“ปิดเทอมก็นอนอยู่บ้านสิ จะมาฝึกงานให้เหนื่อยทำไม”
สำหรับชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย “เวลานอน” มีค่าและชวนสะสมยิ่งกว่าแต้มจากร้านชานมไข่มุก หากมีธนาคารฝากถอนได้ ก็คงออมล่วงหน้าไว้ใช้ช่วงเปิดเทอมแล้ว ยิ่งคณะที่เรียนอยู่ไม่ได้บังคับให้ฝึกงานด้วย เราจะตื่นแต่เช้าฝ่ารถติดจากประเทศรังสิตมาถึงพญาไททำไมกันนะ?
นี่เป็นสิ่งที่เราเคยถามตัวเองก่อนจะเริ่มการฝึกงาน เพราะแม้จะตั้งใจและเต็มใจมาฝึกเอง แต่ใคร ๆ ก็หวงแหนปิดเทอมครั้งสุดท้ายในชีวิตทั้งนั้น จึงไม่แปลกที่อยากจะกอดเวลานั่ง ๆ นอน ๆ อยู่ที่บ้านเอาไว้เหมือนเด็กหวงของเล่นคนหนึ่ง
แต่ความคิดนั้นก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไปในทุกวันที่เข้ามาทำงาน เพราะในวันสุดท้ายของโปรแกรม อย่างน้อยที่สุด ภาพสะท้อนในกระจกคือเราในเวอร์ชั่นที่เติบโตขึ้น แถมยังได้รู้จักคนที่น่ารักและเราอยากยึดเขาไว้เป็นแบบอย่างอีกตั้งหลายคน
สองเดือนเหมือนจะสั้น แต่เมื่อลองลำดับความคิดดู เราก็ได้ทำอะไรตั้งหลายอย่างเหมือนกันนะ
ถ้าคิดว่าเด็กอักษรกับงานคอนเทนต์น่าจะเป็นอะไรที่เหมือนปอกกล้วยเข้าปาก เพราะคร่ำหวอดในวงการข้อสอบอัตนัย เขียนอภิปรายในสมุดตอบแบบไม่หมดชั่วโมงไม่เงยหน้า คงต้องขอแสดงความเสียใจด้วย เพราะแม้ว่าเราจะมีต้นทุนเป็น “บ้าน” อยู่แล้ว แต่อาจต้องรีโนเวทและต่อเติมให้เพียงพอเข้ากับโลกการทำงานจริงมากขึ้น
ตอนตัดสินใจมาฝึกงานที่นี่ สารภาพเลย เคยสงสัยตามประสาของคนที่ไม่ค่อยได้ข้องเกี่ยวกับโลกธุรกิจว่าบริษัทอสังหาฯ อย่างแสนสิริจะลุกขึ้นมาเขียนบล็อกทำไม ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นองค์กรด้านสื่อ
นั่นเป็นความคิดของเราเมื่อสามสี่เดือนที่แล้ว จึงยังไม่ค่อยเข้าใจว่า การทำการตลาดมีมากกว่าแค่โฆษณา
แต่ความสงสัยข้อนั้นก็ถูกตอบด้วยงานที่พี่เลี้ยงให้เราลองทำตั้งแต่วันแรก ๆ โดยที่ยังไม่ทันได้เฉลยด้วยซ้ำ เริ่มจากการอ่านผลงานของพี่คนอื่น ๆ เพื่อทำความรู้จักกับ “ตัวตน” ของแสนสิริบล็อก แล้วเขียนคอมเมนท์งานที่ยังไม่ได้เผยแพร่ว่า ตามมุมของเรา เราอยากปรับแก้อะไรให้งานนั้นมีความเป็นแสนสิริมากที่สุด รวมไปถึงการพยายามปรับบทความให้สามารถค้นเจอได้ใน Search Engine ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังได้เขียนแคปชั่นโปรโมตบทความในบล็อก รีไรท์งาน และเขียนงานของตัวเองไปเสนอ ซึ่งทำให้เราค้นพบว่า “บ้าน” ของเราต้องการการรีโนเวทให้เหมาะกับงานจริงๆ เพราะการเขียนคอนเทนต์ให้ได้ผลตามเป้าหมายนั้น แค่ภาษาที่ถูกต้องสวยงามอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องที่สุด แต่ยังต้องคิดแล้วคิดอีกเพื่อให้ดึงดูดความสนใจของคนอ่าน ไม่เว้นแม้แต่จุดเล็ก ๆ อย่างการใช้ตัวเลขในชื่อเรื่องหรือปรับรูปแบบการเล่าเพื่อให้ได้ผลทางจิตวิทยาต่อคนอ่านมากขึ้น
นอกเหนือจากสิ่งที่ได้ทำและการได้เรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกับงานแล้ว เรายังได้ความรู้ใหม่ ๆ จากการสอนของพี่เลี้ยงและการตามพี่ ๆ ไปร่วมการอบรมที่บริษัทจัดให้ เช่น Communication Plan และ Google Analytics ของแถมที่ไม่คิดว่าจะได้ แต่คงเสียดายแย่ถ้าฝึกงานจบโดยที่ไม่รู้ เพราะมั่นใจมากว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคต
ลองนึกภาพเด็กสายภาษาที่ต้องพึ่งแต้มบุญทั้งหมดเพื่อคิดแผนธุรกิจในหนึ่งคืน แล้วกระวีกระวาดฝ่ารถติดในเช้าวันจันทร์เพื่อไป Pitching ครั้งแรกในชีวิตต่อหน้า Founders จากบริษัท Startup ตั้งหลายคนสิ แสนสิริพาเด็กอักษรมาถึงจุดนี้ได้ยังไงกันนะ
ปกติคนเราคาดหวังอะไรจากการฝึกงาน? แค่ได้ฝึกงานในสิ่งที่สนใจ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่มีสอนในห้องเรียน เห็นบรรยากาศการทำงานจริง และได้รับมิตรภาพจากพี่ ๆ เพื่อน ๆ ก็นับว่าเป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่ามากแล้ว และการฝึกงานกับแสนสิริก็ให้เราได้ตามนั้นทุกอย่าง แต่สิ่งที่ทำให้ช่วงเวลาสองเดือนมีสีสันกว่าที่คาดไว้ ก็คือการที่พี่ ๆ จับปูใส่กระด้ง คือจับนักศึกษาฝึกงานที่แทบไม่รู้จักกันเลย แถมยังเรียนและฝึกงานต่างสาขากันอย่างสุดขั้วให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน (และแน่นอนว่าต้องเกิดความวุ่นวาย เพราะทุกคนเล่นกันเหมือนปูในประด้ง แต่ก็สนุกดี) เริ่มตั้งแต่การจับกลุ่มวางแผนสร้างคอนโดวันปฐมนิเทศ มีการประมูลและคำนวณค่าใช้จ่ายกันอย่างจริงจังจนเราต้องกลับสู่วงการการคำนวณอีกครั้งแบบงง ๆ พาไปดูงานตามบริษัทต่าง ๆ เช่น Google Thailand, Microsoft Thailand และ SCG เพื่อรับความรู้ใหม่ ๆ ให้เหมาะกับยุคที่คนนิยมพูดถึง AI และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างการช่วยกันทำสื่อการเรียนรู้ให้น้อง ๆ ลูกหลานคนงานในไซต์ก่อสร้างของแสนสิริที่มาอยู่ใน Good Space หรือพื้นที่ปลอดภัยของเด็ก ๆ นอกเขตก่อสร้างนั่นเอง
สองกิจกรรมที่เราประทับใจมากที่สุดคือ กิจกรรมของ BCG บริษัทที่ปรึกษาที่มาให้ความรู้ทั้งเรื่องการทำงานของเหล่าทีมที่ปรึกษา และวิธีการแก้ปัญหาที่ได้รับมาจากลูกค้าเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์กับคนที่อยากทำงานด้าน consulting เพียงอย่างเดียว แต่ยังนำไปปรับใช้ได้กับการทำงานแทบจะทุกอย่าง (อันที่จริงสิ่งที่เราชอบมากกว่าเนื้อหาเรื่องนี้ คือเกมส่งลูกบอลแบบ Agile เพราะทำให้สนิทกับเพื่อนคนอื่นเร็วขึ้น และได้เห็นไหวพริบของแต่ละคนว่าจะพลิกให้กลับมาชนะได้อย่างไร)
อย่างที่สองคือ Speed Hackathon กิจกรรมที่คุ้มค่ากับการยอมงดดูซีรีส์เรื่องโปรดในวันอาทิตย์แล้วตื่นเช้ามาบริษัท เพราะถ้าเดินตามทางปกติของเด็กสายภาษา ก็คงไม่เลือกเลี้ยวมาเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับสตาร์ทอัพแบบนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า คงไม่ใช่ทางของเรา แต่วันนั้น เราได้เรียน Design Thinking ฉบับย่อและขั้นตอนการพัฒนาแผนธุรกิจเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่แก้ปัญหาได้ตามโจทย์ที่พี่วิทยากรตั้งไว้ตั้งแต่ขั้นแรกจนถึงหลักการแบ่งหุ้น ได้รับการ coach และได้นำเสนอไอเดียจากมุมมองของเด็กรุ่นเราให้กับผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จหลายคน ซึ่งไม่น่าจะหาโอกาสแบบนี้ได้ง่าย ๆ แม้งานจะเดือดไปบ้างเพราะมีเวลาคิดแค่คืนเดียว แต่ก็ถือเป็นการก้าวออกจาก Comfort Zone มาทำอะไรแปลกใหม่ให้ชีวิตมีเรื่องน่าตื่นเต้น
“ปิดเทอมก็นอนอยู่บ้านสิ จะมาฝึกงานให้เหนื่อยทำไม?”
คำตอบก็คงเป็นเพราะวันเวลาเดินไปข้างหน้าตลอดเวลา ไม่รีบหาโอกาสมาฝึกงานตอนนี้ เรียนจบไปก็หมดโอกาสใช้สถานะ “นักศึกษาฝึกงาน” แล้ว
ถึงแม้ระหว่างการฝึกงานจะเหนื่อยบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ทำงานไม่ทันบ้าง แต่นั่นก็คือเหตุการณ์จำลองของชีวิตการทำงานจริงที่ทำให้เราตกผลึกอะไรให้กับชีวิตได้มากขึ้น รู้จักตัวเองและงานที่สนใจ รู้จักงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแผนกที่มาฝึกงาน และยังได้ไอดอลคนใหม่เป็นพี่ที่ทำงานเก่ง แถมยังมีมิตรภาพดี ๆ จากพี่ ๆ และเพื่อน ๆ ทำให้วันปิดเทอมกลายเป็นหนึ่งใน once-in-a-lifetime experience #ปิดเทอมที่ได้มากกว่าปิดเทอม ที่สามารถพูดได้เต็มปากว่า “คงเสียดายถ้าไม่ได้ทำ”