Allardyce ผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติอังกฤษที่อายุงานน้อยที่สุด

และแล้วก็เป็นไปตามที่ทุกคนคาดเดา Sam Allardyce กลายเป็นผู้จัดการทีมชาติอังกฤษที่มีอายุงานน้อยที่สุด เพียงแค่  60 กว่าวันก่อนที่จะ  “สมัครใจ”  สละตำแหน่งอันเนื่องมาจากข่าวอื้อฉาวที่ทุกท่านคงทราบดีจากเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

ซึ่งก็เรียกได้ว่าไม่ใช่เป็นข่าวร้ายของ Allardyce คนเดียวแต่เป็นของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ FA ที่ต้องถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการเลือกตัว Allardyce มารับตำแหน่งนี้ตั้งแต่แรก และสำหรับทีมชาติอังกฤษเองที่กำลังจะต้องลงแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกในอีก 2 เกมภายในระยะเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์ดีเลย แต่อย่างน้อยก็ยังอุตส่าห์มีคนขำขันบอกว่าตัว Allardyce เองควรภูมิใจในสถิติที่ตัวเองทำไว้นั่นก็คือเป็นผู้จัดการทีมชาติอังกฤษคนแรกที่ทำสถิติชนะหมด 100% ระหว่างที่ทำหน้าที่อยู่นะครับ

ถ้าหลายๆ คนติดตามข่าวของเค้าจะทราบดีว่า Allardyce เองก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้จัดการที่มีฝีมือในการกระตุ้นและปั้นอันดับกลาง-ล่างให้ประสบความสำเร็จได้พอสมควรเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการที่ทำทีม Bolton, Blackburn, West Ham หรือ Sunderland พัฒนาขั้นอย่างชัดเจนภายหลังที่เค้าเข้ามาคุมทีม รวมถึงการบริหารจัดการบรรดานักเตะอีโก้สูงอย่าง Anelka หรือ El Hadji Diouof หรือ Youri Djorkaeff ให้มีส่วนช่วยทีมได้อย่างดี

ดังนั้น จึงไม่แปลกถ้าย้อนหลังกลับไปตอนที่อังกฤษผิดหวังจากฟุตบอลยุโรปเมื่อกลางปี Allardyce จึงกลายเป็น candidate คนหนึ่งที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ เนื่องจากทีมชาติอังกฤษก็ล้มเหลวมาหลายครั้งจากการฝันหวานว่าผู้จัดการทีมระดับโลกจากทั้งในและนอกประเทศจะเข้ามาช่วยกอบกู้ศรัทธาให้ทีมได้ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงมาเอา Allardyce ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นคนทำทีมประเภท “pragmatism” หรือ “ปฏิบัตินิยม” ด้วยสไตล์การเล่นที่ตรงไปตรงมา และสไตล์การ motivate ทีมแบบของเค้าน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด แม้จะไม่ใช่การเล่นที่ grandeur หรือสวยหรูอย่างที่แฟนบอลฝันเห็น แต่จาก resume ของเค้าที่พูดได้เต็มปากว่าเป็นผู้จัดการทีม EPL ที่ไม่เคยทำทีมตกชั้นเลยมาก่อน แม้จะเป็นทีมระดับล่างๆ ก็ตาม ทำให้เค้าได้รับความไว้วางใจจาก FA

sam-allardyce-panorama
credit: theguardian.com

แต่ถ้าเราย้อนหลังกลับไปสักประมาณสิบปีที่แล้ว ยังจำได้ไหมครับว่า Allardyce คนนี้แหละที่เคยมีข่าวฉาวเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสและถูกกล่าวหาว่ามีรับเงิน kick back จากการซื้อขายตัวนักเตะในยุคนั้นอย่าง Hidetoshi Nakata และ Tel Ben Haim รวมถึงการที่ลูกชายของเค้าก็เป็นเอเจนต์รายหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวพันมีส่วนได้ส่วนเสียกับค่าตัวนักเตะดังกล่าวด้วย ซึ่งเป็นเรื่องราวใหญ่โตเหมือนกันเพราะถูกแฉผ่านสารคดี Panorama ของ BBC โดย Allardyce ยืนยันว่าจะฟ้อง BBC ในการหมิ่นประมาทและกล่าวหาเท็จ แต่สุดท้าย BBC ก็ไม่ถูกฟ้องร้องแต่อย่างใด ซึ่งนั่นสำหรับหลายๆ คนหมายถึงการที่ Allardyce หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับสิ่งสกปรกโสมมที่เค้าปฏิเสธว่าเกี่ยวพัน  และนี่ถือเป็นข้อผิดพลาดอันหนึ่งที่ FA ของอังกฤษมองข้ามนัยยะความสำคัญไป แม้ว่าเวลาจะผ่านมาสิบปีแล้ว แต่นิสัยคนเรามันเปลี่ยนยากครับ จะว่าเป็นเพราะ FA ลนลานในการหาคนมาสวมแทนปู่ Roy Hodgson ก็คงไม่ผิด ซึ่งส่วนนี้ FA ควรรับผิดชอบด้วยเหมือนกันที่เลือกคนประวัติไม่ดีมาทำหน้าที่อันเป็นความหวังสูงสุดของคนทั้งประเทศในการกอบกู้ชื่อเสียงฟุตบอลอังกฤษกลับมา

นอกจากนี้แล้ว ผมว่าแฟนๆ บอลเองก็พลาดไปตรงที่อาจจะคิดเหมือน FA ก็คืออยากรีบได้คนมารับช่วงต่อโดยเร็ว โดยไม่พิจารณาชั่งน้ำหนักให้ดีก่อน รวมทั้งการตั้งความหวังไว้สูงมากสำหรับทุกทัวร์นาเมนต์ทำให้ทุกฝ่ายมีแรงกดดันในการ deliver ผลงานที่ต้องทำได้อย่างรวดเร็วเพื่อเอาใจแฟนบอลที่โหยหาชัยชนะ ส่งผลให้ตัวพระรองอย่าง Gareth Southgate เองก็ออกปากว่าเค้ายังไม่พร้อมที่จะเป็นผู้จัดการทีมชาติชุดใหญ่อย่างเต็มตัวตอนที่ปู่ Roy ลงจากตำแหน่ง ก็ใครจะอยากล่ะครับ แรงกดดันมันเยอะขนาดนั้น แต่ถึงยังไง Southgate ก็หนีไม่พ้นอยู่ดีกับการรับตำแหน่งชั่วคราวใน 4 แม็ทช์ที่จะถึงนี้ ซึ่งก็อาจเป็นผลดีเพราะแรงกดดันไม่ค่อยมีเพราะเข้ามารับเฉพาะกิจ ถ้าทำผลงานได้เข้าตาและสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง รวมถึงซื้อใจนักเตะขาใหญ่ทั้งหลายได้ ก็อาจเป็นผลดีต่อการรับหน้าที่ระยะยาวได้ครับ

ทีนี้เรามาพูดถึงตัวละครอื่นในเรื่องนี้กันบ้าง ที่ต้องยอมรับเลยว่าเป็น “ขาเสี้ยม” ระดับสุดยอดก็คือสื่อของอังกฤษ ซึ่งในกรณีนี้คือ Daily Telegraph ที่อุตส่าห์พยายามหาเรื่องเล่นงานคนของประชาชนได้อย่างจังๆ ซึ่งจะว่าไปก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียนะครับ ข้อเสียก็คงเป็นเรื่องที่ผมพูดไปข้างต้นคือเรื่องของสถานการณ์ของทีมชาติอังกฤษที่ Alan Shearer และ Les Ferdinand ถึงกับออกปากว่าเป็น “เรื่องโจ๊ก” และเป็น “เรื่องน่าอับอาย” ของวงการฟุตบอลอังกฤษ แต่ข้อดีก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มี นั่นคือ การสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับบรรดาผู้จัดการทั้งทีมชาติและสโมสรได้ประจักษ์ว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ถ้ามีผลประโยชน์ทับซ้อนที่ไม่โปร่งใส และมีการอาศัยอำนาจของตำแหน่งในการทุจริตหรือส่อทุจริต คุณก็มีสิทธิ์โดนเหมือนกัน ซึ่งจะว่าไปในวงการก็คงรู้ดีครับว่าไม่ใช่มีแค่ Allardyce คนเดียวที่แปดเปื้อนในเรื่องแบบนี้ Harry Redknapp หรือแม้กระทั่ง Sir Alex Ferguson ก็เคยมีเอี่ยวมาแล้ว ไม่มากก็น้อย (มีคนแนะนำว่าถ้าอยากรู้ชัดลึกในเรื่องนี้ให้ลองไปอ่านอัตชีวประวัติของ Joey Barton ที่เพิ่งวางตลาดในอังกฤษดูครับ)

ล่าสุดวันที่ผมเขียนต้นฉบับนี้หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่าง The Telegraph ของอังกฤษก็บอกว่าจะเปิดเผยอีก 6 รายชื่อผู้จัดการสัญชาติอังกฤษที่เคยพัวพันเกี่ยวกับการรับ kick back จากการซื้อขายตัวนักเตะในอดีต เรากำลังพูดถึงวงการฟุตบอลอังกฤษที่บริหารโดยสมาคมฟุตบอลที่มีความขลังและยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกนะครับนี่ ยังหนีไม่พ้นคนกันเองสร้างเรื่องแปดเปื้อนได้ขนาดนี้ คงเป็นเช่นนี้กระมัง หลายสโมสรถึงลงทุนกับผู้จัดการที่มาจากประเทศอื่น ที่มีประวัติขาวสะอาดและมีฝีมือดีมาแทนการปั้นคนอังกฤษกันเอง?

ตัวละครสุดท้ายที่อดจะกล่าวถึงไม่ได้ก็คือ “ตัวละครสมมุติ” ที่ได้มีโอกาสเจรจากับ Allardyce จนเป็นเรื่องราวใหญ่โตในครั้งนี้ครับ มันเจ็บใจตรงที่ว่านกต่อคนนี้ปลอมตัวเป็น “ท่านชีค” ที่ชักชวนให้ Allardyce รับเงินจากประเทศในเอเชียอาคเนย์ในกรณีนี้น่ะสิครับ นั่นหมายความว่าในสายตาของชาวตะวันตกโดยเฉพาะวงการฟุตบอลอังกฤษยังมองว่าคนเอเชียยังเป็นผู้ร้ายที่บงการอยู่เบื้องหลังของความอัปยศอดสูของฟุตบอล ไม่ว่าจะเป็นการพนัน ล้มบอล การซื้อขายนักเตะอย่างผิดกฏระเบียบ ฯลฯ เป็นแบบนี้แล้วก็ช้ำใจนะครับที่เราถูกมองเป็นผู้ร้ายทุกทีไปซะนี่

ข้อมูลจาก: คอลัมน์ “เศรษฐา & กีฬา” Allardyce’s Downfall ใครจะช่วยรับผิดกันบ้างโดยคุณเศรษฐา ทวีสิน (สยาม สปอร์ต รายวัน) วันที่ 30 กันยายน 2559

ถ้าคุณสนใจบทความกีฬา:
Hooliganism กับฟุตบอลไทย เกมกีฬาที่สามารถสร้างความหลงใหลให้กับคนดู คลิก
Doping in Sports: ว่าด้วยเรื่องของการโด๊ปยา คลิก