นักกีฬาช้างเผือก

นักกีฬาช้างเผือก และหลักสูตรเฉพาะทางได้ใช้ความสามารถเฉพาะที่ถนัด

เวลามีคนพูดถึง นักกีฬาช้างเผือก ที่ได้รับคัดเลือกเข้าเรียนในสถานศึกษา สิ่งแรกที่ผมคิดถึงก็คือ โชคดีมากที่นักกีฬาคนนั้นได้ใช้ความสามารถเฉพาะที่เค้าถนัดเป็นตัวกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง และอีกสิ่งที่ผมมักนึกถึงก็คือ หวังว่านักกีฬาคนนั้นคงจะสามารถเลือกเรียนในสายวิชาที่ตัวเองถนัดและมีความชอบ รวมถึงการมองหาสายอาชีพที่ตัวเองต้องการให้ได้ เพื่อจะได้มีแรงกระตุ้นในการเรียนจนจบ

สำหรับประเทศไทย จะว่าไปก็นับว่ายังเป็นโชคดีของเด็กและเยาวชน ที่การกีฬาในเชิงพาณิชย์ยังไม่แอดวานซ์มากนัก ทุนการศึกษาสำหรับนักกีฬา นั้นยังเป็นเพียงโอกาสที่จะนำพาให้เยาวชนนั้นๆ ไปมีการศึกษาที่ดี เพิ่มพูนความรู้ความชำนาญในสาขาอาชีพที่ตนเองปรารถนาและมีความถนัด เพื่อสร้างพื้นฐานอาชีพต่อไปในอนาคตตามสาขาวิชาที่เรียน แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีกีฬาบางประเภทที่เริ่มเห็นความเป็นไปได้ในเชิงอาชีพ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่เริ่มเห็นสถานศึกษาบางแห่งที่จัดตั้งโครงการและหลักสูตรที่ยกระดับความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ กีฬาที่ผมพูดถึงก็คือฟุตบอลนั่นเอง

1dd9732169c84632f2a61f9579f08ccf

เราทุกคนคงทราบกันดีถึงโรงเรียนที่แข็งในเรื่องทีมฟุตบอล ย่อมมีการควานหาช้างเผือกและคัดเลือกเยาวชน มาร่วมในโครงการเพื่อเป็นตัวแทนแข่งขันให้กับโรงเรียนนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างโรงเรียนอัสสัมชัญ ธนบุรี ซึ่งบังเอิญผมได้มีโอกาสรู้จัก เสี่ยโต คุณณรงวิทย์ อุ่นแสงจันทร์ ศิษย์เก่าที่คลุกคลีอยู่กับการปั้นทีมฟุตบอล จากโรงเรียนนี้ให้พัฒนาและก้าวหน้ามาอย่างรวดเร็ว และเราก็ได้เห็นตัวอย่างนักเตะอย่างธีรศิลป์ แดงดา ที่มาจากโครงการนี้มาแล้ว อันด้วยใจรักอยากเห็นน้องๆ เหล่านี้มีโอกาสที่จะสร้างอาชีพจากความสามารถด้านนี้ เป็นความคิดให้เกิดการตั้งทีมฟุตบอล เจ้าสัวน้อย สโมสรอัสสัมชัญ ธนบุรี ที่เล่นในลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 ขณะนี้ที่จะรองรับเด็กที่มีความสามารถและตั้งใจประกอบอาชีพนักฟุตบอลอย่างจริงจัง

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะตั้งใจผันตัวเอง ไปเป็นนักกีฬาอาชีพตั้งแต่จบภาคมัธยมศึกษา คำถามที่เคยเกิดขึ้นก็คือเมื่อน้องๆ เหล่านี้กำลังจะก้าวไปเป็นนิสิต นักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ สิ่งต่างๆ ที่เคยปั้นกันมาสมัยเป็นนักฟุตบอลอยู่โรงเรียน มันก็จะคลายความสำคัญลงไป และความทุ่มเทให้กับกีฬาฟุตบอล ก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ใช้ทำมาหากินได้ จุดเปลี่ยนที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการเกิดขึ้นและการพัฒนาของวงการกีฬาอาชีพของไทย โดยเฉพาะวงการฟุตบอลไทย เมื่อเล็งเห็นความเป็นไปได้ดังกล่าว คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง จึงได้มีความคิดที่จะช่วยยกระดับความเป็นไปได้ ด้วยแนวคิดที่จะสร้างหลักสูตรในระดับอุดมศึกษา เพื่อเป็นการรองรับเยาวชนที่มีความใฝ่ฝันและมีความถนัดในเรื่องเฉพาะอย่างเช่นฟุตบอลเป็นต้น

คุณกิตติรัตน์มีความคิดว่า เมื่อมีหลักสูตรเฉพาะอาชีพเช่นทันตแพทย์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ทำไมจะมีหลักสูตรเฉพาะทาง ในเรื่องฟุตบอลไม่ได้ จึงได้เริ่มทำการร่างโครงสร้างหลักสูตรเฉพาะขึ้นมา และนำเสนอกับทางมหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนและจัดตั้งเป็นหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาการออกกำลังกาย (วิชาเอกกีฬาฟุตบอล) จากทางวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดลในที่สุด เป็นหนึ่งในสาขาวิชาในภาคอุดมศึกษา ที่เรียกได้ว่าเป็นที่ใฝ่ฝันของเยาวชน ที่รักในกีฬาประเภทนี้อย่างจริงจังเลยทีเดียว ทีนี้ บรรดาช้างเผือกที่เก่งฟุตบอลก็จะมีทางเลือกใหม่ ทางเลือกที่เค้าสามารถได้รับทุนจากกีฬาประเภทที่เค้าถนัด เข้าเรียนในสายวิชาชีพที่เค้ารัก
2009062802759

ยิ่งกว่านั้น ผมเชื่อเสมอว่ากีฬาประเภททีมอย่างเช่นฟุตบอล เป็นโครงสร้างทางสังคมกลุ่มย่อยๆ ที่มีอิทธิพลในการบ่มเพาะ สร้างทักษะและจิตสำนึกของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข แน่นอน กีฬาทุกประเภทสอนให้คนรู้จักแพ้ชนะ ระเบียบวินัย ฯลฯ แต่กีฬาประเภททีมยังสอนถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคี เคารพความคิดของทั้งผู้อื่นและตัวเอง ความรับผิดชอบในหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายเพื่อส่วนรวม ซึ่งเป็นสังคมกลุ่มย่อยที่จะช่วยขัดเกลา ความเป็นมนุษย์ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี การที่เยาวชนมีโอกาสได้เรียนรู้ ฝึกทักษะ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพอย่างสุจริตในสิ่งที่ตัวเองชอบ ในขณะเดียวกันก็ผ่านกระบวนการเรียนรู้และมารยาทกฏเกณฑ์ การอยู่ร่วมกันในสังคมทั้งในฐานะนักศึกษา และผู้เล่นของทีม ก็เหมือนสองเด้งที่จะช่วยขัดเกลาความคิด ของน้องๆ เหล่านี้ได้อย่างดี ทุนการศึกษาในสาขาเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ผมว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง

ผมได้มีโอกาสพบปะและพูดคุยกับ เสี่ยโต และคุณกิตติรัตน์อยู่บ่อยๆ ริมสนามฟุตบอลยังพูดกันอยู่เสมอๆ ว่าน่าจะมีผู้ประกอบการธุรกิจเข้ามาสนับสนุนแนวคิดอันนี้กันให้มากขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ การให้การสนับสนุนทางด้านโภชนาการที่ดี จากผู้ประกอบการทางด้านวัตถุดิบ อาหารเสริมต่างๆ หรือการสนับสนุนทางด้านเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์กีฬาทั้งของส่วนตัวนักกีฬาและส่วนรวม หรือองค์ประกอบอื่นๆ ที่จะช่วยเสริมศักยภาพของเยาวชนที่ความมุ่งมั่นเหล่านี้ และในทางอ้อม ก็จะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระทางด้านต้นทุนของภาควิชาเหล่านี้ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็น่าจะส่งผลให้สามารถ นำเอางบประมาณมาเพิ่มเป็นทุนการศึกษา ให้มากขึ้นได้ในแต่ละปีเช่นกัน

เราๆ ท่านๆ ที่รักกีฬาอยู่แล้วก็คงอยากเห็นแนวคิดที่สร้างสรรค์แบบนี้ได้รับความสนใจและการสนับสนุน เพราะสุดท้ายแล้วมันก็ส่งผลดีกับเยาวชนไทยเราที่ได้มีโอกาสเลือกทางเดินที่เค้าถนัดโดยมีผู้ใหญ่อย่างเราๆ สนับสนุนใช่ไหมครับ

Related Articles

The-Beach

The Beach บทเรียนที่สำคัญที่ต้องไม่ซ้ำรอย

อ่านข่าวช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ก็น่ายินดีที่ประเทศไทยเรามีนโยบายการสนับสนุนส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร โดยเป็นโอกาสหนึ่งในการดึงเงินลงทุนและสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนด้านการท่องเที่ยวได้หลายพันล้านบาท อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานในวงการภาพยนตร์ไทยมีโอกาสได้รับการว่าจ้างจากผู้สร้างภาพยนตร์เหล่านี้ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องนี้ถูกพูดถึงขึ้นมาก็อดนึกไปถึงกรณีของภาพยนตร์เรื่อง The Beach ที่มีการยกกองมาถ่ายทำที่หาดมาหยา บนเกาะพีพีเล จังหวัดกระบี่ เมื่อปี 2541 ไม่ได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว กับสภาพแวดล้อมของหาดมาหยา และผลกระทบที่เกิดกับระบบนิเวศในบริเวณนั้น เป็นบทเรียนสำคัญเรื่องหนึ่งของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตื้นที่เปราะบาง การขุดขยายหาดให้กว้างขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับบทของภาพยนตร์

ai-Artificial intelligence

AI ปัญญาประดิษฐ์ นวัตกรรมเปลี่ยนโลก

เทคโนโลยีตัวหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา คือ ตัวปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อว่า ChatGPT (Chat + GPT ตัวย่อของคำว่า “generative pre-trainedtransformer” ซึ่งเป็นโมเดลประมวลผลทางภาษาประเภทหนึ่ง) ที่ถูกปล่อยออกให้คนทั่วไปได้ลองใช้ในโลกออนไลน์ อันนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ผมว่าเราทุกคนต้องทำความเข้าใจให้ดีๆ เพราะผมมองว่าเจ้าปัญญาประดิษฐ์มีโอกาสที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง องค์ประกอบหลายๆ อย่างทางเศรษฐกิจอย่างพลิกฝ่ามือได้เลยทีเดียว มองย้อนกลับไปในอดีต

ทรงอย่างแบด

ปรากฏการณ์ “ทรงอย่างแบด” : ความซับซ้อนของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคปัจจุบัน

ปรากฏการณ์ “ทรงอย่างแบด” เป็นเรื่องที่ผมทึ่งกับวิถีสังคมของเด็กรุ่น Gen Millennials และ Alpha ที่ส่งอิทธิพลต่อมาถึงคนรุ่น Boomer และ X Y ได้อย่างน่าสนใจ ถ้าเราไม่ได้คุยกับเด็กรุ่นใหม่ หรือเอาตัวเข้าไปอยู่ในสื่อโซเชียลที่เด็กยุคใหม่คุยกัน ก็คงจะงงกันว่าประโยคนี้คืออะไร แล้วคำขวัญของผู้ว่าฯ มาจากไหน ถือเป็นตัวอย่างของช่องว่างทางความคิด สังคม