มูลค่า

มูลค่าของสโมสรฟุตบอล หรือ คุณค่าของเกมฟุตบอล

เมื่อพูดถึงคำว่า “มูลค่า” สิ่งที่วิ่งเข้ามาในหัวเราก็คือเรื่อง เงินๆ ทองๆ และเมื่อพูดถึง “มูลค่า” ในบทสนทนาที่เกี่ยวกับฟุตบอลก็ไม่น่าจะหลีกพ้นเรื่องของ ค่าตัวนักฟุตบอล ที่แต่ละ transaction ตอนนี้มีมูลค่าหลายพันล้านกันไปแล้วประมาณนี้ แต่ถ้าเราพูดกันในระดับของเรื่องสโมสร “มูลค่า” ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเช่นกัน เพราะในแต่ละปีบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกที่ชื่อว่า Brand Finance จะมีการทำรายงานออกมาว่า สโมสรฟุตบอลใดมีมูลค่าสูงที่สุดในโลก

ทีนี้ เรามาดูกันก่อนว่าการตีความ “มูลค่า” ดังกล่าว มาจากอะไร จากรายงานเป็นการคำนวณมูลค่าจากยอดขายสินค้าและค่า royalty ต่างๆ ที่แต่ละสโมสรคาดว่าจะทำได้ในปีนั้นๆ รวมถึงมูลค่าประมาณการของทีมถ้าหากจะมีการซื้อขายเปลี่ยนมือเกิดขึ้นมาเป็นปัจจัย ซึ่งถ้าดูจากรายงานแล้วแน่นอนเดากันไม่ผิดก็ต้องเป็นสโมสรที่มาจากทวีปยุโรปที่ติดอันดับต้นๆ กันเสมอมา และก็หนีไม่พ้นที่จะเป็นลีกยอดฮิตอย่าง พรีเมียร์ลีก ลาลีกา บุนเดสลีกา กัลโช่ซี่รี่อา และห้อยท้ายด้วย ดิวิชั่น 1 ของฝรั่งเศสด้วยนิดนึง

ไม่แปลกที่ลีกในทวีปยุโรปจะติดอันดับทีมที่มีมูลค่าสูงสุดในโลก เพราะอะไรครับ แน่นอน ประวัติศาสตร์ของฟุตบอลและความเข้มข้นของการแข่งขันและการทำการตลาดเป็นส่วนสำคัญ แต่ต้องยอมรับด้วยว่าส่วนหนึ่งของแฟนบอลที่จะสร้างมูลค่าให้กับทีมฟุตบอลต่างๆ นอกเหนือจากแฟนตัวเองในแต่ละประเทศแล้วนั้นอยู่ในทวีปเอเชียเสียส่วนมาก ส่งผลให้ระยะห่างระหว่างเวลาของสองทวีปช่างเหมาะเจาะเหลือเกินสำหรับการถ่ายทอดการแข่งขันช่วงบ่ายวันสุดสัปดาห์ที่ยุโรปจะเป็นช่วงค่ำของที่เอเชียซึ่งถือเป็น prime time ของเวลาการดูโทรทัศน์เลยก็ว่าได้ ยกตัวอย่างไทยเรานี่แหละครับ ตารางประจำพรีเมียร์ลีกคือบ่าย 3-4 โมงซึ่งก็คือ 3-4 ทุ่มบ้านเรา ลองถามคนในวงการทีวีดูก็ได้ว่านี่คือสุดยอดของเวลา prime time แล้วครับ และก็ไม่แปลกที่ทีมจากพรีเมียร์ลีกจะได้เปรียบทีมจากลาลีกาสเปน เพราะลาลีกามีตารางการเตะที่หลากหลาย บ่ายโมง 4 โมง 2 ทุ่ม หรือ 4 ทุ่ม ซึ่งก็คือตี 2 หรือตี 4 บ้านเรา คนถ่างตารอดูก็น้อยลง

ทีนี้เราลองมาดูกันว่า top 10 ของสโมสรที่มีมูลค่าสูงสุดมีใครกันบ้าง อันดับแรกคือ Man U เลยครับ โดยเขี่ยบาเยิร์นฯ ลงจากบัลลังค์ โดยประเมินว่า Man U มีมูลค่าด้านแบรนด์สูงถึงกว่า 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และถือเป็นแบรนด์สโมสรแรกที่ก้าวข้าวเพดาน 1,000 ล้านเหรียญได้เป็นครั้งแรก โดยก้าวกระโดดจากปีที่แล้วถึงเกือบ 500 ล้านเหรียญหรือกว่า 63% เลยทีเดียว

table 1

แต่จากการดูรายละเอียดลึกๆ จะเห็นว่าปัจจัยสำคัญไม่ใช่เรื่องของความสำเร็จในการซื้อขายนักเตะหรือจากการแข่งขันแต่อย่างใด แต่เป็นผลโดยตรงจากการประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดครั้งล่าสุดที่มูลค่าสูงมากจนลีกอื่นอิจฉา

ผลอีกอันที่เห็นชัดเจนคือมีทีมจากพรีเมียร์ลีกติด top 10 ถึง 6 อันดับด้วยกันประกอบด้วย แมนฯยู แมนฯซิตี้ อาร์เซนอล เชลซี ลิเวอร์พูล และสเปอร์ห้อยท้าย ในขณะที่มี 2 ทีมจากลาลีกาสเปนคือรีลมาดริดและบาร์เซโลน่า และแถมบาเยิร์นและ PSG อย่างละทีมจากเยอรมันนีและฝรั่งเศส

นั่นคือในแง่ของมูลค่าสโมสรที่มาจากการทำวิจัยและวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์อย่างมีหลักการสนับสนุนชัดเจน แต่คำถามที่ผมถามตัวเองก็คือ ฟุตบอล สำหรับผม มันสำคัญที่ตรงไหน มูลค่า ของสโมสร ของค่าตัวนักเตะ หรือ คุณค่า ของเกมที่ถูกถ่ายทอดผ่านแทคติกของโค้ชแต่ละสโมสรและเทคนิคของนักเตะแต่ละคน คนที่ทำธุรกิจอย่างเราอยู่กับตัวเลข มีมูลค่าทางธุรกิจที่ต้องคอยกังวล ซึ่งทำให้ผมเข้าใจได้ว่าสำหรับเจ้าของสโมสรต่างๆ ที่เข้าไปลงทุนแน่นอนผลตอบแทนเชิงธุรกิจย่อมต้องสำคัญ มูลค่าของสโมสรและนักเตะหมายถึงเลขศูนย์อีกหลายตัวที่เพิ่มตามมาเวลารายงานผลประกอบการ ซึ่งนั่นอาจนำมาซึ่งแทคติกการเล่นที่ตอบโจทย์รักษาอันดับเพื่อได้เล่นแชมเปี้ยนส์ลีกปีหน้าเพราะจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกมาก หรือการซื้อนักเตะมาเพื่อหวังผลการขายเสื้อที่มีชื่อเค้าติดด้านหลัง

2013-06-03_NEYMAR_90.v1370275881

ภาพจาก fcbarcelona.com

การบริหารทีมเชิงพาณิชย์กำลังทำให้สเน่ห์ของฟุตบอลลดลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราเห็นกันมานักต่อนักสำหรับทีมที่ปลุกปั้นนักเตะขึ้นมาจากทีมเยาวชนและฟอร์มกำลังพีค สร้างสีสันให้กับเกมของทีมต้นสังกัดได้อย่างน่าสนใจก็เพียงเพื่อให้ถูกสโมสรยักษ์ใหญ่ซื้อตัวไปทดลองปรับตัวให้เข้ากับทีม ได้ลงบ้างไม่ลงบ้าง เทคนิคของนักเตะและแทคติกของโค้ชกลายเป็นสินค้า commodity อย่างหนึ่งที่ต้องมีการปรับ package และ relaunch อยู่ตลอดเวลาเพื่อสร้าง มูลค่า ให้กับทีมและตนเอง เป็นการปรับตัวตามคำแนะนำของที่ปรึกษา เอเจนต์ ฯลฯ ที่มาพร้อมกับผลตอบแทนไม่ว่าจะเป็นค่าเหนื่อยที่เพิ่มขึ้นหรือค่าตัวในการย้ายทีมครั้งต่อไป

ผมว่าคำพูดคลาสสิคที่บอกว่า football is a beautiful game คือประโยคที่สร้างความเชื่อมโยงให้กับแฟนบอลอย่างผมได้อย่างดีที่สุด ผมให้น้ำหนักกับ “คุณค่า” ของเกมฟุตบอลมากกว่า “มูลค่า” และผมเชื่อว่าแฟนบอลส่วนมากก็เห็นตรงกับผม ถ้าตัวนักเตะและทีมถูกประเมินและตีตราผ่าน “มูลค่า” ทางการเงิน ผมว่าแรงกดดันที่ตามมาจะไม่ช่วยผลักดันให้ฟุตบอลเป็น a beautiful game ยิ่งคุณมี “มูลค่า” สูง ความผิดเล็กน้อยก็ถูกมองว่าทวีคูณตาม “มูลค่า” ของคุณ และคุณอาจไม่เลือกก้าวข้าม comfort zone เพื่อทำสิ่งใหม่ๆ หรือสร้างสรรค์อะไรเพิ่มเติมเพราะกลัวไปหมด แต่สำหรับผมแล้วผมเลือกที่จะเห็นนักเตะลองทำอะไรในเกมที่คาดไม่ถึงเพื่อสร้างความตื่นเต้นให้กับเกมแล้วเกิดความผิดพลาดมากกว่าที่เห็นนักเตะทำตัวเป็นหุ่นยนต์เล่นตามแทคติกที่วางไว้เพื่อสถิติในเกมจะได้ออกมาสวยหรู ผมเลือกที่จะเห็นนักเตะทั้งทีมเล่นด้วยแรงจูงใจบางอย่างที่ลึกไปกว่าชัยชนะที่มาพร้อมกับคำพูดที่ว่า “คุ้มค่าตัวที่ซื้อมา” ผมมีความสุขมากกว่าเวลาดูฟุตบอลที่จบด้วยความยินดีจากชัยชนะและและความละอายจากการพ่ายแพ้ที่มันที่ออกมาจากจิตวิญญาณของนักเตะจริงๆ การตกชั้นไม่ได้ถูกมองว่าเป็นการสูญเสียรายได้แต่เป็นการนำความทุกข์มาให้กับเพื่อนร่วมทีมและแฟนบอลในเมือง

bale

ท่านผู้อ่านลองสังเกตดีๆ สิครับแล้วลองบอกตัวเองว่าสีหน้าของนักเตะของทีมอย่างรีลมาดริด โดยเฉพาะ กาเรธ เบลล์ เวลาจบเกมด้วยชัยชนะมันเป็นสีหน้าของคนที่โล่งใจที่ justify “มูลค่า” ของตัวเองและเพื่อนร่วมทีมได้หรือเป็นสีหน้าของคนที่รู้สึกได้ว่าสร้าง “คุณค่า” ให้กับ a beautiful game ตลอด 90 นาทีที่ผ่านมา

Related Articles

The-Beach

The Beach บทเรียนที่สำคัญที่ต้องไม่ซ้ำรอย

อ่านข่าวช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ก็น่ายินดีที่ประเทศไทยเรามีนโยบายการสนับสนุนส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร โดยเป็นโอกาสหนึ่งในการดึงเงินลงทุนและสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนด้านการท่องเที่ยวได้หลายพันล้านบาท อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานในวงการภาพยนตร์ไทยมีโอกาสได้รับการว่าจ้างจากผู้สร้างภาพยนตร์เหล่านี้ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องนี้ถูกพูดถึงขึ้นมาก็อดนึกไปถึงกรณีของภาพยนตร์เรื่อง The Beach ที่มีการยกกองมาถ่ายทำที่หาดมาหยา บนเกาะพีพีเล จังหวัดกระบี่ เมื่อปี 2541 ไม่ได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว กับสภาพแวดล้อมของหาดมาหยา และผลกระทบที่เกิดกับระบบนิเวศในบริเวณนั้น เป็นบทเรียนสำคัญเรื่องหนึ่งของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตื้นที่เปราะบาง การขุดขยายหาดให้กว้างขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับบทของภาพยนตร์

ai-Artificial intelligence

AI ปัญญาประดิษฐ์ นวัตกรรมเปลี่ยนโลก

เทคโนโลยีตัวหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา คือ ตัวปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อว่า ChatGPT (Chat + GPT ตัวย่อของคำว่า “generative pre-trainedtransformer” ซึ่งเป็นโมเดลประมวลผลทางภาษาประเภทหนึ่ง) ที่ถูกปล่อยออกให้คนทั่วไปได้ลองใช้ในโลกออนไลน์ อันนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ผมว่าเราทุกคนต้องทำความเข้าใจให้ดีๆ เพราะผมมองว่าเจ้าปัญญาประดิษฐ์มีโอกาสที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง องค์ประกอบหลายๆ อย่างทางเศรษฐกิจอย่างพลิกฝ่ามือได้เลยทีเดียว มองย้อนกลับไปในอดีต

ทรงอย่างแบด

ปรากฏการณ์ “ทรงอย่างแบด” : ความซับซ้อนของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคปัจจุบัน

ปรากฏการณ์ “ทรงอย่างแบด” เป็นเรื่องที่ผมทึ่งกับวิถีสังคมของเด็กรุ่น Gen Millennials และ Alpha ที่ส่งอิทธิพลต่อมาถึงคนรุ่น Boomer และ X Y ได้อย่างน่าสนใจ ถ้าเราไม่ได้คุยกับเด็กรุ่นใหม่ หรือเอาตัวเข้าไปอยู่ในสื่อโซเชียลที่เด็กยุคใหม่คุยกัน ก็คงจะงงกันว่าประโยคนี้คืออะไร แล้วคำขวัญของผู้ว่าฯ มาจากไหน ถือเป็นตัวอย่างของช่องว่างทางความคิด สังคม