ในโลกของเอเจนต์นักฟุตบอลปัจจุบันไม่มีใครไม่รู้จัก Jorge Mendes ผู้ที่ได้รับสมญานามว่า ซุปเปอร์เอเจนต์ ชาวโปรตุเกส และเป็นผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการโยกย้ายทีมของลูกค้าระดับเทพของเค้าหลายคนไม่ว่าจะเป็น Cristiano Ronaldo, James Rodriguez, Pepe และ David de Gea รวมทั้งลูกค้าอีกคนหนึ่งอย่าง Jose Mourinho ด้วย สำหรับ Mendes ภาพที่เรามักจะคุ้นตากันก็คือชายวัยกลางคน ผิวแทนสไตล์ยอดนิยมของชาวยุโรปใต้ พร้อมรอยยิ้มแบบบาดใจสาวแก่แม่ม่าย มาดสุดเท่ห์ภายใต้เครื่องแต่งกายสุดเนี้ยบแบบเดินบนแค็ทวอล์คได้ไม่อายใคร
แต่ในแวดวงซุปเปอร์เอเจนต์ในปัจจุบัน มีอีกชื่อหนึ่งที่มักจะปรากฏในพาดหัวข่าวเวลามีเรื่องของการซื้อขายตัวนักเตะระดับโลกก็คือ Mino Raiola ชายร่างอ้วนท้วนลูกครึ่งอิตาเลียน-ฮอลแลนด์ ส่วนสูงขนาดกระทัดรัดที่มักปรากฏกายใน track suit หรือกางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบ และเสื้อ hoodie แบบใครไม่รู้ก็นึกว่าเป็นเจ้าของร้านขายของชำหรือพ่อครัวร้านอาหารอิตาเลียนเสียงั้น สำหรับ Raiola นั้น รายชื่อลูกค้าที่เค้าเป็นตัวแทนในการเจรจาก็ไม่ใช่ย่อยๆ ครับไม่ว่าจะเป็นนักเตะที่ยกให้เค้าเป็นเพื่อนซี้ออย่าง Zlatan Ibrahimovic หรือ Henrikh Mkhitaryan, Matuidi, Pogba และล่าสุดที่ทำให้แฟนบอลเกือบทั้งโลกรู้จักก็คือ Lukaku ดาวยิงคนใหม่ของ Manchester United นั่นเอง
ท่านผู้อ่านคงทราบกันดีว่า Lukaku นั้นตกเป็นเป้าของ Chelsea มาสักพัก ถึงขนาด Conte ประกาศปล่อยตัว Diego Costa ไปก่อนที่จะได้ตัวเค้ามาร่วมทีม แต่สุดท้าย Lukaku กลับไปลงเอยกับปิศาจแดงเสียนี่ ส่งผลให้ Conte หัวเสียพอสมควร (สงสัยกลัวเสี่ยหมี Ibramovich เล่นงานเอา) ถือว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ Raiola เลยทีเดียวที่พลิกดีลให้กับ Lukaku ไปอยู่สโมสรเดียวกับลูกค้าเขาอีก 4 คนอย่าง Zlatan, Mkhitaryan, Pogba และ Sergio Romero ผู้รักษาประตูชาวอาร์เจนไตน์ ถือว่าน่าสนใจนะครับที่ Raiola กลายเป็นเอเจนต์ที่ป้อนนักฟุตบอลให้กับ Mourinho ผู้ผูกติดอยู่กับ Mendes ได้เยอะอยู่ทีเดียว
ดูจากภาพลักษณ์ของซุปเปอร์เอเจนต์ทั้งสองแล้วก็ต้องบอกว่ามีความแตกต่างกันพอสมควร รวมถึงกลุ่มนักฟุตบอลที่ทั้งสองคนดูแลผลประโยชน์ให้ก็มีความแตกต่างกันเช่นกัน ของ Mendes นั้นลูกค้ารายใหญ่อย่าง Ronaldo หรือ James นั้นออกจะดูสำอางค์ หนุ่มบูติค เทือกนั้น ในขณะที่ของ Raiola อย่าง Lukaku, Pogba หรือ Zlatan นั้นออกแนว bling bling แบบดิบๆ สไตล์ออกแร็ปๆ ฮิปฮ็อปหน่อยๆ ก็นับว่ามีคาแรกเตอร์ที่ต่างกันออกไปพอควร ใครไม่เคยติดตามชีวิตนักฟุตบอลพวกนี้นอกสนามลองเข้าไปดู Instagram ของ Pogba ได้ครับ ใครไม่รู้จักเขาจะนึกว่าเป็นศิลปินเพลงฮิปฮ็อปชื่อดังที่มีเพื่อนๆ สไตล์เดียวกันรายล้อมคอยหยอกล้อเล่นหัว ขับรถหรูเลี่ยมทอง พร้อมกับเสื้อผ้าสุดจี๊ดแบบคนปกติไม่ใส่กัน แต่อย่างหนึ่งที่นักเตะทั้งสองกลุ่มนี้เหมือนกันก็คือราคาค่าตัวที่แพงลิบลิ่วตอนย้ายตัวและค่าเหนื่อยที่แต่ละคนได้อันเนื่องมาจากฝีมือการเจรจาของซุปเปอร์เอเจนต์ที่รับผิดชอบพวกเขา
ไม่ทราบท่านผู้อ่านเคยดูซีรี่ส์ดังทาง HBO เรื่อง Ballers ที่ The Rock Dwayne Johnson แสดงเป็นเอเจนต์นักกีฬาอเมริกันฟุตบอลตัวเองของเรื่องไหม ผมว่าไม่ต่างเลยครับกับการโยกย้ายตัวของนักฟุตบอลยุคนี้ นักฟุตบอลสมัยนี้ไม่มีหรอกครับที่จะปล่อยเนื้อปล่อยตัวเหมือนเมื่อก่อน ภาพลักษณ์การตลาด เป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขาเพราะมูลค่าของนักเตะไม่ได้อยู่ในสนามอย่างเดียวแต่มาจากสปอนเซอร์ ฯลฯ ด้วย เผลอๆ จะมากกว่าค่าเหนื่อยด้วยซ้ำ ดังนั้นเอเจนต์ของพวกเขาคือคนสำคัญในการดูแล ควบคุม และบริหารเรื่องเหล่านี้เพื่อให้ลูกค้าเขาได้ผลตอบแทนสูงที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นคือปัจจุบันบุคคลอย่าง Mendes และ Raiola กำลังกลายเป็นตัวละครที่มีอิทธิพลมากที่สุดสำหรับวงจรชีวิตนักฟุตบอลอาชีพไปเสียแล้ว
ดูอย่างกรณีของ Lukaku กับ Pogba ช่วงก่อนหน้าที่ดีลจะจบสิครับ ทั้งสองคนเป็นนักเตะในสังกัดของ Raiola ทั้งสองคนบังเอิญเป็นเพื่อนสนิทกัน (จากปากของพวกเค้า) มีไลฟ์สไตล์ bling bling เหมือนกัน การที่ Pogba ออกมาเกริ่นและแอบเผยว่า Lukaku จะมาอยู่กับเขาที่ Manchester United ผ่าน Instagram (ลองเข้าไปดูนะครับ) อย่างสนุกสนาน และหลังจากที่จรดปากกาเซ็นแล้ว การเปิดบ้านฉลองที่ LA ด้วยกันพร้อมกับภาพวิดีโอใน Instagram ของ Pogba ที่เสริมให้เห็นว่าทั้งคู่ซี้กันมากผมเชื่อว่าคนที่อยู่เบื้องหลังคือ Raiola นั่นแหละครับ ที่มองขาดถึงการใช้ character และภาพลักษณ์ของทั้งคู่มาเสริมกันและกัน เพิ่มมิติเรื่องราวของการเป็นผู้เล่นของทีม ส่งให้เป็นคู่หูคู่ใหม่ของทีมปิศาจแดงที่จะทำให้มีแฟนบอลติดตามดูเรื่องราวของพวกเค้าอย่างต่อเนื่องทั้งในและนอกสนาม
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือบรรดาผู้จัดการทีมและโค้ช รวมทั้ง Sporting Director ของแต่ละทีมซึ่งเคยเป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลมากที่สุดสำหรับการโยกย้ายทีมของนักเตะกำลังถูกอิทธิพลของบรรดาเอเจนต์เหล่านี้เข้ามาแทรกแซง อย่างไรก็ตามผมคิดว่าคนทั้ง 2 กลุ่มไม่ควรมองอีกฝ่ายเป็นศัตรู แต่ควรทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อผลประโยชน์โดยรวมของสโมสรและวงการฟุตบอลอาชีพโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสโมสรหรือลีกที่มีความซับซ้อนในการแบ่งหน้าที่ของ ผู้จัดการ โค้ช หรือ Sporting Director ถ้าผมเป็นเจ้าของสโมสรใหญ่ๆ แล้วล่ะก็ ผมต้องยิ่งระวังไม่ให้เอเจนต์ที่เขี้ยวลากดินมาสวมเขาด้วยการเข้านอกออกในกับใครคนใดคนหนึ่งใน 3 ตำแหน่งดังกล่าว
ในประเทศไทย ตอนนี้ผมเชื่อว่าอาชีพเอเจนต์แบบที่เราเห็นในต่างชาติเริ่มเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กลุ่มคนที่มีความสุ่มเสี่ยงมากที่สุดน่าจะเป็น “โค้ช” ของทีมครับ เพราะหน้าที่การเจรจาต่อรองกับเอเจนต์เป็นของ ผู้จัดการทีม มีโอกาสสูงทีเดียวที่ “โค้ช” จะกลายสภาพเป็น “แพะ” ตัวใหญ่ถ้าหากนักเตะที่เอเจนต์ตกลงกับผู้จัดการในเชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้วไม่สามารถแสดงผลงานได้สมราคา เพราะสุดท้ายสิ่งที่แฟนบอลมองเห็นคือผลงานในสนามโดยที่อาจจะลืมไปแล้วว่าตอนซื้อนักเตะเข้ามา เอเจนต์ กับ ผู้จัดการทีม ต่างหากที่ตกลงกัน
ถ้าจะให้ชี้นิ้วเฉพาะเจาะจง ผมว่าทีมใหญ่ๆ ในลีกไทย ผู้บริหารและเจ้าของสโมสรควรต้องดูให้ดีครับ เพราะเม็ดเงินก้อนใหญ่ๆ คงหนีไม่พ้นที่จะวนเวียนอยู่กับไม่กี่ทีมที่มีกำลังซื้อขาย เอเจนต์ในแวดวงน่าจะยังมือใหม่อยู่พอคุยได้แต่ที่น่ากลัวคือพวกผู้จัดการทีมที่เขี้ยวลากดินต่างหากที่จะฉกฉวยโอกาสตรงนี้ ฝากไว้ด้วยนะครับ
บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามกีฬา ฉบับวันที่ 21 กรกฎาคม 2560