ความเป็นไปได้อีกครั้งของ
European Super League?

ในปีนี้ผมเขียนถึงประเด็นของลีกฟุตบอลในทวีปยุโรปที่นับวันจะมีความเป็นพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ มาก็หลายครั้งแล้ว แต่ยิ่งเวลาผ่านไป ก็ยิ่งมีประเด็นใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ส่อให้เห็นว่า โครงสร้างของการแข่งขันฟุตบอลลีกแบบเดิมๆ ในทวีปยุโรปนี้กำลังถูกรุกรานและคุกคามจากอำนาจของเงินตราและผลประโยชน์จำนวนหลายแสนล้านบาทที่มองไปตอนนี้ยังไงผมก็ยังเห็นกรรมวิธีการแบ่งเค้กในเรื่องของรายได้ระหว่างสโมสรในลีกยอดนิยม กับสโมสรในลีกที่ถดถอย หรือระหว่างสโมสรยักษ์ใหญ่ กับสโมสรเล็กๆ ยังไงๆ ก็คงหาจุดลงตัวได้ยาก

ถ้าผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์ผมมาตลอดจะพอจำได้ว่าผมเคยเขียนถึงบรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ในลีกของยุโรปที่ถูกนายทุนและเจ้าของเงินทั้งจากสหรัฐอเมริกาเข้าไปซื้อกิจการจากเจ้าของเก่าหรือเข้าไปถือหุ้นเป็นพาร์ตเนอร์รายใหญ่สุดของสโมสรอันเนื่องมาจากโอกาสในการทำรายได้มหาศาลจากลิขสิทธิ์ค่าถ่ายทอดสดที่เราพูดกันที่ตัวเลขหลักแสนล้านบาทกันแล้วสำหรับ EPL ไม่ว่าจะเป็นสโมสร Arsenal, Aston Villa, Bournemouth, Liverpool, Manchester United, Sunderland และ Crystal Palace หรือจะเป็นกรณีของนายหวัง เจียนหลิน คนที่รวยที่สุดในจีน เจ้าของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ Wanda Group ที่เข้าถือหุ้นใหญ่สโมสร Athletico Madrid กว่า 20% ของ และลุกลามไปถึงการเซ็นสัญญาเป็นสปอนเซอร์หลักรายใหม่ของ FIFA โดยหวังผลเพื่อให้ FIFA มอบหมายให้จีนเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในอนาคตอันใกล้นี้

ณ ตอนนี้มีเพียงแค่สองลีกอย่าง EPL และ Bundesliga เท่านั้นที่อุ่นใจกับค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่เป็นจำนวนมหาศาลที่เพิ่งเซ็นสัญญากันไป ส่วนลีกอย่าง ลา ลีกา หรือ Series A และ ลีก เอิง ก็ยังไม่สามารถสามารถขึ้นค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดที่เป็นกอบเป็นกำแบบนั้นได้ ประกอบกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จากค่าตัวและค่าเหนื่อยของนักฟุตบอลที่ต้องดึงเอาไว้กับทีม ยอดคนดูเฉลี่ยในสนามต่อเกมสำหรับลีกเหล่านี้ที่นับวันก็จะลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะ Series A ที่สนามหลายไม่สามารถดึงคนเข้าสนามได้ถึงครึ่งความจุด้วยซ้ำ (ยกตัวอย่างสถิติคนดูในบ้านของทีมยักษ์ใหญ่อย่าง AC Milan ในฤดูกาล 2014-2015 สามารถทำเงินได้แค่ 22 ล้านยูโรเท่านั้น เทียบเท่ากับสโมสรระดับกลางๆ ใน EPL อย่าง Everton แค่นั้นเอง)

ตัวเลขที่น่าตกใจของ Series A เค้าบอกไว้ว่าด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับรายได้ที่ลดลง ส่งผลให้จากเดิมที่ทีมใน Series A มีผลประกอบการเป็นบวกกลับกลายเป็นขาดทุนรวมกันกว่า 133 ล้านยูโรในเวลาแค่สิบปีที่ผ่านมา โดยมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายสูงสุดคือค่าเหนื่อยของนักฟุตบอลถึงกว่า 72% และจากผลสำรวจของ Deloitte เค้าบอกว่าแม้กระทั่งทีมที่รวยที่สุดอย่าง Juventus เงินรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลลีกก็แทบจะไม่ช่วยอะไรกับสถานะการเงินของทีมเท่าไหร่เพราะยังน้อยมากเมื่อเทียบกับทีมใน EPL

ในขณะที่ทีมแชมป์ UEFA Champion’s League ล่าสุดอย่าง รีล มาดริด แม้จะเป็นหนึ่งในสโมสรที่ร่ำรวยมากที่สุดในโลกก็ยังต้องการผ่านเข้ารอบเพื่อร่วมแข่งใน UCL แต่ละปีอันจะนำมาซึ่งรายได้เพิ่มเติมอีกมหาศาลจากส่วนแบ่งการถ่ายทอดสด

ดูเหมือนว่า มูลค่าของเกมฟุตบอลจะสูงเกินกว่าที่โครงสร้างของลีกในประเทศจะรองรับได้ในเชิงการสร้างรายได้ให้ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ประกอบกับในเมื่ออำนาจของเงินตราจากนอกทวีปมันมากมายขนาดนี้จึงไม่แปลกที่เราเริ่มจะเห็นแนวคิดใหม่ๆ ที่เจ้าของเงิน และบรรดาสโมสรและเอเจนต์ต่างๆ ที่เห็นความสำคัญของการเพิ่มรายได้เพื่อเอาตัวรอดในยุคสมัยนี้

ถ้ายังจำกันได้ เราเคยได้ยินไอเดียของบรรดาทีมสโมสรยักษ์ใหญ่ในยุโรปพูดถึงการแยกตัวออกจากลีกที่จัดโดย UEFA ด้วยการเปิดซุปเปอร์ลีกของทีมในระดับเดียวกัน เพื่อหาโอกาสสร้างรายได้เพิ่มเติม โดยเป็นการจัดให้ทีมใหญ่ๆ ได้มีโอกาสเล่นโดยไม่สนอันดับในลีกของตัวเอง แต่ก็ยังไม่สัมฤทธิ์ผล แต่ล่าสุด Wanda Group เจ้าเดิมได้ริเริ่มเสนอแนวคิดการเอาแนวคิดนี้มาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้งด้วยการแอบคุยกับตัวแทนสโมสรและลีกต่างๆ อย่างลาลีกา และ Series A บ้างแล้วถึงการระดมสโมสรยักษ์ใหญ่ 6 ทีมจากยุโรปมาแข่งในทัวร์นาเมนต์พิเศษนี้

ถ้าดูจากโครงสร้างของลีกและรายได้แล้ว ผมเชื่อว่าสโมสรจากประเทศสเปน อิตาลี และฝรั่งเศส น่าจะให้ความสนใจกับแนวคิดนี้เป็นพิเศษเนื่องจากพวกเค้ายังต้องพึ่งพารายได้พิเศษจากการแข่งขันลีกระดับทวีปอย่าง UCL หรือ EUROPA League ที่ทำเงินให้เป็นกอบเป็นกำจากค่าถ่ายทอดสด นอกจากนี้แล้วยังมีโอกาสที่สโมสรอย่าง Man United ที่วันดีคืนดีก็ทำตำแหน่งได้ไม่ดีพอที่จะเข้าเล่นใน UCL เสียอย่างนั้น จะได้มีทัวร์นาเมนต์ระดับใหญ่เพิ่มอีกอันหนึ่งมารองรับค่าใช้จ่ายอันมหาศาลของพวกเขาด้วย
การนำเสนอแนวคิดนี้ของ Wanda Group มาในช่วงเวลาที่น่าสนใจครับ เพราะ ณ ตอนนี้ UEFA องค์กรที่จัดแจงเรื่องนี้กำลังขาดหัวเรือใหญ่ภายหลังจากที่ Michael Platini ลาออกจากตำแหน่งสืบเนื่องมาจากการพัวพันทุจริตทำให้เค้าโดนแบนยาว โดย UEFA จะเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ก็ต้องดูกันว่านโยบายและฐานอำนาจของผู้นำคนใหม่จะแข็งแรงและแกร่งพอที่จะต้านความต้องการของบรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ในยุโรปได้อย่างไรในการกดดันที่จะเปลี่ยนฟอร์แม็ตของ UCL
ยิ่งกว่านั้นแล้ว Wanda Group ก็เพิ่งจ่ายเงินกว่า1 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อซื้อกิจการบริษัทของสวิสฯ ที่มีชื่อว่า Infront Media ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลเรื่องผลประโยชน์และลิขสิทธิ์ของรายการกีฬาระดับโลกหลายๆ อัน ซึ่งบริษัทนี้ไม่ใช่เป็นของคนอื่นไกลแต่เป็นคนชื่อว่า Philippe Blatter ญาติสนิทคนหนึ่งของนาย Joseph Blatter อดีตขาใหญ่ผู้อื้อฉาวของ FIFA นั่นเอง นั่นก็หมายความว่า Wanda Group ก็มีแขนขาที่เก๋าพอสมควรในการที่จะจัดแจงเรื่องเงินๆ ทองๆ ให้สร้างมูลค่ามหาศาลให้กับแนวคิดลีกอันใหม่ของตัวเองได้ไม่ยาก

ก็ต้องติดตามกันต่อไปครับ ในสถานการณ์ที่หลายๆ สโมสรยังไม่พอใจกับรายได้ของตัวเอง และต้องการเงินในการบริหารสโมสรให้ประสบความสำเร็จมากขึ้นทุกทีๆ ไม่แน่นะครับคอบอลชาวไทยอาจจะมีทัวร์นาเมนต์ใหม่ให้อดหลับอดนอนติดตามกันเพิ่มอีกอันก็ได้ ใครจะรู้

* บทความนี้ตีพิมพ์ในสยามกีฬาเมื่อเดือนกันยายน 2559 และรวมอยู่ในพ็อคเก็ตบุ๊ค เศรษฐากับกีฬา

CEO OF SANSIRI PLC

Related Articles

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เป็นหุ้นส่วนของประเทศและมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจได้ผ่านภาวะวิกฤติมาหลายระลอก หลังจากที่ได้เห็นแผนการกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยว ดีใจที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้ความสำคัญกับจังหวัดรองอย่าง สตูล จันทบุรี ระนอง ตราด จากเดิมมองแค่ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ผมมองว่าคุณภาพของนักท่องเที่ยวสำคัญ เน้นเรื่องการมาอยู่ยาว หรือลองสเตย์ ที่มาเมดิคัลเวลเนส ทำให้ระยะเวลาในการอยู่เร็วขึ้น ทำให้ใช้จ่ายเงินเยอะขึ้น จากปีนี้ที่ต้องเป้าไว้ว่าจะได้นักท่องเที่ยว 10

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG ซึ่งย่อมาจาก environment (สิ่งแวดล้อม) social (สังคม) และ governance (บรรษัทภิบาล) ปัจจุบันได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งจากบริษัทจดทะเบียน นักลงทุน และผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่ใครก็หลีกเลี่ยงไม่สนใจไม่ได้ในตอนนี้ จากทั้ง 3 มิติดังกล่าว นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าถ้ามองในมุมที่จับต้องได้แล้ว มิติด้านสิ่งแวดล้อม

tax, ภาษี

To tax or not to tax ?

ที่ประเทศอังกฤษตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงหาเสียงของตัวแทนจากพรรคอนุรักษนิยม 2 คน ที่จะมาเสียบเก้าอี้นายกฯ แทน นายบอริส จอห์นสัน ซึ่งประกาศลาออกไปเมื่อไม่นานมานี้ หนึ่งนโยบายหลักที่ทั้งนาง Liz Truss และ นาย Rishi Sunak ยกขึ้นมาถกเถียงกันเพื่อชิงคะแนนนิยมก็คือ เรื่องการปรับโครงสร้างภาษีนั่นเอง คนหนึ่งเสนอมาตรการลดภาษีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาให้ต่ำลง ในขณะที่อีกคนหนึ่งบอกว่าการปรับลดภาษีอาจไม่ใช่ทางออกสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาว ประเด็นภาษีนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจในบริบทของประเทศไทยด้วยเช่นกัน