WOMEN ENTREPRENEUR
#ผู้หญิงเก่ง2018
นิยามของผู้หญิงยุคใหม่!

หลายคนคงคุ้นหูกับคำว่า “Working Woman” ที่แสดงถึงความเก่งและเท่าเทียมกับเพศชายได้ไม่น้อยหน้า ซึ่งอาจถือสิ่งนี้เป็นเทรนด์ในปีหลังๆ ที่ผู้หญิงเริ่มหันมาทำอะไรด้วยตัวเองมากขึ้น ซึ่งเด่นชัดที่สุดคือเรื่องการมีบทบาทในการทำงานในแต่ละองค์กร ที่เริ่มมีชื่อของผู้หญิงในตำแหน่งใหญ่ๆ มากขึ้น ซึ่งในงาน Creative Talk Conference 2018 ที่ผ่านมา เราได้มีการพูดคุยในเรื่องนี้และเป็นที่สนใจจึงนำมาบอกเล่ากันต่อ

 

การเป็นผู้หญิงที่เป็นเจ้าของธุรกิจมีความแตกต่างกับผู้ชาย

คุณพรทิพย์ กองชุน (Jitta)

ผู้หญิงที่เป็นเจ้าของธุรกิจจะแตกต่างกับผู้ชายทั้งในแง่ของมุมมองและมิติการทำงาน เพราะผู้หญิงมีความละเอียดอ่อนและความเข้าใจที่มากกว่า นอกจากนี้ยังไวต่อความรู้สึกทำให้เข้าถึงและพูดคุยกับผู้คนได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงความละเอียดรอบคอบและความกังวลต่อความเสี่ยงจะทำให้ผู้หญิงที่เป็นผู้ประกอบการมีแผนสำรองและการค้นหาข้อมูลที่รอบด้าน

แม้ในอดีตผู้หญิงจะถูกมองว่าไม่เหมาะต่อการเป็นผู้ประกอบการ แต่ในขณะนี้มีผู้หญิงที่มีวิสัยทัศน์ที่ดีมากมายในวงการ ไม่ได้แตกต่างจากเพศชายเลย

อุปสรรคในการเป็นผู้หญิงที่เป็นผู้ประกอบการ

คุณนิรัตน์ชญา การุญวงศ์วัฒน์ (Little Monster)

การเป็นผู้หญิงทำให้ต้องทำทั้งหน้าที่แม่และหน้าที่ในอาชีพการงานไปพร้อมกัน ทำให้มีเวลาเป็นอุปสรรคในการทำงาน ดังนั้นการแบ่งเวลาและจัดสรรเวลาให้ดีเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้สร้างสมดุลเรื่องครอบครัวและการงานได้ นอกจากนี้การเป็นผู้หญิงที่ต้องทำงานอยู่ในบริษัทที่มีโครงสร้างใหญ่มีโอกาสสูงที่จะไม่สามารถขยับตำแหน่งขึ้นไปในระดับบริหารได้ เพราะจะไม่ได้รับการผลักดันจากผู้บริหารชายเท่าไรนัก การผลักดันตัวเองและปรับตัวให้เข้ากับองค์กรได้ก็เป็นเรื่องสำคัญ เมื่ออยู่ในองค์กรใหญ่อาจจะต้องโปรโมทตัวเอง แข็งกร้าวและชัดเจน แต่เมื่อกลับลงมาเริ่มทำสตาร์ทอัพเป็นของตนเอง ความเข้าใจและความอ่อนโยนในฐานะผู้หญิงก็ควรถูกนำมาใช้สร้างความอุ่นใจให้กับพนักงาน

คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ (TechSauce)

ผู้หญิงที่เป็นผู้ประกอบการกำลังกลายเป็นเทรนด์

ปัจจุบันการผลักดันผู้หญิงให้ขึ้นมามีตำแหน่งในระดับบริหารและการก้าวเข้าสู่อาชีพผู้ประกอบการกำลังกลายเป็นเทรนด์ของโลกจริงๆ เพราะทั้งโลกเองก็ต้องการลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น นอกจากนั้นเมื่อมีผู้ประกอบการหญิงมากขึ้นและสามารถรวมตัวกันเป็น Community ได้ก็ทำให้เทรนด์นี้เข้มแข็งและยิ่งส่งเสริมผู้หญิงให้เข้ามาทำงานตรงนี้ได้เพิ่มมากขึ้น

การจัดการกับปัญหาผู้หญิงถูกคุมคามทางเพศในบริษัท

ส่วนมากปัญหาการจัดการการถูกคุมคามทางเพศมักไม่ได้อยู่ที่บริษัท แต่อยู่ที่ตัวผู้ถูกคุมคามเองมากกว่าที่อาจจะได้รับความอับอาย ไม่อยากมีปัญหาในหน้าที่การงาน หรือไม่อยากสร้างภาระเพิ่มขึ้นให้ตนเอง จึงตัดสินใจเก็บไว้กับตัวเองมากกว่าซึ่งมันทำให้ปัญหาไม่ถูกคลี่คลาย จึงอยากสนับสนุนให้ผู้หญิงที่ถูกคุมคามทางเพศออกมาพูดเพื่อตนเองและช่วยหยุดไม่ให้คนเหล่านี้ไปทำกับคนอื่นต่อ หากสังเกตจากกรณีศึกษาต่างๆ จะเห็นว่า หากมีใครคนหนึ่งยอมออกมาเล่า ออกมาต่อสู้ก่อนเหตุการณ์ที่เหลือจะคลี่คลายไปได้ง่ายขึ้น

จากทุกเรื่องที่พูดมา คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่ผู้หญิงจะมีบทบาทในการทำงานเท่าเทียมผู้ชายแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เพราะนี่คือปี 2018 ที่ทุกอย่างเปลี่ยนไป พร้อมด้วยสัญญาณที่ดีที่เริ่มให้ผู้หญิงฉีกกรอบความกลัว และกล้าทำให้สิ่งต่างๆ ให้ได้รับการยอมรับที่มากขึ้นไปจนถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ในที่สุด

 

สามารถชมวิดีโอย้อนหลังได้ที่ คลิก