Pink สีเริงเมือง !

ถ้าพวกเราเป็น “ใครสักคน” ที่ต้องลุกขึ้นมานิยาม “ความหมายของสี” แบบตามใจตัวเอง เราจะให้สีอะไร เป็นตัวแทนของความรู้สึกไหนดี…

ความรู้สึกมีอำนาจของ “สีแดง” หรือความเงียบขรึมของ “น้ำเงิน”, ความสะอาดมีคุณธรรมของ “สีขาว” หรือ ความริษยาของ “สีเขียว” นี่ยังไม่ได้นับสีที่เซ็กซี่ น่าค้นหาของ “สีดำ” รวมไปถึงความไม่น่าไว้วางใจของ “สีม่วง”

ทวิตเตอร์ของ CNN ในหมวด Healthy เพิ่งมีสกู๊ปเบาๆ รายงานว่า สีในยุคสมัยนี้ ได้ลอกคราบและผลัดใบ ผ่องถ่ายความหมายไปหมดแล้ว ด้วยการมาถึงของ Social Media โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ Instagram เพื่อแข่งกันขายของ

เมื่อโลกหมุนกลิ้งไปข้างหน้า ความหมายของหลายวัฒนธรรมป๊อปถูก “เสนอใหม่” สีจึงถูกตั้งคำถามใหม่ไปด้วยในเวลานี้ แม้ว่ามันจะไม่ได้ “กระโดดไปไกล” จากความหมายเดิมๆก็ตาม เช่น ผมว่าสีขาวก็ยังเกี่ยวข้องกับคุณธรรมอยู่ดี แต่ก็สามารถถูกใช้เป็นบวกและลบได้

ยกตัวอย่างว่า เคยสังเกตมั้ยว่าในบ้านเรา เวลามีดารา คนดัง มีข่าวไม่ดี ในงานแถลงข่าว จำเลยมักใส่เสื้อสีขาวมานั่งตอบคำถาม ต่อหน้าสื่อมวลชน, หรือในวรรณกรรมของ เจน ออสติน ที่มีการอ่านมากที่สุดคนหนึ่งของโลก ทำไมพระเอกของเธอ มักใส่เสื้อสีขาว (แน่นอนว่า สีขาว อาจบอกถึงสถานภาพทางสังคม มากกว่าชนิดของงานที่ทำ) …แต่ขาวก็ไม่ใช่จะขาวสะอาดเสมอไป เมื่อเกือบๆ 20 ปีก่อน มีหนังชื่อ La Belle ของเกาหลี ที่ขี่คลื่นมากับ k-pop เสนอว่า พระเอกกับนางเอกที่เวลาเมคเลิฟเมื่อใด ห้องนอนนั้นมีมีแต่สีขาวฉาบไปทั่ว และห้องว่างเปล่า ไม่มีสิ่งของอะไรมาก สีขาวจึงสะท้อนว่า มันคือ relationship ที่ “กลวง” และร้างไร้… ไม่มีอะไรให้ยึดไว้ แม้นิดน้อย

Source: www.digg.com
ทุกถ้อยคำและบรรทัด ที่ผมเขียนมานี้ มีอยู่สีหนึ่ง ที่ยังไม่ได้เอ่ยถึง ทั้งๆที่มันก็อยู่ในชื่อเรื่อง นั่นคือสีชมพู …และเมื่อเป็นชมพู ยุคนี้สมัยนี้ก็ไม่มีชมพูเฉดไหนที่ป๊อปมาพักใหญ่ ซึ่งเรารู้จักกันดีในชื่อร่วมสมัยว่า Millennial Pink !
Source: www.eater.com

ชื่อที่ว่านี้ มีอีกหลายคำที่เรียกได้ ไม่ว่าจะเป็น Drunk Tank Pink, Baker-Miller Pink (คำว่า Baker-Miller คือนามสกุลของสองไดเรคเตอร์สถาบันเกี่ยวกับสี) แต่ยุคนี้ เราควรเรียกว่า Millennial Pink เพื่อล้อไปกับยุคสมัย เมื่อทำการค้นหาข้อมูลย้อนหลัง ไม่น่าเชื่อว่า ชมพู คือสีที่มีอายุไม่มาก เป็นสีที่ถูกรังสรรค์ ผสม และออกแบบ และเพิ่งมาฮิตในทศวรรษที่ 50s นี่เอง (หนังที่ Audrey Hepburn แสดง คือตัวกระตุ้นและก่อการฝ่ายชมพู)

สีชมพูพาสเทลเบาๆ หวานๆ ที่เราพูดถึงนี้ เคยอยู่ในการพูดถึงเมื่อปี 2014 เมื่อหนังอาร์ตที่เข้าชิงออสการ์อย่าง The Grand Budapest Hotel ใช้สีนี้ในโปสเตอร์หลัก ยิ่งไปกว่านั้น ผู้กำกับ เวส แอนเดอร์สัน ยังใช้สีนี้ “หลอกด่าสังคม” ถึงความกลวงเปล่า บางเบา… นั่นคือคนในสังคมยุคใหม่ มักสนใจ ให้ค่าอะไรที่ฉาบฉวย ไม่ได้ลงลึกจริงจัง ขอเพียงมันป๊อปๆ สะดุดตา ก็จะสั่งซื้อผ่านออนไลน์ (นิตยสาร Time เล่มขึ้นสหัสวรรษ Millennial เคยแดกดันว่า อเมริกันชนชอบเมนูอาหารใหม่ๆตลอดเวลา เคยมีภัตตาคารบอกว่าวันนี้เรามีอาหารชื่อ  “มาฮิ มาฮิ” ก็มีคนแห่สั่ง โดยไม่ถามว่ามันคืออะไร)

ขณะที่วงการหนังใช้ Millennial Pink ชมพูพาสเทล เพื่อวิพากษ์ถึง “ความเบาหวิว” ของคนยุคนี้ เมื่อข้ามไปในวงการฟุตบอล ความหมายมันกลับถูกใช้ ไปอีกอย่างหนึ่ง

Source : www.goal.com

ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย แมนยูเจตนาเปิดตัวเสื้อแข่งชุดเยือนสีชมพูหวานเบา โดยมีนัยยะชัดเจน ประการแรก แมนยูไม่เคยมีเสื้อสีแบบนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์ ทีมอะไรก็ตามเมื่อลองใช้สีใหม่ถอดด้าม มักจะขายเสื้อได้ แต่แมนยูไม่ได้สนใจเรื่องนี้เท่ากับการวาง timing ในการเปิดตัวทีมฟุตบอลหญิงที่ลงแข่งขันชนะท่วมท้น พวกเขาใช้คลิปทีมหญิงแพร่ในออนไลน์ ให้พอดีกับแมนยูเพศชายใส่ชนะสองนัดรวดเข้าไปอีก(ในตอนนั้น) ผีแดงแห่งแมนเชสเตอร์ ใช้ Millennial Pink กับเรื่องของ gender

ไม่เหมือนกับสโมสรนอริช ซิตี้ ที่ใช้สีเดียวกับนี้ ในอีกผลพลอยได้หนึ่ง นั่นคือ “จิตวิทยา”

The Guardian เคยรายงานว่า ในปลายทศวรรษที่ 70 นั้น คุกหรือเรือนจำที่ซีแอตเทิล วอชิงตัน เคยมีการใช้สีชมพูพาสเทล ฉาบทาทั้งหมด (แม้แต่กุญแจยังเป็นสีชมพู) นักวิทยาศาสตร์ นักชีวสังคมอย่าง ดร.อเล็กซานเดอร์ สครอซซ บอกว่า มันสามารถช่วยลดความก้าวร้าวของนักโทษ ลดความตึงเครียดของสถานที่ และลดความกดดัน เพิ่มความผ่อนคลายให้กับคนที่ติดคุกได้

แต่ นอริช ซิตี้ ไม่ได้คิดแค่นั้น…

ทีมนกขมิ้นเขียวเหลือง เชื่อว่านอกจากลดความก้าวร้าวแล้ว มันยังลดความรู้สึกกระตือรือร้น มุ่งมั่นของคนที่ถูกห้อมล้อมในสีนี้ด้วย… จริงไม่จริงไม่รู้แหละ สโมสรเลยสั่งทา ฉาบ สีชมพู Millennial Pink ในห้องประชุมทีม dressing room ของทีมเยือนเสียเลย พูดง่ายๆคือพอเข้าไปนั่งเตรียมตัวแข่ง ประชุมแทคติก เปลี้ยนเสื้อ พลังมุ่งมั่นจะอ่อนแรงลงไป ก่อนลงสนาม…

จากชมพูในหนัง, ชมพูในคุก, ชมพูในฟุตบอล มาถึงชมพูในนางแบบและแฟชั่น

Source: www.hypebae.com

ไม่นานมานี้ ไคลีย์ เจนเนอร์ เคยให้สัมภาษณ์กับ Vogue และ US weekly ว่า สีชมพู Millenial Pink อาจจะเป็นสีที่ “อยู่ในความทรงจำ” หรืออยู่ในจิตใจ อยู่ในความรู้สึกของเธอ รวมทั้งเด็กยุคใหม่ ยาวนานสุด มีการพยายามจะวิเคราะห์ว่า เพราะเมื่อคนเราเห็นหรือมอง ชมพูพาสเทลเฉด baker-miller pink สิ่งที่รู้สึกผุดพรายในใจคือ “อิสรภาพ” และการหลุดจากความจำเจ… น่าเบื่อ

จริงไม่จริงไม่รู้อีกนั่นแหละ แต่ไม่นานมานี้ แบรนด์ Starbucks ที่เก่งในการใช้สี บอกอะไรกับสังคมเป็นระยะๆ ก็เคยออกเครื่องดื่ม ชุดถ้วยกาแฟ กระติกน้ำร้อน เป็น Millennial Pink อยู่พักหนึ่ง (ขนาดไม่ใช่แฟน ผมยังตามเก็บจนครบ แม้จะราคาไม่เบาเลย)

การปรากฏตัวในหลาย “พื้นที่” ของชมพูพาสเทล เพิ่งเกิดขึ้นที่สยามสแควร์ก่อนเขียนบทความนี้ 2 ชั่วโมง เมื่อมีกิจกรรมของแบรนด์สินค้าเจ้าหนึ่ง นัดแฟนๆ ให้ใส่ชุด Baker-Miller Pink ออกมาทำกิจกรรมกัน

น่าสนใจตามต่อนะครับ …เมื่อ sport ไป “ยืนพิงไหล่” วงการ streetwear

เมื่อบ้าน คอนโด เป็นความรู้สึกร่วมกันของอนาคต

และเมื่อ “อีพิงค์” เป็นสีเริงเมือง ไปทุกแวดวงนี้ ใครจะใช้เธอ บอก message อะไรอีก

แม้ล่าสุด สถาบันสีอย่าง Pantone และหลายสำนักแฟชั่น จะประกาศว่า “ม่วงเข้ม” คือ New Millennial Pink ก็ตาม…