ถ้าท่านผู้อ่านติดตามการแข่งขันประเภทความเร็วทางเรียบ เรามักจะคุ้นตากันกับสุภาพสตรีที่เค้าเรียกกันว่า Grid Girl ยืนแต่งตัวเซ็กซี่นิดๆ วับๆ แวมๆ ถือป้ายหมายเลขของนักแข่งประจำแต่ละจุดสตาร์ท โดย Grid Girl นี้เป็นเสมือนส่วนหนึ่งของกีฬาความเร็วทางเรียบเกือบทุกประเภทโดยเฉพาะ รถสูตร 1 (Formula 1 หรือ F1) มานานแล้ว แต่ในปีหน้า เราอาจจะไม่ได้เห็นการปรากฏกายของ Grid Girl ในการแข่งขัน F1 อีกต่อไปอันเนื่องด้วยสาเหตุที่ Liberty Media เจ้าของสิทธิ์จัดการแข่งขัน F1 คิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรและค่อนข้างหัวโบราณ ซึ่งเป็นแนวคิดหัวโบราณของกีฬาความเร็วต่างจากแนวคิดสังคมปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันทางเพศและการมองสุภาพสตรีให้มากกว่าความสวยงาม
นี่เป็นแค่หนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะค่อยๆ เกิดขึ้นกับการแข่งขัน F1 นับแต่นี้ไป โดยปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกของการแข่งขันรถ F1 ภายใต้การบริหารสิทธิ์การจัดการแข่งขันโดยกลุ่ม Liberty Media เจ้าของใหม่ที่ทุ่มเงินกว่า 8 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปี 2016 เพื่อดึงการจัดการแข่งขันกีฬาความเร็วที่มีคนติดตามมากที่สุดในโลกและมีเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาลออกจากมือกลุ่มเจ้าของเก่าอย่าง CVC Capital ที่มีนาย Bernie Ecclestone ดำรงตำแหน่งบริหารสูงสุดกุมอำนาจการจัดการแข่งขัน F1 มานานกว่า 40 ปี
ต้องบอกว่า F1 ภายใต้การบริหารของนาย Ecclestone และเม็ดเงิน CVC Capital ในช่วงที่ผ่านมาทำให้ F1 ที่มีจุดเริ่มต้นและได้รับความนิยมค่อนข้างจำกัดในทวีปยุโรปสามารถขยายความนิยมไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว มีการจัดการแข่งขันในประเทศหลากหลายทั้งในเอเชีย อาฟริกา อเมริกาใต้ และยูโรเชีย มีค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดที่แพงหูฉี่ มีการเรียกเก็บเงินจากประเทศที่ขอเสนอตัวจัดการแข่งขันมหาศาล มีเม็ดเงินที่เกิดจากการลงทุนสร้างสนามใหม่ๆ ในประเทศนั้นๆ อีกมากมาย
อย่างไรก็ตามถ้าท่านเป็นแฟนกีฬาประเภทนี้จะพอทราบดีว่าระยะหลังๆ นี้ความนิยมของ F1 เริ่มถดถอยลง อัฒจรรย์คนดูในสนามหลายสนามว่างเปล่า บางประเทศขอถอนตัวจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเนื่องจากไม่คิดว่าได้ประโยชน์จากการจัดเท่าที่ควร ล่าสุดมาเลเซียก็ถอนตัวสำหรับปีหน้าเป็นต้นไปแล้ว เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาสิทธิ์จัดการแข่งขันไม่คุ้มทุนกับรายได้ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้แล้วเรายังเห็นทีมบางทีมล้มละลายและมีการเปลี่ยนมือเจ้าของอยู่เป็นระยะๆ ในช่วงหลังๆ ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนมองว่าการเข้ามาของ Liberty Media จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่นำมาสู่การพา F1 กลับมาได้รับความนิยมและทำเงินรายได้ให้กับทุกฝ่ายอีกครั้ง
สิ่งหนึ่งที่แฟนๆ ความเร็วได้เห็นในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาของการแข่ง F1 ก็คือความตื่นเต้นที่ลดลงไปกว่าเดิมเยอะมาก หลายสนามแทบไม่มีการแซงระหว่างการแข่งขันและการผลมักจะออกมาเสมอๆ ว่าคนที่สตาร์ทเป็นที่ 1 มีโอกาสได้แชมป์สนามนั้นๆ มากกว่าคนอื่นเพราะด้วยดีไซน์ในเชิงอากาศพลศาสตร์ (Aerodynamics) ของรถแข่งรุ่นใหม่ๆ ทำให้เกิดกระแสหมุนวนของอากาศท้ายรถส่งผลให้รถคันที่ตามหลังเสียสมรรถนะในการเกาะถนนลงไป ดังนั้นการจ่อก้นเพื่อรอแซงทางโค้งแทบเป็นไปไม่ได้เพราะรถที่ตามหลังจะเสียการทรงตัวก่อนที่จะสามารถเร่งเครื่องแซงได้ ถ้าสตาร์ทดีก็นำโด่งรวดเดียวจบ
นอกจากนี้สาเหตุของความน่าเบื่ออีกประการหนึ่งก็คือการที่ทีมหลักๆ แค่ 2-3 ทีมที่ผลัดกันเข้าที่ 1 ในแต่ละสนาม โดยในระยะหลังๆ จะเป็นแค่ Ferrari, Mercedes และ Red Bull Racing เท่านั้น ส่วนทีมอันดับพระรองนั้นก็แทบจะหมดโอกาสได้แชมป์สนามยกเว้นแต่มีการพลิกล็อคเกิดขึ้นเช่นรถเสีย สนามเปียก รถชนกัน ฯลฯ จนเรามักจะเห็นแค่ทีมใหญ่ๆ เหล่านี้นำขบวนรถที่วิ่งวนรอบตามก้นกันไปเรื่อยๆ 40-50 รอบสนามจนจบ ต่างกับเวลาเราดูฟุตบอลในแต่ละฤดูกาล แน่นอนที่ทีมระดับรองๆ คงเริ่มต้นฤดูกาลไม่ได้หวังจะชิงแชมป์แต่สเน่ห์อยู่ตรงที่ในแต่ละเกมจะมีโอกาสพลิกขึ้นชนะทีมระดับหัวแถวได้อยู่เสมอๆ นั่นคือสิ่งที่สร้างสเน่ห์ให้กับฟุตบอล
จะว่าไปเหตุผลหลักเลยที่มีอยู่ไม่กี่ทีมที่แย่งตำแหน่งแชมป์กันก็เพราะเรื่องของเงินๆ ทองๆ ที่ทีมระดับต้นๆ จะมีเงินหนุนหลังมากกว่าทีมระดับรองๆ มันก็เป็นเรื่องยากที่จะยุติวงจรอุบาทว์นี้นะครับเพราะเป็นเหมือนไก่กับไข่ ทีมใหญ่อย่าง Ferrari ที่ติดลมบนแล้วในเชิงพาณิชย์ แน่นอนย่อมมีแต่คนอยากมาเป็นสปอนเซอร์ให้ ต่างกับทีมรุ่นใหม่ๆ โนเนมที่ไม่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน แบรนด์ไหนจะอยากทุ่มเงินให้ เช่นเดียวกันเมื่อเป็นทีมใหญ่ย่อมได้รับการจับภาพถ่ายทอดออกทีวีเยอะกว่าทีมเล็กๆ ยิ่งทำให้มูลค่าทางพาณิชย์ถีบตัวหนีห่างขึ้นไปอีก
และยิ่งกว่านั้นแล้ว ภายใต้การบริหารของยุคนาย Ecclestone ทีมใหญ่ๆ ที่มีแฟนๆ ติดตามอย่าง Ferrari ก็มักจะได้ Premium ในส่วนค่าตอบแทนในการแข่งขันสูงกว่าทีมอื่นๆ เสมอๆ เพราะการที่มีทีมใหญ่ๆ อยู่ในวงการ F1 ส่งผลให้นาย Ecclestone สามารถเรียกเก็บเงินค่าสิทธิ์ในการให้แต่ละประเทศจัดการแข่งขัน F1 ได้สูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่มีประเทศใหม่ๆ อย่างรัสเซีย คาซัคสถาน หรือ บาห์เรน ที่พร้อมจะทุ่มเงินเพื่อดึงเอา F1 มาแข่งในประเทศตนเพื่อเสริมบารมีและหวังลมๆ แล้งๆ ว่าจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศตนเอง
การเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ที่กลุ่ม Liberty Media แสดงเจตนาจะเข้ามาสร้างรากฐานใหม่ให้กับการแข่ง F1 ที่ตนเข้ามาถือสิทธิ์ก็คือพยายามสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างทีมต่างๆ ด้วยการออกกฏจำกัดงบประมาณที่แต่ละทีมจะสามารถใช้ได้ในการพัฒนารถและเข้าร่วมแข่งขันในแต่ละปี ผมว่าอันนี้จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ทีมระดับกลางๆ หรือล่างสามารถลืมตาอ้าปากได้ไม่มากก็น้อย เมื่อมีความเท่าเทียมกันด้านเม็ดเงินสิ่งที่จะตามมาก็คือสมรรถนะของรถที่เท่าเทียมกันมากขึ้น บุคลากรที่น่าจะถูกกระจายไปยังทีมต่างๆ มากขึ้น ส่งผลให้ผลการแข่งขันมีความผันแปรได้มากขึ้นสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ชมได้ดีกว่าเดิม
ที่กล่าวมาเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวน้อยนิดที่ทาง Liberty Media จะต้องลองเริ่มทำดู ยังมีอีกหลายๆ อย่างที่ทีมผู้บริหารต้องเข้ามาแก้ไขสิ่งที่นาย Acclestone เคยวางรากฐานเอาไว้จนทำให้เกิดการผูกขาดในหลายๆ ด้านจนทำให้ F1 กลายเป็นสนามเด็กเล่นของคนมีตังค์ ไม่มีเสน่ห์ทั้งในเชิงพาณิชย์และกับแฟนๆ เลย ก็ต้องลองดูครับว่ากลยุทธ์แก้เกมของเจ้าของใหม่จะทำยังไง ไว้กลางปีหน้าผมอาจจะมาเล่าให้ฟังกันอีกทีว่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้างครับ
บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามกีฬา ฉบับวันที่ 22 ธันวาคม 2560
ติดตามมุมมองสบายๆ ของเศรษฐา ทวีสิน เกี่ยวกับกีฬาและสังคมได้ที่ คลิก