อิตาลีตกรอบฟุตบอลโลก 2018 ยักษ์ใหญ่ที่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน

หนึ่งในข่าวร้ายปลายปีของแฟนๆ ฟุตบอลคงหนีไม่พ้นเรื่องการไม่ได้เข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปีหน้าของทีมชาติอิตาลีที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในทีมสำคัญที่สุดทีมหนึ่งในวงการฟุตบอลระดับโลก และกลายเป็นความล้มเหลวที่ชาวอิตาเลียนยากจะกลืนกินและยอมรับมันได้ นอกจากทีมใหญ่ๆ จากทวีปยุโรปที่ตกรอบอย่างอิตาลีและฮอลแลนด์แล้ว เรียกได้ว่าฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปีหน้านี้กลายเป็นทัวร์นาเมนต์ที่แปลกเอาการอยู่ทีเดียวเพราะจะไม่มีทีมแชมป์ฟุตบอลของทวีปใหญ่ๆ เข้าร่วมแข่งขันไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา แชมป์ฟุตบอล คอนคาเคฟ โกลด์คัพของทวีปอเมริกากลางและเหนือ ทีมชาติชิลี แชมป์ฟุตบอลทวีปอเมริกาใต้ และคาเมอรูน แชมป์ทวีปแอฟริกา ฟังแล้วก็เหวอๆ อยู่นะครับ ทัวร์นาเมนต์ระดับ Multi Continental กลับกลายเป็นขาดแชมป์จากแต่ละทวีปไปเสียนี่

 

กลับมาที่ประเด็นทีมชาติอิตาลีไม่ได้เข้ารอบกันต่อ เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศเพราะใครๆ ก็รู้ดีว่าชาวอิตาเลียนคลั่งไคล้ฟุตบอลขนาดไหน เป็นความล้มเหลวที่แทบจะลดธงครึ่งเสากันเลยทีเดียว แม้แต่ Gianluigi Buffon อดีตผู้รักษาประตูทีมชาติตัวเก๋าที่ประกาศเลิกเล่นภายหลังที่ตกรอบออกปากว่า “We failed at something which also means something on a social level” ซึ่งนอกเหนือจากผลกระทบทางด้านจิตใจและศักดิ์ศรีของชาวอิตาเลียนแล้ว ในเชิงของเศรษฐกิจก็ว่ากันว่าการตกรอบในครั้งนี้ส่งผลให้เม็ดเงินหมุนเวียนภายในประเทศที่มาจากค่าโฆษณาโทรทัศน์หายไปกว่า 100 ล้านยูโรเลยทีเดียว สำหรับประเทศอิตาลีซึ่ง GDP เพิ่งเริ่มมีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นเพียง 1.8% ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2011 นี่ถือเป็นเรื่องใหญ่ไม่ใช่เล่นเลยครับ

Gianluigi Buffon

แน่นอน คนแรกที่หัวต้องหลุดจากบ่าสำหรับงานนี้ก็คือโค้ชทีมชาติอย่างนาย Gian Piero Ventura ผู้ซึ่งเข้ามาทำหน้าที่ได้เพียงแค่ 16 เดือนก่อนชะตาจะขาด ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากที่จะโยนบาปให้กับเค้า ในฐานะที่เคยคุมทีมประสบความสำเร็จแค่ระดับทีมในดิวิชั่น 3 กับ 4 ของลีก หลายคนไม่เชื่อตั้งแต่แรกแล้วว่าเค้าจะสามารถทำหน้าที่นี้ได้ดี เพราะอิตาลีเองก็มีโค้ชเก่งๆ อยู่หลายต่อหลายคนในวงการไม่ว่าจะเป็น Ancelotti หรือ Conte

ซึ่งนาย Ventura ก็ถูกเพ่งเล็งมาเรื่อยๆ เมื่อสถานการณ์สำหรับทีมเริ่มแย่ลงๆ ฟางเส้นสุดท้ายขาดลงเมื่อเค้าตัดสินใจจับปีกตัวเก่งความหวังของทีมอย่าง Lorenzo Insigne นั่งม้านั่งสำรองในเกมชี้ชะตากับสวีเดน แม้กระทั่งตอน Ventura ตัดสินใจเปลี่ยนตัวจะเอา De Rossi ซึ่งเป็นกองกลางตัวรับลงไปเล่นทั้งๆ ที่ต้องการประตูอย่างมาก ตัว De Rossi เองยังชี้นิ้วไปที่ Insigne และปฏิเสธที่จะลงสนามด้วยซ้ำถ้าใครดูภาพในวันนั้น

Gian Piero Ventura

แต่ความจริงแล้ว นาย Ventura คนเดียวหรือที่ควรจะโดนลงโทษและกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุของการตกรอบในครั้งนี้ ไม่ครับ มีปัจจัยอีกหลายอย่างที่น่าสนใจ

อย่างแรกที่เค้าวิเคราะห์กันก็คือความเสื่อมถอยของวงการฟุตบอลลีกในประเทศอิตาลีเองที่เคยเป็นเจ้าแห่งสโมสรยุโรปในยุคปลาย 80’s ถึงปลาย 90’s อย่างไรก็ตามความรุ่งเรืองเริ่มเสื่อมถอยลงในยุคต้นศตวรรษที่ 21 เมื่อหลายสโมสรที่บริหารผิดพลาดต้องล้มละลายและอีกหลายสโมสรถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการล้มบอล ซึ่งประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่การขยายตัวของฟุตบอลลีกอย่าง EPL บุนเดสลีกา และ La Liga เติบโตอย่างรวดเร็วในระดับโลก ขยายฐานแฟนบอลและฐานรายได้จากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดมากมายมหาศาล

สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เชื่อว่าเม็ดเงินที่ถูกใส่เข้าไปในการพัฒนาวงการฟุตบอลของประเทศอิตาลีถดถอยลงไป ผลผลิตของวงการฟุตบอลรุ่นใหม่ไม่ค่อยเจ๋งเท่ากับสมัยก่อน ซึ่งถ้าดูจากรายชื่อของผู้เข้าชิงรางวัล Ballon d’Or ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีผู้เล่นชาวอิตาเลียนได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเพียงแค่ 4 คนเท่านั้น ซึ่งถ้านับจากอันดับประเทศที่มีนักเตะได้รับเสนอชื่อเยอะที่สุด อิตาลีเข้าเป็นอันดับที่ 8 เท่านั้นเองในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างสเปนได้ที่ 1 ด้วยชื่อนักเตะเข้ารอบ 16 ชื่อด้วยกันในระยะเวลาเดียวกัน

ยิ่งกว่านั้นแล้วที่น่าสนใจและน่ากังวลยิ่งขึ้นก็คือตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมามีนักเตะอิตาเลียนคนเดียวที่ได้รับเสนอชื่อ Ballon d’Or ตอนมีอายุต่ำกว่า 30 ปีนั่นก็คือ Mario Balotelli นอกจากนั้นแล้วทุกคนที่ได้รับเสนอชื่อมีอายุเกิน 30 ปีทั้งนั้น และเมื่อมองดูรายชื่อผู้เล่นของทีมอิตาลีชุดก่อนตกรอบจะเห็นว่าทั้ง Buffon, Chiellini, Baezagi และกองกลางตัวรับอย่าง De Rossi คือผู้เล่นที่ตกค้างมาจากชุดแชมป์โลกปี 2006 ทั้งนั้น รวมรับใช้ทีมชาติด้วยกันทั้งหมดกว่า 463 นัดมาแล้ว นั่นหมายความว่าอิตาลีไม่มีนักเตะรุ่นใหม่ที่จะฝากความหวังได้เลย ต้องพึ่งรุ่นเก๋า ซึ่งเรี่ยวแรงและสปีดคงสู้กับนักเตะรุ่นใหม่ๆ เด็กๆ ไม่ค่อยได้หรือเปล่า

อีกเรื่องหนึ่งที่นักวิเคราะห์มองว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อิตาลีตกรอบในครั้งนี้ก็คือระบบการวัดผลงานของ FIFA เองที่ไม่เข้าท่าเสียเลย การที่ทีมชั้นนำอย่างอิตาลีกับสเปนถูกจับอยู่รอบคัดเลือกสายเดียวกันโดยทีมชนะเลิศจะเข้ารอบอัตโนมัติแค่ทีมเดียว นั่นก็เพราะตอนจับสลากแบ่งสายรอบคัดเลือกตามระบบการวัดคะแนน FIFA อิตาลีถูกจัดอันดับอยู่ที่ 17 ในโลก ซึ่งถูกใส่ลงในตัวเต็งประเภท 2 ในขณะที่สเปน อังกฤษ เยอรมัน ล้วนแล้วแต่อยู่ในตัวเต็งประเภท 1 อิตาลีกับสเปนเลยมาลงเองในสายเดียวกัน

ในขณะเดียวกัน ทีมรองบ่อนอย่างเวลส์และโรมาเนียกลับได้เป็นตัวเต็งประเภท 1 ในรอบคัดเลือก นั่นก็เพราะว่าระบบ FIFA มีการหาค่าเฉลี่ยคะแนนจากการแข่งอุ่นเครื่องกับทีมที่อันดับต่ำกว่ามาเป็นแต้มต่อหักลบด้วย ซึ่งยิ่งถ้าทีมไหนอุ่นเครื่องเยอะกับทีมที่ไมแข็งมากจะส่งผลให้คะแนน Ranking ลงต่ำ ซึ่งก่อนหน้าจับสลากแบ่งสายรอบคัดเลือก 12 เดือนอิตาลีถูกจัดอันดับโดย FIFA ที่อันดับ 14 แต่ตัวเองดันไปแข่งเกมอุ่นเครื่องถึง 4 นัดในรอบ 12 เดือนซึ่งเอาชนะได้แค่ 2 นัด ในขณะที่เวลส์ไม่มีอุ่นเครื่องเลยและโรมาเนียอุ่นไปแค่ 1 ครั้งแค่นั้นเอง ผลก็คือก่อนจับสลากทีมชาติเวลส์อยู่ในอันดับที่ 8 และโรมาเนียอยู่ในอันดับที่ 10 ของ FIFA ถูกจับอยู่ในประเภทเต็ง 1 ไปและอิตาลีร่วงลงมาอันดับที่ 17

อันนี้ก็ไม่ทราบว่าเพราะอิตาลีเองมั่นใจว่าจะทำผลงานจากอุ่นเครื่องได้ดีหรือต้องการเตรียมทีมแบบจริงๆ จังๆ โดยลืมคำนึงถึงกฏเกณฑ์การวัดคะแนนของ FIFA ไป (หรือต้องการหาเงินเข้าสมาคมจากเกมอุ่นเครื่อง?) แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นส่งผลเสียแบบคาดไม่ถึงไปซะนี่ รู้อย่างนี้อยู่เฉยๆ จะดีเสียกว่า

ก็ต้องดูกันต่อไปครับ ตัวอย่างความล้มเหลวของทีมยักษ์ใหญ่ลูกหนังไม่เข้ารอบฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายแล้วกลับมาอย่างแข็งแกร่งเคยมีให้เห็นแล้วเช่นฝรั่งเศสที่ไม่เข้ารอบสุดท้ายปี 1990 และ 1994 แต่กลับมาด้วยทีมระดับเทพในปี 1998 และคว้าแชมป์ไปได้ ผมเชื่อว่าแฟนบอลอิตาลีคงอยากเห็นแบบนั้นบ้างใช่ไหมครับ

 

บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามกีฬา ฉบับวันที่  8 ธันวาคม 2560

ติดตามมุมมองสบายๆ ของเศรษฐา ทวีสิน เกี่ยวกับกีฬาและสังคมได้ที่ คลิก