หญ้าสังเคราะห์ กับความเท่าเทียมในกีฬาฟุตบอล
นับเป็นเรื่องดีที่กีฬาอย่างฟุตบอลหญิงเริ่มได้รับการยอมรับและความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปีนี้ทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลกประเภททีมหญิงที่จัดขึ้นที่ประเทศแคนาดาถือว่าเป็นมหกรรมแข่งขันกีฬาเฉพาะของสุภาพสตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มีการซื้อลิขสิทธิ์เพื่อทำการถ่ายทอดสดเพิ่มมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน รวมถึงการเตรียมความพร้อมจากทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นผู้จัด ทีมเข้าแข่งขันและความตื่นเต้นของคนดู ถือว่าแทบจะไม่ต่างจากฟุตบอลโลกของผู้ชายกันแล้ว อย่างไรก็ตามมีประเด็นหนึ่งที่เป็นเรื่องร้อนของ FIFA ที่เกี่ยวข้องกับทัวร์นาเมนต์นี้ ท่านที่ติดตามข่าวหรือเฝ้าดูการถ่ายทอดสดแม็ตช์ต่างๆ อย่างจดจ่ออาจจะพอทราบหรือสังเกตเห็น ว่ามีสิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากทุกครั้ง แต่สำหรับท่านที่ไม่ทราบผมขอเฉลยเลยว่าทุกเกมการแข่งขันในสนามแข่งทั้ง 6 สนามไม่ได้เกิดขึ้นบนสนามหญ้าจริงแต่เป็นหญ้าสังเคราะห์ (ที่ได้รับการรับรองจาก FIFA แล้ว) รวมถึงสนามซ้อมของทั้ง 24 ทีมด้วยที่จะถูกจัดให้บนสนามหญ้าสังเคราะห์เช่นกัน เป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็ก ที่ฟุตบอลระดับโลกแบบนี้จะแข่งกันบนสนามสังเคราะห์ บางค่ายก็ว่าไม่เห็นจะมีปัญหา บางค่ายก็บอกว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เราลองมาดูกันว่าใครคิดอย่างไรกันบ้าง สำหรับท่านที่คุ้นชินกับการเล่นฟุตบอลบนสนามหญ้าจริงนั้นคงพอจะทราบดีว่ามันต่างกับหญ้าสังเคราะห์อย่างไร และเช่นเดียวกันบรรดานักเตะสตรีเกือบทั้งหมดก็ไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรกที่ฟุตบอลโลกในครั้งนี้จัดบนหญ้าสังเคราะห์ โดยเป็นประเด็นใหญ่โตถึงกับมีการรวมชื่อกันฟ้องร้อง FIFA ผ่านศาลสิทธิมนุษยชนที่แคนาดาเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว โดยอ้างถึงประเด็นหลักๆ 2 เรื่องคือ ความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ โดยมีหลายคนที่เป็นดาราแข้งดังระดับโลกอย่าง Marta ของบราซิล Nadine Angerer ของเยอรมัน และ Abby Wambach ของสหรัฐฯ รวมอยู่ด้วย ในประเด็นเรื่องของความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ แม้จะมีหลักฐานจากประสบการณ์ตรงและได้รับการสนับสนุนจากนักเตะหลายต่อหลายคนที่อ้างว่าการเล่นบนสนามสังเคราะห์ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ง่ายและรุนแรงกว่าสนามจริงก็ตาม (Thierry Henry อดีตกองหน้าชาวฝรั่งเศสเคยปฏิเสธการเล่นบนหญ้าสังเคราะห์มาแล้วสมัยแรกๆ ที่ย้ายไปเล่นในการแข่งขัน MLS เพราะกลัวอาการบาดเจ็บ) แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับจาก FIFA แต่อย่างใดและ FIFA อ้างว่าไม่มีข้อพิสูจน์ใดที่บ่งบอกเช่นนั้น แต่ถ้าท่านที่กล้ามเนื้อไม่ดีหรือกระดูกมีปัญหาคงจะพอทราบว่าสนามหญ้าสังเคราะห์เล่นแล้วร่างกายบอบช้ำกว่าสนามจริงเยอะ ยิ่งถ้ามีการล้มหรือสไลด์เกิดขึ้น แผลไหม้เป็นเรื่องปกติ
ภาพจาก twitter ของ Sydney Leroux ผู้เล่นทีมชาติสหรัฐฯ ภายหลังเกมการแข่งขันบนสนามหญ้าเทียมที่เธอโพสต์เมื่อปีก่อน
ยิ่งกว่านั้นถ้าหากอากาศร้อนมากๆ หญ้าสังเคราะห์จะเก็บความร้อนได้ดีกว่าหญ้าจริง ทำให้บางครั้งอุณหภูมิพื้นผิวสนามขึ้นไปสูงถึง 50 องศาเซลเซียสทีเดียว ดังนั้นสิ่งที่บรรดานักเตะต่างๆ กลัวกันไม่ใช่ความบอบช้ำและสภาพความร้อนที่เกิดระหว่างการแข่งขันที่แคนาดาอย่างเดียว แต่การที่ทีมต้องฝึกซ้อมบนหญ้าสังเคราะห์ให้ชินเป็นการ expose ต่อความร้อนที่อาจเกิดขึ้นรวมทั้งส่งผลให้เกิดผลเสียต่อกล้ามเนื้อในระยะยาว
มองในแง่ของทีมที่เข้าร่วมแข่งขันแล้วผมว่ามันก็เป็นเรื่องสำคัญนะครับ จะแข่งหญ้าจริงหรือสังเคราะห์ก็ตาม เพราะการเตรียมทีม นอกเหนือจากเรื่องความฟิตของร่างกายจิตใจ ทีมเวิร์คและแทคติกต่างๆ แล้วก็ต้องรู้ว่าสภาพของสนามที่จะแข่งเป็นอย่างไร สำหรับบอลโลกประเภททีมหญิงครั้งนี้ท้ายสุดเมื่อตกลงกันไม่ได้สิ่งที่ทุกทีมต้องทำก็คือหาสนามหญ้าสังเคราะห์เพื่อเก็บตัวและฝึกซ้อมให้คุ้นชินมากที่สุดและนักเตะทุกคนก็ก้มหน้าก้มตายอมรับสภาพกันไป ในแง่ของคนดู ความกังวลของนักเตะในประเด็นนี้ไม่แน่ใจว่าอาจส่งผลให้เกมฟุตบอลที่เกิดขึ้นสนุกน้อยลงหรือไม่ แต่ถ้าหากนักเตะส่วนมากไม่ใส่เต็มร้อยหรือเผื่อขาดไว้หน่อยเพื่อถนอมร่างกาย การเข้าบอล สไลด์ ฯลฯ นักเตะอาจระมัดระวังมากขึ้น ยิ่งกว่านั้น นักเตะส่วนมากยังมีความเห็นว่าจังหวะการเด้งของบอลในสนามสังเคราะห์จะต่างจากสนามจริงและทำให้การคอนโทรลบอลขาดๆ เกินๆ ส่งผลให้จังหวะและการเดินเกมของทีมที่ไม่ชินไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงเกมคงสนุกน้อยลงแน่นอน ส่วนในประเด็นเรื่องความไม่เสมอภาคทางเพศนั้นเป็นประเด็นที่ถูกหยิบมาพูดถึงและสุมไฟให้ FIFA ได้หนาวๆ และหาข้อแก้ตัวกันยุ่งอยู่เหมือนกันในช่วงแรกๆ เพราะบอลโลกหญิงครั้งนี้จะถือเป็นทัวร์นาเมนต์ระดับโลกในรุ่นใหญ่ครั้งแรกที่แข่งกันบนสนามหญ้าสังเคราะห์ ก่อให้เกิดคำถามว่าทำไม FIFA ถึงเลือกให้บอลหญิงถูกบังคับให้เป็นหนูทดลองก่อนในครั้งนี้ เหตุหนึ่งที่ทำให้หลายฝ่ายคิดเช่นนี้ก็เพราะเลขาทั่วไปของ FIFA นาย Jerome Valcke เคยพูดไว้เมื่อปลายปีที่แล้วว่า “ไม่ช้าก็เร็ว ฟุตบอลโลกประเภททีมชายก็อาจจะต้องแข่งขันบนหญ้าสังเคราะห์เช่นกัน” นั่นยิ่งทำให้คนคิดว่าถ้าต้องลองก็ลองกับทัวร์นาเมนต์ของทีมประเภทหญิงก่อนหรือเปล่า นั่นคือคำถามที่มีต่อ FIFA ซึ่งหนึ่งในคำตอบที่ออกมาจาก FIFA ก็คือการอ้างถึงสภาพอากาศในช่วงการแข่งขันทัวร์นาเมนต์นี้ของแคนาดาที่มีพายุฝนรุนแรงแบบคาดเดาไม่ได้จะไม่เอื้อต่อการแข่งและซ้อมบนหญ้าจริง ซึ่งท้ายสุดส่งผลให้ต้องมีการปรับสภาพสนาม Moncton Stadium ในเมือง Moncton จากหญ้าจริงให้เป็นหญ้าสังเคราะห์ตามอีก 5 สนามที่ใช้เป็นสนามแข่งไปด้วย ซึ่งนั่นก็เป็นการลงทุนอันหนึ่งของ FIFA ในครั้งนี้
แต่ถ้ามองในแง่กลับกัน ข่าวว่า FIFA ได้กำไรจากการแข่งบอลโลกประเภททีมชายในปี 2014 ถึงกว่า 330 ล้านเหรียญ แล้วกับแค่การปรับหญ้าสังเคราะห์ของอีก 5 สนามให้กลายเป็นหญ้าจริงเหมือนของที่ Moncton ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ใช่หรือไม่ ยิ่งในเมื่อลีกอาชีพส่วนมากของทีมประเภทหญิงก็แข่งขันกันในสนามหญ้าจริงอยู่แล้ว แล้วทำไม FIFA ถึงไม่คิดจะลงทุนให้กับทัวร์นาเมนต์ที่สำคัญที่สุดของประเภททีมหญิงในครั้งนี้ เมื่อประกอบกับหลากหลายกรณีในอดีตที่ผู้บริหารระดับสูงของ FIFA เคยแสดงท่าทีมีความแนวคิด sexist ยิ่งทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท้าทาย FIFA อยู่พอดู ท้ายที่สุด แม้ฟุตบอลโลกประเภททีมหญิงจะมีขึ้นบนหญ้าสังเคราะห์กันต่อไปในครั้งนี้ แต่จากประเด็นดังที่กล่าวมา อย่างน้อยบรรดานักเตะที่ไม่เห็นด้วยและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รวมทั้งคนดูก็แน่ใจได้ว่า ทัวร์นาเมนต์บอลโลกไม่ว่าจะเพศไหนบนหญ้าสังเคราะห์คงจะเป็นของแสลงสำหรับ FIFA ในอนาคตต่อไปอย่างแน่นอน