การล่วงละเมิดทางเพศ

ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในวงการกีฬา ปัญหาใหญ่ที่ต้องรีบจัดการ

เมื่อสองเดือนก่อน ผมได้เขียนถึงเรื่อง “ต้องห้าม” ในวงการกีฬาไปครั้งหนึ่ง นั่นก็คือประเด็นเรื่อง “เพศในวงการกีฬา” ว่าในวงการกีฬายังมีมุมมองแบบคนใจแคบที่ไม่ให้ความเท่าเทียมกันสำหรับเพศชาย หญิง และเพศที่สาม แบบกลุ่มชายรักชาย หรือ หญิงรักหญิง เกย์ เลสเบี้ยน ฯลฯ ส่งผลให้บุคคลในกลุ่มเหล่านี้ไม่ได้รับการยอมรับ หรือไม่สามารถก้าวข้ามข้อกีดกันทั้งๆ ที่มีความสามารถทางกีฬาและความมุ่งมั่นมากแค่ไหน ซึ่งผมได้ทิ้งท้ายบทความครั้งนั้นไว้ว่า การปรับทัศนคติของเราทุกคนเป็นเรื่องสำคัญที่จะเข้าใจและยอมรับตัวตนของเพื่อนร่วมสังคม และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องไม่หลีกเลี่ยงที่จะจัดการกับปรากฏการณ์ทางสังคมอันนี้ อย่าหลับตาข้างเดียวแล้วคิดว่าให้มันดำเนินไปด้วยตัวเอง เราทุกคนในสังคมและวงการกีฬาควรมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดความเสมอภาค

football-sexual-abuse_sansiri-blog
Barry Bennell ได้ถูกพิพากษาให้จำคุกถึง 3 ครั้ง ในข้อหาการล่วงละเมิดทางเพศเยาวชน – credit: bbc.com
football-sexual-abuse_sansiri-blog-1
Barry Bennell ถูกจำคุกถึง 3 ครั้ง เนื่องจากการล่วงละเมิดทางเพศเยาวชน – credit: bbc.com

มาในครั้งนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งของประเด็น “ต้องห้าม” ที่แรงกว่าเรื่องเพศ นั่นก็คือ “การล่วงละเมิดทางเพศ” โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนในวงการกีฬา เพราะผมเพิ่งอ่านข่าวเจอว่าอดีตนักฟุตบอลอาชีพในอังกฤษหลายคนออกมาให้ข้อมูลว่าเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศจากโค้ชของทีมตัวเองในอดีต ซึ่งมี 5 รายที่ออกมาเปิดเผยตัวโดยที่คุ้นๆ ชื่อก็มี Paul Stewart อดีตผู้เล่นของ Tottenham Hot Spurs และทีมชาติอังกฤษ Andy Woodward อดีตผู้เล่นของ Sheffield Wednesday โดยผู้ต้องหาที่ถูกระบุชื่อในกรณีของ Andy Woodward ก็คืออดีตโค้ชฟุตบอลที่ชื่อว่า Barry Bennell ในสมัยที่ Andy ยังเป็นผู้เล่นระดับเยาวชนให้กับสโมสร Crewe Alaxandra

ก็ถือเป็นอีกข่าวร้ายของวงการฟุตบอลอังกฤษที่ทับถมกันมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ทีมชาติที่ผลงานไม่ดีนักในช่วงหลายทัวร์นาเมนต์สำคัญที่ผ่านมา ปัญหาการเปลี่ยนตัวโค้ชที่ยังไม่ลงตัว ปัญหาความรุนแรงและการปะทะระหว่างแฟนบอลที่ดูเหมือนจะหวนกลับมาอีกครั้ง

football-sexual-abuse_sansiri-blog-2
Jimmy Savile ผู้ต้องหาคดีล่วงละเมิดทางเพศเยาวชนและผู้หญิงรวมทั้งหมดราว 200 ราย – credit: theguardian.com

ถ้าท่านผู้อ่านติดตามข่าวต่างประเทศในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอาจจะเคยได้ยินชื่อ Jimmy Saville ผู้ซึ่งเคยเป็นดีเจรายการวิทยุและเป็นพิธีกรโทรทัศน์ของสถานี BBC และได้ถูกค้นพบหลักฐานภายหลังที่เค้าเสียชีวิตลงว่าเป็นผู้ที่กระทำความผิดในเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศมายาวนานกับเยาวชน ซึ่งในกรณีดังกล่าว ความอื้อฉาวไม่ได้จบแค่ตรงหลักฐานผูกมัดบุคคลมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจากสังคมอย่างเค้า แต่เป็นการที่สถานี BBC หน่วยงานหนึ่งของรัฐไม่ยอมรับ ไม่ให้ความสำคัญและปกปิดเหตุการณ์ดังกล่าวมิให้ได้รับการสืบสวนอย่างที่ควรเป็น ซึ่งกรณีการล่วงละเมิดทางเพศกับนักฟุตบอลในครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้กรณีของนาย Saville เลยทีเดียว และว่ากันว่าการเปิดโปงความเสื่อมเสียของกีฬาประจำชาติอังกฤษครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์ว่าสถาบันที่ได้รับความเชื่อถืออย่าง FA จะจัดการกับวิกฤตินี้อย่างไรภายหลังจากที่เพิ่งเจอมรสุมเรื่องของบรรดาผู้จัดการทีมที่รับเงินใต้โต๊ะอย่างไม่โปร่งใสในการล็อบบี้ทีม และสมาคมฟุตบอลต่างชาติเพื่อประโยชน์ของตัวเองอย่างที่จับได้ของ Sam Allardyce

เคสที่ผ่านๆ มาถือว่า FA เองก็ปัดสวะพ้นตัวไปได้ไม่ยากเย็นนัก เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ ความโลภ ก็โยนความผิดให้คนกระทำไป แต่มาคราวนี้เป็นเรื่องที่น่าจับตามากเพราะว่ากระทบถึงความเชื่อมั่นของระบบการฝึกสอนของบรรดา youth academy ต่างๆ ของสโมสรทั้งหลาย ผู้ปกครองที่จะส่งเด็กมาฝึกหรือได้เคยฝึกมาแล้ว ล้วนหวาดวิตกว่าลูกของตัวเองเคยเป็นเหยื่อหรือไม่

แม้ภายหลังจากที่ประเด็นดังกล่าวถูกตีแผ่ผ่านทางสื่อ FA และทีมฟุตบอลต่างๆ ที่ถูกพาดพิงก็ออกมาแสดงเจตนาที่จะดำเนินการสืบสวนและหาข้อเท็จจริงเพื่อหาตัวคนกระทำผิดมาลงโทษ แต่นี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เรื่องความอัปยศในวงการฟุตบอลถูกนำเสนอให้สาธารณชนทราบผ่านสื่อเป็นช่องทางแรก มิใช่เป็นการยอมรับ หรือออกมาแสดงตัวโดย FA หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอลโดยตรง ถึงแม้ว่าเหตุการณ์นั้นๆ จะเกิดขึ้นหลายสิบปีแล้วก็ตาม นี่แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบ และทีมเองก็มิได้พยายามที่จะ “รับรู้” และ “ยอมรับ” ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต

สโมสรที่ถูกพาดพิงถึงก็มีอย่าง Blackpool , Crewe, Manchester City, Stoke, Leeds และ Newcastle ซึ่งบางสโมสรก็ได้แต่เพียงออก statement ว่า “ยังไม่ได้รับทราบข้อมูลเหตุการณ์ดังกล่าวจากทาง FA” บ้างก็บอกว่ากำลังดำเนินการหาข้อเท็จจริงอยู่ ซึ่งผมว่านี่แสดงให้เห็นถึงความ passive ในการจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างชัดเจน เป็นที่น่าผิดหวังสำหรับแฟนๆ บอลหลายคน ยิ่งไปกว่านั้น มีข่าวบอกมาว่ามีสโมสรบางสโมสรถึงกับเจรจากับเยาวชนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศมิให้เปิดเผยเรื่องราวดังกล่าวโดยให้เงินเป็นสิ่งตอบแทน ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของวงการฟุตบอลอังกฤษยิ่งเลวร้ายลงไปอีก ตอนนี้สิ่งที่สาธารณชนต้องการทราบไม่ใช่ใครคือคนผิด แต่เป็นคำถามว่า “หน่วยงานและคนในวงการฟุตบอลควรจะทราบเรื่องนี้มานานแล้วหรือไม่และทำไมถึงไม่จัดการกับปัญหาดังกล่าว”

มาปัจจุบันนี้เข้าใจว่าทางหน่วยงานของอังกฤษเองก็เข้มข้นขึ้นกับเรื่องการหา proactive measure ในการป้องกันปัญหาดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบังคับให้ทุกสโมสรมีบุคคลที่ทำหน้าที่เรื่อง สวัสดิการของนักกีฬา ประจำอยู่ เพื่อดูแลสอดส่องมาตรฐาน และพฤติกรรมของทุกคนทั้งผู้เล่น โค้ช ฯลฯ ในทีมให้เหมาะสม รวมทั้งมีการอบรมเรื่องของการให้คำปรึกษาและเป็นผู้ดูแลเยาวชนอย่างจริงจัง วิธีในการสังเกตุความผิดปกติในพฤติกรรม และกายภาพของเยาวชนที่อาจตกเป็นเหยื่อ ฯลฯ ซึ่งก็หวังว่าจะช่วยให้ปัญหานี้ลดลง

เรื่องของการล่วงละเมิดทางเพศนี้เราเห็นกันในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยก็บ่อยนะครับ เกิดในครอบครัว เกิดในโรงเรียนสถานศึกษา ก็มีได้ทุกที่ ในวงการกีฬาของไทยเองผมก็เชื่อว่าต้องเคยมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น แต่ไม่ได้รับการเปิดเผยและหาทางจัดการกับปัญหานี้แต่อย่างใด ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมว่าผู้ใหญ่ในสมาคมกีฬาต่างๆ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับนักกีฬาระดับสโมสร โรงเรียน เขต ฯลฯ ควรให้ความสำคัญและศึกษาแนวทางจากประเทศที่เค้าให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจังถึงวิธีป้องกัน เพราะสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องหนึ่งที่เราควรให้ความสำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่ง

ข้อมูลจาก: คอลัมน์ การล่วงละเมิดทางเพศในวงการกีฬา ปัญหาที่ต้องจัดการโดยคุณเศรษฐา ทวีสิน (สยาม สปอร์ต รายวัน) วันที่ 2 ธันวาคม 2559

ถ้าคุณสนใจบทความกีฬา: 

Donald Trump!! คลิก
ชุดแข่ง ขุมทองของสปอนเซอร์และทีมฟุตบอล
คลิก