La Liga บุกกลุ่มแฟนบอลเอเซีย ท้าชน EPL ขึ้นอันดับ 1 วงการลูกหนัง

ในคอลัมน์นี้ต้องยอมรับว่าผมมักจะมีเรื่องของสโมสรฟุตบอลระดับโลกกับนัยยะทางด้านการพาณิชย์มาเล่าสู่กันฟังเสมอๆ ช่วยไม่ได้ครับเพราะชีวิตผมวนเวียนอยู่กับสองอย่างนี้ตลอดเวลา หวังว่าคงไม่เบื่อกันไปก่อนนะครับ

ครั้งนี้อีกก็เช่นกันเสาร์นี้จะมีแม็ทช์ El Clasico ของ 2 ทีมยักษ์ใหญ่ของ La Liga สเปนเกิดขึ้นและมีประเด็นที่ผมอยากหยิบยกมาเขียนถึง นั่นก็คือเรื่องของการปรับเปลี่ยนเวลาคิกอ็อฟสำหรับแม็ทช์นี้ ซึ่งปกติถ้าย้อนหลังไปดูตารางการแข่งขัน El Clasico นี้จะเห็นว่าคิกอ็อฟกันช่วงเย็นๆ หรือหัวค่ำของทางสเปนมาโดยตลอด ถ้าจำไม่ผิดครั้งที่แล้วเตะกันตอน 6 โมงเย็นของสเปน ซึ่งเท่ากันเที่ยงคืนเมืองไทย และข้ามไปเช้าวันใหม่ของจีนแล้ว แต่ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ Ronaldo และ Messi จะต้องออกมาตากแดดเล่นกันตั้งแต่บ่ายโมง ณ เวลาที่สเปน

 

Credit : www.goal.com

ถ้าเป็นแฟนประจำของผมคงอาจพอจำกันได้ว่าผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ไว้แล้ว 3-4 ปีก่อนว่าหนึ่งในสาเหตุที่ฟุตบอลสเปนยังไม่สามารถสร้างความนิยมขึ้นมาเทียบเท่า EPL ได้ทั้งในด้านมูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดหรือมูลค่าของสโมสรก็เพราะเรื่องของตารางการเตะนี่แหละครับที่มักจะเตะกันตอนเย็นหรือหัวค่ำของประเทศตัวเองกันมาตลอดโดยไม่ลืมหูลืมตาเลยว่าบรรดาแฟนบอลในทวีปเอเชียตลาดใหญ่ของฟุตบอลยุโรปนั้นต้องถ่างตารอดูกันจนดึกดื่นเสียงานเสียการเสียสุขภาพกันไปเท่าไหร่

ในที่สุดก็เป็นโชคของแฟนบอลอย่างเราๆ ที่ท้ายสุด La Liga ก็ระลึกได้ถึงความเพิกเฉยของตัวเองอันส่งผลต่อความนิยมในระดับโลก ซึ่งผมคิดว่าก็คงเกิดจากสถิติ รายงาน จากหลายๆ ด้านที่ยังไงๆ ก็ยังให้ EPL เป็นลีกที่ได้รับความนิยมสูงสุดทั้งในแง่ของฐานแฟน การดึงเม็ดเงินจากค่าลิขสิทธิ์ต่างๆ ค่าสปอนเซอร์ ฯลฯ แม้ว่า La Liga เองจะเป็นลีกที่มีทีมยักษ์ใหญ่เจ้าทวีปยุโรปและมีนักเตะระดับโลกรวมกันอยู่หลายคนไม่แพ้ EPL ก็ยังสู้ไม่ได้ซักที

Javier Tebas Credit : www.goal.com

การทดลองขยับเวลาเตะโดยหวังผลนี้ไม่ใช่เฉพาะ El Clasico แม็ทช์เท่านั้น หลังๆ La Liga ภายใต้การนำของประธานอย่างนาย Javier Tebas ก็ปรับเปลี่ยนเวลาคิกอ็อฟให้เร็วขึ้นมาเรื่อยๆ โดยหวังว่าจะสามารถแย่งชิงฐานแฟนที่ตั้งหน้าตั้งตารออยู่หน้าจอได้จาก EPL แค่การปรับเปลี่ยนเวลาเตะยังไม่พอยังมีการพยายามนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการจับภาพและมุมกล้องในสนามแข่ง อย่างกล้องคอยจับภาพจากมุมบนที่วิ่งตามสายเคเบิ้ลเหนือสนามนั่นแหละครับ ซึ่งตอนนี้ติดตั้งแล้วกว่า 14 สนาม ซึ่งนับว่ามากที่สุดในบรรดาฟุตบอลลีกยุโรปแล้วทีเดียว หรือเทคนิคการ replay แบบ 360 องศาที่ผมเชื่อว่าท่านที่ดูบอลสเปนคงเคยเห็นการแสดงผลของกล้อง replay สามารถจับเรียงภาพมุมมองแบบหมุนมุมไปมารอบทิศได้ที่มีเริ่มใช้แล้วในบางสนามและ Tebas ตั้งเป้าว่าภายในปีหน้าต้องมีให้ได้ 10 สนาม

และถ้าย้อนกลับไปอ่านบทความของผมเมื่อกลางปีเกี่ยวกับความพยายามของ La Liga ที่ดิ้นรนเพื่อสร้างมูลค่าในทางพาณิชย์ให้สูงขึ้นก็จะพบว่าการยอมปรับเวลาเตะของแม็ทช์ El Clasico นี้ก็สอดคล้องกับแนวทางโดยและนับเป็นอีก “Incident” สำคัญที่ La Liga ส่งสัญญาณบอกแฟนๆ บอลทั่วโลกว่าพร้อมแล้วที่จะโอนเอียงเข้าหาพวกคุณ

ในด้านของการบริหารภายใน La Liga เองนั้น ผมก็คิดว่านัยยะของการเปลี่ยนเวลาสำหรับแม็ทช์นี้ก็เป็นการตอกย้ำให้ทีมอื่นๆ ในลีกทราบว่าทางฝ่ายบริหารจัดการแข่งขันก็มีเจตนาที่จะช่วยทุกทีมในลีกให้มีความเสมอภาคกันมากขึ้น เพราะอะไรผมถึงคิดเช่นนั้นหรือครับ

สืบเนื่องมาจากโครงสร้างการแบ่งผลประโยชน์จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดของทีมใน La Liga ที่ในอดีตเอื้อให้กับทีมใหญ่รวมตัวกันเจรจาต่อรองกับการแยกขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดแม็ทช์ของตนเอง ไม่รวมกับทีมระดับรองๆ ทำให้อัตราส่วนรายได้ของทีมชั้นนำกับชั้นรองห่างกันมาโดยตลอด และส่งผลให้โดยภาพรวมแล้ว La Liga ไม่สามารถ Command ราคาค่าถ่ายทอดสดในภาพรวมของลีกตัวเองได้ดีเท่ากับลีกอื่นๆ ซึ่งท้ายที่สุดรัฐบาลของสเปนต้องออกโรงมาจัดการเรื่องนี้โดยรับรองกฎหมายใหม่ที่ควบคุมการเจรจาซื้อ-ขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดเสียใหม่สำหรับเริ่มต้นในฤดูกาลหน้าเป็นต้นไป โดยให้มีการรวมศูนย์เหมือนกับลีกอื่นๆ และมีการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกันมากขึ้นให้กับทีมอื่นๆ ในลีกเพื่อความเสมอภาคมากขึ้น โดยมีแม้กระทั่งการกำหนดสัดส่วนความแตกต่างระหว่างทีมที่ได้มากที่สุดกับน้อยที่สุดจากค่าลิขสิทธิ์นี้ให้ไม่เกิน 3.5 ต่อ 1 เลยด้วย

Lionel Messi

ซึ่งถ้าดูในภาพรวมแล้วจะเห็นว่าทุกอย่างที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจะส่งเสริมซึ่งกันและก่อให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างทีมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขยับเวลาเตะของทีมอื่นๆ มาก่อนหน้านี้แล้ว ตามด้วยการขยับเวลาของ El Clasico เพื่อเป็นสัญญาณส่งท้ายว่าบอลสเปนสนุกๆ ตอนหัวค่ำไม่ได้เป็นความฝันอีกต่อไป และถ้าการใช้ El Clasico มาเป็นหัวหอกแล้วได้ผล ฐานแฟน La Liga มากขึ้น การปรับโครงสร้างการเจรจาต่อรองค่าลิขสิทธิ์ก็มีโอกาสกวาดเงินได้มากขึ้น ทุกทีมมีส่วนแบ่งสูงขึ้นจากโครงสร้างใหม่ แต่ละทีมมีเงินไปสร้างศักยภาพของตัวเองให้ดีขึ้น แทนที่ La Liga จะดูมันแค่ Real Madrid กับ Barcelona ก็มีอีกหลายทีมที่มีโอกาสสร้างฐานแฟนใหม่ๆ ทั่วโลกจากศักยภาพของตนเอง และท้ายที่สุดก็จะเดินหน้าเป็นวงจรที่ยั่งยืนขึ้นได้ ผมว่านี่คงเป็นแนวคิดของทีมบริหาร La Liga น่ะครับ

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกนาย Tebas ว่ายังไงก็อย่าลืมไปเตี๊ยมกับทาง EPL เค้าด้วยละกันว่าอย่าเอาแม็ทช์แดงเดือดหรือดาร์บี้เมืองแมนเชสเตอร์มาเตะกันเที่ยงวันเสาร์เหมือนกัน

 

บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามกีฬา ฉบับวันที่  15 ธันวาคม 2560

ติดตามมุมมองสบายๆ ของเศรษฐา ทวีสิน เกี่ยวกับกีฬาและสังคมได้ที่ คลิก