สโมสรฟุตบอล

จากเด็กน้อยสู่ซุปตาร์กับโมเดลอคาเดมี่ใหม่ของสโมสรฟุตบอล

ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาในหน้าวิเคราะห์กีฬาหลายหนังสือมีวาระเรื่องของ ฟองสบู่แตก สำหรับวงการลีกฟุตบอลไทยให้เห็นอยู่ประปราย เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันอีกเมื่อมีการประกาศเปลี่ยนมือของทีมฟุตบอลในลีกไทยบางทีม และมีการประกาศยุบบางทีมออกไป สาเหตุหลักๆ เลยก็น่าจะเป็นเรื่องของเงินๆ ทองๆ ที่เจ้าของทีมและผู้สนับสนุนไม่สามารถทนการขาดทุนจากการบริหารทีมเหล่านี้ได้อีกต่อไป แม้กระทั่งทีมที่มีแบ็คอัพใหญ่ๆ อย่างพลังเอ็มของโอสถสภาที่มีสินค้าวางขายมากมายเกลื่อนประเทศยังถูกอัปเปหิออกจากเงินกองกลางขององค์กรและถูกให้จัดตั้งเป็นบริษัทต่างหากมาบริหารทีมเองและท้ายสุดก็ถูกเทคโอเวอร์จากผู้ใจกล้ารายอื่นที่จะเอาเม็ดเงินมาโยนลงไปให้กับทีมนี้

ก็ต้องจับตาดูกันให้ใกล้ชิดนะครับว่าวงการฟุตบอลลีกของเราจะมีผู้บาดเจ็บล้มตายกันไปอีกกี่คนกว่าที่ลีกจะมีเสถียรภาพและหาสมดุลย์เจอ เพราะจะว่าไปช่วงหลายปีที่ผ่านมาถือเป็นปีทองของฟุตบอลและผู้ที่เกี่ยวข้องกันทั้งนั้น โดยเฉพาะทีมใหญ่ๆ ที่แข็งแกร่งและมีโครงสร้างรายได้และสปอนเซอร์ที่แข็งแกร่ง สร้างให้เกิดภาพมายาว่าฟุตบอลลีกไทยกำลังเป็นห่านทองคำที่ทุกคนอยากจะเข้ามากอบโกยและหารายได้จากตรงนี้ แต่ดูเหมือนตอนนี้สถานการณ์กำลังเปลี่ยนไปทั้งสภาวะเศรษฐกิจโลก ความผันผวนทางการเมืองภายใน ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้เม็ดเงินที่จะถูกส่งผ่านมาให้วงการฟุตบอลไทยนั้น ถูกเจียดน้อยลง หรือฟรีซไปเสียเยอะทีเดียว

จะว่าไปจังหวะนี้ก็เป็นจังหวะดีเหมือนกันนะครับ สำหรับทีมต่างๆ ที่จะหันมามองโมเด็ลการทำทีมและปรับกลยุทธ์เสียใหม่ โดยผมเพิ่งอ่านเจอบทความ 2 บทความในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ ที่ว่าด้วยเรื่องของสโมสรฟุตบอลในยุโรป 2  แห่ง นั่นก็คือ Borussia Dortmund โดยรายแรกนี้นับเป็นหนึ่งในผู้นำการแสวงหาเพชรในตมมาเจียระไน และสร้างทีมจากนักเตะรุ่นใหม่ที่ไม่มีค่าตัวสูงลิบลิ่วเหมือนคู่แข่งอย่าง Bayern Munich และอีกรายที่น่าสนใจก็คือ AC Milan ภายใต้แนวทางใหม่ของทีมบริหารที่พยายามสร้างนักเตะรุ่นใหม่ขึ้นมาแทนที่บรรดาซุปเปอร์สตาร์ในทีมที่โรยราและเริ่มสู้กับคนอื่นไม่ได้แล้ว

Gundogan ย้ายไปอยู่ Manchester city ขณะที่ Mkitaryan ย้ายไปอยู่ Manchester United - Credit: dailymail.co.uk
Gundogan ย้ายไปอยู่ Manchester city ขณะที่ Mkitaryan ย้ายไปอยู่ Manchester United (2 ทีมยักษ์ใหญ่จากเมืองแมนเชสเตอร์) – Credit: dailymail.co.uk

ว่ากันที่ Dortmund ก่อน เป็นที่รู้กันว่าสโมสรแห่งนี้โดนสโมสรเงินถุงเงินถังสอยนักเตะหลักไปอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ Lewandowski กับ Hummels ที่ไปอยู่กับคู่แข่งอย่าง Bayern Munich หรือ Gundogan กับ Mkhitaryan ที่ย้ายไปเก็บเกี่ยวเงินใน EPL แต่ Dortmund ก็มักจะเป็นจุดหมายของนักเตะรุ่นใหม่หลายๆ คนที่ดูจะมีอนาคตไกล และเป็นที่ต้องตาของสโมสรใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น Ousmane Dembele กองหน้าอายุ 19 ชาวฝรั่งเศสที่สโมสรอย่าง Liverpool และ Manchester City เคยหมายตาไว้ หรือจะเป็น Emre Mor กองกลางตำแหน่งปีกอายุ 19 ชาวตุรกี หรือ Mikel Merion กองกลางชาวสเปนอายุ 20 ปี ที่ได้ย้ายเข้ามาอยู่ใต้ร่มของ Dortmund ส่งผลให้ทีมนี้กลายเป็นทีมเด็กรุ่นใหม่ไฟแรงที่สุดทีมหนึ่งในยุโรปภายใต้การนำของผู้จัดการรุ่นใหม่อย่าง Thomas Tuchel

Ousmane Dembele
Ousmane Dembele กองหน้าอายุ 19 ชาวฝรั่งเศส – Credit: footmercato.net
emre-mor-dortmund_sansiri-blog
Emre Mor กองกลางตำแหน่งปีกอายุ 19 ชาวตุรกี – Credit: bvb.de

โดยสิ่งหนึ่งที่ Michael Zorc ประธานฝ่ายเทคนิคของ Dortmund บอกก็คือ “จุดประสงค์หลักของเรา คือ  เราไม่ได้อยากเป็นทีมที่มีผู้เล่นอายุน้อยที่สุดทีมหนึ่งในยุโรป แต่ความจริง คือ เราไม่มีอำนาจเงินมากพอเหมือนทีมใหญ่ๆ อื่นๆ ในยุโรปที่จะซื้อนักเตะซุปเปอร์สตาร์สำเร็จรูปมา ดังนั้นเราจึงพยายามพัฒนา talent ใหม่ๆ ขึ้นมาด้วยการให้โอกาสเด็กรุ่นใหม่เหล่านี้ได้แสดงฝีเท้าในการแข่งขันระดับสูงสุด”

Gianluigi Donnarumma ผู้รักษาประตูทีม AC Milan ที่มีอายุเพียง 17 ปี - Credit: goal.com
Gianluigi Donnarumma ผู้รักษาประตูทีม AC Milan ที่มีอายุเพียง 17 ปี – Credit: goal.com

ไม่ต่างกับทีม AC Milan ภายใต้การบริหารของ Adriana Giallini ที่มอบหมายหน้าที่ในการปั้นนักเตะรุ่นใหม่ๆ ของสโมสรเพื่อมาทดแทนบรรดานักเตะในทีมใหญ่ที่โรยราด้วยวัยเฉลี่ยเกิน 30 ปีกันแล้วให้กับ Filippo Galli หัวหน้าทีมสโมสรชุดเยาวชนของ AC Milan ส่งผลให้ทีม AC Milan ในฤดูกาลนี้กลายเป็นทีมที่มีอายุเฉลี่ยของนักเตะน้อยที่สุดทีมหนึ่งในยุโรป และก็ต้องบอกว่าก็ต้องทำได้ดีไม่เลวเลยเพราะจากผลงานหลังๆ ชนะได้ 4 จาก 5 นัดใน Calcio Series A ซึ่งรวมถึงชนะเหนือแชมป์เก่าอย่าง Juventus ด้วย

สาเหตุหนึ่งของการที่ AC Milan ที่ผ่านมาเป็นทีมที่เต็มไปด้วยนักเตะรุ่นเก่าก็เพราะว่า สโมสรแห่งนี้มีหน่วยงานที่เรียกว่า Milan Lab ที่ใช้ความก้าวหน้าทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่ช่วยให้นักเตะของเค้ามีอายุการใช้งานได้นานขึ้น ยกตัวอย่างเช่น Cafu หรือ Maldini หรือ Pirlo ล้วนแล้วแต่ผ่านการดูแลรักษาจาก Milan Lab แห่งนี้มาแล้วทั้งสิ้น ส่งผลให้สโมสรละเลยการสรรหาหรือพัฒนานักเตะรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทนในระยะเวลาที่ผ่านมาโดยหวังว่านักเตะรุ่นเก๋าเหล่านี้จะพยุงสโมสรไปได้เรื่อยๆ

Franco Baresi และ Maldini จากทีม AC Milan - Credit: thesun.co.uk
Franco Baresi และ Maldini จากทีม AC Milan – Credit: thesun.co.uk

สถานการณ์ของ Milan ตอนนี้ไม่ต่างอะไรกับในยุค 80’s ที่สโมสรประสบปัญหาการเงิน ไม่สามารถแข่งขันกับสโมสรใหญ่ๆ ได้ นั่นเป็นที่มาของการปั้นนักเตะรุ่นใหม่ในยุคนั้นแบบ low-cost ขึ้นมาจนกลายเป็นตำนานของสโมสรอย่าง Franco Baresi, Maldini, Costacurta และ Albertini ดังนั้น จากการที่ Milan กำลังอยู่ในภาวะถดถอยทางสถานะการเงิน ณ ปัจจุบัน การหันมาปั้นนักเตะรุ่นใหม่จึงเป็นทางออกคล้ายๆ กับ Dortmund ที่จะช่วยประหยัดเงินได้เยอะและสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับสโมสรเลยทีเดียว

หันกลับมามองสโมสรไทยกันบ้าง อย่างที่ผมกล่าวไปครับ ตอนนี้อาจจะเป็นโอกาสดีที่เราเริ่มเห็นภาวะฟองสบู่เกิดขึ้นในวงการฟุตบอลไทย เม็ดเงินไม่ได้เยอะเหมือนเมื่อก่อน จะดีไหมถ้าสโมสรต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนานักเตะรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาแทนที่จะเสียเงินไปซื้อตัวนักเตะต่างชาติเกรด B หรือที่รีไทร์แล้วมาเล่นให้กับทีมพร้อมค่าตัวที่แพงแสนแพง มองในระยะยาวผมว่าดีกว่าแน่นอน

อย่างแรกเลย เป็นการประหยัดเงินให้กับสโมสรที่กำลังลำบาก นักเตะเหล่านี้พร้อมที่จะได้โอกาสในการแสดงฝีมือให้เห็น ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าอาจจะเพื่อให้ต้องตาสโมสรใหญ่ๆ เพื่อจะซื้อตัวไปเล่นให้ แต่ก็ไม่เป็นไรครับ ผมว่าใน pipeline เรามีนักเตะอีกมากมายที่ยังไม่ได้รับการเจียระไน ถ้าอยากได้ก็เอาไปเถอะ

ประการที่สองเลย ถ้าหากสโมสรประหยัดเงินในเรื่องค่าตัวค่าเหนื่อยนักเตะที่เฟ้อกันมากได้ ปัญหาการเงินก็อาจบรรเทาลง การยุบทีมหรือเปลี่ยนเจ้าของก็จะเกิดน้อยลง ฐานแฟนบอลก็จะเป็นอะไรที่แน่นหนาระยะยาว เพราะไม่มีการย้ายทีมไปเรื่อยๆ อันนี้น่าจะส่งผลให้พื้นฐานของการสนับสนุนมันต่อเนื่องกว่านะครับ

และอีกอย่างที่ลืมไม่ได้ นั่นก็คือการเปิดโอกาสให้นักเตะรุ่นใหม่ๆ ได้แสดงศักยภาพและหวังว่าจะเป็นอนาคตให้กับทีมชาติเราได้ เพราะนั่นหมายถึงการบ่มเพาะตั้งแต่เด็กๆ ให้มีวินัย ให้เผชิญแรงกดดันได้สูง ฯลฯ ซึ่งน่าจะทำให้ทีมชาติเรามีตัวเลือกมากขึ้นในทุกๆ รุ่นครับ

ข้อมูลจาก: คอลัมน์ “เศรษฐา & กีฬา” ยิ่งเด็กยิ่งดี: โมเด็ลใหม่ของสโมสรฟุตบอล? โดยคุณเศรษฐา ทวีสิน (สยาม สปอร์ต รายวัน) วันที่ 4 พฤศจิกายน 2559

ถ้าคุณสนใจบทความกีฬา: 

ฟุตบอลไทย: อดกังวลไม่ได้อีกแล้ว คลิก
รับน้องใหม่มาแรงใน Bundesliga คลิก