สโมสรฟุตบอล ช่องทางการหาเสียงชั้นดี บันไดไต่เต้าสู่การเมือง

วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องของนักการเมืองกันดีไหมครับ? ขึ้นย่อหน้ามาแบบนี้ต้องรีบออกตัวก่อนว่าไม่ได้จะเขียนเรื่องของการเมืองแต่อย่างใด เดี๋ยวจะเข้าใจผิด หนังสือฉบับนี้เป็นหัวกีฬาก็ต้องเขียนเรื่องของกีฬาสิครับ เป็นเรื่องของความเชื่อมโยงระหว่างวงการฟุตบอลเมืองไทยสมัยยุคนักการเมืองรุ่งเรืองกับยุคปัจจุบันครับ

เราทุกคนทราบกันดีครับว่านักการเมืองทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นล้วนแล้วแต่มีฐานเสียงของตัวเองในภูมิลำเนาที่ตัวเองได้รับความนิยมหรือเป็นบ้านเกิด พรรคแต่ละพรรคก็เช่นกัน จะมีจังหวัดฐานเสียงสำคัญที่ตัวเองเป็นใหญ่อยู่และการทำการประชาสัมพันธ์เพื่อยึดครองหัวใจพี่น้องในท้องที่เหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ผมเองไม่ใช่นักการเมืองก็ไม่ทราบหรอกครับว่านอกเหนือจากการลงพื้นที่ต่างๆ แล้วเขาใช้วิธีการแยบยลแบบไหนบ้างในการเข้าถึงพี่น้องคนไทย แต่ในฐานะแฟนบอลก็พอจะทราบอยู่บ้างว่าช่วงที่วงการฟุตบอลสโมสรไทยอยู่ในขาขึ้นนั้น เราได้เห็นหลายๆ สโมสรถูกปลุกปั้นขึ้นมาด้วยน้ำมือของนักการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับประเทศอยู่หลายสโมสรอยู่

shutterstock_66467311_Fotor

แนวคิดแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราไม่เคยเห็นกันครับ ตัวอย่างอมตะที่แฟนบอลร่วมสมัยทุกท่านทราบดีก็คือสโมสร AC Milan กับอดีตประธานและเจ้าของสโมสรคนเก่าอย่าง Silvio Berlusconi ที่เพิ่งขายสโมสรให้กับกลุ่มนักลงทุนจากจีนไปเมื่อเร็วๆ นี้

ในยุคปลายทศวรรษที่ 1980’s สโมสร AC Milan ที่เคยรุ่งเรืองตกอยู่ในยุคที่ตามก้นคู่แข่งอย่าง Juventus ทั้งในด้านผลงานในสนามและผลประกอบการด้านพาณิชย์ สโมสรต้องการความเปลี่ยนแปลงที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จและก็ได้สมใจในรูปของนาย Berlusconi นักธุรกิจเจ้าของสื่อรายใหญ่และผู้กว้างขวางในวงสังคมและนักการเมืองของอิตาลีในยุคนั้น โดยเขาซื้อสโมสรในปี 1986 และเริ่มปรับปรุงทีมด้วยการนำเอานักเตะชื่อดังหลายคนมาอยู่ในทีมรวมทั้ง Marco van Basten, Frank Rijkaard และ Ruud Gullit 3 ทหารเสือของทีมชาติฮอลแลนด์ในยุคนั้นเข้ามาร่วมทีม

สิ่งหนึ่งที่คนภายนอกอาจจะยังมองไม่ออกแต่ Berlusconi คงมองเห็นตั้งแต่ตอนเข้าซื้อสโมสรก็คือการเข้าสู่วงการฟุตบอลและสร้างฐานความนิยมโดยอาศัย AC Milan เป็นพาหนะชั้นดีเกรด A ที่นำพาเขาเข้าสู่วงการการเมืองได้อย่างรวดเร็วและน่าตื่นเต้น โดย Berlusconi ก่อตั้งพรรค Forza Italia (แปลว่า Go Italy คำตะโกนเชียร์ของกองเชียร์ทีมชาติ) ในปี 1993 ซึ่งอยู่ในยุคที่ AC Milan กำลังเฟื่องฟู และภายในระยะเวลาเพียงแค่ปีเดียวเขาก็สามารถขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของอิตาลีได้ ซึ่งในเดือนพฤษภาคม 1994 ที่เข้ารับตำแหน่งนั้นเอง ซึ่งเป็นเดือนเดียวกับการแข่งขันฟุตบอลยูโรเปี้ยนคัพรอบชิงชนะเลิศที่ AC Milan สามารถเอาชนะ Barcelona ไปอย่างขาดลอย 4-0 ก็ถือเป็นความพีคอย่างหนึ่งของ Berlusconi ในยุคนั้น

shutterstock_342672122

ถ้าเราลองสังเกตดูกันจะเห็นว่า ทีม AC Milan ช่วง Berlusconi เป็นนายกฯ จะมีแนวทางการซื้อนักเตะที่ค่อนข้างแตกต่างจากทีมอื่นๆ ครับ ทั้ง Ibrahimovich, Beckham, Ronaldinho หรือ Robinho ทุกคนล้วนมีคาแร็กเตอร์ที่มีจุดขาย มีอีโก้ที่ใหญ่บิ๊กบึ้ม และเป็นประเภท Big name ในเชิงการทำการตลาดได้ทั้งสิ้น นั่นก็เพราะ Berlusconi ต้องการใช้พวกนักเตะเหล่านี้ในการดึงดูดความสนใจและไม่ทำให้ตัวเองหายไปจากสายตาประชาชนแฟนบอลทั้งหลายนั่นเอง โดยนักวิเคราะห์เค้าบอกไว้ว่า Beckham เองนั้นถูกดึงมาร่วมงานกับสโมสรถึงสองรอบก็เพราะช่วงนั้นคะแนนนิยมของ Berlusconi จากการทำโพลล์ตกต่ำลงมาก เค้าจึงต้องการอะไรบางอย่างมากระตุ้นความสนใจและ Beckham ในยุคนั้นคือคำตอบระยะสั้นที่เค้ามองหานั่นเอง

กลับมาที่เมืองไทยของเรา ในช่วงที่ผ่านมาเราก็ได้เห็นปรากฏการณ์นักการเมืองใช้แทคติก Sport Marketing ที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกับกรณีของ Berlusconi เหมือนกันครับ อย่างขาใหญ่บุรีรัมย์นั้นผมคงยกเอาไว้ทีมนึง แต่ทีมระดับรองลงมาอย่าง ชัยนาท สุโขทัย สุพรรณบุรี โคราช ที่คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองระดับประเทศและท้องถิ่นอย่างชัดเจน ต้องถามว่าเป็นเพราะเหตุใด Performance ของทีมถึงตกต่ำลง ทำไมศักยภาพของทีมเหล่านี้ไม่สามารถทำได้ดีเท่าตอนที่การเมืองการปกครองยังเป็นปกติอยู่ในระบอบประชาธิปไตย คำตอบไม่ยากเลยครับ ณ ช่วงเวลาที่เรากำลังอยู่ในช่วงที่รัฐบาลต้องทำงานอย่างหนักในการพยายามรักษาเสถียรภาพประเทศเอาไว้ พยายามไม่ให้เกิดความแตกแยกอย่างที่เคยมี นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบที่เราคุ้นเคยจึงต้องหลีกทางไปก่อน เมื่อโรดแม็ปการเลือกตั้งยังไม่ใกล้เข้ามา นักการเมืองอาชีพทุกท่านก็ยังคงไม่เห็นความจำเป็นในการสร้างฐานคะแนนนิยมคะแนนเสียงอะไรให้มากมาย

Credit : www.hugball.com
Credit : www.hugball.com

จะว่าไปก็คล้ายๆ กับการเลือกใช้สื่อในการทำการตลาดนั่นแหละครับ ช่วงที่ตลาดวายก็ใช้สื่อเท่าที่จำเป็น จากเดิมที่ลงทั้งโฆษณาทีวี นิตยสาร ออนไลน์ อีเวนท์ก็ลดลงเสียหน่อย เลือกใช้บางเครื่องมือที่ Low Cost หน่อย Sport Marketing ที่มาในรูปแบบการทำทีมฟุตบอลก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่คงต้องชะลอการลงทุนไปหน่อยสิ่งที่อาจเกิดขึ้นก็คือ การซื้อตัวนักเตะราคาค่าตัวสูงๆ การว่าจ้างโค้ชดีๆ มาทำทีมให้ดีก็ลดลงไป ระบบจัดการบริหารดูแลนักเตะต่างๆ ลดประสิทธิภาพลงไป การวางแผนพัฒนาทีมระยะยาวถูกมองเป็นระยะสั้นมากขึ้นเอาแค่ให้ทีมอยู่รอดได้ไม่ขาดทุน ฟังแล้วไม่น่าตื่นเต้นเลยครับ

ในช่วงเวลาที่ปัญหาต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นกรรมการไม่ได้คุณภาพ การแบ่งพรรคแบ่งพวก การเมืองภายในสมาคมกับสโมสร ฯลฯ แค่นี้ก็ทำให้คนดูบอลลีกไทยเอือมระอามากแล้ว เห็นได้จากยอดคนดูที่ต่ำลงๆ เรื่อยๆ แล้วถ้าทีมฟุตบอลยังเป็นเครื่องมือในการหาเสียงของนักการเมืองอยู่ต่อไปอย่างนี้แล้วล่ะก็ ไม่ใช่เรื่องดีเลยครับ พัฒนาการของทีม พัฒนาการของนักฟุตบอลที่จะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเสริมทีมชาติ พัฒนาการของเยาวชน Academy ต่างๆ ของแต่ละสโมสรที่จะกลายเป็นกำลังสำคัญของฟุตบอลไทยในอนาคตมีหวังไม่ไปไหนแน่ๆ น่ากลัวครับน่ากลัว

บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามกีฬา ฉบับวันที่ 14 กรกฎาคม 2560