มูลค่าของสโมสรฟุตบอล และสาเหตุของความร่ำรวย The European Elite

<จากคอลัมน์ เศรษฐา & กีฬา, หนังสือพิมพ์สยามกีฬา ฉบับวันที่ 9 มิถุนายน 2560>

วันก่อนผมได้ดาวน์โหลดรายงานฉบับหนึ่งมาอ่าน เป็นรายงานของ KPMG บริษัทที่ปรึกษาตรวจสอบบัญชีระดับโลกที่ทำการประเมิน Enterprise Value (EV) หรือเป็นการพิจารณามูลค่าที่แท้จริงทั้งในส่วนของทุนและหนี้สิน ณ ช่วงเวลานั้นๆ ของ 32 สโมสรในยุโรปที่มีมูลค่า EV สูงสุด ซึ่งอ่านแล้วก็ได้ insight ในเชิงธุรกิจของแต่ละลีกแต่ละสโมสรอยู่เหมือนกันเลยอยากมาแชร์ให้อ่านกันครับ

ในช่วงปีที่ผ่านมาแม้สภาพการณ์ทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจไม่ค่อยเอื้อ เช่นการก่อการร้ายหรือการโหวต Brexit แต่อย่างไรก็ตามมูลค่ารวมของวงการฟุตบอลยุโรปกลับเติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2016 นั้น EV รวมของสโมสรยุโรปชั้นนำ 32 อันดับแรกมีมูลค่าถึง 3 หมื่นล้านยูโรเลยทีเดียว เติบโตขึ้นกว่า 14% จากปีก่อนหนี้ โดยใน 32 อันดับแรกของสโมสรที่มี EV สูงสุดถูกยึดครองโดยสโมสรจากอังกฤษถึง 8 อันดับโดย Manchester United ยึดอันดับที่ 1 จากทั้ง 32 สโมสรด้วย EV สูงถึง 3,095 ล้านยูโร เพิ่มจากปีก่อน 7% ตามมาด้วย Real Madrid ที่ EV เกือบๆ 3 พันล้าน และที่สามคือ Barcelona ที่มี EV อยู่ที่ 2,765 ล้านยูโร โดยใน 32 อันดับนี้มีที่น่าสนใจก็คือทีม Leicester City FC นั่นเองที่ได้ผลพลอยได้จาก fairy tale ในฤดูกาลที่แล้วและได้ลงเล่นใน UCL จนถึงรอบหลังๆ มาส่งผลให้ติดอันดับที่ 16 ในปีนี้กับเค้าด้วยโดยปริยาย

shutterstock_608402414 (1)

Manchester United ยึดอันดับที่ 1 ด้วย EV สูงถึง 3,095 ล้านยูโร

shutterstock_412305028 (1)

Leicester City FC ติดอันดับที่ 16 จากการลงเล่น UCL ซึ่งเป็นผลพลอยได้จาก fairy tale 

จากรายงานดังกล่าวของ KPMG ต้องบอกว่าลีกของอังกฤษยังคงเป็นลีกที่มีมูลค่าสูงสุดอย่างเถียงไม่ได้เพราะจากแค่ 8 สโมสรที่ติดในการ ranking ครั้งนี้ปรากฏว่ามีมูลค่ารวมถึงประมาณ 12,000 ล้านยูโร หรือ 40% เลยทีเดียว ตามมาด้วยสโมสรจากลาลีกาสเปนและ Series A ลีกละ 6 สโมสร บุนเดสลีกา ลีกเอิง และซุปเปอร์ลีกตุรกีอย่างละ 3 สโมสร

มีตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจครับ จากรายงานเค้าบอกว่าภาพรวมของประเทศตุรกีคือประเทศที่มีสัดส่วนการเติบโตของมูลค่า EV ในทางบวกสูงที่สุด โดยปรับขึ้นถึงกว่า 97% จากปีก่อน ตอนแรกก็สงสัยครับว่าทำไมอยู่ๆ 3 ทีมของลีกตุรกีที่ติดอันดับคือ Fenerbahce, Galatasaray และ Besiktas จะมี performance ดีได้ยังไง แต่พออ่านในรายละเอียดก็ถึงบางอ้อครับ ที่ตัวเลขมูลค่าโดยรวมดีขึ้นก็เพราะถ้ายังจำกันได้ ทั้ง Galatasaray และ Fenerbahce โดนลงโทษจาก UEFA เรื่องของการผิดกฏ Financial Fair Play ส่งผลให้มีการแค็ปค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามบทลงโทษที่วางไว้ ทำให้ผลประกอบการออกมาเป็นบวกและกำไรดี กลายเป็นว่าส่งผลดีต่อสโมสรในเรื่องของการจัดอันดับของ EV ไปเสียนี่ นอกจากนี้แล้วสโมสรของตุรกีทั้ง 3 แห่งนี้ยังได้อานิสงส์จากการโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศรวมทั้งการ reform การบริหารจัดการของลีกในประเทศด้วยที่ส่งผลทางบวกให้กับมูลค่าของสโมสร

การที่ทีมจาก EPL เข้าไปอยู่ในตารางนี้เยอะที่สุดส่วนหนึ่งมาจากค่าส่วนแบ่งที่แต่ละสโมสรได้จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดโทรทัศน์ทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งนับเป็นสัดส่วนรายได้ที่มากโขอยู่ อันแรกคือค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดในประเทศ ซึ่งจากสภาพตลาด pay TV ที่เติบโตแล้ว ประชากรที่มีกำลังซื้อสูงและการแข่งขันระหว่าง SKY กับ BT ทำให้ค่าลิขสิทธ์ในประเทศของพรีเมียร์ลีกมีมูลค่าสูงสุดส่งผลให้ EV ของสโมสรจากอังกฤษแซงหน้าคนอื่นได้ไม่ยาก ประกอบกับยังไม่มีการประมูลค่าลิขสิทธิ์ของลีกใหญ่ๆ ในปีหน้า ดังนั้นคาดเดาได้เลยว่ารายงานปีต่อไปตัวเลขก็น่าจะหนีไม่พ้นของปีนี้

ตามมาด้วยลาลีกาที่เริ่มมีการจัดระบบการต่อรองใหม่โดยยกเลิกการต่อรองแบบทีมใครทีมมันเป็นแบบภาพรวมเหมือน EPL แต่ก็ยังมีการให้อัตราพิเศษเพิ่มเติมกับทีมที่ทำอันดับได้ดีและได้รับความนิยม ส่งผลให้ทีม Real Madrid และ Barcelona ก็ยังเป็น 2 ทีมหลักที่ได้เงินมากกว่าคนอื่น Series A ของอิตาลีกำลังจะมีการประมูลลิขสิทธิ์ใหม่สำหรับฤดูกาล 2018-2021 ซึ่งอาจส่งผลให้สโมสรในลีกนี้ซึ่งปกติมีรายได้จากค่าผ่านประตูและสปอนเซอร์น้อยกว่าลีกใหญ่อื่นๆ อาจดันตัวเองให้มี EV สูงขึ้นมาได้บ้าง

เช่นเดียวกันสำหรับค่าลิขสิทธิ์นอกประเทศ เนื่องจากความนิยมของพรีเมียร์ลีกคงหาลีกอื่นมาทาบยากทำให้มูลค่าลิขสิทธิ์สูง ดันให้ EV ของสโมสรอังกฤษก็สูงขึ้นไปด้วย ตามติดมาด้วยลีกของสเปนที่เดิมฐานคนดูหลักอยู่ในอเมริกาใต้กับตะวันออกกลาง มีความพยายามที่จะกระจายฐานแฟนบอลมากขึ้นด้วยการปรับเปลี่ยนกระจายเวลาถ่ายทอดสดไม่ให้กระจุกอยู่ตี 1-2 ของทวีปเอเชียซึ่งเป็นทวีปที่มีคนติดตามดูบอลมากที่สุดทวีปหนึ่ง ส่งน่าจะส่งผลดีกับ EV ของสโมสรในลาลีกาในการวัดมูลค่า 2-3 ปีข้างหน้า ส่วนบุนเดสลีกาและ Series A นั้นยังตามหลังอยู่อันเนื่องมาจากพื้นฐานความเชื่อมโยงทางด้านภาษาที่เฉพาะไม่เหมือนอังกฤษและสเปนที่มีใช้ในกลุ่มประเทศอื่นด้วย อย่างไรก็ตามจากการเชื่อว่าถ้าหากสโมสรจากบุนเดสลีกาและ Series A ทำผลงานได้ดีต่อเนื่องเรื่อยๆ ในเวทีบอลถ้วยยุโรปซึ่งมี exposure สูงอาจจะทำให้ฐานแฟนเพิ่มขึ้นในทวีปใหม่ๆ และท้ายสุดนำมาซึ่งพลังต่อรองในการขายลิขสิทธิ์บอลลีกได้ในอนาคต แต่ผมคิดว่าคงยังอีกไกลกว่าจะเข้าใกล้ลีก EPL หรือลาลีกา

รายได้อีกอย่างหนึ่งที่ถูกนำมาพิจารณามูลค่า EV ก็คือรายได้ที่เกิดจากสัญญาชุดแข่งและสปอนเซอร์บนหน้าอก ซึ่งที่น่าสนใจก็คือสโมสร 10 อันดับแรกที่ติดในชาร์ตมูลค่า EV ปีนี้คือ 10 สโมสรเดียวกันที่มีรายได้จากสองสิ่งนี้สูงสุดเช่นกัน สุดท้ายแล้วอีกปัจจัยด้านผลประกอบการที่เป็นการวัดกึ๋นของการบริหารทีมของผู้บริหารและสต๊าฟที่เกี่ยวข้องกับการดูแลนักเตะก็คือการวัดผลกำไรขาดทุนของการ ซื้อขาย นักเตะของสโมสรในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่าทีมที่ทำตัวเลขผลประกอบการได้ดีที่สุดในด้านนี้คือ Benfica ของโปรตุเกสที่มีอัตรากำไร 30% จากรายได้ ซึ่งสโมสร 10 อันดับแรกที่ทำอัตรากำไรตรงนี้ได้ดีไม่มีทีมใหญ่ๆ ที่มีมูลค่า EV รวมอันดับต้นๆ ติดเลย ยกเว้น Manchester United ทีมเดียวที่ทำได้ดีในเรื่องนี้อันดับที่ 9 นั่นก็แสดงว่าเป็นทีมที่บริหารการเงินเรื่องค่าตัว ค่าเหนื่อยได้ดีพอสมควรเลย

shutterstock_507314128 (1)

Benfica ของโปรตุเกสที่มีอัตรากำไร 30% จากรายได้

อ่านรายงานฉบับนี้แล้วก็สนุกดีครับ ได้เห็นว่าสโมสรฟุตบอลในลีกที่พัฒนาแล้วเค้าวัด performance กันเหมือนกับบริษัทข้ามชาติใหญ่ๆ เลยทีเดียวและมีการทำรายงานอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในรายละเอียดการเงินเปรียบเทียบกันทุกปี สำหรับสโมสรในลีกของไทยเราเรื่องการวัด performance ด้านการบริหารการเงินนี้เป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งที่ควรสร้างไปพร้อมๆ กับการทำทีมให้ถูกใจแฟนบอลนะครับ ไม่เช่นนั้นเราได้เห็นทีมล้มหายตายจากหรือเปลี่ยนเจ้าของกันเสมอๆ แน่ๆ เลย