เจ้าภาพมหกรรมกีฬาโลก

เจ้าภาพมหกรรมกีฬาโลก โอกาสในการใช้ไอเดียสร้างผลกำไร

ความเคลื่อนไหวของ เจ้าภาพมหกรรมกีฬาโลก

ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวของ เจ้าภาพมหกรรมกีฬาโลก อย่างโอลิมปิกอยู่ 2 เรื่องที่น่าสนใจ ข่าวแรกคือข่าวที่กรุงปักกิ่งของประเทศจีนได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2022 โดยเอาชนะเมือง Almaty ในคาซัคสถาน โดยจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เมืองหนึ่งจะได้โอกาสเป็นเจ้าภาพทั้งโอลิมปิกฤดูร้อนและฤดูหนาวในวาระที่ต่างกัน ซึ่งสำหรับปักกิ่งก็เป็นระยะเวลาห่างกันเพียงแค่ 14 ปีเท่านั้นจากโอลิมปิกปี 2008

ส่วนอีกความเคลื่อนไหวหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการแข่งเสนอตัวเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2024 นั้นตัวเก็งอย่างสหรัฐอเมริกาซึ่งตอนแรกส่งเมือง Boston เข้าร่วมได้ถอนเมืองนี้ออกเนื่องจากได้รับกระแสต่อต้านจากประชากรผู้เสียภาษีและพลเมืองชาว Boston จนทำให้ผู้ว่าการประจำเมืองตัดสินใจไม่เซ็นข้อตกลงเป็นตัวแทนของสหรัฐฯ และส่งผลให้คณะกรรมการโอลิมปิกของสหรัฐฯ ต้องขอถอน Boston ออกจากลิสต์อย่างเร่งด่วน ส่งผลให้สหรัฐอเมริกายังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกเมืองใดเข้าร่วมเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ณ ตอนนี้

กีฬาโอลิมปิกดูเหมือนจะมีต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ดูจะเป็นเช่นนั้น ในปี 1948 ที่กรุงลอนดอนจัดโอลิมปิกฤดูร้อน คิดคำนวณตามอัตราเงินเฟ้อในช่วงกว่า 60 ปีที่ผ่านมา ประมาณออกมาเป็นค่าเงินปัจจุบันแล้วใช้งบอยู่ที่ 30 ล้านเหรียญ ส่วนโอลิมปิกที่ Los Angeles ในปี 1984 คิดคำนวณออกมาเป็นงบประมาณอยู่ที่ 1 พันล้านเหรียญ ในขณะที่โอลิมปิกปี 2008 ที่ปักกิ่งใช้ 4 หมื่นล้านเหรียญอย่างที่บอก ที่ลอนดอนปี 2012 ย่อมเยาลงมาหน่อยใช้ไปเกือบ 1.5 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งเกินงบที่คาดการณ์ไว้ถึง 3 เท่า และล่าสุดโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมือง Sochi รัสเซีย ใช้งบไปถึงกว่า 5 หมื่นล้านเหรียญ

กีฬาโลก

ภาพจาก telegraph.co.uk

เพื่อให้เห็นภาพง่ายๆ เค้าเปรียบเทียบว่างบประมาณทั้งหมดที่ใช้ในการจัดโอลิมปิก 1948 ที่ลอนดอนมีมูลค่าเท่ากับการจัดกีฬาประเภทเล็กๆ อย่างเรือแคนูประเภทสลาลมหาก Boston ได้เป็นเจ้าภาพปี 2024 แค่นั้นเอง หรือขณะที่งบประมาณทั้งหมดของโอลิมปิกเกมที่ Los Angeles ปี 1984 ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของค่าก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติอันใหม่ของโตเกียว ที่ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดัง Saha Hadid ที่เคยเป็นแผนงานสำหรับปี 2022 ที่จะถึงนี้เลย

ท่านคงเห็นภาพใช่ไหมครับว่าทำไมถึงมีเสียงกระแสต่อต้านการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิกมาจากหลายฝ่าย ก็เพราะเม็ดเงินที่จะต้องทุ่มลงไปมันมากมายมหาศาลเสียเหลือเกิน และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และดูเหมือนไม่สามารถควบคุมได้ แม้กระทั่งนาย Jacques Rogge ประธานโอลิมปิคสากลก็ยังเคยออกมาพูดในระหว่างดำรงตำแหน่งช่วงต้นทศวรรษที่แล้วว่า “เราจำเป็นที่จะต้องเริ่มจำกัดค่าใช้จ่ายในการจัดโอลิมปิกและลดขนาดของมันลงเพื่อประเทศเจ้าภาพจะได้ไม่จำกัดอยู่แค่มหาอำนาจทางการเงิน”

แต่ “มหาอำนาจทางการเงิน” ก็ไม่ได้มีกระเป๋าสตางค์วิเศษที่จะพร้อมจ่ายนะครับ นักวิเคราะห์บางคนถึงกับพูดติดตลกปนจริงว่า ต่อจากนี้ไปเราจะไม่มีโอกาสได้เห็นประเทศเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกที่ปกครองโดยผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยอีกต่อไป แต่จะมีเฉพาะชาติที่ปกครองด้วยระบบกึ่งเผด็จการหรือประเทศที่ประชาชนมีสิทธิมีเสียงน้อยกว่าผู้นำประเทศ และพร้อมที่จะละเลงงบประมาณของชาติโดยไม่ต้องวิตกกับเสียงโหวตของประชาชนเพื่อแลกกับ national pride ซึ่งก็คล้ายกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงๆ ในกรณีของโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 เพราะจะเห็นว่าจาก 7 ประเทศที่เคยเสนอตัวเข้าเป็นเจ้าภาพ มี 5 ประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยซึ่งทั้ง 5 ประเทศดังกล่าวสุดท้ายก็ขอถอนตัวทั้งสิ้น เหลือแค่จีนและคาซัคสถานเท่านั้น

Beijing 2022 Winter Olympics candidate city_1404730310885_6706011_ver1.0_640_480

โลกได้เห็นตัวอย่างของการที่รัฐคิดการใหญ่เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโลกที่จบท้ายด้วยความพังพินาศทางเศรษฐกิจมาแล้ว ยกตัวอย่างเช่นกรีซที่เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 2004 ที่ได้ทุ่มงบประมาณในการจัดไปมากมายจนส่วนหนึ่งส่งผลให้เกิดวิกฤติทางการเงินในเวลาต่อมาอย่างที่เห็นในปัจจุบัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ากีฬาโอลิมปิกจะเป็น สิ่งต้องห้าม เสมอไป ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดของการที่เมืองหรือประเทศใดประเทศหนึ่งจะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพและประสบความสำเร็จได้ก็คือ ผู้นำ และ กลุ่มคนสนับสนุนที่จะต้องแสดงให้พลเมืองและผู้เสียภาษีเห็นได้ว่ามหกรรมกีฬาดังกล่าวสามารถจัดได้อย่างสำเร็จภายใต้งบประมาณที่กำหนดไว้อย่างมีเหตุผลและเป็นการสร้างโอกาสในระยะยาวให้กับประเทศและท้องที่อย่างโปร่งใส

ยิ่งในปัจจุบันที่ต้นทุนการจัดโอลิมปิกยิ่งสูงขึ้นๆ การวางแผนในเรื่องของงบประมาณโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นเรื่องใหญ่ต้องมองการณ์ไกล ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อท้องที่ในระยะยาวจริงๆ ตัวอย่างล่าสุดของญี่ปุ่นที่นาย Abe นายกรัฐมนตรีทนเสียงต่อต้านไม่ไหวต้องยกเลิกโครงการสนามกีฬาแห่งชาติอันใหม่ที่ผมกล่าวเมื่อข้างต้นและกำลังสรรหาทีมออกแบบและดีไซน์อันใหม่เพื่อประหยัดงบประมาณดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างของผู้นำที่ปรับเปลี่ยนตามเสียงต่อต้านมากกว่าการมองการณ์ไกลและมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน

ตัวอย่างอันหนึ่งที่ผมชื่นชมและคิดว่าเป็น model ที่สุดยอดก็คือนาย Peter Ueberroth หัวหน้าทีมการจัดโอลิมปิกที่ Los Angeles ในปี 1984 พร้อมทีมสมาชิกกว่า 150 คนที่โดยมากประกอบไปด้วยนักธุรกิจ และ ผู้ประกอบการส่วนตัว ซึ่งมีส่วนช่วยในการให้ไอเดีย แก้ปัญหา บริหารงานในด้านต่างๆ ส่งผลให้ในการจัดโอลิมปิกปีนั้นสร้างผลกำไรได้กว่า 250 ล้านเหรียญและเป็นต้นทุนในการพัฒนาโครงสร้างกีฬาสำหรับเยาวชนทั่วสหรัฐฯ ในเวลาต่อมา

39_peter_ueberroth

Peter Ueberroth

ที่ผมชื่นชอบนาย Ueberroth ก็เพราะว่าเค้าคือผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ โอลิมปิกครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่สนับสนุนเงินทุนการจัดโดยภาคเอกชนทั้งสิ้น และการจะบริหารจัดการมหกรรมกีฬาโดยใช้งบจากเอกชนทั้งหมดยิ่งต้องการบารมีและผู้นำที่มองได้ขาดและเห็นอนาคตถึงจะได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายเพราะไม่มีอำนาจขาดในการสั่งการเหมือนผู้นำประเทศ

เราเคยเห็นนาย Ueberroth ทำได้มาแล้วในปี 1984 กับการบริหารจัดการสนามแข่งขันที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่ต้องสร้างใหม่ รวมถึงการสร้างพื้นที่การแข่งขันชั่วคราวที่ใช้งบประมาณไม่มากแต่ทุ่มเงินส่วนใหญ่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดในระยะยาวกับท้องที่และชุมชน ซึ่งผมคิดว่าเป็น model ที่ทุกคนที่คิดจะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพควรเอาเยี่ยงอย่าง

ผมเคยฝันนะครับว่าในชีวิตนี้อยากมีโอกาสเห็นประเทศไทยเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกหรือฟุตบอลโลกบ้าง และผมก็เชื่อมั่นมากว่าถ้านาย Ueberroth ทำได้ทำไมคนอย่างผมจะทำไม่ได้ถ้าได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในระยะยาว ผมเชื่อว่ามหกรรมกีฬาโอลิมปิกไม่ได้มีไว้เพื่อสร้างภาพหรือเอาหน้าแต่เป็นวาระที่จะสร้างศักยภาพให้ท้องที่และประเทศได้ถ้าหากแค่เรามีวิสัยทัศน์ และ ความโปร่งใสที่ควรค่าแก่การได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย ซึ่งคนอย่างผมก็มีนะครับ

Related Articles

The-Beach

The Beach บทเรียนที่สำคัญที่ต้องไม่ซ้ำรอย

อ่านข่าวช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ก็น่ายินดีที่ประเทศไทยเรามีนโยบายการสนับสนุนส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร โดยเป็นโอกาสหนึ่งในการดึงเงินลงทุนและสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนด้านการท่องเที่ยวได้หลายพันล้านบาท อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานในวงการภาพยนตร์ไทยมีโอกาสได้รับการว่าจ้างจากผู้สร้างภาพยนตร์เหล่านี้ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องนี้ถูกพูดถึงขึ้นมาก็อดนึกไปถึงกรณีของภาพยนตร์เรื่อง The Beach ที่มีการยกกองมาถ่ายทำที่หาดมาหยา บนเกาะพีพีเล จังหวัดกระบี่ เมื่อปี 2541 ไม่ได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว กับสภาพแวดล้อมของหาดมาหยา และผลกระทบที่เกิดกับระบบนิเวศในบริเวณนั้น เป็นบทเรียนสำคัญเรื่องหนึ่งของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตื้นที่เปราะบาง การขุดขยายหาดให้กว้างขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับบทของภาพยนตร์

ai-Artificial intelligence

AI ปัญญาประดิษฐ์ นวัตกรรมเปลี่ยนโลก

เทคโนโลยีตัวหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา คือ ตัวปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อว่า ChatGPT (Chat + GPT ตัวย่อของคำว่า “generative pre-trainedtransformer” ซึ่งเป็นโมเดลประมวลผลทางภาษาประเภทหนึ่ง) ที่ถูกปล่อยออกให้คนทั่วไปได้ลองใช้ในโลกออนไลน์ อันนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ผมว่าเราทุกคนต้องทำความเข้าใจให้ดีๆ เพราะผมมองว่าเจ้าปัญญาประดิษฐ์มีโอกาสที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง องค์ประกอบหลายๆ อย่างทางเศรษฐกิจอย่างพลิกฝ่ามือได้เลยทีเดียว มองย้อนกลับไปในอดีต

ทรงอย่างแบด

ปรากฏการณ์ “ทรงอย่างแบด” : ความซับซ้อนของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคปัจจุบัน

ปรากฏการณ์ “ทรงอย่างแบด” เป็นเรื่องที่ผมทึ่งกับวิถีสังคมของเด็กรุ่น Gen Millennials และ Alpha ที่ส่งอิทธิพลต่อมาถึงคนรุ่น Boomer และ X Y ได้อย่างน่าสนใจ ถ้าเราไม่ได้คุยกับเด็กรุ่นใหม่ หรือเอาตัวเข้าไปอยู่ในสื่อโซเชียลที่เด็กยุคใหม่คุยกัน ก็คงจะงงกันว่าประโยคนี้คืออะไร แล้วคำขวัญของผู้ว่าฯ มาจากไหน ถือเป็นตัวอย่างของช่องว่างทางความคิด สังคม