Hooliganism ความรุนแรงที่ยากจะควบคุม กับฟุตบอลไทย

หรือจะในภาษาอังกฤษมีคำอยู่คำหนึ่งที่เรามักจะเห็นใช้เป็น “คำคุณศัพท์” (adjective) ประกอบเวลาที่จะบรรยายถึงบรรดาแฟนฟุตบอลโดยส่วนมากนั่นคือคำว่า “passionate” ถ้าแปลเป็นไทยตรงตัวก็คือ “หลงใหล” ซึ่งคงไม่มีใครปฏิเสธถ้าผมจะบอกว่า ฟุตบอล เป็นเกมกีฬาที่สามารถสร้างความหลงใหลให้กับคนดูได้มากที่สุดกีฬาหนึ่ง  ดังนั้นไม่แปลกเลยครับ ถ้าท่านผู้อ่านเคยเจอประสบการณ์เดียวกับผมซึ่งก็คือการที่เราได้เห็นเพื่อนหรือคนรู้จักที่มีบุคลิกปกติเป็นคนน่ารัก เฉยๆ พูดจาอ่อนน้อมถ่อมตน ฯลฯ เหมือนปุถุชนปกติธรรมดา ได้แสดงพฤติกรรมในชนิด “หน้ามือเป็นหลังเท้า” เวลาที่ทีมฟุตบอลที่ตัวเองรักเสียจุดโทษแบบไม่สมควรจากการตัดสินที่ผิดพลาดของกรรมการ หรือการที่ผู้เล่นทีมโปรดถูกสกัดฟาล์วแบบคาบลูกคาบดอก สิ่งที่พรั่งพรูออกจากปากกลายเป็นคำผรุสวาทและการกล่าวถึงบุพการีของกรรมการและคู่ต่อสู้แบบในทางที่ไม่ค่อยดีนัก

ใครที่เรียกตัวเองว่าเป็น แฟนฟุตบอล คงเข้าใจดีว่าเกมกีฬานี้สามารถนำมาซึ่งการแสดงออกทางอารมณ์อย่างสุดโต่งอย่างที่ไม่เคยปรากฏในชีวิตประจำวันของท่านๆ ความสุขสุดๆ ความปลาบปลื้ม ขนลุก ความขมขื่น เจ็บปวด ฯลฯ ที่บรรยายได้ไม่หมด ถึงขนาดเวลาที่ทีมโปรดตีเสมอได้ในช่วงต่อเวลาความดีใจอาจจะมากกว่าตอนที่ภรรยาท่านคลอดลูกคนแรกเสียอีก ใช่ครับ ทุกตรรกะทางความคิดจะถูกโยนออกนอกหน้าต่างทันทีถ้าหากฟุตบอลเข้ามาเกี่ยวพันด้วย

เมื่อคนๆ หนึ่งสละเวลาและทุ่มเทจิตใจอย่างไม่อั้นให้กับการเป็นแฟนบอล จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บางครั้งคนเราก็ลืมไปว่ามีกรอบหรือเส้นแบ่งคั่นระหว่าง ความหลงใหล กับ ความบ้าคลั่ง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ฟุตบอล มักมาควบคู่กับ ความรุนแรง และจากอดีตจนถึงปัจจุบันคงไม่มีประเทศไหนที่สามารถเคลมความเป็น champion of hooliganism ได้ดีเท่าอังกฤษแน่นอน (แต่หลังๆ เจอรัสเซียกับโครเอเชียเข้าไปก็เริ่มหนาวๆ เหมือนกันครับ)

hooliganism-football
credit: standard.co.uk

บันทึกแรกของการก่อความไม่สงบระหว่างแฟนฟุตบอลในอังกฤษเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1885 หลังการแข่งกระชับมิตรระหว่าง Preston North End กับ Aston Villa โดยมีการปาก้อนหิน ไม้ ใส่นักเตะทั้งสองทีมหลังจบการแข่งขัน ซึ่งเป็นการกระทำที่สื่อในอังกฤษตอนนั้นเรียกว่า “pointless” “purposeless” และ “brainless” ซึ่งเป็นคำจำกัดความที่นิยมใช้กับการก่อความไม่สงบในสมัยต่อๆ มาจนปัจจุบัน ถ้านับย้อนหลังไปก็กว่า 131 ปีแล้วนะครับที่ hooliganism ได้ปรากฏตัวขึ้นในวงการฟุตบอล ซึ่งแม้จะผ่านมากว่าศตวรรษแล้ว ความป่าเถื่อน และ เชื้อร้าย นี้ก็ยังไม่ได้หายไปไหน อาจจะมีแค่ช่วงที่ กบดาน หรือ แฝงตัว อยู่ในหมู่แฟนบอลเพื่อรอโอกาสที่เหมาะสมในการปรากฏตัวออกมาเป็นครั้งคราวให้ตกใจเล่นอย่างล่าสุดเร็วๆ นี้ใน EPL ก็เพิ่งมีความวุ่นวายเกิดขึ้นในระหว่างแม็ทช์ West Ham กับ Watford ที่สนามใหม่ของฝ่ายแรก หรือในเกม UCL ระหว่าง Legia Warsaw กับ Borussia Dortmund

ก็เป็นเรื่องน่าเศร้านะครับที่เรื่องแบบนี้ยังคงเกิดให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ในขณะที่สโมสรฟุตบอลต่างๆ กำลังพยายามสร้างฐานแฟนบอลรุ่นเยาว์ขึ้นมาด้วยการสนับสนุนตั๋วประเภทครอบครัวและมีกิจกรรมที่ดึงดูดให้เยาวชนเข้ามาดูฟุตบอลในสนามมากขึ้น ผมเป็นพ่อเป็นแม่เห็นกรณีรุนแรงแบบนี้ก็ลำบากใจครับที่จะเอาเสี่ยงต่อการเอาลูกตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น แต่ในทางกลับกันเราก็เห็นอยู่บ่อยๆ เหมือนกันที่ลูกเล็กเด็กแดงหรือเยาวชนก็ใช้คำผรุสวาทและก่นด่ากรรมการและคู่ต่อสู้อย่างโจ๋งครึ่มโดยที่พ่อแม่มิได้ตักเตือนอะไร

hooliganism-football-2
credit: sport.mthai.com

วงการฟุตบอลอาชีพไทยเราก็หนีไม่พ้น กำลังอยู่ในช่วงก่อร่างสร้างตัว ขยายฐานแฟนบอลมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ต้องกลับมาเจอการก่อความไม่สงบ ตีรันฟันแทงกันของแฟนบอลบางกลุ่มอย่างที่เกิดขึ้นล่าสุดระหว่างแฟนเมืองทองฯ กับการท่าเรือ ก็เป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งของผู้ที่เกี่ยวข้องล่ะครับว่าจะมีความเป็นมืออาชีพหรือเอาจริงเอาจังในการบริหารจัดการกรณี crisis นี้อย่างไร

เพื่อนๆ ผมที่เข้าไปดูในสนามวันนั้นเล่าสู่กันฟังถึงเหตุการณ์ในและนอกสนามซึ่งก็อย่างที่ผู้อ่านเห็นในคลิปและข่าวนั่นแหละครับ การที่แฟนบอลบางกลุ่มเกิดความ “บ้าคลั่ง” ในเรื่องที่ “pointless” “purposeless” และ “brainless” ส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของแฟนบอลที่ต้องการดูบอลอย่างสันติ ต่อไปนี้ใครจะพาลูกพาหลานเข้าไปดูฟุตบอลก็ต้องคิดกันหนักหน่อยว่าทางหนีทีไล่หากเกิดเหตุแบบนี้จะไปทางไหน จะปกป้องบุตรหลานจากคำหยาบ ผรุสวาท ก่นด่าที่ระคายเคืองหูเด็กๆ ได้อย่างไร

ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว ผมเชี่อว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของระบบการบริหารจัดการทั้งของสโมสรที่เกี่ยวข้อง สมาคมฟุตบอล และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ อย่างตำรวจอย่างแน่นอน

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นกันเป็นประจำในต่างประเทศก็คือการ “แบน” แฟนบอลผู้ก่อเหตุจากสนามตั้งแต่เป็นปีๆ จนถึงตลอดชีพก็มี หรือการสั่งให้สโมสรเล่นในสนามเหย้าแบบไม่อนุญาติให้กองเชียร์ตัวเองเข้าสนามพร้อมจ่ายค่าปรับก็มีให้เห็นบ่อย ซึ่งสำหรับฟุตบอลลีกไทยก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องนำเอามาตรฐานการลงโทษดังกล่าวมาใช้ตามเหมาะสม

ที่ผมบอกว่า “ตามเหมาะสม” นี่ก็มีเหตุผลนะครับ เพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่วงการฟุตบอลไทยเรายังมีเรื่องพรรคเรื่องพวก การเมือง ผลประโยชน์ ต่างๆ เข้ามาวุ่นวาย การที่ สโมสร หรือ แฟนบอล หรือ ผู้เล่น ถูกคาดโทษจากการกระทำ จะต้องถูกพิสูจน์ให้สาธารณชนเห็นได้ว่าเป็นการตัดสินใจจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่มี “ความเหมาะสม” และ “โปร่งใส” ในการทำหน้าที่ของตัวเอง

ถ้าจะเอากันจริงๆ ความยุติธรรมและความโปร่งใสต้องไล่มาตั้งแต่ผู้ที่เหมือนจะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในสนามอย่าง “กรรมการ” ซึ่งต้องมีความเป็นมืออาชีพ และทำหน้าที่อย่างถูกต้อง เหมาะสม มาจนถึงคณะกรรมการตัดสินเรื่องต่างๆ ก็เช่นกัน ต้องมีการสืบทราบเรื่องราว หาหลักฐานที่แท้จริง หาคนผิด และนำเสนอบทลงโทษต่อผู้กระทำผิดอย่างมีมาตรฐาน โปร่งใส ชัดเจน อย่างล่กลนลาน แย่งกันให้ข่าวให้ความเห็นแบบไม่มีข้อเท็จจริงมาสนับสนุน เพราะถ้าเรายังทำกันแบบนี้อยู่ ผู้เสียหายจะไม่ใช่แค่ทีมหรือแฟนบอลที่โดนคาดโทษ แต่จะเป็นการฟันธงเหมือนกันว่า “การบริหารวงการฟุตบอลไทย” ของเราก็มีความผิดเหมือนกัน

ข้อมูลจาก: คอลัมน์ “เศรษฐา & กีฬา” Hooliganism กับฟุตบอลไทย โดยคุณเศรษฐา ทวีสิน (สยาม สปอร์ต รายวัน) วันที่ 23 กันยายน 2559

ถ้าคุณสนใจบทความกีฬา:
Doping in Sports: ว่าด้วยเรื่องของการโด๊ปยา คลิก