ค่าตัว

คุ้มไหมกับค่าตัวนักเตะที่แสนแพง?

เพิ่งเขียนถึงประเด็นเงินเฟ้อ และฟองสบู่ในวงการฟุตบอลไทยไปเมื่อครั้งก่อนว่าเดี๋ยวนี้ค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าตัวนักเตะ ค่าเหนื่อย ค่าบำรุงทีม สโมสร และค่า admin ต่างๆ กลายเป็นภาระอันหนักอึ้งให้กับเจ้าของสโมสรหลายๆ แห่งในลีก ส่งผลให้แบกไม่ไหวต้องประกาศหยุดการทำทีมหรือปิดสโมสรกันไป ยังไม่ทันไรเลยก็ตามมาด้วยข่าวการย้ายทีมด้วยค่าตัวสูงสุดในประวัติศาสตร์ของไทยลีกที่ 50 ล้านบาทของธนบูรณ์ เกษารัตน์ จาก SCG เมืองทองไปยังเชียงรายยูไนเต็ด ทำลายสถิติของธีราทรที่ย้ายจากบุรีรัมย์มา SCG ไปอย่างขาดลอย ทึ่งนะครับที่สโมสรในลีกเรายังมีเงินกันหนามือขนาดนี้

football-transfer-fee_sansiri-blog-1
นายธนบูรณ์ เกษารัตน์ – Credit: matichon.co.th

ก็นับเป็นภาระอันหนักอึ้งทั้งของนักเตะ และสโมสรเองที่ต้องพิสูจน์กันล่ะว่าค่าตัวแพงลิบลิ่วดังกล่าว จะคืนทุนหรือออกดอกออกผลกันได้แค่ไหนกับเงิน 50 ล้านที่ลงไป ทีมเชียงรายจะก้าวขึ้นมาท้าชิง SCG เมืองทอง กับบุรีรัมย์ ได้หรือไม่ เชียงรายจะได้เข้าไปเล่นในฟุตบอลระดับสโมสรเอเชียหรือไม่ แฟนบอลจะเข้าชมในสนามมากขึ้นหรือไม่ สปอนเซอร์จะวิ่งเข้ามาหาเพราะมีนักเตะค่าตัวแพงมาเล่นให้หรือไม่ ตอบไม่ได้ครับ ต้องดูกันต่อไปว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มยังไง

ภาพระหว่างการแข่งขันของ Travor Francis ในขณะที่อยู่ทีม Birmingham City - Credit: birminghammail.co.uk
ภาพระหว่างการแข่งขันของ Travor Francis ในขณะที่อยู่ทีม Birmingham City – Credit: birminghammail.co.uk

50 ล้านบาทหรือประมาณ 1 ล้านปอนด์ คือ ค่าตัวของธนบูรณ์ ซึ่งเทียบกับลีกระดับโลกอย่าง EPL ค่าตัวแค่นี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรเลย และแทบไม่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ด้วยซ้ำ ซึ่งนักเตะคนแรกที่ก้าวข้ามประตูค่าตัวเกิน 1 ล้านปอนด์ก็คือ Travor Francis ตอนที่ Nottingham Forest ภายใต้การคุมทีมของ Brian Clough จ่ายให้กับ Birmingham City ในปีค.ศ. 1979 หรือกว่า 37 ปีที่แล้ว โดยเป็นการย้ายทีมที่เรียกได้ว่า สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการฟุตบอลอังกฤษอย่างมาก โดย Travor Francis ได้ทำหน้าที่ตอบแทนให้กับสโมสรที่จ่ายเงินค่าตัวเค้าทันที ด้วยการเป็นฮีโร่โหม่งบอลเข้าประตูเอาชนะ Malmo จากสวีเดนได้ในเกมชิงชนะเลิศ European Cup ในปี 1979 นั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามเค้าไม่สามารถสร้างความลงตัวในการจัดทีมได้ โดยทั้ง Clough และ Peter Taylor ผู้ช่วยเค้าตัดสินใจไม่ได้ว่าจะให้เล่นหน้ายืนหรือออกด้านข้างปีกดี สุดท้าย Francis ก็ถูกปล่อยตัวให้กับ Manchester City ในราคา 1.2 ล้านปอนด์ในปีค.ศ. 1981

          ผมลองไปรีเสิร์ชดูว่ามีนักเตะคนไหนบ้างในประวัติศาสตร์การย้ายทีมของ EPL ที่มีค่าตัวต่ำกว่าที่เชียงรายจ่ายให้กับ SCG เมืองทอง และสามารถสร้างตำนานและกลายเป็นผู้เล่นที่ทรงคุณค่าของสโมสรที่ได้ตัวเค้ามากันบ้าง ลองมาดูกันว่าธนบูรณ์จะทำได้คุ้มค่ากว่า 5 คนนี้ไหม

Peter Schmeichel นักกีฬาฟุตบอลย้ายจาก Brondby IF มายังแมนยูฯ ด้วยค่าตัวเพียงแค่ 505,000 ปอนด์ - Credit: Sportskeeda.com
Peter Schmeichel นักกีฬาฟุตบอลย้ายจาก Brondby IF มายังแมนยูฯ ด้วยค่าตัวเพียงแค่ 505,000 ปอนด์ – Credit: Sportskeeda.com

คนแรกเลยคือ Peter Schmeichel ด้วยค่าตัวเพียงแค่ 505,000 ปอนด์ ในการย้ายจาก Brondby IF มายังแมนยูฯ ในปี 1991 ซึ่งส่งผลให้เค้ากลายเป็นนักเตะในตำนานคนหนึ่งของทีมและลีกสูงสุดของอังกฤษด้วยตลอดเวลากว่า 8 ปี นับเป็นดีลการซื้อขายที่ท่านเซอร์ Alex Ferguson พอใจมากถึงกับเอ่ยปากว่าเป็น bargain of the century เลยทีเดียว Schmeichel ได้ 15 ถ้วยกับแมนยูฯ พร้อมทั้งสามารถมีถึง 145 เกมที่ไม่เสียประตูจาก 292 เกมที่ลงเล่นให้ทีมนี้ นับว่าเป็นนักเตะที่คุ้มค่ามากที่สุดคนหนึ่งถ้าเทียบกับค่าตัวที่น้อยกว่าที่ Messi ได้เป็นค่าเหนื่อยในแค่ 1 สัปดาห์เสียอีก

Riyad Mahrez ย้ายจาก Le Havre ในฝรั่งเศสมายัง Leicester City ด้วยค่าตัวเพียงแค่ 4 แสนปอนด์ – Credit: indianexpress.com

คนต่อมา คือ นักเตะคู่บุญของ Jamie Vardy ก็คือ Riyad Mahrez ที่มีค่าตัวเพียงแค่ 4 แสนปอนด์ตอนย้ายจาก Le Havre ในฝรั่งเศสมายัง Leicester City ในปี 2014 ซึ่งจริงๆ แล้ว Steve Walsh ไม่ได้ตั้งใจจะซื้อตัวเค้ามาแต่เห็นฟอร์มการเล่นในขณะที่ไป scout ตัวเพื่อนร่วมทีม Ryan Mendes ต่างหาก โดยในฤดูกาลแรกที่มาถึง Mahrez ค่อนข้างประสบปัญหาในการปรับตัวและขาดความเชื่อมั่น แต่ในฤดูกาลแห่งความไม่น่าเชื่อที่ Leicester คว้าแชมป์ บอกได้เลยว่า Mahrez มีส่วนอย่างมากกับความสำเร็จดังกล่าวด้วย 17 ประตูที่ทำได้และกว่า 11 assist แถมยังเป็นนักฟุตบอลจากทวีปแอฟริกาคนแรกที่ได้รางวัล PFA นักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีด้วย

football-transfer-fee_sansiri-blog-5
Kolo Toure ถูกดึงตัวมาจาก ASEC Mimosas เพื่อมาเป็นกำลังสำคัญให้กับทีม Arsenal ด้วยค่าตัวเพียง 150,000 ปอนด์ – Credit: goal.com

คนที่ 3 ก็คือ Kolo Toure การที่ Liverpool ได้ตัวเค้าฟรีมาจาก Manchester City ในช่วงที่เริ่มโรยราถือว่าเป็น bonus อย่างหนึ่ง แต่ต้องมองย้อนกลับไปตอนที่ Arsene Wenger ดึงตัวเค้ามาจาก ASEC Mimosas สโมสรฟุตบอลในประเทศไอเวอรี่โคสต์ ในปี 2002 ด้วยค่าตัวเพียงแค่ 150,000 ปอนด์ และเอามาปั้นจนกลายเป็นกำลังสำคัญของทีม Arsenal และนักเตะกองหลังที่ดีที่สุดในยุครุ่งเรืองคู่กับ Sol Campbell ปราการหลังทีมชาติอังกฤษ ถือว่าเป็นการค้นพบเพชรในตมของ Wenger ที่คุ้มค่าสุดๆ

Toure เป็นส่วนหนึ่งของทีม Arsenal ในยุคที่ขึ้นชื่อว่าเป็น The Invincibles เค้าเล่นไป 225 แม็ตช์ และถูกขายให้กับ Manchester City ด้วยค่าตัวกว่า 14 ล้านปอนด์ ซึ่งกลายเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าทั้งในด้านผลงานและกำไรขายต่อ

football-transfer-fee_sansiri-blog-6
Joe Hart ย้ายจาก Shrewsbury Town มายัง Manchester City ด้วยราคาค่าตัวเพียงแค่ 100,000 ปอนด์ – Credit: pepperrr.net

คนที่ 4 คือ Joe Hart ด้วยราคาค่าตัวเพียงแค่ 100,000 ปอนด์ตอนย้ายจาก Shrewsbury Town มายัง Manchester City ในปี 2006 ซึ่งตอนแรกมีการคาดการณ์ว่าค่าตัวเค้าอยู่ที่ประมาณ 600,000 ปอนด์ แต่มาเผยทีหลังว่าแค่ 100,000 ปอนด์เท่านั้น โดยเค้าใช้เวลาอยู่หลายปีในการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้วยการถูกยืมตัวไปเล่นกับ Tranmere, Birmingham และ Blackpool และได้เริ่มเล่นทีมใหญ่ของเรือใบสีฟ้าในฤดูกาล 2010-2011 และกลายเป็นผู้รักษาประตูที่โดดเด่น และได้รับตำแหน่งตัวจริงของทีมชาติอังกฤษในที่สุด

football-transfer-fee_sansiri-blog-7
Seamus Coleman ย้ายจาก Sligo Rovers มาอยู่ทีม Everton ด้วยค่าตัวเพียง 65,000 ปอนด์ – Credit: sg.news.yahoo.com

คนสุดท้ายที่จะยกมาพูดถึงก็คือ Seamus Coleman แบ็คขวาของ Everton ชาวไอริช ผู้ซึ่งสร้างผลงานได้โดดเด่นในหลายฤดูกาลหลังๆ เชื่อไหมครับว่าเค้ามีค่าตัวแค่ 65,000 ปอนด์เท่านั้นเองตอนที่ย้ายจาก Sligo Rovers สโมสรฟุตบอลในไอร์แลนด์มายัง Everton โดยเค้าถูกให้ยืมตัวไปเล่นให้ Blackpool ก่อนที่จะกลับมาเล่นให้ Everton และยึดตำแหน่งแบ็คขวาอย่างถาวร โดยเค้าลงเล่นไปกว่า 200 นัดนิดหน่อย ทำประตูได้เฉลี่ยทุกๆ 10 แม็ตช์ ซึ่งนับเป็นสถิติที่ไม่เลวสำหรับกองหลังเลยทีเดียว และกลายเป็นผู้เล่นฟูลแบ็คที่ดีที่สุดคนหนึ่งของ EPL ตอนนี้

ก็แค่เป็นข้อมูลอ้างอิงให้แฟนบอลไทยทราบกันครับว่าของดีของเด่น บางทีหาดีๆ ราคาเหมาะสมก็มีอยู่เยอะแยะ แต่ถ้ายังอู้ฟู่เล่นกับฟองสบู่กันอยู่อย่างนี้ ผมคิดว่าไม่นานหรอกครับ ราคานี้จะกลายเป็นอดีตค่าตัวสูงสุดในลีกไทยอย่างไม่ยาก และฟองสบู่ก็จะพองโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่ากลัวครับ ว่าไหม

 

ข้อมูลจาก: คอลัมน์ “เศรษฐา & กีฬา” คุ้มไหมกับค่าตัวที่แสนแพง โดยคุณเศรษฐา ทวีสิน (สยาม สปอร์ต รายวัน) วันที่ 11 พฤศจิกายน 2559

ถ้าคุณสนใจบทความกีฬา: 

ยิ่งเด็กยิ่งดี: โมเดลใหม่ของสโมสรฟุตบอล? คลิก
ฟุตบอลไทย: อดกังวลไม่ได้อีกแล้ว คลิก