ในวงการกีฬาผู้ชนะไม่ใช่มนุษย์อีกต่อไป ทำความรู้จักกับ AI Robot

เมื่อพูดถึงคำว่า การแข่งขัน ภาพที่เรานึกถึงอย่างแรกคือ บุคคล หรือ กลุ่มบุคคล เข้าร่วมกิจกรรมอันจะแสดงออกซึ่งความสามารถเฉพาะตัวที่จะส่งผลให้มีผู้แพ้และผู้ชนะ จะเป็นการแข่งขันกีฬาหรือการแข่งขันด้านอื่นๆ เช่นบอร์ดเกม ตอบคำถาม ฯลฯ หรืออาจจะเป็นกิจกรรมที่ มนุษย์ เข้าควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ อย่างเช่น แข่งรถ แข่งเรือ และยังรวมถึงการที่ มนุษย์ เป็นผู้ฝึกสอนและควบคุมสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพื่อให้ลงแข่งขันหาผู้แพ้ชนะเช่น ม้าแข่ง ไก่ชน หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ยังเป็นเรื่องของการที่ท้ายที่สุดแล้วจะต้องมี มนุษย์ เป็นผู้มีส่วนร่วมกับการแพ้หรือชนะด้วยกันทั้งสิ้น แต่ในระยะหลังๆ พอเทคโนโลยีเริ่มพัฒนาขึ้น การแข่งขัน ไม่ได้ถูกจำกัดว่าเป็นกิจกรรมที่ มนุษย์ หรือ สิ่งมีชีวิต จะสามารถมีส่วนร่วมได้เท่านั้น เทคโนโลยี ถูกพัฒนาให้มีศักยภาพมากขึ้นจนกระทั่งก้าวเข้ามาเป็น คู่แข่ง กับมนุษยชาติได้

ในยุค 1990’s คงยังจำกันได้ถึงข่าวเรื่องที่ คอมพิวเตอร์ หรือ สมองกลอัจฉริยะชื่อว่า Deep Blue ที่พัฒนาโดย IBM สามารถเอาชนะแชมเปี้ยนหมากรุกโลกอย่าง Garry Kasparov ในปี 1996 ได้ ซึ่งเป็นการจารึกประวัติศาสตร์อันน่าอับอายครั้งแรกอย่างเป็นทางการว่า มนุษย์ อาจจะไม่ฉลาดกว่าสมองกลเสียแล้ว และล่าสุดกับเจ้าสมองกลอัจฉริยะของ Alphabet บริษัทแม่ของ Google ที่มีชื่อว่า AlphaGo ซึ่งเป็นระบบสมองกลอัจฉริยะที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัทด้าน Artificial Intelligence ชื่อว่า DeepMind ที่ Alphabet ซื้อกิจการเมื่อง 3-4 ปีก่อน ซึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมาเจ้า AlphaGo นี้สามารถเอาชนะนาย Ke Jie แชมป์โลกหมากกระดาน โกะ ชาวจีนอายุ 19 ปีได้อย่างขาดลอย โดยนาย Ke Jie ให้สัมภาษณ์หลังพ่ายแพ้ว่าเมื่อครั้งก่อนที่เค้าแข่งกับ AlphaGo ในปีก่อน มันยังเล่นเหมือนกับสมองกลที่ถูกโปรแกรมมาให้เล่น แต่ครั้งนี้เจ้า AlphaGo กลับมาด้วยฟอร์มเยี่ยงกับ “พระเจ้าแห่งหมากกระดาน โกะ” เลยทีเดียว

rexfeatures_8828108ac

Credit : www.newscientist.com

ถ้าท่านผู้อ่านติดตามข่าวสารเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีอยู่อย่างประจำน่าจะเคยเห็นพวกหุ่นยนต์ที่ทางบริษัท Honda พัฒนาขึ้นมาที่มีชื่อว่า Asimo ซึ่งเค้าก็พัฒนามาเป็นสิบปีแล้วกว่าที่จะเดินทรงตัวหรือวิ่งช้าๆ ได้ แต่ล่าสุดเราก็ได้เห็นกันแล้วกับหุ่นยนต์ 4 ขาที่พัฒนาโดยสถาบัน MIT ที่สามารถวิ่งและกระโดดข้ามสิ่งกีดขวางได้อย่างน่าทึ่ง หรือหุ่นยนต์ที่พัฒนาโดยบริษัท Boston Dynamics ที่ชื่อว่า Handle Robot ที่สามารถวิ่งและกระโดดทรงตัวบนโต๊ะได้อย่างสมบูรณ์แบบ แล้วลองนึกภาพพัฒนาการอีก 10-15 ปีข้างหน้าสิครับ หุ่นยนต์หรือจักรกลพวกนี้คงจะวิ่งได้อย่างคล่องแคล่วไม่ต่างกับมนุษย์อย่างเราๆ แน่ๆ

Credit : www.youtube.com

ทีนี้ลองนึกภาพการแข่งขันวิ่งมาราธอน 42 กิโลเมตรระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ ไม่ต้องคิดเลยครับว่าใครจะชนะ หรือการวิ่ง 100 เมตรที่วิ่งกันแทบตายก็ลดสถิติต่ำกว่า 9.80 กว่าๆ ได้ยากเย็นเหลือเกิน ผมว่าเอาเข้าหุ่นยนต์ของ MIT ในอีก 10 ปีข้างหน้ามาวิ่งเชื่อขนมกินได้ว่าเร็วกว่า Usain Bolt แน่นอน

อีกประเด็นที่น่าสนใจสำหรับวงการกีฬาในยุคเทคโนโลยีครองโลก ก็คือเรื่องของประเภทการแข่งขันกีฬาใหม่ๆ ที่ผมเองก็ไม่อยากเชื่อว่าจะมีคนเอาจริงเอาจังและกำลังจะถูกบรรจุเป็นกีฬาประเภทหนึ่งของ Asian Games ปี 2022 ที่ประเทศจีน กีฬาประเภทดังกล่าวก็คือ eSports ซึ่งถ้าผมเข้าใจไม่ผิดคงย่อมาจาก Electronic Sports นั่นเอง

shutterstock_665500972_Fotor

eSports เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากในหมู่เด็กรุ่นใหม่ แม้กระทั่งประเทศไทยเองก็มีสมาคมกีฬานี้อยู่ด้วย จากที่ผมเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อเดือนก่อน จะว่าผมเป็นคนล้าสมัยก็ได้แต่ผมยอมรับครับว่าเกมคอมพิวเตอร์หรืออะไรพวกนี้เป็นสิ่งที่ผมไม่คุ้นเคยและไม่ค่อยสนใจมากเท่ากับการเล่นกีฬาโบราณอย่างฟุตบอลกับเพื่อนๆ ในสนามกลางแดดกลางฝน จวบจนกระทั่งเริ่มเห็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยครั้งขึ้นก็อดที่จะสงสัยไม่ได้

จากข่าวที่อ่านเจอเค้าบอกว่า The Olympic Council of Asia ได้ลงนามเป็นพันธมิตรกับ Alisports ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Alibaba ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซของจีนที่จะนำเอา eSports เข้าเป็นกีฬาสาธิตในการแข่งขัน Asian Games ปีหน้าที่อินโดนีเซีย และจะเป็นกีฬาที่มีเหรียญให้ในปี 2022 ที่จีนเป็นครั้งแรก ซึ่งนับว่าเป็น break through ครั้งสำคัญของการเบลอเส้นแบ่งระหว่าง เกม กับ กีฬา ที่ท้ายที่สุดแล้วกำลังจะถูกจำกัดความให้เป็นเรื่องเดียวกัน

ยิ่งล่าสุดผมเจอข่าวของมหาวิทยาลัย University of Utah ในสหรัฐอเมริกาก็ประกาศจัดตั้งทุนการศึกษาให้กับเด็กที่มีความสามารถในการแข่งขันกีฬา eSports และเป็นตัวแทนทีมของมหาวิทยาลัยด้วย ซึ่งนับเป็นสถาบันการศึกษาแรกที่ให้การรับรองและยอมรับ eSports ขึ้นมาเทียบเท่ากับกีฬาประเภทอย่างอเมริกันฟุตบอล หรือ บาสเก็ตบอล กีฬาประจำชาติของอเมริกาในด้านความสำคัญเลยทีเดียว

จริงๆ แล้วเรื่องของการ merge ระหว่าง “ความสามารถบนหน้าจอเกมคอมพิวเตอร์” กับ “ศักยภาพในโลกแห่งความเป็นจริง” ก็เคยมีกรณีตัวอย่างแล้วที่พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นไปได้ ยกตัวอย่างเจ้าหนูชาวอังกฤษที่ชื่อว่า Jann Mardenborough อายุ 19 ปีที่มีฮีโร่คือ Lewis Hamilton นักแข่งรถสูตร 1 ชาวอังกฤษ โดยเจ้าหนู Jann คนนี้เข้าร่วมการคัดเลือกนักเล่นเกม Gran Turismo ผ่านโปรแกรม Nissan GT Academy ที่จะเลือกผู้ที่ทำคะแนนสูงสุดของเกมดังกล่าวเข้าร่วมแคมป์ฝึกหัดขับรถแข่งของจริงโดยทีม Nissan เป็นผู้สนับสนุน และท้ายสุดเจ้าหนู Jann คนนี้ก็สามารถโชว์ทักษะการขับรถแข่งบนถนนจริงๆ ได้เฉียบขาดและกลายเป็นนักแข่ง Le Mans 24 ชั่วโมงได้จริงๆ ในปี 2011

jann

Jann Mardenborough Credit : https://alchetron.com

เอาล่ะครับทีนี้บรรดาผู้ปกครองของ น้องๆ ที่วันๆ เอาแต่จ้องอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เล่นเกมกันเป็นชั่วโมงๆ อาจมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ก็เป็นได้ที่จะได้เห็นลูกหลานของตนเปลี่ยนตัวเองจากสถานะ เด็กติดเกม กลายเป็น “เด็กโควต้าช้างเผือก” หรือ “นักกีฬาทีมชาติ” ได้เลยนะครับ

บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามกีฬา ฉบับวันที่  18 สิงหาคม 2560

ติดตามมุมมองสบายๆ ของเศรษฐา ทวีสิน เกี่ยวกับกีฬาและสังคมได้ที่ Social & Culture