วงการฟุตบอล ตั้งอยู่บน 3 โจทย์หลัก คือ ธุรกิจ การเมือง และความชอบส่วนบุคคล
ฟุตบอลถูกมองว่าเป็นกีฬาอันดับหนึ่งของประเทศไทยมาทุกยุคทุกสมัย ยิ่งถ้ามองจากสายตาของคนวงนอกอย่างเราๆ ดูเหมือนว่าธุรกิจสโมสรฟุตบอลนั้นสร้างกำไรมหาศาล ทั้งจากยอดผู้ชมเต็มสนามทุกครั้งที่เราดูทางทีวี หรือดูจากบรรดาสปอนเซอร์ต่างๆ ที่เทงบโฆษณาให้เพื่อได้มาซึ่งป้ายในสนามหรือโลโก้บนเสื้อนักฟุตบอล อีกทั้งตัวเลขสถิติและรายได้ต่างๆ ของสโมสรฟุตบอลไทย ที่เราได้ยินมาจากทางสื่อทั้งหลายก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าธุรกิจฟุตบอลไทยนั้นกำลังไปได้สวย เช่น สถิติผู้เข้าชมในสนามทั้งฤดูกาลของไทยพรีเมียร์ลีกที่เพิ่มขึ้นทุกปีจากไม่ถึง 1 ล้านคนทั้งปี 2552 มาเป็นเกือบ 2 ล้านในปีที่แล้ว
รายได้จากการขายของที่ระลึกรวมทุกสโมสร เมื่อปี 2552 มีประมาณ 24 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 70 ล้านบาทในปีที่แล้ว และรายได้จากการขายค่าบัตรเข้าชมเกมของทุกสโมสรรวมกัน เมื่อปี 2552 มีประมาณ 50 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาเป็นถึงกว่า 160 ล้านในปี 2557 เลยทีเดียว นี่ยังไม่ร่วมค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดอันใหม่ที่ทุกทีมก็จะได้ส่วนแบ่งกันถ้วนหน้าอีกนะครับ
แต่ความจริงจากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเค้าบอกว่าจาก 10 สโมสรฟุตบอลไทยที่ทำรายได้สูงสุดในปีที่แล้ว มีแค่ 3 ทีมเท่านั้นที่ได้กำไร ที่เหลือขาดทุนหมด โดยเฉพาะทีมใหญ่อย่าง SCG เมืองทองที่ขาดทุนถึงกว่า 80 ล้านบาท จึงเห็นได้ว่าสำหรับคนทำธุรกิจเช่นผมที่ต้องมองที่งบกำไร-ขาดทุนและผลประกอบการแล้ว การทำสโมสรฟุตบอลเป็นกิจการที่ให้ผลกำไรในระดับที่ไม่ค่อยจูงใจเลย จนกระทั่งได้มีโอกาสคลุกคลีพูดคุยกับคนในวงการก็ได้เข้าใจว่า แรงจูงใจ ของคนที่มาทำสโมสรหรือเข้ามาข้องเกี่ยวกับวงการฟุตบอลก็ต่างกันไป
เคยอ่านเจอ คุณยรรยง อัครจินดานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการการกีฬา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้จัดการทีมฟุตบอล โดม เอฟ ซี ทีมในดิวิชั่น 2 ที่เรียกได้ว่าก็คลุกคลีในวงการลูกหนังไทยมาพอควร ได้เคยกล่าวไว้ว่า ทีมฟุตบอลไทยตั้งอยู่บน 3 โจทย์หลัก คือ ธุรกิจ การเมือง และความชอบส่วนบุคคล ซึ่งผมเชื่อว่าในโจทย์ด้านธุรกิจนั้นยังคงไม่ใช่ประเด็นหลักเพราะ วงการฟุตบอล ไทยเราต้องยอมรับว่าความเป็นมืออาชีพเพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน การ commercialise ฟุตบอลยังไม่พัฒนาถึงขีดที่เอื้อให้สร้างกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ ก็จะเหลือแค่เรื่องของ การเมือง และ ความชอบส่วนตัว
จากความสนใจส่วนตัว ผมลองสืบค้นข้อมูลทั่วๆ ไปเกี่ยวกับวงการฟุตบอลก็เจอข้อมูลอันหนึ่งที่บอกว่ากว่าครึ่งของสโมสรในระดับไทยพรีเมียร์ลีกล้วนแล้วมีความเกี่ยวโยงกับขั้วการเมืองโดยตรง ซึ่งสอดคล้องกับที่คุณ สายชล ปัญญชิต นักวิชาการอิสระ กล่าวไว้ในหนังสือ “ฟุตบอลไทย อำนาจ การเมือง และความเป็นชาย” ว่า ปรากฎการณ์ที่นักการเมืองเข้ามาสนับสนุนสโมสรฟุตบอลเป็น ของเล่นใหม่ เกิดขึ้นอย่างชัดเจนภายหลังถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งแบนห้ามเล่นการเมืองเมื่อปี 2550 ภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 โดยไม่ต้องบอกก็ทราบกันดีอยู่ว่าสโมสรไหนที่ถูกนักการเมืองเหล่านี้ใช้เป็นเครื่องมือสำคัญอันหนึ่งในการสร้างภาพสะสมบารมีด้านการทำธุรกิจและฐานเสียงทางการเมือง ไม่ได้หายไปจากความทรงจำของผู้คน
เมื่อมีนักการเมืองท้องถิ่นเข้าไปเป็นผู้สนับสนุนหลัก หรือตั้งทีมฟุตบอลในท้องถิ่นขึ้นมา ก็ย่อมมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเป็นทีมใหญ่ ผลงานดี ฐานแฟนคลับมาก กลุ่มทุนก็จะวิ่งเข้าหาเพื่อขอเป็นผู้สนับสนุนด้วยตัวเอง ได้ทั้ง connection ได้ทั้งภาพลักษณ์และฐานแฟน แต่ถ้าหากเป็นทีมฟุตบอลขนาดเล็กหรือยังไม่ดัง นักการเมืองเจ้าของทีมก็อาจต้องวิ่งเข้าไปขอการสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจต่างๆ เพื่อแลกกับสัญญาของผลตอบแทนในอนาคต เช่น หากนักการเมืองเจ้าของทีมได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลหรือในระดับท้องถิ่น คนที่เคยสนับสนุนก็มีโอกาสสูงที่จะถูกเลือกเข้าไปร่วมรับผลประโยชน์ในโครงการก่อสร้างต่างๆ ของรัฐ ง่ายนิดเดียว เห็นไหมครับ
มาถึงตรงนี้ก็เข้าใจได้ถึง แรงจูงใจ ของนักการเมืองที่เข้ามาให้การสนับสนุนหรือเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลต่างๆ และในทางกลับกันผมก็เข้าใจได้ซึ่ง แรงจูงใจ ที่บรรดาแฟนบอลในท้องที่ยินยอมให้นักการเมืองเหล่านี้เข้ามาสร้างความผูกพันอยู่กับพวกเค้า เพราะต้องยอมรับกันว่า คนไทยเรามีนิสัยชอบความสำเร็จที่ได้มาเร็วๆ แล้วถ้ามีคนหยิบยื่นตัวช่วยมาให้มีหรือที่จะปฏิเสธ ยิ่งถ้าหากสโมสรไทยมีโอกาสก้าวขึ้นไปเทียบชั้นสโมสรอื่นๆ ในเอเชียในทัวร์นาเมนต์ระดับประเทศแล้วยิ่งทำให้เรายิ่งติดกับดักของความสำเร็จที่ได้มาอย่างง่ายๆ
ทีนี้เราลองมามองดูตัวอย่างที่ผมคิดว่าเป็นปัจจัยเรื่องของ ความชอบส่วนตัว กันบ้าง เช่นสโมสร SCG เมืองทอง ยูไนเต็ด อาจจะดูใกล้ตัวแต่ในฐานะคนทำธุรกิจต้องยอมรับครับว่าเป็นโมเด็ลที่ผมเทใจให้มากกว่าแม้จะขาดทุนอยู่มากมายมหาศาลก็ตาม
ประการแรกเลยเป็นเรื่องของสิ่งที่ผมคิดว่า “จำเป็นอย่างยิ่ง” ของคนทำทีมก็คือเรื่องของ “ความชอบส่วนตัว” เพราะผมเองเป็นคนที่เชื่อเสมอว่า “ถ้าเราชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว มันไม่มีเหตุผลที่เราจะไม่เทใจและกำลังกายให้หมดหน้าตัก”
ต้องอย่าลืมนะครับ กว่าจะมาถึงวันที่ฟุตบอลไทยได้รับความนิยมและเป็นชิ้นปลามันของคนที่มาทีหลัง มันมีประวัติของการล้มลุกคลุกคลานกันมาหลายสิบปีก่อนที่โครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดของความสำเร็จ ณ จุดนี้จะมาบรรจบกันได้ทั้งหมด และผมเชื่อครับว่าถ้าหากลองไปถามแฟนบอลไทยที่ติดตามวงการมาตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมาเราก็จะรู้กันครับว่ามีอยู่ไม่กี่คนหรอกครับที่เรียกได้ว่ามีส่วนร่วมหัวจมท้ายกับวงการนี้มาโดยตลอด ซึ่งผมเชื่อว่าชื่อของ คุณระวิ โหลทอง ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนเล็กๆ ที่ “เทหมดหน้าตัก” ให้กับวงการฟุตบอลมาอย่างต่อเนื่อง
ถ้าเราย้อนกลับไปยุคที่ลีกฟุตบอลไทยก่อตั้งแรกๆ ต้องดิ้นรน ขาดคนสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและขาดคนที่จะมาดูแลสิทธิ์ ไม่มีใครหรอกครับที่จะเสนอตัวเข้ามาทำ ขนาดสปอนเซอร์รายใหญ่ๆ อย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครือข่ายโทรคมนาคมที่มีงบหลายหมื่นล้านยังไม่กล้าที่จะ commit ระยะยาวในการสนับสนุน แต่จะมีก็คนที่ชื่อ ระวิ โหลทอง นี่แหละครับที่ไม่ถอย
พื้นที่ของคราวนี้หมดซะแล้ว แต่คราวหน้าผมจะกลับมาต่อครับ เพื่อขยายความให้เห็นว่าการลงทุนให้กับ “สโมสรฟุตบอลเพื่อให้ประสบความสำเร็จ” กับการลงทุนให้กับ”วงการฟุตบอลประสบความสำเร็จ” มันมีคุณค่าที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง อย่าลืมติดตามนะครับ