Pancaking ทางวัฒนธรรมป๊อป

หนังสือราย “พรรษา” ในการวางแผง ที่ชื่อ The Escapist (ของ Monocle) เล่มใหม่ปกสีเหลือง มีบทความเกี่ยวกับผับแห่งหนึ่งในปานามา ซิตี้ ผับแห่งนี้เกิดจากคน 6 คนที่เป็นชาวต่างชาติ ที่มาช่วยกันทำจนเป็นที่รู้จักในชื่อ The Strangers Club คนที่ชอบผับนี้บอกว่ามันออกแบบอาหาร เครื่องดื่ม ดีไซน์ จนไม่ดูเป็น “ชาติใดชาติหนึ่ง” เป็นส่วนผสมของเอเชีย ยุโรป ลาติน แต่มีความเป็น “ท้องถิ่น” และเอกลักษณ์ของตัวเอง

The Escapist Monocle Sansiri
The Escapist นิตยสารไลฟ์สไตล์ในเครือ Monocle
The Strangers Club
บรรยากาศหน้าร้าน The Strangers Club ในกรุงปานามา ซิตี้ ประเทศปานามา
The Strangers Club
ส่วนหนึ่งของหน้าตาอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของ The Strangers Club

ผมเห็นข่าวผับนี้ ไล่ๆกับที่ทวิตเตอร์ของ The Independent ของอังกฤษลงข่าวว่า Freed of London ประกาศผลิตรองเท้าเต้นบัลเล่ต์อีก 3 สีใหม่ คือ black, nude และ cream ซึ่งจะว่าไป การที่บริษัททำรองเท้าบัลเล่ต์ ทำแบบนี้ ถือว่า “เปลี่ยนขนบ” ที่ก่อนหน้านั้นยาวนาน รองเท้าจะเป็นสีชมพูอ่อน และนักเต้นต้องเอารองเท้ามาทาแป้งทาครีม หรือทาอะไรให้มัน “เข้ากับ” ผิวตัวเอง
ไม่ใช่ตัวดำเมี่ยม แล้วใส่รองเท้าชมพูหวาน…

Freed of London
คอลเล็กชันรองเท้าบัลเลต์หรือ Pointe Shoes ของ Freed of London

เมื่อประกาศเป็นข่าวว่า Freed of London ต้องการพัฒนาศิลปะนี้เพื่อ black brown & nude เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่อง “ฟังแล้วผ่าน” เหมือนวงการ F1 ยกเลิกการใช้ grid girl หรือเทนนิสเก่าแก่อย่างวิมเบิลดัน ยกเลิกการใช้เกมตัดสินในเซ็ทสุดท้าย แต่เปลี่ยนมาใช้ไทเบรคตัดสินหลังเสมอ 12-12 (ซึ่งมีที่มาจากการที่ จอห์น อีสเนอร์ เคยเล่น 3 วัน ในอดีต) ในอดีต เวลานักบัลเล่ต์ต้องเอารองเท้าเต้น มา “ทา แต่ง เคลือบ” ให้กลืนกับสีผิวตัวเองนั้น มันมีคำเรียกกันว่าเป็นการ pancaking ทว่า ตอนนี้ กลายเป็นว่า ศิลปะบัลเล่ต์หรือบริษัทที่ผลิตรองเท้า ต้องเป็นฝ่าย pancaking ทางวัฒนธรรมนี้เสียเอง ด้วยการออกแบบสีรองเท้าใหม่

เรื่องนี้มีมุมที่น่าคิดเหมือนกัน ถ้าตามข่าวมาช่วงหลังๆจะพบว่า คนที่เรียนการเต้นบัลเล่ต์มากขึ้นกลับมาจากแถวเอเชียและมีจีน เกาหลี เด็กรุ่นใหม่ๆ เป็น “ตลาดใหม่” ขณะที่ตลาดเดิมคือคนขาว พวกเขามีทางเลือกไปสนใจศิลปะแนว Modern Dance ที่สนุกกว่า ง่ายกว่า ไม่ยากเท่า กับบัลเล่ต์ที่ต้องฝึกฝนมาก

สมมติว่า ตลาดคนขาวเต็มหรือเริ่มตัน… เอเชีย คนจีน เกาหลี หรือคนผิวสีที่มีอยู่ทั่วโลก กลายเป็นตลาดใหม่ ที่มีกำลังซื้อมหาศาล รองเท้าบัลเล่ต์แม้อยู่ในเท้า แต่ก็ไม่จำเป็นต้องร่ายรำแสดงท่วงท่า อยู่ใน “พื้นที่คนขาว”
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมหลายปีมานี้ บัลเล่ต์ไชคอฟสกี หรือสารพัดคณะ จะกลายเป็นแฟรนไชส์ มาเปิดการแสดงในเอเชียอย่างต่อเนื่อง (บางกระแสถึงขนาดพีอาร์ว่า มีการ “ปรับพล็อต” ให้เหมาะกับคนดูเอเชียด้วยซ้ำ) ถ้าเป็นแบบนั้นจริง… ยุโรปก็กำลัง Pancaking วัฒนธรรมตัวเอง เพื่อมาขายเอเชียและตลาดคนดำ ซึ่งเป็นตลาดใหม่ – ใช่หรือไม่

ลองพักเรื่องบัลเล่ต์ไว้ก่อน
การตกแต่ง เคลือบทา ป้ายสี ทางวัฒนธรรมป๊อป ไม่ได้เกิดแค่ศิลปะแดนซ์เท่านั้น ผู้ผลิตกระเป๋าแบรนด์เนมชื่อดังหลายรายของยุโรป ก็กำลัง pancaking ตัวเอง ด้วยการดีไซน์ รูปลักษณ์เป็นลายจีน ญี่ปุ่น หรืออะไรที่เป็นเอเชีย เพราะจีนผงาดขึ้นมา ส่วนยุโรปกำลังซื้อถดถอย…

พูดง่ายๆ คือ “รูปลักษณ์” ชนะ “เอกลักษณ์” ส่วนแบรนด์เนมจะ pancaking ทางวัฒนธรรมอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าครีเอทีฟนั้นๆ จะจับ “อารมณ์-ความรู้สึก” ของตลาด ได้แม่นยำแค่ไหน เรื่องนี้ทำให้แฟนๆ แบรนด์เนมบางคนเกิดอาการ “เซ็งเป็ด” ที่แบรนด์หันหัว โน้มตัว ยอมไปทำการตลาดแบบเสียเอกลักษณ์
ซึ่งจะว่าไป นี่ไม่ใช่ครั้งแรก…

ในช่วงระยะ 5 ปีเป็นอย่างน้อย แลนด์มาร์คหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของตะวันตกคือ โรงงานฮอลลีวู้ดก็ได้ทำการ pancaking ทางรากเหง้าตัวเองอยู่หลายครั้ง อาทิ ทำหนังเอาใจทุนนิยมจีนและเอเชีย ด้วยการยอมปรับพล็อต ตกแต่ง แทรกเสริม เรื่องราวเนื้อหา เพื่อให้เป็น “ฮอลลีวู้ดรสชาติจีน” เปลี่ยนอาหารในหนังจากฟาส์ตฟู้ดเป็น “ซาลาเปา ขนมจีบ” บางเรื่องไปไกลขนาด สร้างโครงเรื่องเข้าหาขนบของจีน ด้วยพล็อต อาจารย์-ลูกศิษย์ หรือแตะเรื่อง คุณธรรม อันเป็นจุดขายในนิยายจีนมานาน (ต่างกันกับครั้งที่หนังคาวบอยอย่าง Shane ทำมาจาก Yojimbo ของญี่ปุ่น)

Lana Condor และ Jenny Han นักแสดงและผู้เขียนเรื่อง To All the Boys I’ve Loved Before ซึ่งโด่งดังทาง Netflix. Photo Credit: Monica Schipper/Getty Images

Crazy Rich Asians ภาพยนตร์จากค่ายหนังใหญ่ใน Hollywood ที่ใช้นักแสดงเกือบทั้งหมดเป็นชาวเอเชียในรอบกว่ายี่สิบปี

แม้แต่ เดวิด เบ็คแฮมเอย โรนัลโด้ของบราซิลเอย ตอนไปแข่งบอลโลก 2002 ที่ญี่ปุ่น ก็เคยตกแต่งวัฒนธรรม ด้วยการสัก เซ็ท รอยแขน ทรงผม ให้เข้ากับเจแปนมาแล้ว

คำถามที่น่าจะดึงมาคุยกันแบบจับเข่าสนทนากันมากกว่าก็คือ การ pancaking ทางศิลปะวัฒนธรรมป๊อป ตั้งแต่รองเท้าบัลเล่ต์ กระเป๋าแบรนด์เนม ไล่มาถึงโรงงานฮอลลีวู้ด นั้น ถือเป็นเรื่องที่ควรตำหนิรุนแรง หรือยกย่องสรรเสริญ
ซึ่งผมขอเลือกอย่างหลัง นั่นคือ ยกมือสนับสนุน !

ผมคิดว่า arts หรือศิลปะทั่วโลกนั้น แม้ถูก “ปักป้าย” ว่าเป็นของชนชาติใด ประเทศไหน แต่มันไม่ควรถูก “จองจำ” ไว้ในขนบเดิม จนอึดอัดและไม่เคลื่อนย้าย …เจมส์ บอนด์ 007 เป็นผิวสีได้ ถ้ามันทำหน้าที่สานต่อ message ไปสู่คนดำ หรือ การแต่งหน้าในละครคาบูกิของญี่ปุ่น ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 17 นั้น ถ้าสี ลวดลาย มันจะกระเดียดไปทางยุโรปบ้าง เพื่อให้เกิดการผ่องถ่าย ขยับขยาย มันก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายทางวัฒนธรรม
แน่นอน แม้แต่ “งิ้ว” และ “ลิเก”

เช่นนี้เอง อาการ pancaking ในหลายแวดวง จึงเป็นเทรนด์ใหม่ ที่กำลัง “ควงแขน” กับ Craft เดินทางไกลในหลายพื้นที่ โดยมีนัยยะ ทางการตลาดเป็นสำคัญ
และถ้าการตลาดมีเสียงเป็นสำคัญ

ลูกๆ ของ Harry Potter อาจรำไท้เก๊ก แทนเล่นกีฬาฮอกวอตส์
หรือสองศรีพี่น้องใน Frozen อาจร้องเพลง “เถียนมิมี่” แทน Let it go