จากผู้เล่นไปเป็นโค้ช

จากผู้เล่นไปเป็นโค้ช ต่อยอดให้วงการฟุตบอลไทย

จากผู้เล่นไปเป็นโค้ช เมื่อสัปดาห์ก่อนที่ผมเขียนถึงเรื่องราวของ ซิเนอดีน ซีดาน หนึ่งในตำนานลูกหนังที่เริ่มเดินในเส้นทางของการเป็นโค้ชฟุตบอลอย่างเต็มตัวกับสโมสร Real Madrid ซึ่งจะว่าไปในช่วงอายุใกล้เคียงกับเค้า ก็ไม่ใช่มีแค่ซีดานคนเดียวที่ผันตัวเองมาเป็นโค้ช/ผู้จัดการทีมสโมสร ยกตัวอย่างอดีตนักฟุตบอลร่วมสมัยเดียวกับเค้าที่เดินเส้นทางเดียวกันก็เช่น ดิเอโก้ ซิโมเน่ ของ Athletico Madrid หรือ แกรี่ เนวิลล์ ที่รับคุมทีม Valencia รวมทั้ง ไรอัน กิกส์ ที่ดูเหมือนกำลังเรียนวิชากับสถาบันดั้งเดิมของตัวเองอย่าง Manchester United เพื่อรอวันปีกกล้าขาแข็งพอที่จะรับตำแหน่งโค้ชใหญ่ได้

ไม่ใช่เรื่องแปลกครับ ในอดีตเราก็เห็นบรรดานักเตะหลายคนที่ภายหลังรีไทร์ก็ผันตัวมาทำหน้าที่คุมทีมกันก็เยอะ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในอาชีพในสายฟุตบอลที่สามารถต่อยอดได้ในระยะยาวเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น เคนนี่ ดักกลิช ของ Liverpool เควิน คีแกน ของ New Castle United ฯลฯ

ทีนี้ เราลองหันกลับมาดูวงการฟุตบอลไทยของเรากันบ้าง จากการที่ฟุตบอลลีกของเราก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เงินทองไหลเข้าไปในระบบมากโขอยู่ส่งผลให้สโมสรต่างๆ มีโอกาสใช้เงินจ้างงานมากขึ้นและเพียงพอต่อการเป็นรายได้ประจำสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับทีม ก็จะเห็นได้เช่นกันว่าแนวโน้มการที่อดีตนักฟุตบอลหันมาจับงานโค้ชทีมฟุตบอลก็เริ่มมีให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

ย้อนหลังกลับไปนานหน่อย แฟนบอลก็ได้ยินชื่อของ วิทยา เลาหกุล วนเวียนอยู่ในวงการโค้ชฟุตบอลไทยมาเรื่อยๆ และถ้านับรุ่นอายุร่วมสมัยใกล้เคียงกับ ซีดาน ซิโมเน่ หรือเนวิลล์ สำหรับวงการฟุตบอลไทยเราก็ได้อดีตดรีมทีมอย่างเกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ก้าวขึ้นมาทำทีมชาติให้คนไทยได้ชื่นใจ เห็นเทอดศักดิ์ ใจมั่น ลูกหม้อของทีมชลบุรี เอฟซี ก้าวขึ้นเป็นโค้ชใหญ่ของทีม รวมถึงสุรชัย จตุรภัทรพงศ์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสโมสรฟตบอลบางกอกกล๊าส และล่าสุดธชตะวัน ศรีปาน เพื่อนร่วมรุ่นเดียวกันก็ได้รับมอบหมายให้นำทีม SCG เมืองทองสู้ศึกในปีหน้าแล้ว

ผมเชื่อว่าคงไม่มีแฟนบอลคนไหนโต้แย้งกับผมว่าชื่อที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นตัวอย่างที่แฟนบอลอย่างเราๆ ก็ชื่นชม และมีความยินดีกับบุคคลเหล่านี้ (ซึ่งมีมากกว่านี้แต่ขออนุญาตยกตัวอย่างไม่กี่ท่าน) ที่ได้มีโอกาสทำงานในสายที่พวกเค้ารัก และทุ่มเทชีวิตให้มาตลอดในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับการที่บุคคลเหล่านี้มีพื้นฐานที่ดี ทุ่มเท มีวินัย ทั้งในและนอกสนาม ทั้งในช่วงที่ยังเล่นฟุตบอล หรือแม้กระทั่งเลิกเล่นไปแล้ว เราเห็นได้ชัดจากพฤติกรรมที่ปรากฏ มีแต่คนชื่นชม สุดท้ายคนเหล่านี้ย่อมต้องได้รับการยอมรับจากทุกๆ คนรอบตัวเค้า และแน่นอนเมื่อคุณพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความเป็นมืออาชีพ อยู่ในสายเลือดของพวกคุณ ก็ย่อมจะมีคนเปิดโอกาสให้เดินต่อในถนนสายฟุตบอลนี้

ผมถือว่านี่เป็นตัวอย่างที่ดีที่นักเตะรุ่นหลังๆ ควรเอาเยี่ยงอย่าง ซึ่งก็กำลังเกิดขึ้นแล้ว ยกตัวอย่างเช่น รังสรรค์ วิวัฒน์ชัยโชค กับการก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นและโค้ชของทีม BEC Tero เมื่อไม่นานมานี้ หรืออย่างนิรุจน์ สุรเสียง ที่ทำหน้าที่ผู้ช่วยโค้ชให้กับทีมอาร์มี่ เหล่านี้เป็นภาพที่น่ายินดี เหตุผลเพราะอะไรหรือครับ

ต้องยอมรับครับว่าวัฒนธรรมไทยๆ ยังมีเรื่องของบุญคุณ เพราะฉะนั้นโดยส่วนตัวเองแล้ว ผมมีความเชื่อมั่นครับว่าบุคคลเหล่านี้ย่อมมี loyalty ต่อวงการฟุตบอลไทย ต่อสโมสรที่เค้าเคยรับใช้ ต่อเพื่อนร่วมวงการและแฟนบอล เพราะทั้งหมดคือแรงสนับสนุนที่ส่งให้พวกเค้ามาถึงจุดนี้ได้ ดังนั้นคนพวกนี้รู้ดีว่าใครเคยสนับสนุนพวกเค้าและสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นมูลค่าทางใจที่คนภายนอกอย่างบรรดาโค้ชฝรั่งมังค่าต่างชาติที่มองเห็นโอกาสเข้ามาสร้างมูลค่าให้กับตัวเองในบอลลีกไทยไม่มีให้หรอกครับ เชื่อผมเถอะ

มองกันไปลึกๆ นะครับ ผมว่าการที่เราได้อดีตนักเตะเหล่านี้เข้ามาทำหน้าที่โค้ช มันส่งผลดีต่อภาพรวมของวงการฟุตบอลไทยในระยะยาวแน่นอน การทำทีม เปรียบเสมือนสังเวียนที่ให้ฝึกวิทยายุทธ์ ถ้าคุณเป็นตัวอย่างที่ดีเหมือนอย่างชื่อคนที่ผมเอ่ยไปด้านต้นแล้ว เคยทำทีมนี้อยู่ ถ้าต้องออก สุดท้ายก็ยังมีใจและมีโอกาสและได้รับความเชื่อมั่นให้ไปทำอีกทีมหนึ่งอยู่ดี บางคนตกลงไปดิวิชั่นล่างๆ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีบทบาทนะครับ ผมว่าสุดท้ายก็มีส่วนลงไปช่วยพัฒนาศักยภาพทีมและยกระดับต่อยอดไปเรื่อยๆ สุดท้ายวงการฟุตบอลไทยเราก็จะเติบโตอย่างแข็งแรงและยั่งยืนทั้งในด้านกำลังพลของนักเตะ สต๊าฟโค้ช และทีมงาน

ในทางกลับกันครับ แฟนบอลรุ่นใหม่ๆ ของสโมสรที่เพิ่งมีการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ หรือแฟนบอลที่เพิ่งสนใจฟุตบอลในยุคที่ไทยพรีเมียร์ลีกเข้าสู่ยุครุ่งเรือง ต้องหัดอดใจรอครับ ความสำเร็จไม่ได้สร้างขึ้นมาง่ายๆ ในเร็ววัน เจ้าของสโมสรก็เช่นกัน ถ้าได้รับแรงกดดันจากแฟนบอลหรือต้องการสร้างผลงานให้เข้าตาเพื่อสร้างฐานคะแนนหรือคะแนนนิยมด้วยเหตุผลซ่อนเร้นใดๆ ก็ตาม สุดท้ายคะแนนนิยมวัดกันด้วยความสำเร็จของสโมสร ก็ใจร้อน จ้างโค้ชฝรั่งมังค่ามาเสียเลยให้รู้แล้วรู้รอดไป เร่งสีเร่งวุ้น ในขณะที่มองข้ามคนที่มี loyalty กับสโมสรและวงการฟุตบอลไทยไปเสีย ผมว่าน่าเสียดายและเป็นการเสียโอกาสอย่างมากในการที่จะมีส่วนร่วมช่วยพัฒนาวงการฟุตบอลไทยในแง่มุมนี้

จะว่าไปวงการฟุตบอลไทยถือว่าพัฒนาไปมาก แต่คำถามที่ติดค้างในใจผมก็คือ เราพัฒนาไปไกลถึงขนาดที่โค้ชคนไทยเอาไม่อยู่แล้วเชียวหรือ เราเอาอะไรมาเป็น benchmark กัน ถ้ามองแบบเลือดรักชาติ ผมก็สงสัยอยู่ตลอดว่าโค้ชฝรั่งที่ยอมมาทำหน้าที่ให้กับทีมในฟุตบอลลีกภูมิภาค ASEAN อย่างของไทยที่กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาแต่ยังไม่ถึงระดับนานาชาติได้นั้น จะเป็นตัวจริง ของจริงที่ทีมระดับแนวหน้าในลีกอื่นๆ เค้าจะไม่สนใจกันหรือ อันนี้ผมไม่แน่ใจ ในขณะเดียวกันถ้าเราจะช่วยกันสร้างรากฐานวงการฟุตบอลไทยให้ยั่งยืน ทำไมเราไม่กล้าสนับสนุนเด็กรุ่นใหม่ที่มีวินัย ที่มีความทุ่มเท ที่ได้รับการยอมรับทั้งในและนอกสนามให้สนใจการเป็นโค้ช และมีโอกาสเป็นได้จริง อย่างน้อยจะเป็นการปูพื้นให้พวกเค้าเหล่านี้ได้เห็นภาพถึงอนาคตข้างหน้าภายหลังอาชีพนักเตะยุติลง สมาคมฟุตบอลควรให้ความสำคัญในการส่งเสริมการเรียน license ต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมไหม มีทุน มี scholarship โปรแกรมและกระบวนการคัดเลือกอย่างเป็นเรื่องเป็นราวไหม

ผมเชื่อนะครับว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้เกิดขึ้น ตัวอย่างดีๆ ของนักเตะรุ่นพี่มีให้เห็นมากมายในการดำเนินชีวิตต่อในสายฟุตบอลอาชีพที่ทุกคนหลงรักและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ผมก็ได้แต่หวังว่านักเตะรุ่นหลังๆ จะไม่หลงใหลไปกับความสำเร็จที่ได้มาอย่างรวดเร็ว ณ ปัจจุบัน จนลืมนึกไปถึงโอกาสของตัวเองในการต่อยอดในอนาคตที่จะทั้งสร้างอาชีพให้ตัวเองและเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาวงการฟุตบอลไทยภายหลังที่พวกคุณแขวนสตั๊ดกันแล้ว

Related Articles

7 เรื่องฟุตบอลที่ใครอาจไม่รู้!

โจนาธาน วิลสัน นักข่าว คนเขียนบทความของ The Guardian พูดเหมือน “หมาเฝ้าบ้าน” ที่มีคนตาม follow ล้านกว่า อย่าง Henry Winter ที่ไปออกความเห็นใน GQ ว่า “ฟุตบอล” คือตลาดที่ใหญ่ที่สุด กว้างกว่า

European Super League Feature

ความเป็นไปได้อีกครั้งของ European Super League?

ในปีนี้ผมเขียนถึงประเด็นของลีกฟุตบอลในทวีปยุโรปที่นับวันจะมีความเป็นพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ มาก็หลายครั้งแล้ว แต่ยิ่งเวลาผ่านไป ก็ยิ่งมีประเด็นใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ส่อให้เห็นว่า โครงสร้างของการแข่งขันฟุตบอลลีกแบบเดิมๆ ในทวีปยุโรปนี้กำลังถูกรุกรานและคุกคามจากอำนาจของเงินตราและผลประโยชน์จำนวนหลายแสนล้านบาทที่มองไปตอนนี้ยังไงผมก็ยังเห็นกรรมวิธีการแบ่งเค้กในเรื่องของรายได้ระหว่างสโมสรในลีกยอดนิยม กับสโมสรในลีกที่ถดถอย หรือระหว่างสโมสรยักษ์ใหญ่ กับสโมสรเล็กๆ ยังไงๆ ก็คงหาจุดลงตัวได้ยาก ถ้าผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์ผมมาตลอดจะพอจำได้ว่าผมเคยเขียนถึงบรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ในลีกของยุโรปที่ถูกนายทุนและเจ้าของเงินทั้งจากสหรัฐอเมริกาเข้าไปซื้อกิจการจากเจ้าของเก่าหรือเข้าไปถือหุ้นเป็นพาร์ตเนอร์รายใหญ่สุดของสโมสรอันเนื่องมาจากโอกาสในการทำรายได้มหาศาลจากลิขสิทธิ์ค่าถ่ายทอดสดที่เราพูดกันที่ตัวเลขหลักแสนล้านบาทกันแล้วสำหรับ EPL ไม่ว่าจะเป็นสโมสร Arsenal, Aston Villa, Bournemouth, Liverpool,

“สถานีแรก” ของแฟชั่นเสื้อบอล

นิตยสาร Wired ผู้คุยว่ามักจะล้ำสมัยในเนื้อหา ได้บอกไว้ว่า โลกหลังยุคโควิด-19 หรือเรียกเท่ๆ ว่า New Normal จะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกแล้ว  ทว่า บทบาทใหม่ในโลกออนไลน์ ยังคงเป็นของ Top 4 อันไม่ได้หมายถึง แมนซิ ลิเวอร์พูล แมนยู หรือ