ธุรกิจครอบครัว

ลูกเถ้าแก่ กับการสืบทอดธุรกิจ

วันก่อนผมอ่านเจอรายงานของบริษัทที่ปรึกษาด้านกฏหมายแห่งหนึ่ง เขาบอกว่าประมาณกว่า 80% ของธุรกิจในไทยเป็นธุรกิจของบริษัทที่บริหารงานโดยคนในครอบครัว หรือ “เจ้าสัวและครอบครัว” ฟังดูแล้วน่าตกใจเหมือนกัน

แต่ถ้าเอามูลค่ามาวัดจะยิ่งน่าตกใจยิ่งกว่า เขาบอกว่าจากมูลค่าธุรกิจของไทยทั้งหมดเกือบ 42 ล้านล้านบาท ประมาณ 30 ล้านล้านบาทเป็นธุรกิจที่บริการโดย “เจ้าสัวและครอบครัว” โดยเป็นผลสืบเนื่องมาตั้งแต่ยุค 1960’s และ 1970’s ภายหลังที่ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกร่างขึ้นมา เจ้าของธุรกิจในยุคนั้นจึงเริ่มสร้าง connection กับสถาบันการเงินและหน่วยงานรัฐบาล หลายรายเข้าสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตอันเนื่องมาจากนโยบายการสนับสนุนการลงทุนและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ตั้งตัวได้ในช่วงนี้หลายรายก็ได้ต่อยอดขยายธุรกิจไปครอบคลุมอุตสาหกรรมด้านอื่นอย่างต่อเนื่อง

ธุรกิจครอบครัว

ครอบครัวเจ้าสัว…ทั่วโลก

ไม่ได้แปลกสำหรับประเทศไทย ที่อื่นเขาก็เป็นเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนๆ เราก็มักเห็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่มีครอบครัวเป็นเจ้าของและบริหารงานโดยคนในครอบครัวมาโดยตลอดตั้งแต่รุ่นผู้ก่อตั้งมาจนลูกหลาน ไม่ว่าจะเป็นสายแฟชั่นอย่าง Hermes หรือ LVMH หรือยักษ์ใหญ่ธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกาหลีอย่าง LG หรือบริษัทฟาร์มาฯ เบอร์ต้นๆ ของโลกอย่าง Roches หรือผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดของโลกจากอินเดียที่ชื่อว่า Arcelor Mittal ก็ถูกบริหารงานโดยรุ่นลูกและหลานของผู้ก่อตั้งมาโดยตลอด

ไม่ได้ผิดหรือถูก เพราะในมุมมองของธุรกิจก็แล้วแต่ว่าแต่ละครอบครัวจะเห็นเหมาะสมอย่างไร อุตส่าห์สร้างธุรกิจกันมาใหญ่โต แน่นอนการถือหุ้นสัดส่วนมากอย่างเดียวไม่พอ คงต้องส่งคนในครอบครัวเข้าไปบริหารและจัดการอย่างใกล้ชิดเพื่อให้แน่ใจว่าตอบโจทย์ด้านผลประโยชน์สูงสุด

ยิ่งประเทศไทย เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับคนในครอบครัวไม่ต่างกับชนชาติเอเชียอื่นๆ ดังนั้นเราเห็นกันเสมอ ที่มีการวางตัวผู้สืบทอดธุรกิจตั้งแต่ลูกหลานยังเรียนกันไม่จบดี ในเชิงคำสั่งสอน พ่อแม่มีหน้าที่วางพื้นฐานที่ดีให้กับลูก ในขณะที่ลูกก็ต้องตอบแทนบุญคุณให้พ่อแม่ ดังนั้นจึงกลายเป็นเหมือนข้อตกลงทางสังคมไปในตัวว่าเมื่อพ่อแม่เป็นเจ้าของธุรกิจ ก็ให้ลูกมาสืบทอดต่อเสียเลย จะได้ไม่ต้องลำบากไปหางานที่อื่นทำเป็นลูกจ้างเขา ลำบากให้ก่นด่า ในขณะที่ลูกก็ถูกมองว่าต้องกลับมาตอบแทนพ่อแม่ด้วยการสืบทอดธุรกิจให้เจริญรุ่งเรืองต่อๆ ไป ซึ่งเราเห็นกันตั้งแต่เถ้าแก่ธุรกิจห้องแถวไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่

ครอบครัว

ที่ไหนก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่ที่นี่

อย่างไรก็แล้วแต่ แม้ว่าวัฒนธรรมการสืบทอดธุรกิจแบบที่บริหารงานโดย “เจ้าสัวและครอบครัว” จะอยู่ทั่วทุกหนแห่งในโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

แต่นั่นไม่ใช่แนวทางที่ผมจะใช้กับองค์กรที่ผมบริหารแน่นอน ถ้ามีคนถามผมว่าจะให้ลูกมาสานต่อธุรกิจไหม ผมตอบได้เต็มปากแบบไม่ต้องกลัวลูกๆ ผมเสียใจเลยว่า “ไม่เคยคิด”

เพราะอะไร เพราะผมคิดว่าไม่แฟร์กับพนักงานคนอื่นๆ ที่อยู่กับองค์กรมาก่อน เขาได้ทำหน้าที่ของเขาในการนำพาองค์กรไปข้างหน้า จู่ๆ จะมีลูกหลานของผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัทมานั่งในตำแหน่งสูงๆ สั่งงานพวกเขาโดยที่ยังไม่ได้พิสูจน์ว่ามีคุณค่ากับองค์กรจริง กรณีสุดโต่งแบบนี้ผมรับไม่ได้จริงๆ

แล้วถ้าหากมีการรับลูกหลานเข้ามาทำในตำแหน่งล่างๆ ก่อนล่ะ จะยังไง ผมคิดว่าก็ยังไม่แฟร์อยู่ดี เพราะสุดท้ายเป้าหมายก็คือสร้างความชอบธรรมในการขึ้นตำแหน่งสูงๆ เช่นเดิม คนที่ทำงานมานานก่อนหน้าโดยมีความคาดหวังจะขึ้นเป็นใหญ่เป็นโตเขาก็ต้องรู้สึกว่ามีคนที่ภาษีดีกว่าโดยกำเนิดมาเป็นคู่แข่ง แบบนี้ใครจะไปสู้ได้ ไม่น่าจะดีต่อ moral ของคนทำงาน แถมยังต้องเสียเวลามาเป็นโค้ชให้อีกแทนที่จะเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่ productive กว่าสำหรับองค์กร ผู้ถือหุ้นและลูกค้า

หรือคิดแบบตลกๆ เกิดเอาลูกหลานเข้ามาทำงานแล้วไม่ได้ดั่งใจ จะทำยังไงล่ะ จะกลายเป็นขี้ปากว่าเอาคนในครอบครัวมาทำงานแล้วไม่ได้เรื่อง พาลจะกลายเป็นเลี้ยงลูกไม่ดีไปเสียอีก

อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ผมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเอาลูกหลานเข้ามาทำงานในบริษัทก็คือ นั่นจะเป็นหนึ่งในสาเหตุให้เกิดอาการ รวยกระจุก จนกระจาย เพิ่มขึ้นไปอีก เพราะแน่นอนถ้าเป็นบริษัทของตระกูลแล้วตัวเองต้องเข้ามารับผิดชอบ นั่นคือภาระที่หนักหนาในการสานต่อความเจริญรุ่งเรือง ถ้าบังเอิญว่ารุ่นก่อนๆ ไม่เคยมีความปรารถนาอื่นใดนอกจากทำกำไรสูงสุดให้กับตัวเองและผู้ถือหุ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือการปกป้องผลประโยชน์นั้นไว้ในรุ่นต่อๆ มา มุมมองในการทำธุรกิจแบบพอดีและสร้างสมดุลย์ให้กับลูกค้า สังคม ผู้ถือหุ้น และพนักงานก็จะไม่เกิด อย่างไรก็ตาม ผมก็ขอชื่นชม สำหรับบางองค์กรที่มีทายาทของตระกูลเข้ามาแล้วมีความสนใจในเรื่องอื่นๆ มากขึ้นนอกเหนือจากทำกำไรสูงสุดอย่างเดียว

สิ่งที่ผมสอนลูกๆ ผมมาโดยตลอดคือการรู้จักคิด วางกรอบชีวิตในอนาคตของตัวเองโดยไม่ยึดติดว่าทางครอบครัวได้สร้างรากฐานอะไรไว้ให้ ผมเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่สมัยนี้จะมีศักยภาพที่ดีและเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพต่อสังคมโดยรวม จะต้องมองใหม่ มองหาความท้าทายในที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่ comfort zone ของตัวเอง

การได้มีโอกาสเรียนรู้ในเรื่องที่ไม่ได้ถูกตีกรอบไว้ให้จะดีกว่าต่อพัฒนาการทางศักยภาพของพวกเขา อีกทั้งโลกในปัจจุบันมีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ถ้ายึดติดกับสิ่งที่มีอยู่ ยึดติดว่าต้องเรียนรู้เฉพาะบางเรื่องที่เกี่ยวกับธุรกิจที่ได้ถูกสร้างไว้แล้ว บางที่เราจะเสียโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เราไม่คิดว่าจะสนุกกับมันและนำมันมาพัฒนาต่อยอดในชีวิตตัวเองได้