ปรากฏการณ์ “ทรงอย่างแบด” :
ความซับซ้อนของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคปัจจุบัน

ปรากฏการณ์ “ทรงอย่างแบด” เป็นเรื่องที่ผมทึ่งกับวิถีสังคมของเด็กรุ่น Gen Millennials และ Alpha ที่ส่งอิทธิพลต่อมาถึงคนรุ่น Boomer และ X Y ได้อย่างน่าสนใจ

ถ้าเราไม่ได้คุยกับเด็กรุ่นใหม่ หรือเอาตัวเข้าไปอยู่ในสื่อโซเชียลที่เด็กยุคใหม่คุยกัน ก็คงจะงงกันว่าประโยคนี้คืออะไร แล้วคำขวัญของผู้ว่าฯ มาจากไหน ถือเป็นตัวอย่างของช่องว่างทางความคิด สังคม วัฒนธรรม ที่คนแต่ละยุคไม่ได้ไหลลื่นไปพร้อม ๆ กัน

ไม่ว่าเราจะมองย้อนกลับไปยุคไหน ก็จะมองเห็นถึงวิถีสังคมของเยาวชนในแต่ละยุคนั้น ๆ และมองเห็นช่องว่างระหว่างเด็กวัยรุ่นกับผู้ใหญ่ที่ทั้งสองฝ่ายต้องทำความเข้าใจกันและกัน

นิตยสาร The Economist หยิบประเด็นนี้มาเขียนได้อย่างน่าสนใจ เขาพูดถึงประสบการณ์ชีวิตของกลุ่มผู้บริโภค ณ ปัจจุบัน ที่ถูกหล่อหลอมโดยสภาพเศรษฐกิจ สังคม ที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อน ๆ อันส่งผลถึงวิถีการจับจ่ายใช้สอยของเด็กในยุคนี้ ที่มีความย้อนแย้งและความซับซ้อนได้น่าสนใจมากทีเดียว

เรากำลังพูดถึงคือกลุ่มคนในช่วงอายุสิบปีต้น ๆ (กำลังกลายเป็นผู้ที่ตัดสินใจเลือกสินค้าและบริการด้วยตัวเอง แต่ผู้ปกครองจ่าย) ไปจนถึงรุ่น 20 กลาง ๆ ซึ่งรวมแล้วเป็นสัดส่วนประมาณ 20-25% ของประชากรไทย

ในช่วงชีวิตของผู้บริโภคกลุ่มอายุนี้ได้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมที่รุนแรงมาถึง 2 กรณี นั่นคือ วิกฤตเศรษฐกิจช่วง subprime ประมาณ ค.ศ. 2007-2008 ที่เรียกได้ว่าเป็นวิกฤตฟองสบู่แตกครั้งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ ส่งผลกระทบทั่วโลก และอีกวิกฤตที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องเผชิญก็คือ โควิด-19 ที่ผ่านมา

วิกฤตดังกล่าวส่งผลอะไรกับผู้บริโภคกลุ่มนี้ แน่นอน “เงินในกระเป๋า” ที่ใช้จับจ่ายของเขาได้รับผลกระทบ หลายครอบครัวอาจต้องรัดเข็มขัด ผู้หาเลี้ยงครอบครัวอาจประสบปัญหาการถูกเลิกจ้าง คนที่อยู่ในกลุ่มอายุที่เปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัยทำงานเองใน 2-3 ปีที่ผ่านมาก็ยังหางานทำไม่ได้ ต้องพึ่งพิงพ่อแม่ในการดำรงชีวิต

มีการทำวิจัยเรื่องนี้ เขาบอกว่าคนกลุ่ม Gen Z และ Millennial จะมีความกังขาต่ออนาคตของตัวเอง บางคนมองไม่ออกด้วยซ้ำว่าเมื่อไหร่จะเก็บเงินจากการทำงานได้พอจะรีไทร์ หรือมีบ้านเป็นของตัวเองได้

แต่ความย้อนแย้งที่น่าสนใจก็คือ คนกลุ่มนี้กลับจะมีแรงกระตุ้นที่จะ “ใช้เงิน” ที่มีจำกัดจับจ่ายซื้อของแบบหุนหันพลันแล่น (impulsive) ในช่วงโมเมนต์ปัจจุบันของชีวิตหลังจากวิกฤตโควิดผ่านไปไม่นาน ซึ่งถ้าไม่ใช้บริการบัตรเครดิตก็มีแพลตฟอร์มพวก “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” มารองรับ

ในขณะที่คนกลุ่มเจน X หรือ Boomer กลับคิดหน้าคิดหลังให้ดี เพราะเป็นห่วงอนาคตว่าหลังโควิดจะมีอะไรเกิดขึ้นอีก แล้วจะรับมือไหวไหม

บางเรื่องที่คนรุ่นก่อนมองว่าจะจ่ายเงินทีต้องรอบคอบ อย่างเรื่องของหรูหราแบรนด์เนม แต่ผลสำรวจบอกว่าเด็กรุ่นใหม่มองว่าของแบรนด์เนมกลายเป็นของจำเป็นต้องมี ผลสำรวจของบริษัท Bain บอกว่า ยุคนี้ผู้บริโภค Gen Z เริ่มซื้อของแบรนด์เนมชิ้นแรกที่อายุเฉลี่ย 15 ปี

ในขณะที่คนกลุ่ม Gen Y เริ่มที่อายุ 19 ปี โดยเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้ซื้อเพราะฟุ่มเฟือย แต่เขามองว่าสินค้าพวกนี้เป็นการ “ลงทุน” และหวังว่าคงมูลค่าได้แม้ในยามเศรษฐกิจตกสะเก็ด โดยสามารถปล่อยผ่านแพลตฟอร์มขายของมือสองที่มีมากมายได้

อีกประเด็นที่น่าสนใจในความย้อนแย้งก็คือ ผู้บริโภครุ่นใหม่จำนวนมากให้ความสำคัญกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม มลพิษ ขยะส่วนเกิน ฯลฯ แต่ผลสำรวจบอกว่าหากการซื้อของชิ้นเล็ก ๆ หลาย ๆ ชิ้นจากหลาย ๆ แหล่งผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล สามารถถูกนำส่งผ่านกระบวนการโลจิสติกส์ที่รวดเร็วและสะดวก

ผู้บริโภคกลุ่มนี้ก็พร้อมที่จะมองข้ามเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนในกระบวนการนำส่งและบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการซื้อขายได้เช่นกัน

เห็นไหมครับว่ามีความซับซ้อนและความย้อนแย้งของพฤติกรรมผู้บริโภคที่ถูกหล่อหลอมผ่านการเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตในสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่คาดเดาไม่ได้อยู่อีกเยอะ เป็นเรื่องน่าสนใจที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องทำความเข้าใจให้ดี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบธุรกิจรุ่นเก่าที่อาจยังยึดติดกับวัฒนธรรมการซื้อ การบริโภคในรูปแบบของคนยุคเก่าสมัยที่ตัวเองตั้งต้นทำธุรกิจ อย่าคิดนะครับว่าสิ่งที่เรารู้ถูกต้องเสมอไป เรื่องใหม่ ๆ ให้เรียนรู้มีอีกเยอะ

CEO OF SANSIRI PLC

Related Articles

ai-Artificial intelligence

AI ปัญญาประดิษฐ์ นวัตกรรมเปลี่ยนโลก

เทคโนโลยีตัวหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา คือ ตัวปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อว่า ChatGPT (Chat + GPT ตัวย่อของคำว่า “generative pre-trainedtransformer” ซึ่งเป็นโมเดลประมวลผลทางภาษาประเภทหนึ่ง) ที่ถูกปล่อยออกให้คนทั่วไปได้ลองใช้ในโลกออนไลน์ อันนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ผมว่าเราทุกคนต้องทำความเข้าใจให้ดีๆ เพราะผมมองว่าเจ้าปัญญาประดิษฐ์มีโอกาสที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง องค์ประกอบหลายๆ อย่างทางเศรษฐกิจอย่างพลิกฝ่ามือได้เลยทีเดียว มองย้อนกลับไปในอดีต

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เป็นหุ้นส่วนของประเทศและมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจได้ผ่านภาวะวิกฤติมาหลายระลอก หลังจากที่ได้เห็นแผนการกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยว ดีใจที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้ความสำคัญกับจังหวัดรองอย่าง สตูล จันทบุรี ระนอง ตราด จากเดิมมองแค่ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ผมมองว่าคุณภาพของนักท่องเที่ยวสำคัญ เน้นเรื่องการมาอยู่ยาว หรือลองสเตย์ ที่มาเมดิคัลเวลเนส ทำให้ระยะเวลาในการอยู่เร็วขึ้น ทำให้ใช้จ่ายเงินเยอะขึ้น จากปีนี้ที่ต้องเป้าไว้ว่าจะได้นักท่องเที่ยว 10

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG ซึ่งย่อมาจาก environment (สิ่งแวดล้อม) social (สังคม) และ governance (บรรษัทภิบาล) ปัจจุบันได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งจากบริษัทจดทะเบียน นักลงทุน และผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่ใครก็หลีกเลี่ยงไม่สนใจไม่ได้ในตอนนี้ จากทั้ง 3 มิติดังกล่าว นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าถ้ามองในมุมที่จับต้องได้แล้ว มิติด้านสิ่งแวดล้อม