ทีมชาติ

ทีมชาติหรือสโมสร สองทางเลือกที่ยากตัดสินใจในวงการฟุตบอล

สุดสัปดาห์นี้ก็จะได้ทราบกันว่าออสเตรเลียหรือประเทศในแถบทวีปเดียวกันอย่างนิวซีแลนด์จะได้เป็นแชมป์โลกรักบี้ปีนี้ เค้าว่ากันว่ารักบี้ชิงแชมป์โลกนี้เป็นทัวร์นาเมนต์ที่ยิ่งใหญ่เป็นรองแค่โอลิมปิกและฟุตบอลโลก เฉกเช่นกับฟุตบอลโลกทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์โลกนี้ควรเป็นโอกาสที่เราๆ ได้เห็นนักรักบี้มืออาชีพระดับโลกที่เป็นตัวแทนของแต่ละประเทศเข้าร่วมแข่งขัน แต่ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่าสถานการณ์จริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ความจริงก็คือมีนักรักบี้ฝีมือเยี่ยมระดับโลกหลายคนต้องนั่งเชียร์ทีมชาติตัวเองอยู่ที่บ้านหรือไม่ก็เดินทางมาในฐานะคนดูเท่านั้น เพราะว่าติดสัญญากับทีมสโมสรที่ตัวเองเล่นอาชีพอยู่ โดยสัญญาดังกล่าวเสมือนกับการมัดมือชกให้เลิกเล่นทีมชาติเลยทีเดียว ลองมาดูกันว่าสถานการณ์เป็นยังไง

ท่านผู้อ่านลองนึกในวงการรักบี้โลกเค้าแบ่งกลุ่มประเทศออกเป็น tier คือมี tier 1 และ tier 2 โดยประเทศที่อยู่ในกลุ่มแรกก็เช่นอังกฤษ สก็อตแลนด์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ฯลฯ ส่วนกลุ่มที่สองก็ได้แก่ประเทศเล็กๆ ในหมู่เกาะแปซิฟิคเช่น ทองกา ซามัว รวมถึงประเทศอื่นๆ เช่น อุรุกวัย นามิเบีย ซึ่งกลุ่มประเทศแรกนี้ก็เป็นประเทศที่มีลีกรักบี้อาชีพแบบเป็นเรื่องเป็นราว เป็นธุรกิจกีฬาใหญ่โต สร้างรายได้ให้ทั้งผู้เล่นและสโมสรเป็นกอบเป็นกำ ในขณะที่กลุ่มประเทศที่สองนั้นเรียกได้ว่าลีกรักบี้ในประเทศเป็นแค่ลีกเล็กๆ กึ่งอาชีพผู้เล่นยึดเป็นอาชีพเลี้ยงตัวได้ยาก

เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ แน่นอนว่านักรักบี้จากชาติ tier 2 หลายต่อหลายคนก็ย้ายมาเล่นให้กับทีมในลีกของประเทศ tier 1 เสียส่วนมากเพราะรายได้ดีกว่า ซึ่งว่ากันว่าเฉพาะแค่นักรักบี้จากหมู่เกาะในแปซิฟิค อย่างเดียวก็เป็นสัดส่วนถึงกว่า 15% ของจำนวนนักรักบี้อาชีพในลีกต่างๆ ทั่วโลกแล้ว  และเมื่อย้ายมาตอนเซ็นสัญญาก็มักจะเสียเปรียบเพราะทางสโมสรหลายแห่งโดยเฉพาะในยุโรปก็จะมี clause ที่ทำให้นักรักบี้เหล่านี้ลำบากใจในการไปเล่นให้ทีมชาติ และทำให้ทีมชาติเองก็ยากในการที่จะบังคับสโมสรเหล่านี้ให้ปล่อยตัวมา

เพราะรักบี้เป็นกีฬา contact sport ที่จะว่าไปก็อันตราย เสี่ยงต่อการบาดเจ็บสูง และอาชีพนักรักบี้ก็มี span ที่สั้นพอดูจากความหนักหน่วงของเกม ดังนั้นนักกีฬาทุกคนถ้าเลือกได้ก็อยากตักตวงความสำเร็จและสร้างฐานะจากการเล่นอาชีพให้มากที่สุดในระยะเวลาที่ตัวเองมี และในทางกลับกัน สโมสรแต่ละแห่งก็ไม่อยากเสี่ยงให้นักกีฬาของตัวเองต้องเจ็บตัวกับการแข่งขันทัวร์นาเมนต์นานาชาติ ยกตัวอย่างกรณีเอาเงินฟาดหัวแบบตรงๆ ก็ตอนรักบี้ชิงแชมป์โลกเมื่อปี 2011 โค้ชของสโมสรแห่งหนึ่งในลีกอาชีพของฝรั่งเศสก็ออกมาบอกว่าจ่ายเงินพิเศษให้กับผู้เล่นชาวทองกา 3 คนเพื่อขอให้ไม่ร่วมทีมชาติไปแข่งทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว

เมื่อแนวทางเป็นเช่นดังนี้ ดังนั้นสัญญาบางอันถึงขั้นบังคับให้นักกีฬาต้อง retire ตัวเองจากทีมชาติเลยก็มี ยกตัวอย่างเช่นนักรักบี้อดีตทีมชาติซามัวชื่อว่า Elvis Seveali’I ที่ประกาศ retire ตัวเองจากทีมชาติเมื่ออายุแค่ 23 ปีเท่านั้นเนื่องจากเค้าบอกว่าสัญญากับสโมสรในอังกฤษที่เค้าเล่นอยู่บอกว่าถ้า retire จากทีมชาติเค้าจะได้ค่าเหนื่อยเพิ่มอีกถึง 30% เลยทีเดียว

นอกจากนี้แล้วยังเป็นอันรู้กันในหมู่นักรักบี้จากประเทศ tier 2 ด้วยว่าแม้ในสัญญาจะไม่มีระบุไว้ชัดเจนว่าห้ามเล่นทีมชาติ แต่ทางสโมสรเหล่านี้จะให้โค้ชเกริ่นไว้แต่แรกแล้วว่า “เราไม่ได้ห้ามให้ไปเล่น แต่เมื่อสัญญาหมดลงและถึงเวลาที่ต้องต่อเราก็ไม่รับประกันว่าจะสนใจเซ็นว่าจ้างคุณต่อหรือเปล่านะ” เท่านี้ใครล่ะครับจะอยากขัดขืน

ยิ่งกว่านั้น การแบ่งประเทศต่างๆ เป็น tier 1 และ 2 ดังกล่าวยังส่งผลต่อรายได้ที่สมาพันธ์รักบี้ของแต่ละประเทศจะได้จากการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกและทัวร์นาเมนต์ใหญ่ๆ ด้วยโดยแน่นอนว่ากลุ่มใน tier 1 จะได้ส่วนแบ่งมากกว่าเยอะ ดังนั้นหากมีการต้องเจรจากับสโมสรเพื่อดึงตัวนักรักบี้ของตนมาเล่นให้ทีมชาติ สมาพันธ์ในกลุ่มแรกก็จะมีเงินที่ใช้ในการจ่ายชดเชยให้สโมสรได้เยอะกว่า เปรียบกับกลุ่ม tier 2 ที่ไม่มีเงินไปจ่าย

เมื่อกล่าวถึงรักบี้แล้วหันกลับมามองฝั่งฟุตบอลก็มีกรณีเรื่องของ สโมสร หรือ ทีมชาติ คล้ายๆ กันอยู่ ซึ่งเรามักเห็นบ่อยๆ ที่บรรดาผู้จัดการทีมโดยเฉพาะสโมสรในพรีเมียร์ลีกออกมาบ่นว่านักเตะในสังกัดตัวเองถูกเรียกไปใช้งานทีมชาติแล้วบาดเจ็บกลับมา ตัวอย่างล่าสุดที่เรียกได้ว่าซวยซ้ำซวยซ้อนก็คือสโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี้ ที่ล่าสุด Pellegrini ต้องบอกว่าเซ็งกับการที่กองหลังกัปตันทีมตัวสำคัญอย่าง Vincent Kompany ถูกเรียกตัวไปเล่นให้ทีมชาติเบลเยียมในเกมรอบคัดเลือก Euro2016 กับอันดอร์ราและอิสราเอลโดยที่ยังไม่หายจากอาการบาดเจ็บที่ทางสโมสรเฝ้าดูแลมาเป็นอย่างดีหลายเดือนแล้ว ซึ่งอาการบาดเจ็บดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกที่บริเวณเดิมถึงกว่า 10 ครั้งในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่ Pellegrini เคยออกตัวไว้แล้วว่าไม่ต้องการให้ถูกเรียกตัวไปเพราะทางแพทย์ของสโมสรบอกว่ายังเล่นไม่ได้ นอกจากนี้แล้ว Pellegrini ยังต้องเสียกองหน้าและกองกลางตัวสำคัญอย่าง Aguero และ Silva ไปอีกพร้อมๆ กันจากแม็ทช์เล่นให้ทีมชาติในช่วงเวลาเดียวกันอีก

ผมเชื่อว่าอีกไม่นาน (และเคยเหมือนได้ยินมาบ้างแล้ว) เราก็คงมีกรณีเช่นนี้ที่เป็นการขัดแย้งระหว่างสโมสรกับสมาคมในการขอตัวนักเตะไปเล่นทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ฟุตบอลไทยกำลังไปได้สวย แข่งขันกันเยอะขึ้น แย่งชิงความสำเร็จกันหนักขึ้น เจ้าของทุนอาจมีมุมมองแบบนี้ แต่ผมว่าก็ต้องดูกันต่อไป ยิ่งกว่านั้นแล้วผมคิดว่าสิ่งที่ต้องน่าจับตาดูต่อไปก็คือการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลฯ ก็เพราะเนื่องจากวงการฟุตบอลเราเต็มไปด้วยการเมือง แบ่งพรรคแบ่งพวก ดังนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับว่านายกสมาคมฯ คนใหม่และทีมงานจะอยู่ฝ่ายไหน และจะมีฝ่ายตรงข้ามจงใจเตะตัดขา ก่อหวอด ขัดขืนไม่เห็นด้วยกับการเรียกตัวนักเตะของตนหรือเปล่า เราอาจมีโอกาสได้เห็นนักเตะทางคนได้เล่นทีมชาติ บางคนไม่ได้เพราะผู้ใหญ่ชอบพอกันหรือเหม็นหน้ากัน จะเป็นไปได้ไหม

แต่สำหรับผมเองเชื่อเหลือเกินว่าในขณะที่ทีมชาติไทยของเราอยู่ในขาขึ้น ได้รับความนิยมและชื่นชมจากประชาชนแฟนบอลทั้งประเทศ คงเป็นการยากที่ผู้บริหารสโมสรไหนจะลุกขึ้นมาขัดขืนและไม่เห็นด้วยกับการขอตัวผู้เล่นที่ดีที่สุดของตัวเองไปรับใช้ทีมชาติ เพราะนั่นเท่ากับเป็นการเตะตัดขาความนิยมของตัวเองและสโมสรอย่างแน่นอนครับ

ที่มาของภาพ

hxxp://football.co.uk/
hxxp://www.zimbio.com/

Related Articles

7 เรื่องฟุตบอลที่ใครอาจไม่รู้!

โจนาธาน วิลสัน นักข่าว คนเขียนบทความของ The Guardian พูดเหมือน “หมาเฝ้าบ้าน” ที่มีคนตาม follow ล้านกว่า อย่าง Henry Winter ที่ไปออกความเห็นใน GQ ว่า “ฟุตบอล” คือตลาดที่ใหญ่ที่สุด กว้างกว่า

European Super League Feature

ความเป็นไปได้อีกครั้งของ European Super League?

ในปีนี้ผมเขียนถึงประเด็นของลีกฟุตบอลในทวีปยุโรปที่นับวันจะมีความเป็นพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ มาก็หลายครั้งแล้ว แต่ยิ่งเวลาผ่านไป ก็ยิ่งมีประเด็นใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ส่อให้เห็นว่า โครงสร้างของการแข่งขันฟุตบอลลีกแบบเดิมๆ ในทวีปยุโรปนี้กำลังถูกรุกรานและคุกคามจากอำนาจของเงินตราและผลประโยชน์จำนวนหลายแสนล้านบาทที่มองไปตอนนี้ยังไงผมก็ยังเห็นกรรมวิธีการแบ่งเค้กในเรื่องของรายได้ระหว่างสโมสรในลีกยอดนิยม กับสโมสรในลีกที่ถดถอย หรือระหว่างสโมสรยักษ์ใหญ่ กับสโมสรเล็กๆ ยังไงๆ ก็คงหาจุดลงตัวได้ยาก ถ้าผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์ผมมาตลอดจะพอจำได้ว่าผมเคยเขียนถึงบรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ในลีกของยุโรปที่ถูกนายทุนและเจ้าของเงินทั้งจากสหรัฐอเมริกาเข้าไปซื้อกิจการจากเจ้าของเก่าหรือเข้าไปถือหุ้นเป็นพาร์ตเนอร์รายใหญ่สุดของสโมสรอันเนื่องมาจากโอกาสในการทำรายได้มหาศาลจากลิขสิทธิ์ค่าถ่ายทอดสดที่เราพูดกันที่ตัวเลขหลักแสนล้านบาทกันแล้วสำหรับ EPL ไม่ว่าจะเป็นสโมสร Arsenal, Aston Villa, Bournemouth, Liverpool,

“สถานีแรก” ของแฟชั่นเสื้อบอล

นิตยสาร Wired ผู้คุยว่ามักจะล้ำสมัยในเนื้อหา ได้บอกไว้ว่า โลกหลังยุคโควิด-19 หรือเรียกเท่ๆ ว่า New Normal จะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกแล้ว  ทว่า บทบาทใหม่ในโลกออนไลน์ ยังคงเป็นของ Top 4 อันไม่ได้หมายถึง แมนซิ ลิเวอร์พูล แมนยู หรือ