เคล็ดลับการเพิ่มอายุค้าแข้งให้กับนักเตะจาก เอซี มิลาน นวัตกรรมแห่งวงการฟุตบอล

เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเพิ่มมีแถลงข่าวเกี่ยวกับบริษัทในเรื่องการลงทุนกับธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดทางธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ในระดับนานาชาติที่น่าสนใจและมีโอกาสที่จะนำมาต่อยอดกับธุรกิจอสังหาฯ ที่บริษัททำอยู่ได้ ซึ่งก็ต้องยอมรับครับว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับตัวผมเองด้วยซ้ำ เพราะเมื่อ 3-4 ปีก่อน เรื่องพวกนี้ยังเป็นเรื่องที่ไกลตัวและยังนึกไม่ออกว่าธุรกิจอสังหาฯ ที่ผมทำอยู่จะเกี่ยวข้องได้ยังไง แต่ในที่สุดเราก็หนีกระแสโลกไม่พ้น ต้องคิดมองหาสิ่งใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับโลกดิจิตัลและการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคในโลกปัจจุบัน ต้องตามให้ทัน

 

ที่เกริ่มมาด้านต้นไม่ได้ตั้งใจจะโฆษณาประชาสัมพันธ์ตัวเองนะครับ แต่นึกๆ ไปก็เห็นว่าโลกธุรกิจและโลกของกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลก็ไม่ต่างกัน

ในเรื่องของแนวคิดหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ถูกนำมาใช้กับกีฬาฟุตบอล ผมเคยเขียนถึงไปหลายครั้งแล้ว ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อนผมก็เพิ่งเขียนถึงเรื่อง Venture Capital ที่สโมสรฟุตบอลอย่าง Arsenal และ Barcelona ก็เริ่มตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุน Startup รายใหม่ๆ ที่นวัตกรรมในด้านต่างๆ ที่เค้าคิดค้นอาจมีประโยชน์กับการบริหารสโมสรและอื่นๆ ได้

แต่อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับครั้งนี้ก็คือนอกจากนวัตกรรมใหม่ๆ แล้ว องค์กรธุรกิจเองก็ต้องแสวงหา บุคลากร รุ่นใหม่ๆ ด้วยเหมือนกันเพื่อเอาเข้ามาสร้างวัฒนธรรมในรูปแบบที่เข้ากับคนรุ่นใหม่มากขึ้น มีแนวคิดที่กว้างไกลกว่าคนที่ทำธุรกิจมานาน 20-30 ปี เอามาผสมผสานกันให้ดี และที่สำคัญต่อเนื่องมาก็คือเรื่องของการวางแผน Succession Plan ขององค์กรธุรกิจด้วยว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ถ้าผู้บริหารชุดเดิมถึงคราวต้องเกษียณแล้ว คนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่ต้องถูกวางตัวเอาไว้ให้พร้อม มีการ Grooming และปั้นให้มีศักยภาพดีพอที่จะนำพาองค์กรไปสู่อนาคตที่สดใสได้

พูดถึงเรื่องนี้ก็ทำให้นึกถึงสโมสรฟุตบอลระดับโลกสโมสรหนึ่งที่เคยเป็นเจ้าแห่งฟุตบอลยุโรปและลีกของตัวเอง เคยเป็นทีมที่คว้าแชมป์หลายรายการในช่วงพีคๆ ติดๆ กัน แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นตกต่ำและอยู่ในยุคที่เรียกว่าขาลงได้เลย นั่นก็คือทีม ปิศาจแดงดำ AC Milan นั่นเอง

Paolo Maldini Credit : www.15min.lt

ที่ผมนึกถึง AC Milan ก็เพราะว่าในช่วงหลายปีตอนปลายทศวรรษ 2000’s ต่อเนื่องมาต้นทศวรรษ 2010’s เราคงพอทราบกันดีว่า AC Milan กลายเป็นทีมที่มีอายุเฉลี่ยของผู้เล่นในทีมมากที่สุดทีมหนึ่งในยุโรป กว่าผู้เล่นอย่าง Maldini หรือ Paolo จะเปิดโอกาสให้รุ่นน้องๆ เข้ามาแทนที่ตัวเองก็ปาเข้าไปเกือบสี่สิบหรือสามสิบปลายๆ แล้ว ส่งผลให้ทีม AC Milan ในช่วงที่ผ่านมากลายเป็นทีมที่อุดมไปด้วยนักเตะสูงอายุและขาดการพัฒนานักเตะรุ่นใหม่ๆ เตรียมเอาไว้แทนที่คนเหล่านี้เมื่อถึงวัยอันควรหรือต่อสู้ในสนามกับทีมที่เด็กกว่าไม่ได้ในเชิงความเร็ว พละกำลังอีกต่อไป

ก็เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจนะครับ เพราะที่ AC Milan กลายเป็นเช่นนี้ก็มีต้นเหตุมาจากแนวคิดบางอย่างที่สโมสรได้เริ่มต้นดำเนินการในช่วงประมาณปี 2002 เป็นต้นมา นั่นก็คือการจัดตั้ง Milan Lab ที่เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ “ยืดอายุ” นักเตะและคงไว้ซึ่งศักยภาพสูงสุดให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ส่วนสาเหตุที่เค้าตั้ง Milan Lab ขึ้นมาก็เพราะนักเตะค่าตัวสูงมากๆ อย่าง Redondo ที่สโมสรทุ่มเงินกว่า 30 ล้านยูโรคว้ามาจาก Real Madrid กลับกลายเป็นนักเตะที่เสียเงินเปล่าเพราะมีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้นระหว่างซ้อมและไม่สามารถกลับมาเป็น Redondo คนเดิมได้อีกเลย

Credit : www.pkfoot.com

ทางสโมสรจึงตั้งใจว่าจะไม่มีทางที่จะให้เกิดกรณีนี้ขึ้นอีก จึงแต่งตั้งแพทย์ที่มีแนวคิดใหม่ๆ ในเรื่องการชะลอวัยและวิทยาศาสตร์การกีฬาแบบไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนชาวเบลเยียมที่ชื่อว่า Jean Pierre Meersseman ให้เป็นหัวหน้า Milan Lab และทำหน้าที่ในการศึกษาและเก็บข้อมูลในด้านต่างๆ เพื่อนำมาประมวลว่านักเตะคนใดมีความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บในด้านไหน และองค์ประกอบใดที่จะส่อให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ในอนาคต

เรียกได้ว่าเป็นองค์กรที่ไม่เคยมีสโมสรใดเคยทำมาก่อน และก็ไม่น่าเชื่อครับว่า Milan Lab ภายใต้การนำของ Meersseman นั้นจะสามารถทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้อย่างน่าทึ่ง Meersseman เคยกล่าวไว้ว่าแม้ประธานสโมสรจะตกลงเซ็นสัญญากับนักเตะคนไหนไปแล้วแต่ถ้าเค้ายังไม่ได้ทำการทดสอบและวิเคราะห์สรีระหรือเช็คข้อมูลทางด้านกายภาพของนักเตะอย่างละเอียดและลงชื่อรับรองแล้วล่ะก็ ไม่มีทางที่นักเตะคนนั้นจะได้มาอยู่กับสโมสรโดยเด็ดขาด

เคยมีกรณีอันหนึ่งที่เป็นเรื่องกล่าวขานกันถึงความ Unconventional ของแนวคิดของคุณหมอ Meeressman ในการวิเคราะห์และรักษานักเตะ นั่นก็คือกรณีของ Clarence Seedorf ที่สโมสรซื้อตัวเข้ามาก่อนหน้า Milan Lab ก่อตั้งขึ้นมาไม่นาน เค้าบอกว่ามีปัญหาเรื้อรังเกี่ยวกับกล้ามเนื้อขาหนีบมานาน เมื่อแวะไปหาคุณหมอ Meeressman สิ่งที่เค้าทำก็คือถอนฟันกรามซี่ในสุดของ Seedorf ออก โดยบอกว่านี่คือต้นเหตุที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลย์ของกล้ามเนื้อที่ลามไปถึงขาหนีบ ซึ่งความมหัศจรรย์ที่ Seedorf บอกก็คืออาการดังกล่าวหายเป็นปลิดทิ้งจริงๆ ไม่ต้องทำอะไรอีกเลย

Clarence Seedorf

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ Meeressman อยู่กับ Milan Lab ก็คือระยะเวลาพักฟื้นของนักเตะหลังอาการบาดเจ็บลดลงอย่างชัดเจน สามารถลงฝึกซ้อมได้เร็วขึ้น ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้ทีม AC Milan ในยุคนั้นเฟื่องฟูมาก

แต่ผลร้ายที่คาดไม่ถึงในระยะยาวกลับกลายเป็นเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้กับสโมสรครับ นั่นคือความสำเร็จมากมายที่มากับนักเตะรุ่นเก่าๆ ที่สามารถยืนสนามได้นาน ส่งผลให้การสร้างแผน Succession ของนักเตะไม่มีความสำคัญสำหรับสโมสร ในเมื่อนักเตะรุ่นเก๋าๆ ยังเล่นได้ดี เข้าขากันมาหลายปี ทำไมจะต้องไปขัดจังหวะให้สะดุด แล้วเป็นยังไงครับ พอยกรุ่นกันรีไทร์ สุดท้ายก็ไม่มีตัวตายตัวแทนที่ได้ปั้นกันเอาไว้มาก่อน เรียกได้ว่าแนวคิดใหม่ๆ อย่าง Milan Lab ที่สโมสรนำมาใช้กลับกลายเป็นดาบกลับมาทิ่มแทงความรุ่งเรืองระยะยาวของสโมสรเสียอย่างนั้นไป

เป็นยังไงครับ เห็นไหมครับว่าไม่ต่างจากโลกธุรกิจอย่างที่ผมพูดไว้ข้างต้น หลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ คนรุ่นใหม่ คือกำลังสำคัญที่จะผลักดันองค์กรหรือทีมให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงในระยะยาว ดังนั้นองค์กรไหนหรือทีมสโมสรไหนยังไม่คิดเริ่ม ทำเลยครับ อย่างช้า

 

บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามกีฬา ฉบับวันที่  10 พฤศจิกายน 2560

ติดตามมุมมองสบายๆ ของเศรษฐา ทวีสิน เกี่ยวกับกีฬาและสังคมได้ที่ คลิก