ชนชาติ แคว้น และศักดิ์ศรีของทีมฟุตบอลในสเปน

ชนชาติ แคว้น และศักดิ์ศรีของทีมฟุตบอลในสเปน

ชนชาติ แคว้น และศักดิ์ศรีของทีมฟุตบอลในสเปน โลกที่ทุกอย่างต้องโกอินเตอร์เพราะมีความเชื่อว่าหากเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ก็จะสามารถสร้างโอกาสและความสำเร็จได้มากกว่า ไม่เว้นแม้แต่บรรดาสโมสรฟุตบอลในยุโรปซึ่งคุ้นเคยกันดี ที่ต่างทำตัวเป็นเหมือนผลิตภัณฑ์หรือตราสินค้าและหวังพิชิตใจแฟนบอลอย่างเราๆ แบบข้ามน้ำข้ามทะเลด้วยการตลาดรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สามารถสร้างรายได้ที่จะกลายเป็นเม็ดเงินในการพัฒนาทีมในด้านต่างๆ ต่อไป

ถ้าเอ่ยถึงฟุตบอลลีกของสเปน ท่านที่พอสนใจเรื่องของภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ คงพอรู้อยู่บ้างว่ามีตัวแทนเมืองหลวงอย่าง รีอัล มาดริด เป็นคู่กัดกับ บาร์เซโลน่า ทีมจากแคว้น คาตาโลเนีย (Catalunya) ซึ่งเรียกว่าเป็น แคว้นปกครองตนเองแห่งหนึ่งในประเทศสเปน มีสถานะและได้รับการกำหนดเป็น “ชาติ” ตามธรรมนูญการปกครองของแคว้น โดยทุกครั้งในสนาม แคมป์นู เราจะเห็นแฟนบอลชูธงสีเหลืองแดงอันเป็นสีสัญญลักษณ์ของชาวคาตาลันกันเต็มสนาม และสำหรับแฟนบอลจากเมืองมาดริดกับแฟนบอลจากแคว้น คาตาโลเนียนั้น เกม el clasico ก็เป็นเสมือนสัญลักษณ์การต่อสู้ในเรื่องของประวัติศาสตร์และศักดิ์ศรีของกลุ่มชุมชนที่คิดว่าตัวเองมีความแตกต่างกัน ทำให้ความดุเดือดแทบไม่ต่างกับการทำสงครามในบางครั้ง

ในขณะเดียวกัน ถ้าหากเรามองในมิติของประวัติศาสตร์ของสเปนแล้ว ไม่ใช่มีแค่แคว้นคาตาโลเนียเท่านั้นที่พยายามแสวงหาเอกราชและการปกครองด้วยตัวเอง แต่เนื่องจากในวงการฟุตบอลสเปน บาร์เซโลน่าคือทีมระดับโลกจากแคว้นนี้ที่ทุกคนรู้จัก แต่จะรู้กันไหมว่ายังมีทีมอีกทีมหนึ่งในลาลีกาที่มาจากแคว้นที่ต้องการแยกตัวเป็นอิสระจากการปกครองส่วนกลางเหมือนกัน นั่นก็คือแคว้น บาสก์ (Basque) แต่บังเอิญว่าทีมนั้นไม่ได้กระหายที่จะยิ่งใหญ่ด้วยการทำให้ทีมมีความอินเตอร์มากขึ้นด้วยการว่าจ้างโค้ชผู้ฝึกสอนหรือนำเข้านักเตะต่างชาติ ทำให้เราไม่ค่อยสนใจกันนัก

แต่ล่าสุดหลังจากจบแมทช์ที่แอธเลติโก บิลเบา ถล่ม ปาร์ติซาน เบลเกรด ไปแบบขาดลอย 5-1 ประตู ในรายการ ยูฟ่า ยูโรปา ลีก (UEFA Europa League)  ผู้บริหารทีมฟุตบอลจากแคว้นบาสก์ของสเปนก็ออกมาเปิดเผยเคล็ดลับความสำเร็จของทีมว่า ในขณะที่สโมสรใหญ่อื่นๆ ต่างต้องหาเงินอย่างหนักเพื่อมาใช้เป็นค่าตัวนักเตะซูเปอร์สตาร์ แต่ที่แอธเลติโก บิลเบา พวกเขาใช้วิธีการปั้นนักเตะเยาวชนกันอย่างจริงจัง ด้วยหลักที่ว่า “ถ้าคุณไม่ได้โตในแคว้นบาสก์ คุณก็ไม่สามารถร่วมทีมกับเราได้” ฟังดูชาตินิยมนิดๆ มั้ยล่ะครับ แต่คำกล่าวนี้ไม่ได้เกินจริงไปเลยครับ เพราะในแมทช์ที่ผมพูดถึงไปนั้น ทราบหรือไม่ครับว่า ผู้เล่นที่ลงสนามชุดแรก แปดคนเป็นนักเตะที่สโมสรปั้นมากับมือ ส่วนอีกสามคนก็มีสายเลือดชาวบาสก์อย่างเต็มตัว

หลายท่านอาจจะสงสัยว่านโยบายการคัดเลือกนักเตะและบริหารทีมแบบนี้จะทำให้ทีมประสบความสำเร็จได้อย่างไร แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับว่าด้วยผลงานแชมป์ลาลีกาสเปนแปดสมัย รวมถึงแชมป์ถ้วยในบ้านต่างๆ อีกมากมาย และที่สำคัญการที่แอธเลติโก บิลเบา ไม่เคยตกชั้นจากดิวิชั่นหนึ่งของสเปนเลยนั้น เป็นข้อพิสูจน์อย่างดีถึงประสิทธิภาพในการบริหารทีมแบบไม่เน้นเสาะหาทรัพยากรจากภายนอก แต่เน้นการพัฒนาคนหรือบุคลากรที่มีอยู่ในทีมหรือในองค์กร วิธีนี้น่าสนใจและมีผลกระทบกับด้านจิตใจของแฟนบอลอย่างที่เราๆท่านๆ อาจจะคาดไม่ถึงด้วยนะครับ โดยผมจะพูดถึงประเด็นนี้หลังจากที่อธิบายให้ท่านผู้อ่านได้พอเห็นที่มาที่ไปหรือเบื้องหลังแนวคิดชาตินิยมของสโมสรฟุตบอลสัญชาติสเปนทีมนี้

ถ้าใครพอจะทราบประวัติเกี่ยวกับประเทศสเปนสักเล็กน้อย จะไม่แปลกใจเลยว่าทำไมแอธเลติโก บิลเบา จึงยึดมั่นกับนโยบายสร้างนักเตะด้วยตัวเองมาเป็นเวลามากกว่า 100 ปี เพราะด้วยความที่สโมสรนี้ตั้งอยู่ในแคว้นบาสก์ของประเทศสเปน มีอำนาจอิสระทางการเมืองในรูปแบบสภาปกครองท้องถิ่น และที่สำคัญมีภาษาบาสก์ที่เกือบจะต่างจากภาษาสเปนอย่างสิ้นเชิงเป็นภาษาของตัวเอง  ทำให้ชาวแคว้นบาสก์รู้สึกว่าตัวเองมีเอกลักษณ์แตกต่างจากคนสเปนในภูมิภาคอื่นๆ จนกลายเป็นความภูมิใจและหยิ่งทะนงในศักดิ์ศรีของตัวเอง สิ่งเหล่านี้ซึมลึกอยู่ในสายเลือดชาวบาสก์ และกีฬาก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่พวกเขาใช้แสดงออกถึงความรู้สึกชาตินิยมนี้

โดยแนวคิดดังกล่าวก็ได้สะท้อนให้เห็นในการออกแบบทีมฟุตบอลของแอธเลติโก บิลเบา ซึ่งทำให้แม้จะเป็นทีมที่อยู่ในลีกใหญ่ที่สุดในโลกลีกหนึ่ง แต่แอธเลติโก บิลเบา ยังคงรักษาแก่นของความเป็นสโมสรระดับชุมชนได้เป็นอย่างดี เพราะพวกเขามองว่าจุดสูงสุดของสโมสรก็คือ การที่ทีมได้เป็นตัวแทนของเมืองอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทีมที่มีความเป็นนานาชาติ และอย่างที่ผมเกริ่นไปก่อนหน้านี้ แนวคิดนี้เองที่ทำให้แอธเลติโก บิลเบา เป็นสโมสรที่มีแฟนคลับเหนียวแน่นอีกสโมสรหนึ่งของโลก

เนื่องจากสโมสรให้ความสำคัญกับการปั้นนักเตะตั้งแต่อายุยังน้อย แอธเลติโก บิลเบา จะรับเยาวชนเข้าสังกัดโดยจำกัดที่อายุไม่เกิน 15 ปี เพื่อให้สามารถซึมซับวัฒนธรรมของสโมสรได้อย่างเต็มที่ และในเมื่อมีผู้เล่นจำนวนมากที่เป็นผลผลิตหรือเด็กปั้นของสโมสร ผู้เล่นเหล่านี้ก็จะกลายเป็นตัวเชื่อมไปสู่ชุมชนชาวบาสก์หรือกลุ่มแฟนบอลที่กว้างขวางมากขึ้น นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมแม้แต่แมทช์การแข่งขันของทีมเยาวชนหรือทีมสำรอง แอธเลติโก บิลเบา ยังสามารถดึงดูดคนเข้าสนามได้เป็นหลักหมื่นคน ต้องยอมรับครับว่าวิธีนี้ทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะเป็นไปได้ที่คุณจะต้องรู้จักผู้เล่นสักคนในทีม หรือนักเตะอาจจะเป็นเพื่อนของเพื่อนคุณก็ได้

อย่างไรก็ตาม ผ่านร้อนผ่านหนาวมาขนาดนี้ ใช่ว่าบรรดาผู้บริหารสโมสรจะมองไม่เห็นความท้าทายที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการเอาตัวรอดอยู่ในลีกให้ได้ เพราะแม้แต่สโมสรเพื่อนบ้านอย่าง เรอัล โซเซียดาด ที่เคยใช้ระบบปั้นนักเตะคล้ายๆ กันนี้ ก็ยังต้องยอมยกเลิกนโยบายไปตั้งแต่ยี่สิบกว่าปีที่แล้ว เพื่อให้สามารถเลือกนักเตะสัญชาติอื่นๆ เข้ามาเสริมทีม และสามารถแข่งขันกับทีมอื่นๆ ได้ทัดเทียมมากขึ้น แต่สำหรับแอธเลติโก บิลเบา กลับมองข้ามช็อตไปที่ว่า ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นผู้ชนะหรือผู้แพ้ได้ สำหรับพวกเขาการได้ชนะหรือแพ้ในวิถีของตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า

ล่าสุด ฤดูกาลนี้ แอธเลติโก บิลเบา อยู่ในอันดับที่เก้าของตาราง ลองมาติดตามดูกันครับว่าสิ้นสุดฤดูกาล กลยุทธ์เด็กปั้นของสโมสรนี้จะพาทีมไปจบอยู่อันดับที่เท่าไหร่

Related Articles

7 เรื่องฟุตบอลที่ใครอาจไม่รู้!

โจนาธาน วิลสัน นักข่าว คนเขียนบทความของ The Guardian พูดเหมือน “หมาเฝ้าบ้าน” ที่มีคนตาม follow ล้านกว่า อย่าง Henry Winter ที่ไปออกความเห็นใน GQ ว่า “ฟุตบอล” คือตลาดที่ใหญ่ที่สุด กว้างกว่า

European Super League Feature

ความเป็นไปได้อีกครั้งของ European Super League?

ในปีนี้ผมเขียนถึงประเด็นของลีกฟุตบอลในทวีปยุโรปที่นับวันจะมีความเป็นพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ มาก็หลายครั้งแล้ว แต่ยิ่งเวลาผ่านไป ก็ยิ่งมีประเด็นใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ส่อให้เห็นว่า โครงสร้างของการแข่งขันฟุตบอลลีกแบบเดิมๆ ในทวีปยุโรปนี้กำลังถูกรุกรานและคุกคามจากอำนาจของเงินตราและผลประโยชน์จำนวนหลายแสนล้านบาทที่มองไปตอนนี้ยังไงผมก็ยังเห็นกรรมวิธีการแบ่งเค้กในเรื่องของรายได้ระหว่างสโมสรในลีกยอดนิยม กับสโมสรในลีกที่ถดถอย หรือระหว่างสโมสรยักษ์ใหญ่ กับสโมสรเล็กๆ ยังไงๆ ก็คงหาจุดลงตัวได้ยาก ถ้าผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์ผมมาตลอดจะพอจำได้ว่าผมเคยเขียนถึงบรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ในลีกของยุโรปที่ถูกนายทุนและเจ้าของเงินทั้งจากสหรัฐอเมริกาเข้าไปซื้อกิจการจากเจ้าของเก่าหรือเข้าไปถือหุ้นเป็นพาร์ตเนอร์รายใหญ่สุดของสโมสรอันเนื่องมาจากโอกาสในการทำรายได้มหาศาลจากลิขสิทธิ์ค่าถ่ายทอดสดที่เราพูดกันที่ตัวเลขหลักแสนล้านบาทกันแล้วสำหรับ EPL ไม่ว่าจะเป็นสโมสร Arsenal, Aston Villa, Bournemouth, Liverpool,

“สถานีแรก” ของแฟชั่นเสื้อบอล

นิตยสาร Wired ผู้คุยว่ามักจะล้ำสมัยในเนื้อหา ได้บอกไว้ว่า โลกหลังยุคโควิด-19 หรือเรียกเท่ๆ ว่า New Normal จะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกแล้ว  ทว่า บทบาทใหม่ในโลกออนไลน์ ยังคงเป็นของ Top 4 อันไม่ได้หมายถึง แมนซิ ลิเวอร์พูล แมนยู หรือ