วิเคราะห์ไทยลีก กับเรื่องราวสัพเพเหระระดับวงใน

ในฐานะคนที่ชื่นชอบกีฬาฟุตบอลอย่างผมนั้น การดูบอลอย่างเดียวมันสนุกไม่พอมันต้องได้ออกแรงพร้อมกับทดสอบตัวเองในสนามกับเพื่อนร่วมทีมและคู่ต่อสู้ด้วยถึงจะสะใจ การได้ใช้เวลาในสนามกับคนที่มีใจรักกีฬาประเภทเดียวกันทำให้เราได้เพื่อน ได้ network ที่นอกเหนือวงธุรกิจได้อย่างดี

จากการมีเพื่อนในสนามฟุตบอลนี้เองส่งผลให้ผมได้มีโอกาสรู้จักคนในวงการฟุตบอลทั้งในสนามและที่มีคนแนะนำให้รู้จักนอกสนาม ทำให้ผมได้มีโอกาสนั่งคุยหลังเกม ได้นั่งกินข้าวกับคนในวงการฟุตบอลหลายๆ คนอยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นอดีตทีมชาติ ผู้เล่นทีมชาติปัจจุบัน ผู้เล่นสโมสร สต๊าฟโค้ช ผู้จัดการ รวมถึงคนในวงการสื่อกีฬาหลากหลายรูปแบบ ทำให้เราได้เห็นมุมมองวงการฟุตบอลไทยจากอีกด้านหนึ่ง

ยิ่งได้ฟังคนในวงการเค้าเล่าก็ยิ่งมองเห็นว่าสภาพของลีกฟุตบอลไทย ณ ตอนนี้แตกต่างกับเมื่อสมัยไทยพรีเมียร์ลีกฮิตติดลมบนหลายปีก่อนอย่างชัดเจน บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่แฟนบอลทั่วไปรับรู้ บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่เราไม่รับรู้อาจเนื่องด้วยไม่เคยมีข่าวพูดถึงหรือเป็นเรื่องที่คนในวงการไม่อยากเปิดเผยก็แล้วแต่ อย่างไรก็ตามหลายสิ่งที่ผมได้ยินได้ฟังมาจากคนในวงการไม่ได้ทำให้ผมคลายกังวลจากเรื่องเดิมๆ ที่เคยได้ยินมาเลย

shutterstock_572911747

เรื่องที่ผมเคยกล่าวไปหลายครั้งในคอลัมน์นี้แล้วก็คือเรื่องของจำนวนคนดูในสนามแต่ละเกมการแข่งขันที่ลดลงเรื่อยๆ ยิ่งได้มาฟังจากความเห็นของคนที่ทำทีมจริงๆ แล้วยิ่งชัดเจน เค้าว่ากันว่าเดี๋ยวนี้แม้กระทั่งสโมสรใหญ่ๆ อย่างบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดเองแม็ทช์แข่งในบ้านคนดูก็ลดลงอย่างมาก แม้จะยังเรียกได้ว่าจำนวนเฉลี่ยต่อแม็ทช์ยังเป็นหลักหมื่นนะครับ แต่ยิ่งสนามตัวเองใหญ่จุคนได้เยอะ ยิ่งเห็นชัด แม้คนจะมาเป็นหมื่นก็ยังเหลือที่ว่างอีกเป็นหลักหมื่นเช่นกัน นับประสาอะไรกับสโมสรระดับกลาง-ล่างที่คนดูน้อยเหลือเกิน ยิ่งถ้าเป็นลีกอันดับถัดๆ ไปเวลาดูถ่ายทอดทางทีวีแล้วผมว่าน่าจะอยู่ในหลักร้อยทั้งสนามนะครับ ไม่น่าเกินนี้

จำนวนคนดูที่ลดลงก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ในกลุ่มคนที่ยังสละเวลามาเชียร์ทีมตัวเองในสนามอย่างต่อเนื่องนี้ก็ยังมีองค์ประกอบแฝงอยู่ครับ หลายคนบอกผมว่าเรื่องของการพนันยังเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยและวงการฟุตบอลบ้านเรา บรรดาเว็ปไซต์การพนันหรือเจ้ามือออนไลน์ต่างๆ มีมากมายเล่นกันผ่านมือถือง่ายๆ พนันขันต่อกันแบบ real time ดังนั้นคนที่เล่นพนันเค้าก็บอกว่าถ้าเอาตัวเองไปอยู่ที่สนามเลยจะทำให้มีภาษีดีกว่าเพราะได้เห็นภาพรวมในสนาม

ลองนึกภาพว่าถ้าคุณผู้อ่านกำลังจะลงเงิน 1,000 บาทเพื่อพนันว่าในอีก 15 นาทีนี้ทีมไหนจะยิงประตูได้ก่อนอยู่หน้าจอทีวีคงไม่ช่วย แต่การอยู่ในสนามเห็นองค์ประกอบทั้งหมดที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างโอกาสทำประตูไม่ว่าจะเป็น บรรยากาศโดยรวม อารมณ์ของผู้เล่น ความหละหลวมของการยืนของทีม การกระตุ้นของโค้ช แรงกดดันของกองเชียร์ ฯลฯ ดังนั้นลองไปดูเองครับ ในสนามฟุตบอลจะมีกลุ่มแฟนบอลที่ทุ่มเทกับการพนันขันต่อมากถึงขั้นพาตัวเองไปในสนามอยู่เสมอๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายนะครับ ถ้าหากเราทำใจกันได้ว่าการพนันเป็นของคู่กับคนไทย และเป็นตัวกระตุ้นให้มีคนไปดูในสนามมากขึ้น อันนี้เป็นเทคนิคที่มือพนันรุ่นใหม่ควรจะเอาอย่างครับ อย่างน้อยก็ win-win ทั้งคนพนันและวงการฟุตบอลไทย!

shutterstock_633820844

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสงสัยและเห็นว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่น่าจะทำให้ยากต่อการดึงแฟนบอลให้อยู่กับทีมและติดตามเชียร์อย่างสม่ำเสมอก็คือการเปลี่ยนสนามเหย้าของตัวเอง มันก็น่าแปลกนะครับที่การที่ทีมในลีกจะต้องหารังใหม่อันเนื่องมาจากสัญญาการเช่าสนามหมดลงไปหรือด้วยเหตุผลอย่างอื่น อย่าง Bangkok United ที่ย้ายจากสนามมหาวิทยาลัยกรุงเทพที่รังสิตมาอยู่ที่สนามไทย-ญี่ปุ่น ไปๆ มาๆ ก็ย้ายกลับไปสนามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิตอีกแล้ว หรือโอสถสภาที่ทั้งย้ายถิ่นฐาน เปลี่ยนสนาม เปลี่ยนชื่อ ซึ่งสำหรับแฟนบอลเองก็ช่างเป็นความวุ่นวายที่ไม่ Make Sense ด้วยประการทั้งปวง แล้วเกิดอะไรขึ้นครับ แฟนบอลที่กำลังเริ่มให้ความสนใจหรือเริ่มรักทีมจำเป็นด้วยหรือที่จะต้องติดตามทีมไปยังทำเลใหม่ เป็นไปได้ยากครับแฟนบอลรุ่นใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้มีความผูกพันกับทีมมากนัก พอไม่มีทีมใกล้ๆ ให้ดูก็จบกัน เอาเวลาวันเสาร์บ่ายไปทำอย่างอื่นดีกว่า สุดท้ายคนดูก็ลดลงเรื่อยๆ

โครงสร้างดั้งเดิมของสโมสรที่เกิดใหม่ในยุคฟุตบอลบูมๆ นี้หลายสโมสรไม่ได้มาจากพื้นเพในทำเลนั้นๆ อย่างแท้จริง มีกลุ่มนายทุนหรือสปอนเซอร์ที่ต้องการเข้ามามีเอี่ยวด้วยวัตถุประสงค์บางอย่างในจังหวะเวลาที่เค้าคิดว่าเหมาะสม ดังนั้นจึงยากที่จะเกิดความยั่งยืนในการพัฒนาทีมและลีกได้ จากที่ผมได้ยินได้ฟังมา ทีมในลีก 1 ระดับธรรมดาๆ ได้เงินทำทีมปีละ 10-20 ล้าน ค่าเหนื่อยนักเตะได้แค่คนละ 3-4 หมื่นต่อเดือน แต่ถ้าหากมีทีมไหนจับพลัดจับพลูได้นายทุนเงินหนามาปั้นทีม ใส่เงินเข้าไป 60-70 ล้านต่อปี ค่าเหนื่อยนักเตะทีมนั้นพุ่งขึ้น 2-3 เท่าเป็นใครก็อยากย้ายไปเล่นให้ทีมนั้นครับ ดังนั้นการพัฒนาทีมอย่างยั่งยืนจะเกิดได้จากเม็ดเงินที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ยากนะครับในยุคนี้

shutterstock_572911735

ยิ่งในสภาวะการเมืองปัจจุบัน ทีมที่เคยอาศัยเงินหล่อเลี้ยงจากนักการเมืองทั้งหลายที่ตอนนี้เก็บตัวเงียบๆ จะหาเงินมาจากไหนครับ ยิ่งถ้าหากทีมเหล่านั้นไม่ได้เป็นทีมที่มีประวัติศาสตร์อย่างยาวนานมีแฟนบอลอย่างเหนียวแน่นแล้วล่ะก็ น่ากลัวครับ สปอนเซอร์จะให้เงินสนับสนุนเค้าก็ต้องดูนะครับว่าทีมไหนมีเจตน์จำนงค์ในการบริหารแบบยั่งยืน ไม่ใช่มาเร็วไปเร็ว ยิ่งเดี๋ยวนี้เศรษฐกิจชะลอตัว เม็ดเงินโฆษณาเอาไปใช้กับการช่วยการขายสินค้าแบบตรงๆ ดีกว่าแน่ๆ ดังนั้นไม่แปลกใจที่ข่าวเรื่องของการเบี้ยวเงินค่าเหนื่อยนักเตะถึงมีมาให้เข้าหูอยู่เรื่อยๆ ก็แย่นะครับ ประกอบกับบรรดานักเตะในลีกไทยเองก็ยังไม่มีระบบเอเจนต์มารองรับอย่างเป็นเรื่องเป็นราว น้อยคนนักที่จะอยากแบ่งค่าดูแลผลประโยชน์ให้เอเจนต์ เวลาเจรจากับสโมสรก็เข้าหาผู้ใหญ่คุยเอง สุดท้ายก็โดนผู้ใหญ่เอาเปรียบ แล้วจะทำยังไงได้

สิ่งที่เราน่าจะเห็นในอนาคตอันใกล้นั้นจะเป็นยังไง หลายคนบอกผมว่าลีกบอลไทยจะกลายเป็นลีกที่ผูกขาดโดยทีมระดับหัวแถวอยู่ไม่กี่ทีม ทีมที่บริหารจากพื้นฐานที่วางไว้อย่างถูกต้อง ทำการตลาดเป็นและเข้าใจกลไกเรื่องนี้ดีจะมีภาษีเหนือกว่าคนอื่นที่มาแบบฉาบฉวยระยะสั้น แบรนด์ไหนที่มีเงินพอจะกระโดดเข้าไปร่วมวง Sports Marketing กับวงการฟุตบอลไทยตอนนี้ก็ดูกันดีๆ นะครับ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน

บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามกีฬา ฉบับวันที่  1 กันยายน 2560

ติดตามมุมมองสบายๆ ของเศรษฐา ทวีสิน เกี่ยวกับกีฬาและสังคมได้ที่ Social & Culture