The Social Dilemma
หนัง "ควรดู" แห่งปี !

เวลาเราดูหนังหรือภาพยนตร์นั้น ทุกคนก็จะต้องผ่านตากับงานมากมายหลายแบบ หนังตลก หนังสยองขวัญ หนังดราม่าหรือตื่นเต้นแอ๊คชั่น แต่แท้จริงแล้ว ในโลกของภาพยนตร์มีการแบ่งตามสายวิชาการหลักๆ เพียงแค่ 3 สไตล์ (เรียกว่าหนังทุกตระกูล ก็ยัดอยู่ใน 3 สไตล์นี้แหละครับ)

ทีนี้ สไตล์แต่ละแบบ ถูกแบ่งเรียกจากอะไร มันถูกแบ่งจาก “เทคนิคการนำเสนอ” ครับ …เช่น คุณต้องการทำเรื่อง คนถูกฆ่าตายปริศนา! หากเราทำแบบดราม่าตื่นเต้นเขย่าขวัญ ใส่เพลงโครมคราม ใส่การตัดต่อรุนแรง มันจะเป็นดราม่า เพราะเร้าอารมณ์น่าดู

แต่ถ้าทำแบบเหนือจริง หลุดโลก เซอร์เรียล มันก็จะกลายเป็นหนังที่ล่องลอย จับต้องไม่ได้หมด เหมือนเสพยาเพ้อฝัน เพราะหนังแนวนี้ต้องการการคิด วิเคราะห์ว่า ทำไมเป็นแบบนั้น มันไม่ต้องการความตื่นเต้น คนจะไม่ชอบแนวนี้มากที่สุด เพราะมันดูยากไม่สนุก

ในแนวทางหนัง 3 สไตล์นี้ มี “ตรงกลาง” ที่ไม่น่าเบื่อไป แต่ก็ไม่ตื่นเต้นโครมครามไป เรียกว่า realistic คือหนังสมจริง ไม่ตกแต่งเยอะ และไม่หลุดโลก ถ้าเอาแบบชัดๆ เลยว่า อะไรคือ realism นั่นก็คือหนังสารคดี คนที่เคยดูหนังสารคดีสัตว์ป่าในทีวี นั่นแหละครับ realism

หนังสมจริง Realism 

หนังประเภทนี้ยังมีลูกหลานออกมาอีกหลายแบบนะครับ (ส่วนหนึ่งเป็นการตลาดของค่ายหนัง ที่ต้องการขายสิ่งใหม่ให้วงการ) ฉะนั้น เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ มันก็จะมี “ศัพท์ใหม่” ถูกเรียก บางทีผสมๆ นั่นนิดโน่นหน่อย ก็สร้างศัพท์ได้แล้ว

ยุคหนึ่งก็เช่น dramatic-realist (หนังไทยเรื่องหนึ่งที่ดีมากแนวนี้คือ “ผีเสื้อและดอกไม้”) คือเป็นดราม่าครึ่งหนึ่ง และเป็นสมจริง realism อีกครึ่ง …พอมาถึงยุคนี้ หนังอีกแนวที่แตกลูกออกมา แล้วฮิต ก็คือ docudrama !

เช้าใจง่ายๆ เลยครับ มันก็คือการผสมผสานแนวทาง ที่สนุกสนานในการเล่าเรื่อง เพื่อให้คนดูไม่เบื่อ แต่ขณะเดียวกัน ก็ “ดึงรั้ง” ผู้ชมไว้ ให้ตระหนักอยู่กับความจริง อยู่กับข้อมูลที่หนังต้องซีเรียส

ฉะนั้น แนวทางแบบ docudrama จึงมักใช้รองรับ นำเสนอ บอกเล่า “อะไรก็ตาม” ที่อยากซีเรียส จริงจัง แต่ก็ปรารถนาให้สนุกสนานในการดู (เพราะคนสร้างรู้สึกว่า ถ้าทำแบบสารคดีตรงๆ มานั่งคุยกัน มันน่าเบื่อ)

เช่นนี้เอง หนังที่ร้อนแรงที่สุดตอนนี้ และสร้างแรงสั่นสะเทือนเลือนลั่นไปทั่วอย่าง The Social Dilemma จึงเลือก “สไตล์” docudrama มาเล่าเรื่องสุดเครียด ให้สนุก!

The Social Dilemma

ผมเคยโพสในทวิตเตอร์และเฟสบุ๊คไปแล้วเกี่ยวกับหนังร้อนแรงในเทศกาลซันแดนซ์เรื่องนี้ พอแนะนำกันไปเรื่อยๆ ปรากฏเพื่อนๆ หลายคนชอบ บางคนดูสองรอบ จนเอาไปจัดเสวนาวงเล็กๆ ในกิจกรรมบริษัทก็มี

ภาพยนตร์เรื่อง The Social Dilemma ภาพจาก The Verge

The Social Dilemma คือหนัง docudrama ที่เล่า สัมภาษณ์ เจาะลึก เกี่ยวกับการเล่น social media ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นจตุรเทพอย่าง facebook, twitter, youtube หรือ IG รวมทั้งการเข้าไปเล่นแอพลิเคชั่นต่างๆ ที่มีออกมาใหม่ๆ ตลอดเวลา

มีการไปสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงหลายคนที่เคยทำงานกับบริษัทใหญ่ๆ ด้าน Social Media แล้วพวกเขาก็สารภาพยอมรับว่า เป้าหมายเดียวที่แพลตฟอร์มต่างๆ ต้องการจากคนเล่นก็คือ “เงิน” ที่ได้มาจากหลายทาง โดยผ่านสเต็ปสั้นๆ เร็วๆ ง่ายๆ

เช่น เรทติ้งคนเข้ามาเล่น จากนั้น นำไปสร้างตัวเลขมาทางตลาด พัฒนาไปสู่ช่องทางหาเงิน โดยไม่สนจริยธรรมอะไรทั้งสิ้น ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ “ในความไม่สน” พวกเขาสร้าง Agorithm หรือระบบกลไกเพื่อให้คนที่เล่น (ซึ่งก็คือเราๆ ท่านๆ) เกิดการเสพติดอย่างหนัก

เสพติด เพราะติดการเสพ(สื่อ)

การเสพติดออนไลน์ ต้องเข้าไปเล่น ต้องเข้าไปแจม ต้องเข้าไปกด… ไม่ใช่ addict นะครับ มันหน้กกว่านั้นมาก มีการเปิดเผยว่า ระบบที่ถูกคิดขึ้นมาเพื่อให้พวกเราเล่นและเสพติด จะนำพาเราอย่างไม่รู้ตัวหรือรู้ตัว ไปถึงภาวะของศัพท์คำหนึ่ง

นั่นคือ Attention Economy!

ขอแปลตรงๆ บริบทของหนัง ไม่ตรงคำแปลแบบเบื่อๆ ว่า “ธุรกรรมความหมกมุ่น” ซึ่งก็คือ คุณตกอยู่ในความหมกมุ่น ขาดไม่ได้ โดยไม่รู้ตัว agorithm จัดการสร้างสิ่งนี้ใส่คุณ ยิ่งคุณเล่นมาก คุณยิ่งหมกมุ่น… ยิ่งคุณหมกมุ่น พวกเขาก็ได้เวลา ได้เรทติ้งฟรีจากคุณ (ผ่านการนำเสนอ “การเล่นฟรี”) ทั้งที่จะว่าไป ไม่เคยมีของฟรีในโลก เพราะอะไรที่ฟรี มันก็มาเอาคืนจากคุณในอนาคต

ความหมายนี้ เพื่อนผมถามว่า งั้นเวลาเขาไปตามที่ต่างๆ แล้ว มีสาวๆ ยื่นแจกของกิน ของอ่าน ของใช้ เช่น ยาสระผมซองให้ฟรี อันนั้นไม่ฟรีหรืออย่างไร? อันนี้ตอบง่ายมากครับ คุณอยู่ในกล้องบันทึกเรียกร้อยแล้วว่า ใช้สินค้าเขา กินของเขา หยิบขอบเขา…

คุณคือ ลูกค้าเขาผ่านทางกล้องบันทึก รายงานไปยังบริษัทผู้ผลิต

คุณหยิบของเขาเพราะว่าฟรี แต่คุณน่ะแหละคือ “สินค้า” ของเขา เพราะตกอยู่สถานะทาสอย่างไม่รู้ตัว

Social Addict
ภาพจาก NBCNews

แหม! ช่างรู้ใจจริงๆ 

มีข้อมูลหนึ่งในหนังที่น่าตกใจ (แต่น่าดีใจที่ได้รู้) นั่นคือ ระบบการทำให้คนเสพติดอย่างหนัก ถึงขั้นยอมใช้เวลาแต่ละวันมากมาย เพื่ออยู่ใน social media พวกนี้ เกิดจากการคิดของ AI ปัญญาประดิษฐ์ โดยโปรแกรมเมอร์ที่อยู่เบื้องหลัง ก็จะสามารถพัฒนาระบบไปจนถึงขั้นที่น่าสยดสยอง

นั่นคือ มันสามารถรู้ “ชีวิตคุณ” ว่าชอบทำอะไร รักสิ่งไหน หมกมุ่นแบบไหน… มาก อย่างไม่น่าเชื่อ

เช่น… คุณมักเข้าไปกด like กับเรื่องอะไร กด like จำนวนกี่ครั้งต่อวัน กด like ในเวลาเช้าบ่ายเย็นหรือค่ำ ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องอะไรบ้างที่คุณสนใจหมกมุ่น!

Sport, Food, Music หรือ Travel กระทั่ง Sex

จากนั้น อย่างที่เราทราบ เมื่อคุณหมกมุ่นกับ content อะไร มันจะเสิร์ฟคุณเหมือนอาหาร ถ้าคุณชอบตะลอนกิน มันจะมาพร้อมร้านเป็นร้อย เข้ามาทางต่างๆ ตรงๆ อ้อมๆ จนคุณงงว่า มันรู้ได้ยังไงว่า เรากำลังต้องการสิ่งนี้ หรืออย่างน้อย… เรากำลังหมกมุ่นสิ่งนี้ (attention economy)

ของฟรี มีในโลก?

ลองไปดูมุมอื่นๆ ที่น่าสนใจในหนังบ้างครับ

เมื่อคุณหมกมุ่นกับมันมากๆ มันมีการมีโอกาส “จ่าย” ที่ตามมานะครับ เช่น ในหนัง เขาไปหาวัยรุ่นคนหนึ่งที่ชอบถ่ายเซลฟี โดยใช้โปรแกรมชื่อ beautify และปรับแต่งจนดูสวย แต่ครั้น พอมีคนมาเมนท์ว่า นางหูใหญ่ เธอก็เจ็บปวด เป็นทุกข์ นำไปสู่การทำอย่างไรให้ดูดี “เหมือนแอพฯ แต่งหน้า” ของเธอ

เมื่อเรา เมื่อเธอ หลงภาพที่แอพฯแต่ง จึงอยากนำไปสู่การทำศัลยกรรมใหม่ สร้างใบหน้าใหม่แทนเก่า นั่นหมายความว่า เรากำลังถูกแอพฯ “บิดเบี้ยว”(distort) ความจริง ให้ไปอยู่ใน “มายาความฝัน” คือสร้างใหม่ขึ้นมา และการศัลยกรรมเพื่อบิดเบี้ยวตัวเองไป มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่

แล้วค่าใช้จ่ายนั้น ถูกโยงกับ… การแนะนำร้านหรือโรงพยาบาลที่จะไปทำไหม ?

โปรแกรม beautify นั้น ทำให้เกิดวัฒนธรรมป๊อปเน่าๆ นั่นคือ snapshat dysmorphia หรือการที่เราหลง หมกมุ่น จนอยากไปมีหน้าตาแบบใหม่ที่คอมพิวเตอร์สร้างให้ (ว่ากันว่า เงินหลายหมื่นแสนล้านสะพัดกันจากความนิยมนี้… แล้วใครได้เงิน ?)

เห็นไหม ใครๆ ก็คิดแบบเรา

อีกส่วนหนึ่งในหนังที่สำคัญที่สุด แล้วมนุษย์ (ซึ่งก็คือ product ที่ไม่รู้ตัวของแพลตฟอร์ม) ถูกบังตาไว้ก็คือ เมื่อคุณเข้าไปกด like อะไรมากๆ แสดงความเห็นแบบไหนบ่อยๆ มันจะเสิร์ฟจานใหม่มาให้ นั่นคือ “ความคิดเห็นที่เอาแต่เข้าข้าง” ทัศนคติของคุณ !

เช่นสมมติ ผมบอกว่า คนที่วิ่งตอนเย็นนั้นดีที่สุด… Agorithm มันจะจดจำว่า ผมเขียนเหตุผลไว้แบบไหน เพื่อยืนยันมุมมองผม จากนั้น ระบบจะทำกาาจดจำ เก็บข้อมูล แล้วไปหาความเห็นแบบเดียวกันมาโปะเข้าไป (เช่น เอามุมมองคล้ายๆ กัน ของคนอื่นๆ มาบวกแปะ) พอบ่อยครั้งเข้า เราก็จะ “หลง” คิดไปว่า ความเห็นเราถูกที่สุด เพราะเราเห็นแต่เหตุผลบแบบเรา ล่องลอย วนไปมา จากการอ่าน

สิ่งนี้ทำให้เกิดเรื่องที่เลวร้ายที่สุด นั่นคืออีโก้! และ อัตตา!

ฝรั่งเรียกว่า Echo Chamber หรือ เสียงที่เข้าข้างเราตลอดเวลา (เพราะระบบคัดมาให้) บางคนแปลว่า ห้องเสียงตะโกนกลับมา แต่ผมขอแปลว่า มันคือ เสียงที่คอยเข้าข้างเรา ว่าเราคิดถูก คิดใช่ (เพราะระบบ ตกแต่งให้)

           ผ่านไป 9 เดือนของปี 2020 ผมดูหนังไปหลายเรื่อง ปีนี้ถ้าไม่นับแบ่งแยกส่วน ผมให้คู่ชิง “บันเทิงยอดเยี่ยม” แห่งปีคือ The Social Dilemma vs. The Last Dance 

           ทั้งสองเรื่องเป็น docudrama 

           สนุกตลอดเวลา และฉลาดขึ้นจากชีวิต !