Jose Mourinho เคยพูดถึงอดีตเมื่อปี 2007 ที่เค้าโดนนายจ้าง Roman Abramovich ไล่ออกจากการเป็นโค้ชทีมเชลซีในครั้งนั้นว่า “ผมเกือบตัดสินใจเซ็นสัญญาคุมทีมชาติอังกฤษ แต่ผมถามตัวเองในวินาทีสุดท้ายว่า ถ้าผมเป็นโค้ชทีมชาติ จะมีเกมแข่งขันแค่เดือนละครั้งอย่างมาก และผมจะใช้เวลาส่วนมากกับการทำงานที่โต๊ะและก็ต้องรอเป็นปีกว่าที่จะถึงฤดูแข่งขันอย่างฟุตบอลโลกหรือบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป” สุดท้าย Mourinho ตัดสินใจว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่เค้ามองหา เค้าเลือกที่จะรอเพื่อกลับเข้าไปทำงานเป็นโค้ชในระดับสโมสรชั้นนำมากกว่า รอโอกาสที่เหมาะสมและเค้าคิดว่าท้าทายความสามารถของเค้าจริงๆ และสุดท้ายสโมสรที่เค้าเลือกคือ Inter Milan คำถามก็คือ “ความท้าทาย” เป็นปัจจัยเดียวหรือที่จะทำให้โค้ชฝีมือดีตัดสินใจไม่ทำทีมชาติระดับยอดนิยมอย่างอังกฤษ หรือจะมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นเรื่องค่าตอบแทน?
ภาพจาก mirror.co.uk
ถ้ามองย้อนกลับไปฟุตบอลโลกปีที่แล้ว มีสถิติตัวเลขค่าจ้างของบรรดาโค้ชทีมชาติต่างๆ ทั้ง 32 ทีมที่เข้าร่วมออกมาให้ดูกัน โดยรายได้เฉลี่ยตกประมาณคนละ 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี (ไม่รวมโบนัสพิเศษในกรณีทีมประสบความสำเร็จจากการแข่งขัน) ซึ่งโค้ชที่มีค่าตัวสูงสุดก็คือ Fabio Capello โค้ชทีมชาติรัสเซียที่ได้ค่าตอบแทนจากสมาคมฟุตบอลของรัสเซียที่ประมาณ 11.2 ล้านเหรียญต่อปี ทิ้งที่สอง Roy Hodgeson ของอังกฤษที่ได้ประมาณ 5.8 ล้านเหรียญไม่เห็นฝุ่นเลยทีเดียว
Fabio Capello ขณะดำรงตำแหน่งโค้ชทีมชาติรัสเซีย
ในขณะเดียวกันภายหลังเกิดนิมิตรวินาทีสุดท้ายว่าอยากเป็นโค้ชระดับสโมสรต่อ ปัจจุบัน Jose Mourinho ได้ชื่อว่าเป็นโค้ชระดับสโมสรที่ได้ค่าตอบแทนสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจาก Pep Guardiola ของ Bayern Munich โดย Mourinho ได้ค่าตอบแทนที่ประมาณ 16 ล้านเหรียญต่อปี ซึ่งทิ้ง Capello กว่า 50% เลยทีเดียว รวมถึงเค้ายังประกาศว่าจะทำหน้าที่โค้ชในระดับสโมสรไปอีกประมาณ 15 ปีก่อนที่จะพิจารณาทำทีมชาติ อันนี้ผมบอกไม่ได้ว่าเป็นเรื่องของเงินหรือความท้าทาย ลองคิดกันเองแล้วกันครับ กลับมาที่ระดับทีมชาติ โค้ชทีมแชมป์โลก Joachim Low ของเยอรมันนีได้ค่าตอบแทนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับความสำเร็จที่ได้ โดยเค้าเข้ามาในลำดับที่ 6 ด้วยค่าตอบแทนประมาณ 3.6 ล้านเหรียญต่อปี ในขณะที่ Alejandro Sabella โค้ชทีมอาร์เจนติน่าคู่ชิงเข้ามาในลำดับที่ 22 จาก 32 คนที่ประมาณ 8 แสนเหรียญต่อปี ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับความสำเร็จ และถ้าดูจากชื่อบรรดาโค้ชทีมชาติเหล่านี้จะเห็นได้ว่าเป็นการว่าจ้างมือปืนต่างชาติมาถึง 15 ทีมจาก 32 ทีมและก็เป็นชื่อที่ยังพอขายได้เช่น Carlos Queiroz อดีตผู้ช่วย Sir Alex Ferguson ของทีมเล็กๆ อย่าง Iran ที่เข้าวินในอันดับ 13 ด้วยค่าตัวถึง 2 ล้านเหรียญทีเดียว หรือ Alberto Zaccheroni ของทีมชาติญี่ปุ่นที่เข้าวินอันดับ 9 ด้วยค่าตัวกว่า 2.7 ล้านเหรียญ ผมคิดเองว่าบรรดาโค้ชเหล่านี้น่าจะถูกว่าจ้างเข้ามาด้วยความหวังของสมาคมฟุตบอลแต่ละชาติที่จะใช้ประสบการณ์และความเก๋าเกมในระดับสูงๆ มาบริหารทีมชาติที่ยังต้องถือว่าพื้นฐานโดยรวมยังไม่แข็งพอที่จะเรียกเป็นทีมชั้นนำระดับโลก เรียกได้ว่าเป็นทางลัดในการไปสู่ความสำเร็จแบบหนึ่ง
Carlos Queiroz กับทีมชาติอิหร่าน
แน่นอน “ค่าตัวที่สูง” ก็มาพร้อมกับ “ความไม่แน่นอนในอาชีพ” ดูจากรายชื่อโค้ชทีมชาติฟุตบอลโลกปี 2014 ก็จะเห็นว่ามีเพียงแค่ 5 คนที่สืบทอดตำแหน่งเดิมมาจากบอลโลกในปี 2010 และหลังบอลโลกปีที่แล้วจบลงผมเองก็ไม่ได้ติดตามอยู่ตลอด แต่เชื่อว่าบรรดาโค้ชมือปืนเหล่านี้น่าจะเหลือไม่กี่คนที่ยังได้คุมทีมชาติเหล่านี้อยู่ เพราะน่าจะเป็นเงื่อนไขของการทำสัญญากับสมาคมฟุตบอลต่างๆ ว่าถ้าไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ในฟุตบอลโลกก็คงสามารถยกเลิกสัญญาได้ อย่างไรก็ตามผมเองไม่เชื่อว่าการจ้างคนพิเศษเพียง 1 คนจะสามารถเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งให้สวยหรูได้ในพริบตา ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ มีอีกมากมายทั้งในเรื่องของทีมงานที่โค้ชคนดังกล่าวจะต้องร่วมงานด้วย จะเป็นทีมเดิมหรือสรรหาทีมใหม่ยกชุด อันจะนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายที่ตามมากหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ภาษา ที่อาจเป็นกำแพงในการเข้าถึงนักฟุตบอลของโค้ชแต่ละประเทศได้ แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญมากที่สุดต่อความสำเร็จของทีมชาติทุกชาติก็คือพื้นฐานคุณภาพของนักเตะที่จะถูกรวบรวมมาจากลีกในประเทศหรือลีกที่มีนักเตะชาตินั้นๆ ไปค้าแข้งอยู่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือฟุตบอลพรีเมียร์ลีก แม้จะประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์อย่างมากมายแต่ในระดับสโมสรยุโรปก็ยังไปไม่ถึงจุดสูงสุด ยังสู้ทีมจากบุนเดสลีกาหรือลาลีกาก็ไม่ได้ ซึ่งก็เห็นได้ชัดเจนอีกเช่นกันว่านักเตะอังกฤษที่ไปค้าแข้งในลีกเหล่านี้แล้วประสบความสำเร็จก็มีน้อยมาก ส่วนมากเลือกที่จะรับทรัพย์กับทีมในพรีเมียร์ลีกมากกว่า ส่งผลให้คุณภาพของนักเตะทีมชาติอังกฤษยังเรียกได้ว่าไม่ถึงขั้นและเหมือนพยายามหลอกตัวเองอยู่ทุกครั้งในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ๆ ว่าจะประสบความสำเร็จให้ได้ เช่นกันถ้ามองย้อนกลับมาที่ทีมชาติไทยของเรา ช่วงภายหลังจากที่ประสบความสำเร็จในระยะปีหลังๆ ที่ผ่านมา แน่นอนเราต้องยอมรับว่ามีส่วนสำคัญมาจากการพัฒนาคุณภาพของลีกไทยเราทั้งในเรื่องของมาตรฐานเกมและมาตรฐานการดูแลนักเตะของแต่ละสโมสรที่เอา know how จากต่างชาติเข้ามาเยอะอยู่เหมือนกัน แม้กระทั่งสัมภาษณ์ล่าสุดของโค้ชซิโก้เองก็ยังกล่าวถึงเรื่องนี้ว่าตอนนี้การเตรียมทีมชาติก็เหมือนเอาส่วนผสมที่พร้อมแล้วมาแค่ผัดให้อร่อยกลมกล่อมขึ้น ไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่ผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งในสมาคมและเจ้าของสโมสรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และในกรณีคลาสสิคของบรรดาโค้ชทีมชาติ เมื่อมีความคาดหวังเรื่องความสำเร็จ ก็มักจะมีปัญหาเรื่องของ ค่าตอบแทน ตามมาเสมอ ถ้าดูจากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ถึงการเซ็นสัญญาว่าจ้างคุณซิโก้เพื่อทำทีมชาติไทยเป็นเวลา 5 ปีของสมาคมฟุตบอล เห็นตัวเลขเป็นมูลค่าถึง 1 ล้านบาทต่อเดือน ตีได้เป็น 12 ล้านต่อปีหรือ 4 แสนเหรียญทีเดียว เทียบได้กับโค้ชของทีมชาติอย่าง ไนจีเรีย และ แคเมอรูน และสูงกว่าโค้ชของประเทศอย่าง เซอร์เบีย และ เม็กซิโก เสียอีก ข้อมูลดังกล่าวทำให้ คุณซิโก้ ตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบเพราะนี่คือการลงทุนกับโค้ชที่เราเชื่อมั่นว่ามีความทุ่มเท ผูกพัน และเต็มที่กับทีมชาติอย่างไม่ต้องถามแทนที่จะเลือกเอามือปืนรับจ้างต่างชาติมาทำ แต่สิ่งจำเป็นที่เราทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันสร้างให้เกิดก็คือ ความโปร่งใส ในเรื่องเงินๆ ทองๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องชัดเจนจากทุกฝ่าย เพราะต้องยอมรับก
ันว่าการลงทุนในระดับนี้กับโค้ชคนไทยที่มีความเหมาะสมในทุกๆ ด้านไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ตอนนี้วงการฟุตบอลไทยกำลังยกระดับความเป็นสากลและมาตรฐานต่างๆ ในขณะที่คนไทยเรายังมักทำงานกันในระบบพี่ๆ น้องๆ อยู่ อันนี้ต้องขอครับ ในฐานะคนดูอยู่ห่างๆ ที่ไม่อยากได้ยินประโยคสรุปเหมารวมที่ทุกคนก็พูดกันว่า “เงินไม่ใช่เรื่องใหญ่” แต่เอาเข้าจริงๆ เป็นประเด็นสำคัญที่แก้ไม่ยาก เพียงต้องการแค่ความโปร่งใสมาจัดการให้เข้าที่เข้าทาง แค่นั้นเอง