โลกการเงินยุคดิจิทัล
ไม่เปลี่ยนเท่ากับปิด?

ในยุคดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกด้าน การเงินการลงทุนก็เป็นอีกเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนต้องปรับตัวไม่ต่างจากเรื่องอื่นๆ

SIRI Podcast รายการ คุยนอกทวีต EP. 3 ชวนมาเปิดมุมมอง ย้อนมองการเปลี่ยนแปลงการลงทุนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แชร์พฤติกรรมของการลงทุนจากเจเนอเรชันที่ต่างกัน พร้อมร่วมกันมองทิศทางการเงินดิจิทัลที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคต

นำโดยคุณเศรษฐา ทวีสิน CEO แสนสิริ ตัวแทนคนรุ่นก่อนที่เรียนรู้ ปรับตัว และพร้อมศึกษารูปแบบการลงทุนใหม่ๆ นั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับแขกรับเชิญอีกสองท่าน คือ ‘คุณเฟื่องลดา’ สรานี สงวนเรือง คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ สายเทคโนโลยีที่คลุกคลีกับเรื่องดิจิทัลมาไม่น้อย รวมทั้งยังเป็นเจ้าของบริษัทสื่อ LDA – Ladies of Digital Age และ ‘คุณเฟิร์น’ ศิรัถยา อิศรภักดี พิธีกรคนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุน และอัปเดทเทรนด์การเงินดิจิทัลอยู่เสมอ เป็นผู้จัดรายการ Morning Wealth รายการข่าวเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุนของ THE STANDARD WEALTH รวมถึงเป็นผู้ก่อตั้งสื่อที่ให้ความรู้เรื่องการเงินอย่าง Wealth Me Up อีกด้วย

เมื่อโลกของการลงทุนมีความเปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจด้านการเงินกันมากขึ้น

ในปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่กระตือรือร้นในเรื่องการเงินการลงทุนกันมากกว่าเดิม คุณเฟื่องลดาแชร์ประสบการณ์ว่าเห็นน้องๆ ที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี หันมาสนใจด้านการลงทุนกันมากขึ้น ส่วนเมื่อมองย้อนไปในอดีตคุณเศรษฐาเล่าว่าการลงทุนในรูปแบบเก่าที่ในปัจจุบันนี้ยังมีอยู่ก็คือการซื้อบ้าน ซึ่งถือว่าเป็นการออมอย่างหนึ่ง และเป็นธุรกิจหลักของแสนสิริอยู่แล้ว นอกจากนั้นก็คือการออมและการลงทุนในรูปแบบเงินฝาก เพราะในอดีตดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 7-8 เปอร์เซ็น หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นสมัยก่อนการฝากเงินมีความปลอดภัย และได้ผลตอบแทนที่สูง จึงอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้คนยุคก่อนไม่ได้มองหาช่องทางการลงทุนใหม่ๆ รวมทั้งเรื่องเทคโนโลยีก็ยังไม่ได้ขยายกว้างเท่าปัจจุบันอีกด้วย

นอกจากนี้ช่วงปลายปี 80 ถึงช่วงต้นๆ ปี 90 ก็เป็นช่วงบูมของตลาดหุ้นไทยด้วย แต่การจะซื้อบ้าน ซื้อกองทุน หรือลงทุนในหุ้น ก็ต้องมีเงินเยอะ ต้องมีเงินเก็บ อาจะพ่อแม่ให้มา ได้เงินเดือนเยอะ หรือทำงานมานานพอจนมีเงินเก็บ อาจจะสักอายุ 30 กว่าๆ ก็จะเริ่มมีการเทรดหุ้น ผ่อนบ้าน นี่คือวิธีการลงทุนในโลกเก่า แต่เด็กยุคใหม่นี้น่าชื่นชม เพราะหลายคนมีความอยากเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งส่งผลให้วิถีชีวิต และวิถีการลงทุนของคนรุ่นนี้เปลี่ยนแปลงไป สมัยก่อนอาจมีความเชื่อว่า เราควรไปเรียนรู้กับบริษัทที่ประสบความสำเร็จ แต่เดี๋ยวนี้คนจบ Harvard มาไป Private Equity ไปทำ Startup

ส่วนของคุณเฟื่องลดา ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการตั้งแต่ยังอายุน้อย เมื่อได้มาทำบริษัทเอง ก็มีวิธีบริหารจัดการเงิน คือเมื่อได้เงินก็จะซื้อคอนโดมิเนียมที่เน้นเพื่อการอยู่อาศัย โดยดูว่าทำเลตรงนี้เดี๋ยวรถไฟฟ้าตัดผ่าน แปลว่าต้องราคาขึ้น อาจจะอยู่เองหรือปล่อยเช่าก็ได้ หลังจากได้เข้ามาคลุกคลีในแวดวงเทคโนโลยีก็จะเริ่มเห็นว่า การลงทุนไม่ใช่เรื่องไกลตัวเหมือนแต่ก่อน เช่น เทรดผ่านมือถือก็ทำได้เลยง่ายๆ

คนที่ประหยัดเกินไปก็ไม่มีทางรวยเหมือนกัน แล้วก็ไม่ใช่ความมั่งคั่งที่แท้จริง

– ‘คุณเฟื่องลดา’ สรานี สงวนเรือง –

ขณะเดียวกันคุณเฟิร์น แชร์การบริหารการเงินของตัวเองในฐานะคนที่เรียนจบเศรษฐศาสตร์มาโดยตรง และเป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่ถูกสอนให้ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดออม และให้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ได้เริ่มกู้เงินซื้อบ้านตั้งแต่ทำงานเดือนแรก ซึ่งหนี้ก้อนแรกได้สอนให้มีวินัยในการเก็บเงิน หลังจากนั้นก็เลยได้รู้ว่า ‘ถ้าเราเก็บก่อนใช้ สุดท้ายเราจะมีความมั่งคั่งเกิดขึ้นได้’

wealth me up ‘คุณเฟิร์น’ ศิรัถยา อิศรภักดี

มองอีกแง่วิกฤตทางการเงินสร้างโอกาส และความแข็งแกร่ง

คุณเศรษฐา เล่าย้อนถึงยุควิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเกิดจากการที่เราไม่มีวินัยในเรื่องการเงินการคลัง บริษัทใหญ่ๆ กู้กัน 7-8 เท่า 10-15 เท่าของมูลค่าของผู้ถือหุ้น อัตราส่วนหนี้สินทุน (D/E) 10 ต่อ 1 ตอนนั้นค่อนข้างแพง แต่เราก็หลอกตัวเอง ว่ามันจะได้ผลตอบแทนที่สูง พูดถึงบริษัทแสนสิริเองก็ต้องปรับโครงสร้างใหม่ มีการแปลงหนี้เป็นทุน มองหาทุนใหม่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโควิด หรือวิกฤตทางด้านการเมืองที่ประสบมา แต่สมดุลของเราต้องแข็งแกร่ง ทำให้แสนสิริต้องมีการเพิ่มทุน ทำให้ทุนเราหนา พอทุนเราหนาก็เหมือนเรือที่เผชิญเข้าไปในมรสุมทั้งหลาย อย่างน้อยมันก็ไม่คว่ำ ไม่จม

อนาคตคือคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม แม้ในเรื่องของการลงทุน

คุณเศรษฐามองว่าการลงทุนเราไม่ใช่แค่ซื้อบ้าน หรือเอาเงินไปฝากธนาคาร ไม่ใช่ว่าจะมีแค่ตลาดทุนอย่างเดียว ไม่ใช่มีแค่กองทุนอย่างเดียว ต้องมีการเปิดช่องทางในแง่ของการลงทุนให้เห็น ให้เข้าถึงได้ ยกตัวอย่าง เช่น แสนสิริ สมัยก่อนเวลาทำเรื่องหุ้นกู้ ตราสารหนี้ เราต้องมีอย่างน้อยห้าแสน ล้านหนึ่ง เพราะว่าแสนสิริเป็นบริษัทที่คนรู้จักเยอะ มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ก็ทำให้ถูกซื้อไปโดยขาใหญ่หมด

ทุกวิกฤตจริงๆ มันก็ไม่ได้สร้างแผลอย่างเดียว แต่บางทีมันก็สร้างโอกาส สร้างความแข็งแกร่งให้องค์กร

– คุณเศรษฐา ทวีสิน –

เพราะแบบนี้หุ้นกู้แสนสิริ i-EASY จึงออกมาเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยแสนสิริร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ ทำให้คนสามารถจองออนไลน์ได้ ผลตอบแทนก็เหมาะสม 3 เปอร์เซ็นต์ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการอะไรที่ปลอดภัย เริ่มต้นที่หมื่นบาท เข้าถึงได้ง่าย เพราะจองจากมือถือได้ ซึ่งก็ทำให้เกิดความเท่าเทียม

คุณเศรษฐาขยายความถึง หุ้นกู้ i-EASY ว่ามองไปไกลว่าคนรุ่นใหม่อยากได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม แต่ในขณะเดียวกันเงินเขาก็น้อย ถ้าสมมติเขาซื้อ i-EASY ซื้อมาสักแสนบาท ดอกเบี้ย 3 เปอร์เซ็นต์ ก็มีเป็นใบหุ้นกู้ จะเก็บไว้ทำอะไรได้บ้างหรือเปล่า? จึงคิดว่าถ้าเขาอยากได้คอนโดมิเนียมของแสนสิริ ในราคาสัก 2 ล้าน ผ่อนสัก 5% ก็ประมาณหนึ่งแสน ถ้าเขาสามารถเอา i-EASY มาเป็นส่วนหนึ่งของการชำระเงินได้ แล้วระหว่างที่เขาเอามาวาง แล้วคอนโดมิเนียมสร้าง 2 ปี ดอกเบี้ย 3 เปอร์เซ็นต์ยังเป็นของเขาอยู่

คุยนอกทวีต SRETTHA THAVISIN เศรษฐา ทวีสิน

เทคโนโลยีคือตัวช่วยสำคัญของการลงทุนสำหรับคนรุ่นใหม่

คุณเฟิร์น และคุณเฟื่องลดาเห็นตรงกันว่าเทคโนโลยีมีบทบาทมากสำหรับการลงทุนในยุคนี้ โดยคุณเฟิร์นให้ความเห็นว่า เรามีสินทรัพย์ที่เรียกว่ามีเทคโนโลยีมาเป็นส่วนช่วยอย่าง Cryptocurrency มันอาจจะเกิดจากการที่คนรู้สึกว่า ไม่อยากให้ใครรู้ว่าเราใช้เงินไปกับอะไร เงินแต่ละบาท แต่ละสตางค์เขาไปอยู่ที่ไหน เพราะอยากจะมีความเป็นส่วนตัว

คุณเฟื่องลดาแชร์เรื่อง Blockchain ไว้ว่า นอกจากการเป็นเทคโนโลยีใหม่ หัวใจของมันมีคำว่า Decentralized อยู่ หมายถึงว่า ที่เมื่อก่อนต้องมีบุคคลที่สาม สถาบันการเงิน หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องเป็นตัวกลาง แต่ Blockchain ทำให้เราสามารถเก็บสิ่งที่เป็นของที่ปกติเราต้องมีคนอื่นฝากไว้ได้ เลยทำให้ประชาชนรู้สึกมีอิสระ Blockchain ทำให้เกิดอะไรใหม่ๆ ได้เยอะ เกี่ยวข้องโดยตรงกับการลงทุนก็จะเป็น ICO (Initial Coin Offering) เมื่อก่อนเรา Initial Public Offering สมมติถ้ารู้สึกว่าชอบที่ดินตรงนี้ของแสนสิริจังแต่ว่าไม่ได้มีเงินที่จะไปซื้อเป็นเจ้าของคนเดียวได้ ก็สามารถที่จะแบ่งเงินในส่วนนี้มาลงทุนได้

เทคโนโลยี Blockchain สามารถเอาไปปรับใช้ได้อีกหลายอย่าง มากๆ คือมันเป็นการเปิดโอกาสให้คนทั่วไป รายย่อย นักลงทุนหรืออะไรต่างๆ สามารถที่จะเป็นเจ้าของบางอย่างได้ง่ายขึ้น

– ‘คุณเฟื่องลดา’ สรานี สงวนเรือง –

คุณเศรษฐา ได้ร่วมแชร์ถึง XSpring บริษัทหลักทรัพย์ที่มีใบอนุญาตครบในการทำธุรกรรมทางด้านการเงินหลักทรัพย์ทั้งหมด ทางแสนสิริเห็นว่าบริษัทนี้มีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อไปในแง่ของการนำโลกใหม่มาผสมผสานกับโลกเก่า เพราะเรื่องของ Cryptocurrency เรื่องของ ICO เรื่องของ Tokenization เหล่านี้เราก็อาศัย XSpring มาเป็น Platform โดยทางคุณเฟิร์นให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมว่าจริงๆ แล้วทุกคนหาอิสรภาพทางการเงิน แต่ว่าเป็นวิธีที่อาจจะต่างไป คนรุ่นเดิมก็อาจจะให้การสะสมความมั่งคั่งผ่านการซื้อที่ดินแล้วก็รอราคาค่อยๆ ขึ้น หรืออดทนรวย

ในโลกการลงทุนทุกคนหวังผลตอบแทน เราเอาเงินไปออม ไปซื้อหุ้น ก็หวังจะได้กำไร หรือเงินปันผล เช่นเดียวกันกับโลก Cryptocurrency คนรุ่นใหม่ๆ ก็หวังเหมือนกันว่าจะมีกำไร นี่คือสิ่งที่ทุกคนเข้าไปเพื่อหวังสิ่งเดียวกัน คือผลตอบแทน แต่ต่างกันไปอาจจะเป็นเรื่องของวิธีการที่มันง่ายขึ้น ใช้เงินน้อยลง สะดวกขึ้น แต่ไม่ได้เป็นการบอกว่าการลงทุนวิธีเก่าเป็นการลงทุนที่ไม่ดี

เฟื่องลดา สรานี สงวนเรือง LDA World

ไม่เปลี่ยน เท่ากับปิด (โอกาส)?

คุณเศรษฐาให้ไอเดียว่า คนรุ่นเดียวกับคุณเศรษฐาในวันนี้ ต้องคิดที่จะต้องปันส่วนของสินทรัพย์ตัวเองมาลงในสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ Cryptocurrency หรือว่า ICO เฮาส์ใหญ่ๆ อย่าง Goldman Sachs เอง ก็แนะนำว่าบุคคลที่มีความมั่งคั่งสูง น่าจะปันส่วนหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้าเปอร์เซ็นต์มาลงทุนตรงนี้ได้ ตัวอย่างจากการที่ธนาคารไทยพาณิชย์ไปซื้อ Bitkub มา 51% ก็เป็นเหตุการณ์ที่ดีเพราะสมัยก่อนคนที่เข้าไปซื้อใน Bitkub ก็อาจจะกลัวความไม่แน่นอน แต่วันนี้มีพี่ใหญ่เข้ามาถือหุ้น จึงถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่ายินดี นำความเสถียรมาให้วงการนี้ได้

คุณเฟิร์นร่วมแชร์ข้อมูลอัปเดทเรื่องการปรับตัวของบริษัทต่างๆ เช่นอุตสาหกรรม Telecom อย่าง True , Dtac ที่ออกมาพูดชัดเจนว่าเขาจะเป็น Tech Company เช่นกันกับ SCB ตอนนี้ก็บอกแล้วว่าจะเป็น Tech company นี่คืออนาคตจริงๆ เพราะว่าทุกคนเห็นแล้วว่า บริษัทที่อัพไซส์ขึ้นมาเยอะๆ เป็นบริษัท Tech Company ทั้งนั้น ตอนนี้หลายๆ บริษัทก็ต้องปรับตัว เทคโนโลยีเป็นแกนหลักที่ต้องรู้จักเอามาปรับกับของเดิมที่มี โดยพยายามปรับและนำเสนอทางเลือกใหม่ไปกับโลกใหม่นี้

เพิ่งรู้ว่าหนี้ก้อนแรก ทำให้เรามีวินัยในการเก็บเงิน เพราะเขาสอนให้เราเก็บเงินในบ้าน

– คุณเฟิร์น’ ศิรัถยา อิศรภักดี –

การลงทุน พื้นฐานคือการรู้จักตัวเอง

คุณเฟิร์นสรุปข้อคิดในการลงทุนไว้ว่า เราต้องรู้จักตัวเอง ไม่ว่าคุณจะลงทุนในโลกยุคเดิม ยุคใหม่ มีความรู้ความเข้าใจแค่ไหน แต่เราต้องรู้จักตัวเอง อย่างคุณเศรษฐาก็รู้ว่ามีความเชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ จึงมีสัดส่วนของหุ้นอสังหาริมทรัพย์อยู่มากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามก็ยีงมีการกระจายไปหุ้นต่างประเทศแล้วก็หาโอกาสใน Cryptocurrency ไปด้วย

ในส่วนของคุณเฟื่องลดา แม้เป็นคนรุ่นใหม่ แต่รู้ตัวเองว่าเป็นคนอนุรักษ์นิยม ไม่ได้ชอบความเสี่ยงสูง หรือไม่อยากรับความผันผวนที่หวือหวามากๆ ก็อาจจะไม่ได้เลือกลงทุนใน Cryptocurrency ซึ่งไม่มีอันไหนผิด ส่วนตัวคุณเฟิร์น คลุกคลีอยู่ในโลกของการลงทุนมา 15 ปี ก็ใช้หลัก DCA คือมีเงินปุ๊บตัดลงทุนปั๊บ เพื่อไม่ให้กระทบกับการทำงานจนเสียสมาธิ แต่หลังจากเติบโตขึ้นก็เข้าใจได้ว่าโลกของการลงทุนมันกว้างกว่านั้น พอเริ่มศึกษา

หาความรู้เพิ่มเติมก็เลยลงทุนต่างประเทศด้วย Cryptocurrency ด้วย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือเรารู้ตัวเองว่าความสุขเราอยู่ที่ไหนคุณเศรษฐาได้ร่วมให้ความคิดถึงมุมมองในการลงทุนว่า เสียเงินไม่ว่า แต่ว่ากลัวโง่ ยกตัวอย่างสมมติลงทุนไปล้านบาท มีคนบอก Bitcoin จะเหลือศูนย์ ก็คือการเสียเงินไปล้านบาทแล้วได้เรียนรู้ ถือว่าเป็นการไปเรียนปริญญาเอกตอนอายุ 60 มันก็เป็นวิธีคิดอย่างหนึ่ง ซึ่งเราก็ไม่ได้มี 100 แล้วเราก็ใส่ไปใน Cryptocurrency ทั้งหมด 100 แต่เราใส่สัก 5 สัก 7 ซึ่งถ้าเกิดมีอันเป็นไป ก็ไม่ได้ทำให้เราเดือดร้อน เงินออมที่เรามีไว้สำหรับลูกหลาน หรือสำหรับรักษาพยาบาลเราก็ยังมีอยู่ แต่ถ้าเกิดมีความมั่นใจ เราก็ค่อนเพิ่มเป็น 8 เป็น 10 หรือเป็น 2030 ก็ยังได้

คนรุ่นใหม่อาจจะใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียวกันหรือ  All-in เพราะฉะนั้นการที่ทางการ ทางด้าน ก.ล.ต. เข้ามาให้ความสำคัญกำกับดูแลหรือการที่รายใหญ่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นก็จะทำให้ตลาดมันเสถียรขึ้น ทำให้คนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของสินทรัพย์ใหม่ๆ เยอะขึ้น และในอีกทางหนึ่งก็ถือเป็นการปกป้องผู้ลงทุนด้วย

เศรษฐา ทวีสิน CEO แสนสิริ, ‘คุณเฟื่องลดา’ สรานี สงวนเรือง, ‘คุณเฟิร์น’ ศิรัถยา อิศรภักดี sansiri คุยนอกทวีต siri podcast

ท้ายที่สุดแล้ว การเงินยุคดิจิทัลคือต้องจัดการเงิน Inflow ต้องมากกว่า Outflow มีรายได้มากกว่ารายจ่าย วิธีการคือเพิ่มรายได้หรือลดรายจ่าย หลังจากนั้นเอาส่วนเกินไปต่อยอดเงิน เพื่อเพิ่มรายได้ เพราะท้ายที่สุดความมั่งคั่ง จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมี Asset มากกว่า Liability ก็คือมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน

สามารถฟังพอดแคสต์ SIRI Podcast
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ด้านล่าง

CONTRIBUTOR

Related Articles

The-Beach

The Beach บทเรียนที่สำคัญที่ต้องไม่ซ้ำรอย

อ่านข่าวช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ก็น่ายินดีที่ประเทศไทยเรามีนโยบายการสนับสนุนส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร โดยเป็นโอกาสหนึ่งในการดึงเงินลงทุนและสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนด้านการท่องเที่ยวได้หลายพันล้านบาท อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานในวงการภาพยนตร์ไทยมีโอกาสได้รับการว่าจ้างจากผู้สร้างภาพยนตร์เหล่านี้ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องนี้ถูกพูดถึงขึ้นมาก็อดนึกไปถึงกรณีของภาพยนตร์เรื่อง The Beach ที่มีการยกกองมาถ่ายทำที่หาดมาหยา บนเกาะพีพีเล จังหวัดกระบี่ เมื่อปี 2541 ไม่ได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว กับสภาพแวดล้อมของหาดมาหยา และผลกระทบที่เกิดกับระบบนิเวศในบริเวณนั้น เป็นบทเรียนสำคัญเรื่องหนึ่งของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตื้นที่เปราะบาง การขุดขยายหาดให้กว้างขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับบทของภาพยนตร์

ai-Artificial intelligence

AI ปัญญาประดิษฐ์ นวัตกรรมเปลี่ยนโลก

เทคโนโลยีตัวหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา คือ ตัวปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อว่า ChatGPT (Chat + GPT ตัวย่อของคำว่า “generative pre-trainedtransformer” ซึ่งเป็นโมเดลประมวลผลทางภาษาประเภทหนึ่ง) ที่ถูกปล่อยออกให้คนทั่วไปได้ลองใช้ในโลกออนไลน์ อันนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ผมว่าเราทุกคนต้องทำความเข้าใจให้ดีๆ เพราะผมมองว่าเจ้าปัญญาประดิษฐ์มีโอกาสที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง องค์ประกอบหลายๆ อย่างทางเศรษฐกิจอย่างพลิกฝ่ามือได้เลยทีเดียว มองย้อนกลับไปในอดีต

ทรงอย่างแบด

ปรากฏการณ์ “ทรงอย่างแบด” : ความซับซ้อนของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคปัจจุบัน

ปรากฏการณ์ “ทรงอย่างแบด” เป็นเรื่องที่ผมทึ่งกับวิถีสังคมของเด็กรุ่น Gen Millennials และ Alpha ที่ส่งอิทธิพลต่อมาถึงคนรุ่น Boomer และ X Y ได้อย่างน่าสนใจ ถ้าเราไม่ได้คุยกับเด็กรุ่นใหม่ หรือเอาตัวเข้าไปอยู่ในสื่อโซเชียลที่เด็กยุคใหม่คุยกัน ก็คงจะงงกันว่าประโยคนี้คืออะไร แล้วคำขวัญของผู้ว่าฯ มาจากไหน ถือเป็นตัวอย่างของช่องว่างทางความคิด สังคม