Arsenal สนใจ Startup Business ลงทุนปั้นกลุ่ม Startup ที่มีแนวคิดใหม่ๆ

เมื่อเดือนก่อนตอนอยู่ที่ประเทศอังกฤษ มีข่าวเล็กๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง นั่นคือเรื่องของการที่สโมสรเจ้าปืนใหญ่ Arsenal จัดตั้งสถาบัน Innovation Lab ขึ้นมา ตอนแรกผมก็สงสัยว่าจะเป็นอะไรที่เกี่ยวกับฟุตบอลหรือการปั้นทีมอย่างไรหรือเปล่า แต่ปรากฏว่า Innovation Lab ที่จัดตั้งขึ้นมาเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการปั้นกลุ่ม Startup ที่มีแนวคิดใหม่ๆ น่าสนใจให้สามารถนำไอเดียเหล่านั้นมาทำให้เกิดขึ้นจริงสร้างเป็นธุรกิจขึ้นมาได้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสโมสรในหลายๆ ด้าน

ท่านผู้อ่านที่คุ้นเคยกับเรื่องของ Startup ก็คงพอทราบดีกับการที่บริษัทหรือองค์กรสมัยใหม่หลายแห่งจัดตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า Incubator หรือ Accelerator ขึ้นรวมทั้งมีการตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อสนับสนุนบ่มเพาะและปลุกปั้น Startup ที่ได้รับการคัดเลือกใน Stage ต่างๆ ให้ความรู้ คำปรึกษาในด้านต่างๆ เพื่อหวังให้ Startup นั้นๆ สามารถสร้างธุรกิจขึ้นมาได้ โดยสำหรับไอเดีย Innovation Lab ของ Arsenal ครั้งนี้เค้าตั้งเป้าหมายที่จะหาแนวคิดใหม่ๆ ในหลายๆ ด้าน

กล่าวคือ เรื่องแรกมีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับแฟนๆ บอลในวันที่มีแม็ทช์แข่งขัน โดยโจทย์เริ่มตั้งแต่ก่อนออกจากบ้าน นอกสนาม ในสนาม หลังเกมเลิก จนกระทั่งเดินทางกลับถึงบ้าน เรื่องที่สองคือการสร้างประสบการณ์เชื่อมต่อกับแฟนๆ บอลของตนที่มีอยู่ทั่วโลกให้ดีขึ้น เรื่องที่สามเป็นการสร้างระบบหน้าร้านขายของแบรนด์ Arsenal ของตัวเองในโลกยุคดิจิตัลใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นที่หน้าร้านที่สนามแข่งขันหรือการซื้อออนไลน์ ไล่ตั้งแต่ Merchandising ต่างๆ ไปจนถึงการซื้อทัวร์เข้าชมสนาม  เรื่องที่สี่เป็นการหาแนวคิดในการสร้างความเชื่อมโยงกับพันธมิตรของสโมสรไม่ว่าจะเป็นสปอนเซอร์หรือแบรนด์ใดๆ ที่จะทำให้ประสบการณ์ของพันธมิตรและแฟนๆ ลื่นไหลขึ้น และเรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องของการหาแนวคิดใหม่ๆ แบบไม่จำกัดกรอบ ทำยังไงก็ได้ให้แฟรนไชส์ของสโมสรขยายใหญ่ขึ้นให้มากที่สุด

โดยกรอบของกิจกรรม Innovation Lab นี้จะมีการคัดกรองไอเดียของ Startup ต่างๆ ที่สนใจเสนอแนวคิดเข้ามาแล้วเอารายที่ผ่านเข้ารอบมาเข้าแคมป์เป็นเวลา 10 สัปดาห์เพื่อกลั่นกรองไอเดียอีกครั้งพร้อมทั้งขัดเกลาทางด้านการเงิน การตลาด การนำแนวคิดนั้นมาทำให้เกิดจริง โดยมีผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คนในหลายๆ ด้านมาเป็นโค้ชให้

ฟังดูแล้วก็น่าสนใจนะครับที่แม้กระทั่งสโมสรฟุตบอลเองก็ยังต้องหันมาหาแนวทางของพวก Startup ในการหาไอเดียใหม่ๆ เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับตัวเอง ก็จริงครับ ในยุคนี้จะมามัวงมโข่งกันเองโดยผู้บริหารสโมสรที่เรียกได้ว่าเป็น สถาบัน หนึ่งของประเทศและสังคมอังกฤษไปแล้ว คงจะมีอะไรเกิดใหม่ยาก ต้องอาศัยความกล้าคิดของคนรุ่นใหม่มาเสริมบ้าง แล้วเอาเวลาของตนไปบริหารทีม ปั่นราคานักเตะ ส่องหานักเตะรุ่นใหม่ๆ หรือเกทับสโมสรอื่นจะดีกว่า

ซึ่งว่าไปแล้ว Arsenal เองก็ไม่ใช่สโมสรฟุตบอลหรือกีฬาแห่งแรกที่เริ่มนำเอาแนวคิดแบบใหม่ๆ นี้มาใช้นะครับ เราได้เห็นสโมสรฟุตบอลอย่าง Barcelona เองก็เคยนำเสนอแนวคิดนี้มาแล้วเมื่อ 2-3 ปีก่อน เพียงแต่ว่าถ้าลองไปอ่านรายละเอียดของ Barcelona นั้นยังไม่ค่อยชัดเจนเหมือน Arsenal ในครั้งนี้

ในฝั่งของอเมริกาประเทศเจ้าแห่ง Startup และ Innovation ใหม่ๆ นี้เองก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแล้ว เพราะมีหลาย แฟรนไชส์ทีมกีฬาที่เข้ามาร่วมขบวนแนวคิดแบบนี้หลายรายไม่ว่าจะเป็นทีมบาสเก็ตบอลอย่าง Philadelphia 76’ers ที่เปิดตัว Sixers Innovation Lab เมื่อปลายปีที่แล้วโดยร่วมมือกับแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ของอเมริกาชื่อ Kimball เพื่อเป็นที่บ่มเพาะธุรกิจ Startup ใน 3-4 กลุ่มซึ่งไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกีฬาโดยตรงแต่อย่างใดของ ในฝั่งของกีฬาประจำชาติอีกอย่างคืออเมริกันฟุตบอลก็ไม่ยอมน้อยหน้า Minnesota Vikings ก็เป็นอีกแฟรนไชส์กีฬาที่จัดตั้งโปรแกรม Accelerator ให้กับ Startup เหมือนกันตั้งแต่ปีที่แล้ว

Los Angeles Dodgers

อีกรายหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกแนวคิดแบบนี้และนับเป็นรายแรกของแฟรนไชส์กีฬาในสหรัฐฯ ก็คือทีมเบสบอล Los Angeles Dodgers ที่สร้างโครงการ Sports, Technology, and Entertainment Accelerator ขึ้นมาโดยมีโครงสร้าง แนวทางการดำเนินการ และวัตถุประสงค์ใกล้เคียงกับที่ Arsenal ทำขึ้นมา นั่นก็คือหวังสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับแฟรนไชส์กีฬาและแฟนๆ ของตัวเอง

นับว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในโลกกีฬาครับ ที่ในสหรัฐฯ เองในรอบ 18 เดือนมีแฟรนไชส์จากกีฬาประจำชาติครบทั้ง 3 ประเภทหันมาดำเนินแนวคิดนี้และคาดการณ์กันว่าจะมีอีกหลายทีมหลายสโมสรทำแบบเดียวกันตามมาในอนาคตอันใกล้นี้

ถามว่าเหตุผลอะไรทำไมแฟรนไชส์หรือสโมสรกีฬาเหล่านี้ถึงได้ขยับตัวในเรื่องนี้ ถ้าอ่านจากแถลงการณ์ของ Los Angeles Dodgers ก็จะพบว่าในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมา มีคนเอาไอเดียมากมายหลากหลายมาเสนอให้พวกเค้าในเชิงพาณิชย์ ซึ่งพูดกันตรงๆ ก็คือคงเอาไอเดียมาขายนั่นแหละครับ ให้ทำนั่นนี่ดูสิ ซื้อ Solution ของผมไปใช้ รับรองจะทำให้อะไรดีขึ้น ฯลฯ

ไม่ใช่เรื่องแปลกครับ เพราะธุรกิจกีฬาในสหรัฐฯ เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีเม็ดเงินมากมายหมุนเวียนจากสปอนเซอร์ Merchandising และลิขสิทธิ์จากการถ่ายทอดโทรทัศน์ต่างๆ มากมาย เป็นธุรกิจหนึ่งที่หลายต่อหลายคนอยากเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ ซึ่งเข้าใจว่าบรรดาผู้บริหารแฟรนไชส์เหล่านี้อาจจะคิดได้ว่าไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว จะให้เลือกซื้อก็คงเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ซื้อแล้วก็ต้องใช้ โดนหลอกได้ของไม่ดีมาก็แย่ไป ดังนั้นกระบวนการสร้างโปรแกรม Accelerator เพื่อให้เจ้าของไอเดียใหม่ๆ ที่ยังไม่มีกึ๋นและเงินสนับสนุนมากพอมานั่งด้วยกันแล้วถกถึงประเด็นที่ทางเจ้าของแฟรนไชส์มองว่าอยากมี Solution ในการแก้ปัญหาหรือเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่างๆ แล้วเอาเงินทุนมาเป็นรางวัลให้ดีกว่า เผลอๆ จะได้ของดี ของถูก แล้วมีโอกาสได้เข้าไปถือหุ้นใน Startup เหล่านี้ เกิดเป็นไอเดียที่ดีเอาไปขายคนอื่นได้ก็ยิ่งได้สองต่อ

นึกไม่ถึงเหมือนกันนะครับว่าวงการกีฬาในที่สุดก็หนีโลกของ Startup ไม่พ้น ก็อย่างว่านะครับ เรื่องนี้เป็นแนวทางของโลกธุรกิจสมัยใหม่ ใครที่ยังอยู่ในกะลาแล้วไม่กล้าที่จะแสวงหาไอเดียจาก Ecosystem ใหม่ๆ ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ แบบนี้ เผลอไป 1-2 ปีจะตามคนอื่นเค้าไม่ทันนะครับ

 

บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามกีฬา ฉบับวันที่  3 พฤศจิกายน 2560

ติดตามมุมมองสบายๆ ของเศรษฐา ทวีสิน เกี่ยวกับกีฬาและสังคมได้ที่ คลิก