเว้น 3-4 วันอย่างต่ำ ถือว่าครั้งนี้เจ้าภาพจัดโปรแกรมได้สุดๆ จริงๆ ขนาดผมเล่นบอลซ้อมกันเองกับเพื่อนๆ เล่นเบาๆ วันเว้นวันติดกัน 2-3 เกมยังล้าเลยครับ นี่เรากำลังพูดกันถึงเกมระดับทีมชาติที่เล่นใส่กันเต็มที่ พักแค่วันเดียว สภาพร่างกายนักเตะจะล้ากันขนาดไหน บ่อน้ำเย็นที่ใช้แช่กล้ามเนื้อหลังแข่งมีหวังแย่งกันลงไม่ว่างแน่นอน (ถ้าโรงแรมที่พักเขามีให้นะครับ)

สิ่งที่โค้ชโย่งต้องทำการบ้านหนักก็ตามที่ให้สัมภาษณ์เลยครับ การวางแผนของระบบการเล่นและตัวผู้เล่นต้องทำอย่างรอบคอบ และปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา อันนี้ถือเป็นการบ้านหลักที่หนักมากครับ ลองนึกก็เหมือนเวลาคนทำโมเด็ลทางสถิติที่มันมี factor หรือปัจจัยตัวแปรต่างๆ มากมายที่จะทำให้การคำณวนผิดพลาดไปได้ และการปรับตรงนี้นิดตรงนั้นหน่อย ไม่ได้หมายความว่า dynamic ของการเปลี่ยนแปลงมันจะจำกัดอยู่แค่ตำแหน่งที่มีการปรับตัวผู้เล่นนะครับ การปรับผู้เล่นที่มีสไตล์การเล่นไม่เหมือนกัน 100% ความฟิตไม่เท่ากัน วิสัยทัศน์ในการเล่นไม่เท่ากัน และอารมณ์ที่ต่างกันย่อมจะส่งผลต่อภาพรวมของศักยภาพทีมได้เลย

shutterstock_614270843

การสลับตัวระหว่างผู้เล่นกองกลางที่เล่นบอลสั้นได้ดีกับที่เล่นบอลยาวได้ดี ปีกกับกองหน้าก็ต้องทำทางต่างกันแล้ว เหมือนตอนที่เล่น U23 AFC ที่ผ่านมาในเกมสนามทะเลสาป การเปลี่ยนเพลย์เมคเกอร์อย่างวรชิตที่ถนัดบอลเท้าสู่เท้าออกแล้วเอาสิทธิโชคที่ถนัดลูกกลางอากาศลงมาแทนก็ทำให้ผู้เล่นตำแหน่งอื่นต้องเปลี่ยนสไตล์การเล่นไปด้วย การจัดรูปแบบการเล่นก็ต้องเปลี่ยนไป ซึ่งสำหรับซีเกมส์ครั้งนี้ผมว่ามีโอกาสสูงเลยทีเดียวที่โค้ชโย่งจะมีการปรับเปลี่ยนตัวผู้เล่นเยอะเนื่องมาจากความล้าและโอกาสบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้นได้จากกล้ามเนื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากเกมก่อนหน้านั้น

อีกสิ่งหนึ่งที่โค้ชโย่งออกปากชัดเจนก็คือใครไม่ฟิต มาทางไหนก็กลับไปทางนั้นเลย ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่ถูกต้องมากๆ ด้วยเกมที่เล่นติดๆ กัน ความฟิตสำคัญที่สุดในการทำให้บาลานซ์ของทีมไม่เสียไป ผมเองไม่ได้ติดตามเรื่องของพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์การกีฬาของทีมชาติไทยเปรียบเทียบกับคู่แข่งใกล้ๆ มานานแล้ว เห็นภาพการวัดความฟิตของการกีฬาแห่งประเทศไทยทีไรก็เป็นเครื่องมืออุปกรณ์แบบเดิมที่เห็นเมื่อ 10 ปีที่แล้วอย่างไรอย่างนั้น ก็ไม่รู้ว่าระดับสโมสรของไทยเราเองมีการพัฒนาตรงนี้ไหมที่จะช่วยให้ไม่ต้องหวังพึ่งองค์กรกลางที่ค่อนข้างเขียมงบในการลงทุนแบบนี้

shutterstock_315276122

อย่างสุดท้ายที่อยากฝากไว้ก็คือเรื่องของการรับมือกับความคาดหวังครับ เข้าใจว่าเป็นของตายที่โค้ชและทีมงานจะต้องแบกรับตรงส่วนนี้ สิ่งที่เราคนไทยทุกคนอยากเห็นคือการรวมเป็นปึกแผ่นทีมเดียวกัน ไม่มีใครอยู่ข้างใคร ถ้าทุกคนที่มีส่วนร่วมคิดกันแบบนี้ รับรองได้ครับว่าแม้จะไปไม่ถึงเหรียญทอง แต่ถ้าหากทุกคนในทีมแสดงให้เห็นว่าพยายามเต็มที่ เริ่มตั้งแต่การใส่ใจในการเตรียมทีม วินัยในการเก็บตัว การดูแลนักเตะและทีมงานอย่างเต็มที่ ฯลฯ แฟนบอลชาวไทยไม่โกรธหรอกครับถ้าไม่ได้เหรียญทองกลับมาฝาก ครั้งนี้ไม่ได้ครั้งหน้าก็มีอีก แต่สิ่งหนึ่งที่แฟนบอลคงจะอยากเห็นคือทุกท่านที่มีส่วนร่วมกับทีมชาติซีเกมส์ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการ “น้ำดี” ที่จะช่วยพยุง ยกระดับวงการฟุตบอลไทยให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ครับ

บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามกีฬา ฉบับวันที่  28 กรกฎาคม 2560

ติดตามมุมมองสบายๆ ของเศรษฐา ทวีสิน เกี่ยวกับกีฬาและสังคมได้ที่ Social & Culture