การแข่งขัน Motogp กีฬายอดฮิตกับ อุปสรรคเรื้อรัง

ท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวของวงการกีฬาความเร็วคงพอจะทราบกันแล้วว่าในที่สุดประเทศไทย หนึ่งในประเทศที่มีตลาดรถมอเตอร์ไซค์ใหญ่มหาศาลก็จะได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันรถมอเตอร์ไซค์ทางเรียบระดับโลก MotoGP เริ่มต้นปีหน้าเป็นระยะเวลา 3 ปีที่สนามช้างเซอร์กิตที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเพิ่งเซ็นสัญญากันไปเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สำหรับหน่วยงานรัฐบาลไทย กระทรวง ทบวงกรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและกีฬาก็ถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงในการเอาการแข่งขันกีฬาระดับโลกมายังประเทศไทย

 

กีฬาความเร็วชนิดนี้ต้องเรียกได้ว่าได้รับความนิยมสูงมากในทวีปเอเชีย การแข่งขัน World Superbike ซึ่งเป็นการแข่งขันในอีกรุ่นหนึ่ง เราจะเห็นคนดูเต็มอัฒจรรย์อยู่ประจำและมีการถ่ายทอดไปยังหลายประเทศมากมาย ซึ่ง MotoGP ก็เป็นรายการแข่งขันที่ได้รับความนิยมมากกว่าอยู่แล้ว ดังนั้นจึงนับว่าเป็นข่าวดีไม่ใช่เฉพาะคนไทยแต่คนเอเชียแถบนี้ทั้งหมดเพราะในละแวกนี้ก็มีแค่สนามเซปังที่มาเลเซียเท่านั้นที่จัดให้มีการแข่งขัน MotoGP มาในอดีต ดังนั้นถ้าไม่มีสนามอื่นมาเพิ่มอีกในปีหน้าเราจะได้เห็นการแข่งขัน MotoGP ทั้งหมด 19 สนามด้วยกัน ซึ่งสำหรับแฟนๆ ความเร็วแล้วคงเป็นเรื่องที่น่ายินดีแต่สำหรับบรรดานักบิดผู้เข้าแข่งขันและอีกหลายๆ ส่วนที่เกี่ยวข้องนั้นกลับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ค่อย popular สักเท่าไหร่

ปกติแล้วฤดูของการแข่งขัน MotoGP จะกินเวลาทั้งหมด 34 สัปดาห์ ตอนนี้มีแข่งไปแล้ว 18 สนาม นั่นหมายความว่าโดยเฉลี่ยแล้วมีแข่งทุกๆ 2 สัปดาห์เลยทีเดียว ถ้าจะยัดอีกสนามเข้าไปก็จะมีความถี่เฉลี่ยมากขึ้นไปอีก หรือถ้าจะมีการพิจารณายืดฤดูการแข่งขันออกไป สำหรับนักบิดเองแล้วนั้นนั่นหมายถึงช่วงปิดฤดูกาลที่สั้นลง ส่งผลให้ได้ใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัว ใช้ชีวิตแบบปกติ หรือให้ร่างกายพักฟื้นที่สั้นลง อย่างน้อยผมว่าก็หายไปอีก 2-3 สัปดาห์ล่ะครับ ถ้าไม่ยืดฤดูการแข่งขันให้นานขึ้นก็คงต้องบีบช่วงห่างแต่ละสนามให้ใกล้กันอีกหน่อย ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีตารางการแข่งขันที่ต้องแข่งติดกันทุกสัปดาห์อยู่ 2 ช่วงแล้ว หนึ่งเป็นช่วงที่แข่งในยุโรป ซึ่งก็ยังพอไหว เดินทางไม่ไกลมากทวีปไม่ใหญ่มาก แต่ช่วงที่ต้องแข่งที่ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และมาเลเซียติดกัน 3 สัปดาห์นี่ถือว่าเป็นเรื่องโหดพอดูที่ต้องบินข้ามน้ำข้ามทะเล โยกย้ายอุปกรณ์เครื่องมือ และนักบิดหลายคนอาจมีปัญหากับสภาพร่างกายที่สะบักสะบอมหรือบาดเจ็บจากสนามก่อนหน้านั้น ระยะเวลาที่กระชั้นชิดไม่สามารถพักฟื้นได้ทันทำให้ไม่ฟิตพร้อมที่จะแข่งหรือทำผลงานได้แย่กว่าปกติ

นักบิดอมตะอย่าง Rossi เองก็ยังออกปากว่าเค้าไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มสนามแข่งขันเข้าไปอีกในฤดูกาล อีกทั้งยังบอกเลยว่าถ้าจะเพิ่มสนามอย่างที่น่าเบื่ออย่างบุรีรัมย์ (เค้าบอกว่าทางโค้งน้อย ทางตรงเยอะ ไม่ท้าทายนักบิดเท่าไหร่) เข้าไปแล้วล่ะก็ อย่าเพิ่มเสียดีกว่า แหม พูดอย่างนี้เสียหน้าแบรนด์มอเตอร์ไซค์ที่ใช้เค้าเป็น Presenter หมด แถมยิ่งกว่านั้น แบรนด์มอเตอร์ไซค์นี้ก็ยังเป็นสปอนเซอร์ใหญ่ของสนามแห่งนี้เสียด้วยสิ

Valentino Rossi

ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นกับนักบิดสำหรับรุ่นสุดยอดอย่าง MotoGP เท่านั้นครับ อย่าลืมครับว่าทุกสนามการแข่งขันจะต้องมีรุ่นย่อมไปแข่งด้วยทั้ง Moto2 และ Moto3 ซึ่งรุ่นหลังนี่เองที่ส่วนมากแล้วนักบิดจะเป็นเยาวชนที่อายุเพียง 16-17 เพิ่งก้าวเข้ามาในวงการได้ไม่นาน ไต่เต้ามาตั้งแต่เป็นเด็ก ซึ่งเยาวชนเหล่านี้ยังคงอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนอยู่ แม้บางคนจะเลิกเรียนไปแล้วเพื่อเอาดีทางนี้จริงจังเพราะมีแวว แต่มีอีกหลายคนที่สุดท้ายแล้วไต่เต้าไปไม่ถึงฝันในการเป็นนักบิดรุ่น MotoGP ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับพวกเค้าคือเรื่องการศึกษา

เยาวชนในวัยนี้ ถ้าหากต้องเดินทางรอบโลกปีละกว่า 34 สัปดาห์ จะเอาเวลาที่ไหนไปเรียนหนังสือครับ ยิ่งกว่านั้นหากพวกเค้าประสบอุบัติเหตุไม่สามารถเป็นนักแข่งอาชีพได้ต่อไปอีก อนาคตมิดับวูบหรือ หนังสือหนังหาก็ไม่ได้เรียน สุดท้ายคนพวกนี้อนาคตก็วนเวียนอยู่กับวงการไม่ไปไหน อาจเป็นช่างเครื่องหรือช่างเทคนิคของทีมในที่สุดก็ว่ากันไป

สำหรับบรรดาช่างเครื่อง ช่างเทคนิค และองค์ประกอบอื่นๆ ของทีมก็หมายถึงระยะเวลาที่ต้องห่างจากครอบครัวนานขึ้นไปอีก รวมถึงบรรดานักข่าวที่ต้องติดตามทำข่าวอย่างใกล้ชิด บินข้ามทวีปกันไปไม่ต่างกัน ค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยสำหรับทั้งทีมแข่งและสำนักข่าวต่างๆ ผู้ที่ต้องได้รับผลกระทบต่อไปก็คือบรรดาสปอนเซอร์ของทีมต่างๆ ที่สุดท้ายแล้วถ้าค่าใช้จ่ายเพิ่ม นั่นหมายถึงค่าสนับสนุนต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วยหรือเปล่า และสำหรับสื่อที่เงินค่าโฆษณาลดลงแล้วก็ยิ่งเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายเข้าไปอีก

สำหรับตัว Dorna Sports ผู้จัดการแข่งขันเองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับในการจัดตารางการแข่งขันในแต่ละสนามแต่ละประเทศให้ลงล็อค ตอนนี้กาตาร์คือสนามเปิด แข่งกันท่ามกลางแสงสป็อตไลต์ที่จัดขึ้นมาเป็น Night Race และจบลงที่สเปนในสนามสุดท้าย ถ้าจะเลื่อนให้สนามแรกเร็วขึ้นก็มีความเสี่ยงกับเรื่องของฝนที่ยังไม่หมดดี ถ้าจะเลื่อนสนามสุดท้ายให้เขยิบไปอีกก็ไม่เข้าท่า ตอนนี้เวลาดูแข่งสนามสุดท้ายที่สเปนในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน พระอาทิตย์ลับทิวเขาไปนานแล้วก่อนที่จะจบการแข่งขันส่งผลให้ผิวสนามเย็นลงอย่างรวดเร็ว การเกาะถนนของยางก็น้อยลงไปตามด้วย มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุมากขึ้น การเพิ่มสนามเข้าไปอีกสนามหนึ่งน่าจะทำให้ Dorna Sports ต้องกลับมาพิจารณาตารางแข่งใหม่และอาจต้องเจรจากับเจ้าของสนามแต่ละแห่งอีกครั้งถึงตารางเวลาที่อาจต้องเปลี่ยนไป นั่นหมายถึงแผนงานโลจิสติกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทีม แฟนๆ ทีมทำข่าว ฯลฯ ต้องเปลี่ยนไปทั้งหมด ตอนนี้บรรดาทีมแข่งต่างๆ คงภาวนาว่าไม่มีการปรับเปลี่ยนสล็อตของสนามใหม่แต่อย่างใด ไม่งั้นเรื่องใหญ่แน่นอน ก็น่าสนใจครับว่า Dorna Sports จะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร

Dorna Sports Credit :motorlands.eu

แน่นอนฐานแฟนของกีฬาความเร็วประเภทนี้เติบโตอย่างรวดเร็วในทวีปเอเชีย การแข่งมอเตอร์ไซค์ MotoGP ก็ไม่ต่างอะไรกับบรรดาสโมสรฟุตบอลและลีกยุโรปที่เร่งสร้างตลาดในละแวกนี้เพื่อสร้างฐานรายได้แห่งใหม่ที่มหาศาล เงินก็อยากได้แต่คนที่เป็นผู้เล่นในเกมนี้และองค์ประกอบอื่นๆ จะเอาด้วยหรือเปล่าอันนี้ต้องรอดูกันต่อไป

และสุดท้ายที่สำคัญ เบียร์ไทยสองยี่ห้อต้องไปตกลงกันก่อนนะครับว่าจะเอายังไง เจ้าหนึ่งเป็นสปอนเซอร์หลักของการแข่งขัน MotoGP อีกเจ้าหนึ่งเป็นสปอนเซอร์หลักของสนามที่บุรีรัมย์ ผมยังคิดไม่ออกเลย

 

บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามกีฬา ฉบับวันที่  13 ตุลาคม 2560

ติดตามมุมมองสบายๆ ของเศรษฐา ทวีสิน เกี่ยวกับกีฬาและสังคมได้ที่ คลิก