งานบ้านและงานตัว ภาระหนักอึ้งของสตรีเพศในยุคโควิด

คนที่อ่านคอลัมน์นี้อยู่ มีใครที่เป็นคุณแม่สายทำงานประจำบ้างไหมครับ อยากรู้เหมือนกันว่าชีวิตในยุคไวรัสร้ายที่มีการล็อคดาวน์ โรงเรียนปิด ทำงานที่บ้าน แต่ละท่านมีความหนักใจอะไรบ้างไหมเพราะในต่างประเทศมีพูดถึงเรื่องของปัญหาคุณแม่หลายคนรู้สึกได้ถึง “ภาระ” ที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างเยอะจากการต้องช่วยดูแลสามี บุตร ทั้งหาอาหาร สอนหนังสือ รวมถึงยังมีงานบ้านอีกมากมาย ณ เมื่อทุกคนล็อคดาวน์อยู่บ้านกัน 24 ชั่วโมง งานก็เพิ่มขึ้นทวีคูณจนแทบรับมือไม่ไหว

Sheryl Sandberg สุภาพสตรีที่เป็น COO ของ Facebook บอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ และเราควรหันมาสนใจช่วยกันสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมให้เกิดขึ้นมากกว่านี้ โดยเธอบอกว่าถ้านับรวมเวลาทำงานบ้าน ดูแลลูก สิ่งที่สังคมมองว่าเป็น “หน้าที่” ของสตรีเพศเข้าไปกับงานปกติแล้วเปรียบเสมือนสตรีมีการทำงาน 2 กะเลยทีเดียว แม้ว่าเริ่มเห็นแนวโน้มที่ฝั่งสามีมาช่วยทำงานบ้านแล้วแต่ก็ยังไม่ค่อยได้รับการยอมรับเสียเท่าไหร่ในหลายๆ วัฒนธรรม 

อีกปัญหาหนึ่งที่ Sheryl หยิบขึ้นมาพูด โดยบอกว่าส่งผลกระทบต่อสตรีเพศในธุรกิจเป็นอย่างมากก็คือปัญหาการว่างงาน เลิกจ้างของภาคอุตสาหกรรมด้านท่องเที่ยว สายการบิน บริการ ร้านอาหาร และรีเทล ซึ่งกระทบกับแรงงานสตรีเพศอย่างมาก เนื่องจากพวกเธอคือแรงงานหลักของอุตสาหกรรมดังกล่าว กลายเป็นศัพท์สแลงใหม่ขึ้นมาว่า “she-cession” ที่มาจากคำว่า “she” + “recession” นั่นเอง

ก็เลยจุดประกายคำถามกับสังคม 2 ประเด็น คำถามแรกคืออีกนานไหมที่สังคมจะเลิกความคิดฝังหัวเดิมๆ ว่างานบ้านเป็นหน้าที่ของผู้หญิงในครอบครัวเสียทีและเข้าใจว่าเรื่องงานบ้านจุกจิกนี้ใช่งานเบาๆ เสียที่ไหน เรียกว่าเหนื่อยมาจากงานประจำของตัวเองแล้วยังต้องเหนื่อยต่ออีกเท่ากับงานบ้าน และอาจส่งผลต่อสภาพร่างกาย (พักผ่อนไม่เพียงพอ) และจิตใจ (ความเครียด) ของสตรีเพศในครอบครัวได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่นายจ้างก็ไม่เคยระลึกว่าเป็นปัญหาของลูกจ้างสตรีเพศส่วนมาก 

ซึ่งก็จะเชื่อมโยงมาคำถามที่ 2 ก็คือภาคธุรกิจและภาครัฐควรมีโครงสร้างในการรองรับให้การสนับสนุนแรงงานสตรีเพศที่ดีกว่านี้ไหม ปัญหาเรื่องของภาระงานประจำและงานบ้านที่หนักเป็น 2 เท่า รวมถึงการว่างงานของสตรีเพศในบางกลุ่มธุรกิจที่โดนผลกระทบหนักเป็นพิเศษควรมีมาตรการที่สอดคล้องในเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมในการได้รับสวัสดิการและความช่วยเหลือหรือไม่อย่างไร

ถือว่าเป็นความท้าทายที่ไม่ง่ายนะครับ อันหนึ่งเป็นเรื่องการเปลี่ยนมุมมองทางสังคม วัฒนธรรมที่ถูกฝังรากลึกมาหลายร้อยปี อีกอันเป็นปัญหาการปรับโครงสร้างสวัสดิการขององค์กรต่างๆ ซึ่งก็สเกลใหญ่มหาศาล ซึ่งสถานการณ์โรคระบาดนี้ก็ทำให้เราได้เห็นประเด็นปัญหาพวกนี้ชัดขึ้น ดังนั้นผมว่าเราคงจะฝืนความจริงไปไม่ได้ องค์กรไหนที่พอเข้าใจและปรับได้เรื่องของสวัสดิการที่ผ่อนภาระของแรงงานสตรีได้ก็ควรเริ่มทำ อย่างน้อยถ้าจะช่วยกันต้องหาจุดเริ่มต้นเล็กๆ สักอย่างที่เราทำกันได้ครับ

CEO OF SANSIRI PLC