ถ้าวัดกันอย่างหยาบๆ คำว่า Fanatic ถูกใช้ในวงการหนังแบบ “ติดปาก” กับหนัง Star Wars เป็นเรื่องแรกๆ ความหมายของมันคือ ลัทธิหรือสาวก แต่ไม่ใช่สาวกแฟนคลับในแบบ Harry Potter เหตุผลประการหนึ่งเพราะว่า ด้วยเนื้อหาของผลงาน จอร์จ ลูคัส นั้น มีความสลับซับซ้อนในตัวละครมากมาย แง่มุมบางอย่างจึงถูกขายต่อ “เกี่ยวกับความเชื่อ”
บางท่านอาจจะไม่ทราบว่า Star Wars นี่แหละ ที่เป็น “ต้นแบบ” ในการสร้างหนังใหญ่ถล่มจอ ด้วยภาพและเสียง (ซึ่งก็หมายความว่า บรรดาเครือข่าย 007 ก็คือหนังต้นทางของ product placement ที่แอบขายสินค้าไว้ในหนัง)
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา วงการหนังและกีฬาได้สร้าง “ชนเผ่าน้อย” ขึ้นมาเอง และเกิดศัพท์เรียกสิ่งเหล่านั้น คล้ายๆ เป็น minority ในวัฒนธรรมบันเทิงย่อยๆ ลงไป ทั้งเป็นทางการและไม่เป็น เราลองมาดูแต่ละกลุ่มที่เกิดขึ้น และยังมีบทบาทอยู่
1. Minority ในออสการ์
ออสการ์ในอดีตสำหรับผมออกจะน่าเบื่อมากกว่าตื่นเต้น… น่าเบื่อเพราะ กรรมการส่วนมากเป็นพวก white male ที่มีอายุ การดูหนังและลงคะแนน จึงมักดูแต่หนังอเมริกัน ลงคะแนนแต่หนังชาติตัวเอง โดยมีฮีโร่ตามแบบฉบับในฝันของคนอเมริกัน
แต่ช่วงสองปีที่ผ่านมา ออสการ์เปลึ่ยนไปมาก มีวิสัยทัศน์ขึ้น (แม้รสนิยมไม่ได้ดีตาม) สำนักรางวัลนี้ เปิดรับกรรมการที่มาจาก “นอกขนบ” มากขึ้น เอาคนเอเชีย แอฟริกา ยุโรป เอาผู้หญิงเข้ามา เอาคนผิวสีมาผสมผสาน ทำให้หนังที่เข้าชิง ผู้กำกับที่เข้าชิง มีความหลากหลาย (ตามเทรนด์โลก diversity) จนสีผิว คนดำ และใครก็ตามที่ “ไม่อยู่กระแส” ก็มีโอกาส
สูตรในการเลือกหนังเช้าชิงของออสการ์ ดูไม่ยากหรอกครับ ทุกๆ ปีไปดูเถอะ จะมีหนังซึ่งเป็นตัวแทน “คนผิวสี” เข้ามาชิง (ในทางหนึ่ง เป็น atonement หรือขอใช้คำว่า “ไถ่บาป” ที่ในอดีต อเมริกันผิวขาว กระทำไว้มากกับพวกผิวสี รวมทั้งอินเดียนแดง)
Minority กลุ่มนี้จะอยู่อีกนานครับ เดี๋ยวต้นปีหน้า ออสการ์ประกาศผู้เข้าชิง ก็จะมีอีก…
2. Dad Body vs. Six-Pack
ตลาดฟิตเนสได้สร้างไลฟ์สไตล์ของ Gym-goer ออกมาหลายปีแล้ว จำได้ว่าเมื่อสองปีที่แล้ว นสพ. The Guardian ของอังกฤษ สรุปตัวเลขว่า ทุกๆปี ตลาดฟิตเนสทำเงินได้ใน UK มากถึง 8,000 ล้านบาท ประจักษ์พยานปากเอกของการออกกำลังกาย ที่ขายเก่งมากคือ มีการสร้างศัพท์ต่างๆออกมารองรับ แนวทางที่ผู้เล่นเลือกจะเป็น เล่นหนักเล่นเบา เล่นวิ่งหรือเวท มีคำศัพท์แปลกๆ ไว้เรียก ไม่ต่างจากในอดีตที่ค่ายเพลง ต้องสร้างศัพท์เรียกแนวดนตรีออกมา เพื่อขาย “คนฟัง”
แต่ท่ามกลาง… ความเฟื่องฟูของ ตลาดฟิตเนส การขาย six-pack เป็นเหมือน “มายาคติ” ที่สวมครอบความคิดของคนหนุ่มสาวว่า มันคือนิพพานของกล้ามเนื้อ เป็นอะไรที่สาวๆใฝ่ฝัน จนหนุ่มๆ อยากมี six-pack กันทั้งโลก
แล้วจู่ๆ รสนิยมหรือเทรนด์ก็เปลี่ยน
มหาวิทยาลัยมิสซิปซิปปี้ ทำการสำรวจผู้หญิงยุคใหม่ว่า หน้าท้องของผู้ชายแบบไหนที่พวกเธอชอบ ผลสำรวจออกมาว่า เทรนด์หน้าท้องแบบ dad bod หรือ dad body ดูดีกว่า… dad body คือมีพุงนิดๆ ไม่อ้วน เกินไป ดูเป็นผู้ชายอบอุ่น ไม่เจ้าชู้แบบ six-pack ที่ล่อสาวๆ มาหา แล้วสาวๆ คิดว่า ผู้ชายร่างแบบป๋าๆ สามารถยื่นมือช่วยเหลือสังคม ช่วยลูก ช่วยเพื่อนบ้านมากกว่าพวก six-pack ที่เอาแต่หมกมุ่นต้องรักษากล้ามท้อง
ผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่า dad bod คือชัยชนะของหน้าท้อง ผู้ชายที่ถูกมองข้ามไป คล้ายๆ “ชนเผ่าน้อย” รบชนะ “กองทัพใหญ่”
3.Bibliosmia กลิ่นกระดาษ
ถ้าคุณเข้าทวิตเตอร์ของ Pitch Publishing ที่ทำแต่หนังสือ sport books คุณจะพบว่าทุกๆ สัปดาห์จะมีหนังสือใหม่ออกมาวีคละ 2-3 เล่ม …ยิ่งไปกว่านั้น บรรยากาศการจัดหนังสือยอดเยี่ยมของสำนัก Telegraph หรือ Penguin ก็ยังคงคึกคักและครึกครื้น ต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้มีคำทำนายว่า เมื่อตลาด e-book หรือการอ่านในออนไลน์เติบโต นั่นหมายความว่า พวกชนกลุ่มน้อยที่ยังคงยึดติดกับ “การอ่านหนังสือ” จะหมดอนาคตกับวิธีการอ่านเดิมๆ แต่เรื่องพลิกล็อคไปอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะว่าหนังสือกลับมาฮิตมากขึ้น เพราะว่าวงการแพทย์ชี้ว่า นักอ่านหรือเยาวชนที่อ่านนิยายจากหน้ากระดาษ จากหนังสือ จะสามารถ “จดจำ” เรื่อง สถานการณ์ ตัวละคร ได้แม่นยำกว่า คนที่อ่านจากออนไลน์
เหตุผลเพราะว่า แสงจากจอ ทำให้สมองไม่เกิดการผูกพันระหว่างการอ่าน
ยิ่งไปกว่านั้น นักอ่านตัวจริงจากอดีต ที่ชื่นชอบการ “ดม” กลิ่นกระดาษหนังสือ ซึ่งมีศัพท์เรียกว่า bibliosmia กลับเป็นกลุ่มคนที่มีความทรงจำ ความผูกพันกับเรื่องในหนังสือ ได้ดีมากกว่ากลุ่มอื่นๆ บทสำรวจนี้ทำให้ชาว bibliosmia ชื่นมื่นกันมาก หลังจากโดนแขวะว่า เป็นพวกเอาท์ ยังอ่านกระดาษไม่มูฟไปสู่ออนไลน์
แน่นอน ผู้เขียนปลื้มเป็นที่สุด
4. ชนเผ่าบาร์ซ่า “1714”
มีการอ้างอิงจากหนังสือของ ไมเคิล ค็อกซ อย่าง Zonal Marking ว่า ถ้ามีการเอาฟุตบอลประเทศต่างๆ คู่ต่างๆ มาจัดอันดับเรียงกันทั้งหมดในโลกนี้ เอล กลาสิโก้ ระหว่าง บาร์เซโลน่ากับเรอัล มาดริด จะเป็นแมทช์ที่น่าดูมากที่สุดในความคิดของแฟนบอล
ทำไมเป็นเช่นนั้น ?
บาร์เซโลน่าหรือแคว้นคาตาลัน ไม่ใช่เป็นของสเปนมาก่อน แต่พวกเขาพ่ายแพ้สงครามในอดีตต่อกองทัพสเปน ฉะนั้น เวลาสองทีมเจอกัน มันจึงไม่ใช่โด้ปะทะเมสซี หรือ เปปอัดกับมู มันมีภาพใหญ่จากอดีตที่ครอบอยู่ เอล กลาสฯ จึงเหมือนสงครามรบผ่านฟุตบอล ที่ซ้ำเหตุการณ์แต่เป็นลูกหนัง
ผมเคยไปดู เอล กลาสิโก้ 2 ครั้ง แล้วทั้งสองครั้งก็จำได้ว่า จะมีสีสันแปลกๆ ดิบๆ ก่อนเกม เช่น มีแกงค์แว้น 200 คันออกมาขี่ข่มขวัญกองเชียร์มาดริด พวกเขาจะมีคำตะโกนด่าทอรุนแรง และเดินเป็นกองทัพ ดูมีพลัง! พวกแฟนบาร์เซโลน่ารู้สึกว่า แม้มาดริดจะเป็นประเทศ และพวกเขาเป็น minority แต่พวกเขาไม่ใช่สเปน แล้วอยากแยกตัว!
นั่นจึงทำให้ วันที่มีการแข่งขันฟุตบอล เวลานาฬิกาเดินมาถึง 17.14 น. ทุกคนในเมืองจะตะโกนคำว่า independent! หรือเอกราช! พร้อมกันทั้งเมือง
เวลา 17.14 น. ตรงกับความหมายปี 1714 ที่พวกเขาแพ้สงคราม นั่นเอง…
5. ใครเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ในโรงหนัง?
เรื่องนี้ผมพูดในวิทยุคลื่น 99 fm. ไปเมื่อวันก่อน และไม่ได้อยู่ข้างใคร แต่ขอรายงานในแง่ที่ว่า เป็นเทรนด์ใหม่ ซึ่งขอเรียกว่าเป็น Generation C แต่ไม่ใช่ 5 c แบบยัปปี้ในอดีตหรือ C connection ที่ว่าใหญ่สุดในบรรดา c ทั้งหมด (car condom condo credit card)
แต่ generation C ในที่นี้คือ clash หรือการปะทะขัดแย้ง แสดงต่าง
อย่างที่เราทราบว่า การฉายหนังตามโรงต่างๆ ในบ้านเรา ถ้าโรงหนังนั้นๆ อยู่ในโลเคชั่นของ Gen x กับ gen y หรือ baby boomers ก็ขึ้นอยู่กับ รุ่นไหน จะยึดครองเก้าอี้ในรอบนั้นๆ มากกว่ากัน เช่น ถ้าเป็นห้างกลางเมืองย่านสยาม เราก็จะเห็นคนกลุ่มหนึ่ง ลุกขึ้นยืน แล้วกลุ่มนั่งนิ่งจะน้อยกว่า
แต่ถ้าเป็น โรงย่านสามย่านฯ ว่ากันว่า ก็จะมีคนยืนคนนั่งสลับจำนวนกัน… ชัดไปกว่านั้น บางคนบอกว่า ลองไปดูตามจังหวัดต่างๆ ในภาคอื่นๆ ก็จะเห็นภาพนี้ชัดขึ้น คนในวงการหนังเรียกสิ่งนี้ว่า เป็นเทรนด์ใหม่ของการเข้าโรงหนังที่ปะทะกันตรงๆ ก่อนจะดูหนัง…
รุนแรงกว่า เนตฟลิกซ์ ปะทะ โรงหนัง หลายเท่าตัว…
แล้วอาจมีทางออกเร็วๆนี้…