แม้ว่า หลังงานประกาศออสการ์ครั้งล่าสุด… ในวงสนทนาคนทำหนัง เอเจนท์หนัง หรือนักธุรกิจหนังจะแซวว่า Parasite ทำให้เกิดเทรนด์ FAM (food asian movies) หรือการสอดแทรกอาหารการกินในภาพยนตร์เกาหลี
ทว่า สิ่งที่เป็นคำพูดน่าสนใจมากกว่าทุกปากคำออสการ์ก็คือ “ความในใจ” ของผู้กำกับ บง จุน โฮ ที่ตอนนี้ไม่มีใครดังเท่าเขา (ฟาดสาขาสำคัญแบบแฮททริค ในคานส์ ลูกโลกทองคำ และ ออสการ์) ต้องเท้าความโดยอ้างไปถึงสื่อ The Guardian ของอังกฤษ ซึ่งรายงานว่า ก่อนงานออสการ์ไม่นาน พี่บง พูดบ่นน้อยใจในงานลูกโลกทองคำว่า หนังที่เข้าชิงออสการ์ ถ้าไม่พูดภาษาอังกฤษ เหมือนจะหมดสิทธิ์ทันที ที่เข้าชิง !
ลองกลับไปตรงสอบดู ปรากฏว่ามันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะหนังที่ชนะออสการ์สาขา best picture แล้วไม่พูดภาษาอังกฤษ ไม่มีเลย แถมที่มี แต่ได้เข้าชิง มีเพียง 12 เรื่องในประวัติศาสตร์ยาวนานของตุ๊กตาทองที่ป๊อปที่สุดของโลก นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไม Parasite ถึงถูกประเมินว่า จะได้แค่สาขาต่างประเทศเท่านั้น เหมือนกับที่ Roma เคยเต็งแล้วแห้วสาขา best picture ไปเมื่อปีที่แล้ว
ชารอน ชเว ซึ่งเป็นล่ามส่วนตัวของ บง จุนโฮ แปลความในใจออกมาทำนองว่า ถ้าคนดูชาวอเมริกัน (อันมีนัยยะไปถึงคณะกรรมการตัดสินด้วย) ยอมเปิดใจกว้างสักนิด ด้วยการยอม “อ่าน” ซับบรรยายอังกฤษ ที่วิ่งอยู่ใต้จอ ในกรณีที่เป็นหนังซาวน์ดต่างด้าว… คนดูที่นั่นจะพบว่า มันยังมีหนังสุดยอดมากมายที่ตกค้าง อยู่ในอีกโลกหนึ่ง
ใจความสำคัญนี้ สรุปได้ว่า แต่ไหนแต่ไรมา อเมริกันชนไม่เปิดใจยอมรับ การอ่าน sub english กรณีที่หนังเป็นจีน เกาหลี ญี่ปุ่น หรือเป็นต่างด้าว ไม่ว่ามันจะดีแค่ไหน
สภาพการณ์นี้ สภาวะนี้ คล้ายๆ “ปิดหูปิดตา” ไม่รับรู้ พอไม่รับรู้ กรรมการหนังออสการ์ ก็มองข้ามไปด้วย เพราะอย่าลืมว่า กรรมการเกือบ 10,000 คน ก็ไม่แน่ว่าจะมีใครดูหนังครบ 9เรื่องที่เข้าชิงสักกี่เปอร์เซนต์
ล่ามพี่บง จึงใช้การแปลแบบเล่นคำว่า ซับมันสูงแค่ 1 นิ้วเอง และอยู่ใต้จอ ถ้ายอมอ่าน กำแพงที่สูงแค่ 1 นิ้ว เราก็ข้ามมันไปได้ แถมยังไ้ด้ดูหนังดี
ลองทำการบ้านเรื่องนี้ดู
เมื่อสำรวจหนัง ซีรีส์ ที่ได้รับความนิยมของปี 2019 ดู จะพบว่า 10 อันดับแรก ไม่มีหนังพูดภาษาต่างด้าวเลย มีแต่พูดภาษาอังกฤษ …ประการต่อมา สื่ออย่าง The Guardian รายงานว่า ออสการ์นั้นคือ businessของอเมริกัน ไม่ใช่เรื่องหนังภาษาต่างด้าว ดันไปตรงกับนิตยสาร Timeเล่มก่อนประกาศออสการ์ว่า Oscar is Global Business but TinyWood
คำว่า TinyWood เป็นศัพท์แดกดัน ว่า ไม่ว่าคุณจะแสดงตัวใหญ่โตแค่ไหน พอถึงการจะเลือกรางวัล มันก็แคบอยู่ดี คือคุยว่าเป็นประเทศ แต่ดันเลือกแต่งานในหมู่บ้าน
ช่วงที่ออสการ์โดนค่อนแคะ แดกดันนี้ มีเวลาอีกสามสัปดาห์ก่อนวันประกาศ ซึ่งกรรมการยังไม่ส่งคะแนนรวม ถ้าคิดแบบตลกร้าย มันคือจุดพลิกผันหักเหได้ไหม ที่ทำให้ Parasite ถูกโหวตในสาขา best picture ?
แต่มันไม่สำคัญที่จะไปหาคำตอบ เพราะทันทีที่ Parasite ได้เบิ้ลสองสาขาสำคัญ นั่นหมายความว่า ออสการ์ก็ได้ทำการ “rebranding”ก้าวไปสู่สิ่งใหม่ๆ ที่เคยทำมาตลอด ตั้งแต่หนังผิวสีหรือผู้กำกับเพศหญิง ไม่เคยได้ ก็ได้ในที่สุด
เมื่อปรสิตในฮอลลีวู้ดที่ตั้งกำแพง ถูกทลายลงด้วยภาษาต่างด้าว ไม่ต่างด้าว ที่มีมานาน ยังมีอะไรอีก ที่เป็นบริบท สะท้อนเคียงข้างสิ่งนี้
หนึ่งในนั้นคือ ปีนี้ ออสการ์แก้คำใหม่ ยกเลิกการเรียกสาขาหนังต่างประเทศ มาเป็นเรียกใหม่สาขาหนังนานาชาติ !
เนื่องจากในหลายปีที่ผ่านมา หนังต่างประเทศที่ไป “กระจุกตัว” อยู่ในสาขา foreigner นั้น จะว่าไปก็เป็นหนังออกจะ “บ้านนอกคอกนา” ที่ดูมีราคา มากกว่าจะเป็นหนังที่ตกค้างอยู่ในเวทีนานาชาติ ที่ถูกลืม การที่ออสการ์เปลี่ยนชื่อสาขารางวัลใหม่ จะว่าไปก็เป็นการ “ปรับทัศนคติ” ใหม่ เพื่อให้ “นาฬิกา” บนข้อมือออสการ์ เดินต่อไปได้
ประการต่อมา การที่แบรนด์ Netflix ยอมทุ่มงบสร้างภาษาท้องถิ่น ลงไปในหนังมากมายหลายเรื่อง (ลองดูคลิป The Dubbing in Films) ตามที่ โจชัว จาคอบสัน ผู้บริหารคนหนึ่งบอก มันก็คือการ ลด ละ เลิก ที่จะให้เรื่องของ กำแพงภาษา มากลายเป็นการแบ่งชาติพันธุ์
ยิ่งไปกว่านั้น การที่ เนตฟลิกซ์ ยอมทำเสียงพากย์ท้องถิ่นทับภาษาอังกฤษดั้งเดิม เพื่อไปฉายในประเทศต่างๆ นั้นๆ… นอกจากจะเป็นการเอาใจ “คนดูท้องถิ่นนั้น” แล้ว ยังเป็นการประกาศกลายๆว่า พวกเขาไม่ได้ให้ภาษาอังกฤษ เป็นใหญ่ เหนือภาษาอื่น
ผมลองทำการบ้านด้วยการสอบถามไปยังค่ายหนังบางค่ายเช่น UIP ก็ได้คำตอบว่า ในชานเมืองในต่างจังหวัด หรือในชนบท หนังที่พากย์ภาษาท้องถิ่น หรือภาษาประเทศนั้นๆ กลับไม่มีเรทติ้งที่ตกลงไปเลย แม้ว่าคนจะรู้ภาษาอังกฤษมากขึ้นแล้ว
“ภาษา” หรือ sound track จึงน่าจะเป็นประเด็นสำคัญหนึ่งของงานออสการ์ที่ผ่านไป
ปรสิตหรือ Parasite มิเพียง “ก้าวข้าม” ไปวิพากษ์ ความต่างชนชั้นทางสังคม เท่านั้น ทว่า นอกเวที – หนังยัง “ก้าวล่วง” ไปทลาย “รสนิยมแห่งภาษา” ให้ต่างด้าว/ไม่ต่างด้าว ได้เกี่ยวกระหวัด ร่วมรัก เป็นหนึ่งเดียวคือ “ภาษาภาพยนตร์” …