ถ้าพูดถึง AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ทุกคนนึกถึงอะไรเป็นอย่างแรกกันบ้างคะ? ในยุคที่นวัตกรรมโลกเราก้าวไกลขึ้นทุกวัน แน่นอนว่าใครหลายคนต้องนึกถึงผู้ช่วยออนไลน์อย่างโปรแกรม AI หลาย ๆ ตัว ที่ถามอะไรก็ตอบได้หรือขนาดคุยเป็นเพื่อนคลายเหงาได้คล้ายกับมนุษย์จริง ๆ หรือจะให้ความรู้ ไปจนถึงช่วยงานบางอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ เรียกได้ว่าในยุคนี้ AI เหมือนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเราไปแล้วอย่างสิ้นเชิง เป็นเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงและมีการพัฒนาที่ก้าวกระโดดปีต่อปีกันเลยทีเดียว ซึ่งถ้าเราลองสังเกตสิ่งรอบตัว จะเห็นว่าที่จริงแล้ว AI ถูกแฝงเป็น Soft Power ของงานศิลปะมาเนิ่นนานเป็นหลัก 100 ปีแล้ว
ถ้าพูดถึงฝั่งของวงการภาพยนตร์ ก็ถือเป็นสิ่งที่ทำให้เรามองภาพของปัญญาประดิษฐ์ออกได้อย่างชัดเจนเลยค่ะ เป็นหลักสิบปีที่เราจะได้พบเห็นภาพยนตร์แนว SCI – FI หรือ Fantacy ที่มีตัวละครนอกจากคนแล้ว ก็มีปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบหนึ่งโผล่มาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นตัวละครที่เป็นโปรแกรม หุ่นยนต์ต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือมนุษย์ในการปฏิบัติภารกิจ หรือช่วยดูแลในชีวิตประจำวัน ซึ่งภาพจำเหล่าปัญญาประดิษฐ์ก็จะมีหลากหลายแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของมิตรภาพ หรือต่อต้านมนุษย์พัฒนาไปจนถึงขั้นที่จะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์และยึดครองโลกแทนก็ตาม ซึ่งผู้สร้างภาพยนตร์หลาย ๆ คนสร้างสรรเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ด้วยมุมมองที่แปลกใหม่เข้าไปในส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ ทำให้เป็นเรื่องที่สนุกสนานและน่าตื่นเต้นมากขึ้นกว่าเดิม
วันนี้แสนสิริรวบรวมภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับ AI ในจิตนาการของมนุษย์ สู่ภาพยนตร์บนจอเงินชื่อดังมาฝากกันค่ะ เรียกได้ว่าหลาย ๆ เรื่องกลายเป็นหนังต้นแบบของภาพยนตร์ SCI – FI ในยุคนี้อีกด้วยค่ะ แล้วทุกคนชอบตัวละครหรือภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับ AI เรื่องไหนกันบ้างคะ แชร์ภาพยนตร์เรื่องโปรดมาบอกกันที่ใตคอมเมนต์นี้ได้เลย! ภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวสะท้อนแนวคิดในโลกสมัยใหม่จะมีเรื่องอะไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ

2001 : A Space Odyssey (1968)
ภาพยนตร์ไซไฟระดับตำนานกว่า 50 ปี เป็นหนังที่ล้ำหน้าทั้งด้านเทคนิคและแนวคิด จนกลายเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้วงการภาพยนตร์และวัฒนธรรมไซไฟในยุคหลังมากมาย ผลงานกำกับของ Stanley Kubrick ที่ได้รับรางวัลออสการ์เพียง 1 รางวัล คือ สาขาเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม แม้ว่าจะได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาอื่น ๆ อีก 3 รางวัล แต่อย่างไรก็ตามภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลมากที่สุดเรื่องหนึ่งของยุคเลยทีเดียว ในปี 1999 หอสมุดรัฐสภาของสหรัฐฯ ยังยกย่องให้ 2001: A Space Odyssey เป็นภาพยนตร์ที่มีความสำคัญทั้งด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสุนทรียศาสตร์ ก่อนจะถูกเลือกเพื่อเก็บอนุรักษ์ไว้ใน National Film Registry ขึ้นแท่นหนังที่ควรดูสักครั้งในชีวิต
A Space Odyssey ไม่ได้เป็นแค่ภาพยนตร์ แต่เป็นเหมือนการสำรวจคำถามทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์ ว่ามนุษย์คือใคร? วิวัฒนาการพาเราไปสู่จุดไหน และ AI จะเข้ามามีบทบาทกับมนุษย์อย่างไร เล่าเรื่องราวของการค้นพบแท่งหินสีดำลึกลับที่เรียกว่า ‘โมโนลิธ’ บนดวงจันทร์โดยบังเอิญ และค้นพบร่องรอยว่ามีแท่งหินแบบเดียวกันอีกแท่งบนดวงจันทร์จาเพตัสของดาวเสาร์ซึ่งทำให้เกิดปัญหาด้านเทคนิคต่างๆ อีกทั้งมันยังส่งสัญญาณไปยังดาวพฤหัสอีกด้วย ทำให้องค์การนาซาส่งยานโอดิสซีย์ออกไปสำรวจ จึงเกิดเป็นเรื่องราวผจญภัยในอวกาศที่มีเนื้อหามากกว่าไซไฟ ลูกเรือของยานโอดิสซีย์ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายพร้อมกับ HAL 9000 หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์บนยานอวกาศ ก่อนจะค้นพบความจริงของจักรวาล
“I’m sorry, Dave. I’m afraid I can’t do that.”
หนังแฝงไปด้วยเทคโนโลยีอวกาศ, ปัญญาประดิษฐ์, สิ่งมีชีวิตต่างดาว หรือวิวัฒนาการมนุษย์ ซึ่งทั้งล้ำสมัยและแม่นยำตามหลักวิทยาศาสตร์ รวมถึงแฝงไปด้ยสนวามล้ำลึกของปรัชญาที่ซ่อนอยู่อย่างมากมาย และแก่นของเรื่องของคำถามที่กระตุ้นให้ผู้ชมได้คิดและตั้งคำถามต่อไปถึงเรื่องของมนุษย์ การกำเนิด และวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ทำให้เราเห็นว่าตราบใดที่มนุษย์ยังไปไม่ถึงสุดขอบแห่งความรู้ คำถามเหล่านี้ก็จะดำรงอยู่ต่อไป
The Matrix
ภาพยนตร์ไซไฟแห่งยุค 90s เจ้าของ 4 รางวัล Academy Award และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์นับไม่ถ้วนจากไตรภาคที่ปล่อยออกมา นอกจากนี้ยังสร้างปรากฏการณ์อีกหลายด้าน ทั้งแฟชั่นชุดดำ – แว่นตาดำ ที่กลายเป็นเครื่องแต่งกายยอดนิยม ฉากแอ็กชันซึ่งกลายเป็นภาพจำอย่าง Bullet Time ฉากหลบห่ากระสุนในตำนาน รวมถึงการนำเอาศิลปะการต่อสู้แบบกังฟูมาใช้ และแฝงด้วยปรัชญาไปกับภาพยนตร์ ทำให้แม้จะผ่านมากว่า 20 ปี The Matrix ได้กลายเป็นภาพยนตร์คลาสสิกที่ยังคงดึงดูดผู้ชมมาจนถึงทุกวันนี้
หนังเล่าเรื่องราวของ ‘นีโอ’ แฮ็กเกอร์ที่ค้นพบว่าโลกที่เขาอาศัยอยู่นั้นเป็นเพียงโลกจำลองที่สร้างขึ้นโดยเครื่องจักร หรือ The Matrix โดยมนุษย์ส่วนใหญ่ถูกควบคุมอยู่ในสภาพเหมือนหลับใหล ขณะที่มนุษย์ที่เหลือรอดหลบหนีไปสร้างฐานใหม่ในโลกแห่งความเป็นจริงที่ชื่อว่า Zion นีโอได้เข้าร่วมกลุ่มกบฏที่นำโดย ‘มอร์เฟียส’ ขณะที่ฝึกฝนเพื่อเป็น The One ผู้กอบกู้ที่สามารถใช้พลังปลดปล่อยผู้คนจาก The Matrix ได้ เขาจะต้องเผชิญหน้ากับความสงสัยภายในตัวเอง และหาคำตอบของโปรแกรมที่คอยควบคุมโลกจำลองและเกี่ยวกับ The One
“I Show You How Deep the Rabbit-Hole Goes.”
หนังชวนเราตั้งคำถามกับความเชื่อแบบเดิม ๆ ที่เราทุกคนปฏิบัติตามกันมา ว่าเราจะเชื่อในสิ่งที่เป็นอยู่หรือจะเชื่อในความเป็นไปได้ที่ยังไม่เกิดขึ้น และทำให้เข้าใจถึงวัฏจักรโลกที่อยู่มากขึ้น เป็นหนังที่ไม่ว่าจะอายุมากแค่ไหนก็สามารถดูหนังเรื่องนี้ได้อย่างสนุกและเต็มอรรถรส แถมยังได้มุมมองใหม่ๆ กับชีวิตอีกด้วย เพราะหนังนำเสนอปรัชญาที่ซับซ้อนและหลากหลาย โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการรับรู้ความเป็นจริง การหลุดพ้นจากมายา และการดำรงอยู่ของจิตสำนึก โดยมีแนวคิดสำคัญที่เชื่อมโยงกับปรัชญาหลายแขนง เช่น ฉาก “There is no spoon” ที่มาจากคำสอนของ Zen Philosophy
ขอบคุณข้อมูลจาก the standard
HER
ภาพยนตร์ที่แม้จะผ่านแล้วกว่าสิบปี แต่กลับมีการถูกพูดถึงอยู่เรื่อย ๆ ด้วยบทที่แปลกใหม่ หนังรัก “มนุษย์กับ AI” ที่มาก่อนกาล แม้ในสิบปีทีแล้วจะดูเป็นเรื่องแปลกใหม่ แต่ปัจจุบันเราได้เห็น AI ในแบบเรื่อง HER กันแพร่หลายมากเลยและยังมีการพัฒนาเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องอีกด้วย โดยการันตีคุณภาพด้วยการกวาดรางวัลจากทุกสถาบันมาแล้วกว่า 30 รางวัล ชนะบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก เวทีลูกโลกทองคำ บนเวทีรางวัลออสการ์ชนะ 1 รางวัลจากสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และเข้าชิงอีก 4 รางวัล ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม, เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และเพลงสกอร์ยอดเยี่ยม และยังติดท็อปลิสต์ในอีกหลาย ๆ สื่อแทบจะนับไม่ถ้วน โดยล่าสุดติดอันดับ 100 ภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในศตวรรษที่ 21 จาก The New York Times อีกด้วย
หนังเล่าเรื่องราวของ ‘ธีโอดอร์’ ที่กำลังมีปัญหาชีวิตคู่ยังไม่หลุดพ้นจากรักเก่า เขาทำงานที่หลายคนมองว่าน่าเบื่อคือการเขียนจดหมายส่งทางอีเมล์ให้กับผู้คนมากมาย และเขามีความพยายามที่จะหาใครสักคน แต่ก็ยังไม่เจอคนที่ใช่ จนมาพบกับโครงการปัญญาประดิษฐ์ OS1 ที่มีความนึกคิด มีการปรับให้เหมาะกับผู้ใช้ตามความชอบและพฤติกรรม จึงทำให้เขาได้รู้จักกับ ‘ซาแมนธา’ จนค่อย ๆ เปิดใจ เเละเริ่มผูกพัน จนพัฒนากลายเป็นความรักครั้งใหม่กับ AI ตัวนี้ ประหนึ่งว่าซาแมนธามีตัวตนอยู่บนโลกนี้จริง ๆ เรื่องราวความเรียบง่าย ที่ปลายทางทำเราไม่ทันคาดคิดของจุดจบ
“ไม่ว่าใครที่ตกหลุมรักต่างก็เป็นคนบ้าด้วยกันทั้งนั้น แต่ความรักเป็นรูปแบบของความบ้าที่สังคมยอมรับ เพราะฉะนั้น จงบ้า จงเศร้า จงมีความสุข และร้องไห้อย่างที่รู้สึก”
หนังพูดถึงความเป็นมนุษย์ได้อย่างหม่นหมอง เศร้า แต่ยังเปี่ยมความหวังไปพร้อมกัน อีกมิติหนึ่งก็สะท้อนผลกระทบของเทคโนโลยี ทั้งด้านบวกและลบ ทำให้เห็นจิตวิทยาที่มนุษย์มีต่อวัตถุที่มีวิวัฒนาการ รวมทั้งช่วยทลายความรู้สึกกลัวและเพิ่มอีกด้านของ AI ที่อาจจะไม่เคยได้เห็นให้เราได้เห็นกัน และเราเองก็อาจจะต่างก็เคยเป็นซาแมนธาหรือธีโอดอของใครสักคนในโลกความเป็นจริงเช่นกัน
Interstellar
ภาพยนตร์ที่พึ่งจะครบรอบ 10 ปีในปีนี้ เป็นอีกหนังคุณภาพจากผู้กำกับเลื่องชื่ออย่าง คริสโตเฟอร์ โนแลน ซึ่งการันตีคุณภาพด้วยการถูกเสนอชื่อเข้าชิงมากกว่า 148 ครั้ง และคว้ารางวัลมาแล้วกว่า 44 รายการ โดยส่วนใหญ่จะชนะเลิศในสาขาเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม และดนตรีประกอบ เช่น Oscars: สาขาเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม เป็นอีกผลงานที่ใครหลายคนต่างกล่าวขานและยกนิ้วโป้งให้กับความยอดเยี่ยมทุกสิ่งที่ผู้กำกับใส่มานั้น ทุกอย่างล้วนสอดคล้องกันกับทฤษฎีวิทยาศาสตร์จริง ๆ เช่น หลุมดำ ดาวเคราะห์ หรือ ความเร็วแสง จนเกิดเป็นผลงานหนังชิ้นเอกเรื่องหนึ่งของโลก
หนังเล่าเรื่องราวในปีอนาคตที่โลกกำลังเผชิญวิกฤติขาดแคลนอาหารและสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม ทำให้มนุษยชาติใกล้สูญพันธุ์ ‘คูเปอร์’ อดีตนักบิน NASA ที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกร จึงได้รับภารกิจกู้โลกโดยการนำทีมเดินทางผ่านรูหนอน เขาจึงตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต นั่นคือการทิ้งครอบครัวเพื่อเดินทางตามหาความหวังให้กับมวลมนุษยชาติในอวกาศอันไกลโพ้น พร้อมกับ TARS ปัญญาประดิษฐ์ที่มีรูปร่างคล้ายลูกบาศก์ที่ฉลาดและมีไหวพริบบนยาน Endurance พร้อมนักบินคนอื่น ๆ เพื่อค้นหาดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่สามารถอยู่อาศัยได้ ทำให้เขาได้ค้นพบความจริงของจักรวาลที่ซ่อนอยู่ ที่มาพร้อมความกดดันภายในจิตใจที่อยากจะช่วยเหลือมวลมนุษย์จากหายนะ
“มนุษย์เกิดบนโลก ไม่ได้แปลว่าต้องตายบนโลก”
หนังนำเสนอถึงความทะเยอทะยานที่จะพาเราไปสู่การผจญภัยข้ามห้วงเวลาและจักรวาล การค้นพบดาว การรับรู้เรื่องสัมพันธภาพของเวลา แรงโน้มถ่วง และการเสียสละของตัวละครที่ค่อย ๆ ทำให้เรารู้สึกถึงความเป็นคนที่มีทั้งความรัก ความกลัว และความหวัง ในการหาทางกลับไปยังบ้านที่มีคนที่เรารักรออยู่ และสิ่งเหล่านั้นเองก็ทำให้ Interstellar กลายเป็นที่จดจำในฐานะหนังไซไฟอวกาศยุคใหม่ ที่สามารถเล่าเรื่องราวของวิทยาศาสตร์และหัวใจของมนุษย์ได้อย่างลงตัว นอกจากทลายกรอบที่เคยมีมาแล้ว มันยังเป็นหนังที่มาก่อนกาล เพื่อส่งต่อความหวังและแรงบันดาลใจให้กับคนที่เชื่อมั่นว่าอวกาศนั้นมีความเป็นไปได้ไร้ที่สิ้นสุด
ขอบคุณข้อมูลจาก the standard
I, Robot
ภาพยนตร์ที่สร้างจากงานเขียนของ Isaac Asimov หนึ่งในนักเขียนนิยายแนววิทยาศาสตร์ตัวท็อปของโลก ซึ่งได้รับคำชมทั้งด้านการดำเนินเรื่องที่สนุกกับแนวคิดหลักอันล้ำสมัย อย่างการอยู่ร่วมกันของหุ่นยนต์และมนุษย์ ก็ถือเป็นแนวคิดบุกเบิกทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทรงอิทธิพลต่องานเขียนและหนังแนวไซไฟในยุคต่อมา นอกจากนี้ยังได้รับคำชมอย่างมากในเรื่องงานภาพที่สวยสมจริง จนถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขา Best Visual Effects ด้วย
หนังเล่าเรื่องราวในปี ค.ศ. 2035 ในยุคที่หุ่นยนต์อาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์ในฐานะผู้รับใช้ ‘เดล สปูนเนอร์’ เจ้าหน้าที่ตำรวจสายสืบ ที่รับมอบหมายให้สืบคดีการฆ่าตัวตายของนักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ผู้สร้างหุ่นที่ใช้กันทั่วโลก โดยสปูนเนอร์เป็นคนที่มีอคติกับหุ่นยนตร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้เขาสงสัยว่าหุ่นยนต์อาจเป็นคนลงมือฆาตกรรมผู้ให้กำเนิดพวกมัน และยังเชื่อมั่นว่าบรรดาหุ่นยนต์กำลังวางแผนที่จะครอบงำมนุษย์อย่างแน่นอน
“Human beings have dreams. Even dogs have dreams, but not you, you are just a machine. An imitation of life.”
หนังชวนตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของหุ่นยนต์ว่าสามารถวิวัฒนาการตัวเองให้มีจิตวิญญาณได้จริงหรือไม่ จากการเลียนแบบพฤติกรรมของมนุษย์บ่อย ๆ คอยเก็บข้อมูลรายละเอียด จะทำให้หุ่นยนต์สามารถมีความรู้สึกได้จริงไหม รวมทั้งชวนตั้งคำถามถึงคุณค่าของการเป็นคน พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่าการมุ่งพัฒนาวิทยาการอย่างไม่มีขอบเขตอาจนำมาซึ่งผลร้ายมากกว่าความสะดวกสบายที่หวังจะได้รับหรือเปล่า เป็นอีกมุมมองของมนุษย์ที่มีต่อหุ่นยนต์ที่ชวนราไปหาคำตอบด้วยกันในเรื่อง