เริ่มปีใหม่แบบไม่ต้องนับหนึ่ง ด้วยข้อมูลครอบคลุมทุกเทรนด์ 2018

ในปีที่ผ่านมามีหลายๆ อย่างที่กลายเป็นกระแสเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรายการยอดฮิตอย่าง The Mask Singer โครงการก้าวคนละก้าวของตูน Bodyslam  กระแสเกมออนไลน์ ROV หรือแม้แต่การการมาของ BNK48 ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนไป คนเราจะให้ความสนใจกับอะไรในยุคที่เรียกตัวเองว่า “ยุคดิจิตอล” เรามีข้อมูลเชิงลึกในอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจจากงาน Creative Talk Conference 2018 มาบอกเล่าไม่ให้เอ้าท์ (หรือจะตามต่ออีเว้นท์ดีๆ ได้ที่ www.creativetalklive.com) แต่ก่อนจะไปดูเทรนด์ 2018 ลองมาทบทวนเรื่องราวสำคัญปี 2017 กันก่อน

 

คุณดาริน สุทธพงษ์ (Indie Dish) และ กรัณย์ วระพงษ์สิทธิกุล (Pheromone)

เทรนด์การออกแบบ UX หรือ User Experience จากปาก 2 ผู้เชี่ยวชาญ UX Design

สำหรับทิศทางแห่งอนาคตของการออกแบบ UX หรือ User Experience ปี 2018 นี้ คุณกรัณย์ วระพงษ์สิทธิกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ UX ชื่อดังของไทย จากบริษัท Pheromone เชื่อว่าคนจะหันมาให้ความสำคัญและจริงจังกับ UX ในลักษณะที่จะครบวงจรยิ่งขึ้น เพราะเดิมงาน UX ก็มักจะถูกโยนไปให้ดีไซเนอร์เสียส่วนใหญ่ แต่ตอนนี้ ไม่ว่าใครที่เกี่ยวข้องกับสินค้า ก็จะต้องคุยกันหมด เรียกได้ว่าต้องคุยกันแทบจะทั้งองค์กรเลยทีเดียว

เมื่อคนจะหันมาจริงจังกับการออกแบบ UX มากขึ้นแบบนี้ คุณดาริน สุทธพงษ์ เจ้าของบริษัท Indie Dish สตาร์ทอัพให้บริการด้านการส่งอาหารที่กำลังมาแรงและยังเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบ UX จึงเชื่อว่า สิ่งที่จะตามมาอย่างแน่นอนก็คือ คนจะต่างอยากรู้ว่า จะลงมือออกแบบ UX จริงๆ ได้อย่างไร?

เมื่อความยากคือ UX ที่เป็นเรื่องของประสบการณ์ซึ่งจับต้องไม่ได้ แล้วอย่างนี้แบรนด์ควรจะถ่ายทอด UX อย่างไร ควรจะสื่อสารออกไปหาลูกค้าแบบไหน?

สิ่งสำคัญในมุมมองของคุณกรัณย์นั่นคือการตั้งตัวแปรให้ถูกว่าอยากให้แบรนด์ให้อะไรกับลูกค้า และอยากให้รู้สึกอย่างไรกับแบรนด์ โดยสิ่งนี้ต้องถ่ายทอดมาตั้งแต่ CEO ของแบรนด์เลย เพราะ UX ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่ไม่ใช่เรื่องของใครหรือทีมใดทีมหนึ่งแล้ว แต่นอกจากนี้คุณดารินยังเชื่อว่าอีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือแบรนด์ต้องเข้าใจจุดแข็งของตัวเอง รวมทั้งเข้าใจไปถึงความรู้สึกของลูกค้าอย่างแท้จริง เพื่อการตอบโจทย์ที่ตรงจุด

 แล้วแบรนด์ล่ะ ควรเตรียมตัวอย่างไร?

สำหรับการเตรียมตัวของแบรนด์ ต้อนรับเทรนด์ UX Design ปีนี้ คุณกรัณย์แนะนำว่าแบรนด์ควรจะพูดถึงตัวเองให้น้อยลง และรับฟัง Feedback ที่ไม่ใช่แค่สิ่งที่เราอยากได้ยินให้มากขึ้น ส่วนคุณดารินมองว่าแบรนด์ต้องเข้าใจบริบทของการปล่อยของเป็นอย่างดี ว่าสิ่งนั้นจะไปสอดคล้องเข้ากันพอดีกับไลฟ์สไตล์ลูกค้าช่วงไหน ความเกี่ยวข้องสอดคล้องคือสำคัญมากจึงเป็นอีกสิ่งที่สำคัญเช่นกัน

อะไรคือสิ่งที่แบรนด์ควรระวังสำหรับการออกแบบ UX?

“แบรนด์ไม่ควรไปทำอะไรที่ตนไม่ถนัด” เพราะอาจเสียเวลาไปโดยใช่เหตุ ต่างจากการที่ทำอะไรที่เราถนัดย่อมได้ผลที่ดีกว่า อีกสิ่งที่แบรนด์ต้องระวังคือการแสวงหาความแปลกใหม่ ยิ่งแบรนด์พยายามใส่อะไรเข้าไปมากๆ ให้ผู้บริโภครู้สึก Wow! อาจทำให้คนหันหนีไปในที่สุด ทั้งๆ ที่แบรนด์ควรโฟกัส คือ Innovation ในการแก้ปัญหาซึ่งยั่งยืนมากกว่า

ในขณะที่คุณดารินก็ทิ้งท้ายว่า “สิ่งที่แบรนด์ควรทำต่อจากนี้ไม่ใช่การพยายามหาคำตอบที่ดีที่สุด” เพราะ Mindset แบบนั้นมันเอาท์ไปแล้ว ถึงแม้เรื่องดังกล่าวจะเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญ แต่ปัจจุบันคือการปรับ Mindset เป็นการพยายามหาคำถามที่แบรนด์ควรจะถามมากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า เช่นเราควรจะทำอะไร ควรจะยอมเสียเงินและเวลาไปกับอะไร

 

คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ (Techsauce), คุณปริวรรต วงษ์สำราญ (Startup Thailand สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ) และ คุณอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ (Blognone)

3 สิ่งมาแรง ที่คุณอรนุชมองว่าจะมาแน่ๆ ในปี 2018 นี้ ได้แก่

  1. Intelligence of Things คือ สิ่งทั้งหลายรอบตัวเราต่อจากนี้จะเต็มไปด้วย AI อย่างแน่นอน เช่น ตอนนี้ที่เชียงใหม่มีการจ่ายไฟฟ้าทางเลือกซึ่งผลิตจากสารอินทรีย์ และมี AI เข้าไปช่วยในการจัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ตรงกับการใช้ของผู้ใช้
  2. ตอนนี้เบื้องหลัง Cashless Society คือเรื่องของ Consumer Data ที่ถูกหลุดไปให้บริษัทเทคโนโลยีใช้เรียบร้อยแล้ว อย่างในจีนคือสังคมหนึ่งที่เห็นได้ชัดในเรื่องการไม่ค่อยใช้เงินสดกันแล้ว
  3. สิ่งที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Blockchain

 มากกว่าเทคโนโลยีที่จะมา ก็คือการนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้

นอกจาก 3 สิ่งข้างต้นแล้ว คุณปริวรรตยังมองว่าต่อไปสิ่งที่จะมาจริงๆ ยิ่งกว่าอะไร ก็คือการนำเทคโนโลยีที่กำลังเข้าใกล้ตัวคนเรายิ่งขึ้น เช่น เรื่องการคมนาคม (Transportation) ในบางเมืองของต่างประเทศ มีการนำเซ็นเซอร์มาติดตามถนนและรถ รวมทั้งนำ AI มาช่วยประมวลผลแบบฉลาดกว่าที่เคย ก็จะช่วยทำนายได้ว่าตอนเช้า ไปทำงานทางไหนเร็วสุด ในแบบที่เราใช้งานได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน

 

 

คุณอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ (Pantip) และ คุณสุธีรพันธุ์ สักรวัตร (SCB)

เทรนด์ Digital Marketing สำหรับฝั่งแบรนด์

คุณสุธีรพันธุ์ สักรวัตร จากธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัลกล่าวถึงเทรนด์ Digital Marketing ว่า ตั้งแต่ปี 2018 ไป แบรนด์จะทำตัวเป็นสื่อเสียเอง เพราะทุกแบรนด์ย่อมมีแฟนคลับของตัวเองอยู่แล้ว แต่เดิมนั้นเราแค่ถูกทำให้เชื่อว่าแบรนด์ควรต้องซื้อ Media ทั้งๆ ที่แบรนด์ก็สามารถทำตัวเป็นแพลตฟอร์มของตัวเองได้

คุณอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ผู้ก่อตั้ง Pantip ให้ความเห็นว่า เทรนด์สำหรับแบรนด์น่าจะเป็นการที่แบรนด์มุ่งหา Influencer ในแบบที่รู้จริงกับ Product มากขึ้น และอีกสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการที่แบรนด์จะมี Community ของตัวเอง เพราะตอนนี้ แท้จริงไม่ใช่เรื่องของอะไรใหม่ แต่สิ่งสำคัญคือการใช้ช่องทางการเข้าถึงลูกค้าที่มี (Traffic/Media) อย่างเหมาะสม ในแบบที่ต้องพิจารณากันทั้ง Consumer Journey

เทรนด์ Digital Marketing สำหรับฝั่งผู้บริโภค

สำหรับฝั่งผู้บริโภคนั้น คุณสุธีรพันธุ์กล่าวว่าอาจมองได้ว่าคนเสพ Content เท่าเดิม แต่จะดูมัลติสกรีนมากขึ้น ดังนั้น อีกสิ่งที่จะมาก็คือระบบ ‘Ondemand’ หรือการเลือกชมคลิปตามความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งก็ควรจะมาปรับใช้กับธุรกิจมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ผู้บริโภคยุคนี้ยังมีนิสัยไม่แสดงตัวตนบนโลกออนไลน์ เห็นได้ชัดจากปรากฏการณ์ที่คนใช้ IG Stories มากขึ้นอย่างมหาศาล สะท้อนว่าคนไม่อยากแสดงตัวตนชัดเจนมากนัก แค่อยากโพสต์แล้วก็หายไป ดังนั้นที่สำคัญคือ ทำอย่างไรให้คนหาเราหรือ Content ของเราเจอ

ส่วนคุณอภิศิลป์มองว่าคนเดี๋ยวนี้สมาธิสั้นลง เช่น เวลาเล่น Instagram หรือ Facebook ถ้า Content ไม่น่าสนใจ ก็จะเลื่อนผ่านเลย อีกสิ่งคือ คนลืมง่าย จำไม่นาน เหมือนเช่นเวลาทำแคมเปญ Content ต้องน่าสนใจพอ และต้องกินระยะเวลาประมาณหนึ่งกว่าคนจะจำเราได้

 

คุณพรทิพย์ กองชุน (Jitta) และ คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ (Tarad.com)

Digital Transformation ไปไกลแค่ไหนแล้ว?

คุณพรทิพย์ กองชุน COO จาก Jitta พูดถึงกลุ่มผู้ประกอบการในไทยซึ่งมีแค่ 20% เท่านั้นที่ปรับเปลี่ยนตัวเองสู่ Digital ส่วนที่เหลือยังไม่ใช่ เพราะการ Transform ไม่ใช่แค่การเอาเทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจแค่การใช้อีเมล์ หรือทำ Online Marketing แต่พูดถึงทั้งระบบของธุรกิจ แม้แต่ในการมอบอะไรให้ลูกค้า และสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างไร ดังนั้น ความพร้อมของคนในองค์กรจึงเรียกได้ว่าสำคัญมากที่บ่งบอกได้ถึงความสำเร็จ

สำหรับ คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ CEO จาก tarad.com มองว่าคนมีทั้งแบบอยากจะ Transform แต่ยังไม่พร้อม กับคนที่พร้อมและมีตัวช่วยในการ Transform เหมือนตอนนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ จะมีคนกลุ่มนึงที่พารานอยด์ในการเปลี่ยนแปลงก่อนคนอื่น กับกลุ่มสุดท้ายที่ไม่ยอม transform ก็จะล้มไปเลย โดยเฉพาะกลุ่ม SME ไทย บางคนต้องรอรัฐไปสนับสนุน หรือรอให้มีอะไรมาผลักดัน

การจะ Transform ทั้งองค์กรได้จะต้องมีกลยุทธ์ในการกระตุ้นให้คนในองค์กรรู้สึกร่วม และพร้อมที่ Transform ไปด้วยกัน นอกจากนี้ต้องอย่าให้ความกลัวเป็นตัวฉุดให้ประเทศไม่ก้าวไปข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ยังไม่ยอมปรับตัวหรือยังกลัวการใช้ระบบต่างๆ พวกนี้อยู่

Digital Transformation ฝั่ง Cashless Society ในปีนี้ ทิศทางจะเป็นอย่างไร?

ในมุมมองของคุณพรทิพย์ เทรนด์ Cashless Society เป็นสิ่งที่มาอยู่แล้วและเป็นเทรนด์โลกด้วยเช่นกัน แต่ในไทยตัวเลขอาจจะยังน้อยอยู่ สิ่งที่ต้องระวังคือเรื่องความปลอดภัย ที่ประเทศไทยต้องปรับปรุงให้มีเสถียรภาพ เหมือนเรื่องที่ PromptPay เคยล่ม ซึ่งจะมีวิธีการทำให้มันไม่เกิดขึ้นอีกไหม แต่ถ้าทุกธนาคารมี E-payment ของตัวเอง เราจะมีแอปพลิเคชั่นในมือถือเยอะมากๆ อาจเป็นโอกาสให้สตาร์ทอัพเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้ด้วยเช่นกัน

ในขณะที่คุณภาวุธมองว่า Cashless Society ของไทยจะถูกขับเคลื่อนโดยธนาคารประหนึ่งมาเฟียคุมกฎระเบียบต่างๆ ไว้อยู่ สิ่งที่ต้องระวังตอนนี้คือทุกอย่างเริ่มเฟ้อแล้ว ดังนั้นประมาณปีหน้าทุกอย่างจะผันผวนกว่าเดิม และโมเดลธุรกิจแบบเดิมอาจต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

ทุกอย่างข้างต้นที่ได้เล่ามาล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่คนยุคดิจิตอลต้องเรียนรู้และเริ่มปรับตัว ให้อยู่กับเทคโนโลยีที่มีผลกับการใช้ชีวิตมากขึ้นทุกวันๆ ซึ่งการถูกนำมาเป็นเทรนด์ในปัจจุบันก็ชัดเจนแล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่แน่ว่าในวันข้างหน้าเราจะต้องเป็นหนึ่งเดียวกับเทคโนโลยีเหล่านั้นโดยสมบูรณ์แบบไปเลยก็ได้

 

สามารถชมวิดีโอย้อนหลังในแต่ละหัวข้อได้ที่ 

CREATIVE TRENDS

TECHNOLOGY TRENDS

DIGITAL MARKETING TRENDS

ENTREPRENEUR TRENDS