ในปีนี้ผมเขียนถึงประเด็นของลีกฟุตบอลในทวีปยุโรปที่นับวันจะมีความเป็นพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ มาก็หลายครั้งแล้ว แต่ยิ่งเวลาผ่านไป ก็ยิ่งมีประเด็นใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ส่อให้เห็นว่า โครงสร้างของการแข่งขันฟุตบอลลีกแบบเดิมๆ ในทวีปยุโรปนี้กำลังถูกรุกรานและคุกคามจากอำนาจของเงินตราและผลประโยชน์จำนวนหลายแสนล้านบาทที่มองไปตอนนี้ยังไงผมก็ยังเห็นกรรมวิธีการแบ่งเค้กในเรื่องของรายได้ระหว่างสโมสรในลีกยอดนิยม กับสโมสรในลีกที่ถดถอย หรือระหว่างสโมสรยักษ์ใหญ่ กับสโมสรเล็กๆ ยังไงๆ ก็คงหาจุดลงตัวได้ยาก
ถ้าผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์ผมมาตลอดจะพอจำได้ว่าผมเคยเขียนถึงบรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ในลีกของยุโรปที่ถูกนายทุนและเจ้าของเงินทั้งจากสหรัฐอเมริกาเข้าไปซื้อกิจการจากเจ้าของเก่าหรือเข้าไปถือหุ้นเป็นพาร์ตเนอร์รายใหญ่สุดของสโมสรอันเนื่องมาจากโอกาสในการทำรายได้มหาศาลจากลิขสิทธิ์ค่าถ่ายทอดสดที่เราพูดกันที่ตัวเลขหลักแสนล้านบาทกันแล้วสำหรับ EPL ไม่ว่าจะเป็นสโมสร Arsenal, Aston Villa, Bournemouth, Liverpool, Manchester United, Sunderland และ Crystal Palace หรือจะเป็นกรณีของนายหวัง เจียนหลิน คนที่รวยที่สุดในจีน เจ้าของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ Wanda Group ที่เข้าถือหุ้นใหญ่สโมสร Athletico Madrid กว่า 20% ของ และลุกลามไปถึงการเซ็นสัญญาเป็นสปอนเซอร์หลักรายใหม่ของ FIFA โดยหวังผลเพื่อให้ FIFA มอบหมายให้จีนเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในอนาคตอันใกล้นี้
ณ ตอนนี้มีเพียงแค่สองลีกอย่าง EPL และ Bundesliga เท่านั้นที่อุ่นใจกับค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่เป็นจำนวนมหาศาลที่เพิ่งเซ็นสัญญากันไป ส่วนลีกอย่าง ลา ลีกา หรือ Series A และ ลีก เอิง ก็ยังไม่สามารถสามารถขึ้นค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดที่เป็นกอบเป็นกำแบบนั้นได้ ประกอบกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จากค่าตัวและค่าเหนื่อยของนักฟุตบอลที่ต้องดึงเอาไว้กับทีม ยอดคนดูเฉลี่ยในสนามต่อเกมสำหรับลีกเหล่านี้ที่นับวันก็จะลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะ Series A ที่สนามหลายไม่สามารถดึงคนเข้าสนามได้ถึงครึ่งความจุด้วยซ้ำ (ยกตัวอย่างสถิติคนดูในบ้านของทีมยักษ์ใหญ่อย่าง AC Milan ในฤดูกาล 2014-2015 สามารถทำเงินได้แค่ 22 ล้านยูโรเท่านั้น เทียบเท่ากับสโมสรระดับกลางๆ ใน EPL อย่าง Everton แค่นั้นเอง)
ตัวเลขที่น่าตกใจของ Series A เค้าบอกไว้ว่าด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับรายได้ที่ลดลง ส่งผลให้จากเดิมที่ทีมใน Series A มีผลประกอบการเป็นบวกกลับกลายเป็นขาดทุนรวมกันกว่า 133 ล้านยูโรในเวลาแค่สิบปีที่ผ่านมา โดยมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายสูงสุดคือค่าเหนื่อยของนักฟุตบอลถึงกว่า 72% และจากผลสำรวจของ Deloitte เค้าบอกว่าแม้กระทั่งทีมที่รวยที่สุดอย่าง Juventus เงินรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลลีกก็แทบจะไม่ช่วยอะไรกับสถานะการเงินของทีมเท่าไหร่เพราะยังน้อยมากเมื่อเทียบกับทีมใน EPL
ในขณะที่ทีมแชมป์ UEFA Champion’s League ล่าสุดอย่าง รีล มาดริด แม้จะเป็นหนึ่งในสโมสรที่ร่ำรวยมากที่สุดในโลกก็ยังต้องการผ่านเข้ารอบเพื่อร่วมแข่งใน UCL แต่ละปีอันจะนำมาซึ่งรายได้เพิ่มเติมอีกมหาศาลจากส่วนแบ่งการถ่ายทอดสด
ดูเหมือนว่า มูลค่าของเกมฟุตบอลจะสูงเกินกว่าที่โครงสร้างของลีกในประเทศจะรองรับได้ในเชิงการสร้างรายได้ให้ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ประกอบกับในเมื่ออำนาจของเงินตราจากนอกทวีปมันมากมายขนาดนี้จึงไม่แปลกที่เราเริ่มจะเห็นแนวคิดใหม่ๆ ที่เจ้าของเงิน และบรรดาสโมสรและเอเจนต์ต่างๆ ที่เห็นความสำคัญของการเพิ่มรายได้เพื่อเอาตัวรอดในยุคสมัยนี้
ถ้ายังจำกันได้ เราเคยได้ยินไอเดียของบรรดาทีมสโมสรยักษ์ใหญ่ในยุโรปพูดถึงการแยกตัวออกจากลีกที่จัดโดย UEFA ด้วยการเปิดซุปเปอร์ลีกของทีมในระดับเดียวกัน เพื่อหาโอกาสสร้างรายได้เพิ่มเติม โดยเป็นการจัดให้ทีมใหญ่ๆ ได้มีโอกาสเล่นโดยไม่สนอันดับในลีกของตัวเอง แต่ก็ยังไม่สัมฤทธิ์ผล แต่ล่าสุด Wanda Group เจ้าเดิมได้ริเริ่มเสนอแนวคิดการเอาแนวคิดนี้มาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้งด้วยการแอบคุยกับตัวแทนสโมสรและลีกต่างๆ อย่างลาลีกา และ Series A บ้างแล้วถึงการระดมสโมสรยักษ์ใหญ่ 6 ทีมจากยุโรปมาแข่งในทัวร์นาเมนต์พิเศษนี้
ถ้าดูจากโครงสร้างของลีกและรายได้แล้ว ผมเชื่อว่าสโมสรจากประเทศสเปน อิตาลี และฝรั่งเศส น่าจะให้ความสนใจกับแนวคิดนี้เป็นพิเศษเนื่องจากพวกเค้ายังต้องพึ่งพารายได้พิเศษจากการแข่งขันลีกระดับทวีปอย่าง UCL หรือ EUROPA League ที่ทำเงินให้เป็นกอบเป็นกำจากค่าถ่ายทอดสด นอกจากนี้แล้วยังมีโอกาสที่สโมสรอย่าง Man United ที่วันดีคืนดีก็ทำตำแหน่งได้ไม่ดีพอที่จะเข้าเล่นใน UCL เสียอย่างนั้น จะได้มีทัวร์นาเมนต์ระดับใหญ่เพิ่มอีกอันหนึ่งมารองรับค่าใช้จ่ายอันมหาศาลของพวกเขาด้วย
การนำเสนอแนวคิดนี้ของ Wanda Group มาในช่วงเวลาที่น่าสนใจครับ เพราะ ณ ตอนนี้ UEFA องค์กรที่จัดแจงเรื่องนี้กำลังขาดหัวเรือใหญ่ภายหลังจากที่ Michael Platini ลาออกจากตำแหน่งสืบเนื่องมาจากการพัวพันทุจริตทำให้เค้าโดนแบนยาว โดย UEFA จะเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ก็ต้องดูกันว่านโยบายและฐานอำนาจของผู้นำคนใหม่จะแข็งแรงและแกร่งพอที่จะต้านความต้องการของบรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ในยุโรปได้อย่างไรในการกดดันที่จะเปลี่ยนฟอร์แม็ตของ UCL
ยิ่งกว่านั้นแล้ว Wanda Group ก็เพิ่งจ่ายเงินกว่า1 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อซื้อกิจการบริษัทของสวิสฯ ที่มีชื่อว่า Infront Media ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลเรื่องผลประโยชน์และลิขสิทธิ์ของรายการกีฬาระดับโลกหลายๆ อัน ซึ่งบริษัทนี้ไม่ใช่เป็นของคนอื่นไกลแต่เป็นคนชื่อว่า Philippe Blatter ญาติสนิทคนหนึ่งของนาย Joseph Blatter อดีตขาใหญ่ผู้อื้อฉาวของ FIFA นั่นเอง นั่นก็หมายความว่า Wanda Group ก็มีแขนขาที่เก๋าพอสมควรในการที่จะจัดแจงเรื่องเงินๆ ทองๆ ให้สร้างมูลค่ามหาศาลให้กับแนวคิดลีกอันใหม่ของตัวเองได้ไม่ยาก
ก็ต้องติดตามกันต่อไปครับ ในสถานการณ์ที่หลายๆ สโมสรยังไม่พอใจกับรายได้ของตัวเอง และต้องการเงินในการบริหารสโมสรให้ประสบความสำเร็จมากขึ้นทุกทีๆ ไม่แน่นะครับคอบอลชาวไทยอาจจะมีทัวร์นาเมนต์ใหม่ให้อดหลับอดนอนติดตามกันเพิ่มอีกอันก็ได้ ใครจะรู้
* บทความนี้ตีพิมพ์ในสยามกีฬาเมื่อเดือนกันยายน 2559 และรวมอยู่ในพ็อคเก็ตบุ๊ค เศรษฐากับกีฬา