หลายเรื่องลับลวงพราง
หลังลัดเลาะ 14 สนามอังกฤษ ! 

หลังจากล้อนกเหล็กลำใหญ่ของสายการบินกาตาร์ แตะแผ่นดินที่สุวรรณภูมิ ระหว่างขึ้นแท็กซี่กลับบ้าน ผมก็ค่อยๆ โน้ตไว้ในมือถือว่า จะเขียนอะไรให้ “แสนสิริ” ดี ?

“อะไร” ที่ว่านี้ เกิดจากการพาแฟนคลับไปตะลอนและรอนแรม เที่ยวถึง 14 สนามฟุตบอลคลาสสิค (บวก 1 สนามม้าเชสเตอร์อันมีชื่อ) ของอังกฤษ โดยออกแบบทริปที่ไม่เคยเกิดขึ้น นั่นคือ ดูบอล 5 นัดใหญ่ ขี่โกคาร์ทที่เบอร์มิงแฮม เที่ยวผับดาร์คๆ และวิ่งมาราธอนที่ชนบทเมืองยอร์คสวยๆ

ยังไม่นับเหมาปิดโบกี้รถไฟชั้นเฟิร์สคลาสไปนิวคาสเซิ่ล นอนริมแม่น้ำไทน์ อันแสนโรแมนติก

ผมเพิ่งกลับมาได้ไม่กี่วัน กลัวจะลืมๆ เลยขอบันทึกบางเรื่องที่ผมก็ไม่เคยรู้มาก่อน ทั้งๆ ที่ก็บ้าบอลมาเกือบ 40 ปี …นี่คือบางส่วนที่ได้เก็บเกี่ยวจากการเดินทางไปหลายวันในทริปที่เพิ่งผ่านไป

1. สนามเอียงๆ ที่นิวคาสเซิ่ล

ผมไม่เคยไปทัวร์สนาม เซนต์ เจมส์ พาร์คของนิวคาสเซิ่ลมาก่อน และคิดว่าคนไทยที่ได้ไปทัวร์ ไม่น่าจะมีมาก เลยทำเรื่องเข้าไปก่อนสองเดือนว่า ขอทัวร์แบบ private ส่วนตัว ทางสโมสรส่ง “มิสเตอร์ ทอม” มาดูแลเราแบบ full time 2 ชั่วโมงกว่า

หลายเรื่องที่รับรู้ และ “ล่วงรู้” ไม่มีเรื่องไหนแปลกใจเท่ากับเรื่อง “สนามบอล” ทอมเล่าว่า สนามนิวคาสเซิ่ลนั้น แท้จริงแล้ว มีความลาดเอียง เป็นเนินแบบมองไม่เห็น ถ้ามองจากทางออกลงสู่สนาม ตัวพื้นหญ้าจะลาดเอียงจากขวา ลาดลงมาซ้าย

ทำให้เวลานักเตะเลือกแดนก่อน จะเลือกจากฝั่งขวา เพื่อวิ่งขึ้นเนิน… เนื่องเพราะแรงยังดีอยู่ แล้วครึ่งหลังเมื่ออยู่ฝั่งซ้าย เมื่อต่างฝ่ายต่างเพลีย ทีมเจ้าบ้านยังเป็นฝ่ายรุกใส่ ทีมเยือนที่สนามลาดเอียงใส่

สนาม Newcastle United
ภาพจาก TheStadiumBusiness News

2. เสียงบีบแตรที่วิลล่าปาร์ค

ถ้านับบริบทรายรอบ ล้อมรอบที่ชอบ ผมรักถิ่นวิลล่าปาร์คของแอสตัน วิลล่า มากที่สุด สนามนี้อยู่ในเมืองเบอร์มิงแฮมครับ ตอนไปเที่ยว มีต้นไม้ร่มรื่นมาก แต่ที่แปลกคือ อัฒจรรย์ด้านหนึ่ง นั่งเชียร์กันอยู่บนถนนที่รถแล่นผ่านไปมา แฟนวิลล่าเล่าว่า เวลาบอลแข่ง รถที่แล่นผ่านใต้อัฒจรรย์จะบีบแตร เพื่อเป็นลางแห่งชัยชนะ คล้ายๆ บ้านเราที่เวลาขับรถผ่านบางสถานที่ จะบีบแตรเพื่อแสดงความศรัทธา

3. ไอ้เบื๊อก “ซันเดอร์แลนด์”

ในบรรดาคู่ดาร์บี้ที่ไม่ชอบขี้หน้ากันนั้น นิวคาสเซิ่ล-ซันเดอร์แลนด์ เป็นศึกที่เหมือนสงคราม ความเกลียดชังนี้ ยังลุกลามมาถึง การบริการด้วย เช่น วันที่เราจ้างรถไปตะลอนตามที่ต่างๆ นั้น พอขอให้ขับไปสนามซันเดอร์แลนด์ คนขับซึ่งเป็นจอร์ดี้ฝั่งขาวดำ จะปฏิเสธไม่อยากไป โดยเสนอว่าขอขับอยู่ไทน์ด้านทีมสาลิกาดงเท่านั้น

นอกจากนี้ ตั๋วบอลนิวคาสเซิ่ล ที่มีราคาแพงกว่า พอไปต่อ ก็โดนด่าว่า “เฮ้ ยู นี่มันตั๋วนิวคาสเซิ่ล ไม่ใช่บัตรกระจอกงอกง่อยของ “ไอ้เบื๊อกซันเดอร์แลนด์” นะเฟ้ย !

ภาพจาก Sky Sports

4. ผับ The Sander ที่แอนฟิล์ด

หลายคนอาจจะโฟกัสไปที่ผับ The Albert หรือ The Park หน้าแอนฟิล์ด แต่ผมสนใจสถานที่หนึ่งที่เดินออกห่างไปราวๆ 200-300 เมตร มันคือ The Sander

The Sander คือร้านอาหาร ร้านขายเหล้าและร้านขายขนมปัง ที่เมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้ว มันคือห้องประชุมของผู้บริหารสโมสรลิเวอร์พูล ซึ่งเอาไว้ทำงานเวลาจัดการด้านธุรกิจ ผับแห่งนี้เดินจากด้านขวา ถ้าคุณหันหน้าเข้าหาสนาม พอเดินผ่านปั้มเอสโซ่ ก็ใกล้จะถึงแล้ว ไม่แนะนำให้ไปวันแข่ง เพราะคนแน่นแต่เช้า…

5. The Voice of M.U.S.T ที่แมนยู

เคยเห็นการประท้วงของแฟนแมนยู เวลามีการขายทีม ไม่พอใจผู้บริหารตระกูลเกลเซอร์มั้ยครับ ผมเพิ่งเดินเดี่ยวไปสัมภาษณ์พูดคุยที่สำนัก MUST พนักงานคนหนึ่งชื่อ เอียน เขาเล่าว่า ชื่อข้างบนคือ กองทุนในการ support สิ่งที่เกี่ยวกับแนวคิดของแฟนแมนยูหรือเรื่องที่จะปกป้องสโมสรไว้ สำนัก MUST ยังมีการทำเสื้อพร้อมลายเซ็นขาย โดยใส่กรอบไว้

ก่อนกลับออกมา ผมซื้อเสื้อสีเขียว อันเชื่อมโยงกับเสื้อแมนยูสมัยชื่อ นิวตัน ฮีธ มาสองตัว เอียนบอกว่าแฟนแมนยูหลายหมื่นเป็นเมมเบอร์แนวทางของ MUST อยู่ …และมีมากขึ้นเรื่อยๆ

6. สีแดงๆ True Red ที่ฟอเรสต์

เราอาจถกเถียงกันว่า ใครใช้แดงก่อนกันระหว่าง “ผีกับหงส์” ?

แต่สำหรับผมแล้ว true red & real red คือ นอตติงแฮม ฟอเรสต์ แห่งเมืองนอตติงแฮมเชียร์ ซึ่งเป็นดาร์บี้กับนอตต์ เคาน์ต้ิ ทีมฟอเรสต์คือทีมแรกที่ใช้สีแดงในฟุตบอลอังกฤษที่เป็นลีกอาชีพ เพราะสโมสรก่อตั้งในยุคแรกเริ่มเช่นกัน

สีแดงของเจ้าป่า มาจากสีเสื้อสีแดงของนักประท้วงเพื่อความยุติธรรมที่ถูกต้องทางการเมืองของชาวอิตาเลียนที่ชื่อ บอลริกาดี แถมเป็นแดงที่ออกดอกออกผล… เมื่ออาร์เซน่อลก็ใช้สีแดงของฟอเรสต์ มาเป็นแดงของตัวเอง

เป็นแดงที่มาก่อน ลิเวอร์พูลกับแมนยู หลายปี

ภาพจาก Nottingham Forest

7. สิงโตคำรามรีไซเคิ่ลที่เวมบลีย์

ผมเข้าไปทัวร์เวมบลีย์ 3 ครั้ง ได้ประสบการณ์ต่างกันทั้ง 3 ครั้ง

ครั้งแรกไปปี 2008 – ได้รู้ว่าสีแดงของเก้าอี้มาจากสีเสื้อชนะนัดชิงบอลโลกปี1966 ที่อังกฤษชนะเยอรมัน 4-2

ครั้งที่สอง – ได้รู้ว่า คานประตูในนัดชิงบอลโลก 1966 ถูกนำมาวางไว้ตรงทางเข้าสนาม เพื่อให้แฟนถ่ายรูป แต่ห้ามจับ เพราะจับไม่ถึง วางไว้สูงมาก

และครั้งที่สาม ล่าสุดนี้ มีเพิ่มเข้ามาคือ สิงโตรูปปั้น 3 ตัว ที่ยืน นั่ง นอน ฝรั่งบอกว่า สิงโตทำมาจากวัสดุรีไซเคิ่ล พวกพลาสติคและขยะ เป็นการนำเอาเทรนด์ zero waste มาใช้เพื่อแสดงอัตลักษณ์ตัวเอง ผ่านเทรนด์ของสังคม

8. โรงละคร New White Hart Lane

หนึ่งในฟุตบอล 4-5 แมทช์ ที่เข้าไปดูนั้น คือ สเปอร์เจอเร้ดสตาร์ เบลเกรด ที่สนามใหม่นิวไวท์ฮาร์ทเลน ผมเห็นว่าครึ่งแรก สกอร์ขาด เลยเลือกจะออกจากที่นั่ง ลงมาถ่ายคลิปและภาพ เดินหาแง่มุมยากใต้อัฒจรรย์ที่เพิ่งเปิดใหม่

ไม่น่าเชื่อใต้สนามไก่เดือยทอง เป็นโรงกลั่นเบียร์เอง เพื่อขายแฟนบอล มีเตา ท่อ เครื่องสำหรับกลั่นให้ถ่ายรูปแสดงความล้ำต่อหน้า นอกจากนี้ยังมี goal line bar หรือบาร์ยาว 16 เมตร เพื่อขายอาหารและเบียร์แบบเต็มที่ อาหารฮิตของ yid army คือ แฮมเนื้อวัวดิบๆ กับมันฝรั่ง ผมลองซื้อมากิน (เขารับแต่เครดิตการ์ดเท่านั้น) กัดไปคำแรก แล้วโยนทิ้ง ! แหวะ !

9. คนอ้วนๆ คือผู้ชนะที่เมืองยอร์ค

ในการวิ่งมาราธอนที่ยอร์ค ซึ่งผมไปวิ่งด้วย เป็นการรวมตัวของนักวิ่งจากทั่วโลก ระยะทางมีหลายแบบ แต่ที่น่าสนใจต้องไปวิ่งไปด้วย และไปยืนตรงเส้นชัย ฝรั่งนี่น่ารักมากครับ เวลาวิ่ง เขาจะมีกองเชียร์มาคอยปรบมือให้กับคนอ้วน เพื่อบอกว่า คุณทำได้

สังเกตได้ว่าเวลาเข้าเส้นชัย เสียงประกาศและปรบมือให้กับคนมีน้ำหนักมากๆ จะดังเป็นกรณีพิเศษ แถมยังมีนักวิ่งรับจ้าง คอยวิ่งตามหลัง เผื่อว่ามีอะไรต้องช่วย ผมสังเกตว่า คนพูดไมโครโฟนตรงเส้นชัยจะชื่นชมคนต่างชาติกับคนเจ้าเนื้อ มากที่สุด เวลาเข้าเส้นชัย พูดชื่อประเทศพวกวิ่ง กันทีเดียว

ภาพจาก Minster FM News

10. สี และห้องต่ำแคบของทีมเยือน

หลายคนคงทราบแล้วว่า แทคติคและเทคนิคการสร้างความได้เปรียบอย่างหนึ่งของทีมเจ้าบ้านคือ ห้องแต่งตัว ห้องแก้เกมพักครึ่งของฝั่งทีมเยือน

ขอยกตัวอย่าง ที่คนไทยไม่ได้ไปบ่อย 2 ทีม

ที่เลสเตอร์ ห้องประชุมทีม แต่งตัวของทีมเยือน แคบเล็กไม่พอ ไฟยังไม่สว่างอีก แถมมีเสาตรงกลางและเตี้ยเล็ก ที่นิวคาสเซิ่ลก็ไม่เบาครับ นอกจากจะแคบ เพดานเตี้ยแล้ว สีผนังจะจืดสนิท เป็นสีปูนแห้งๆ ช่างมองแล้วแล้งไร้พลังในการออกไปต่อสู้สิ้นดี

นี่ถ้าเป็นแบบไทยๆ อาจมีศาลเจ้า ข้าวสารเสก และหนังควาย บวกธนู วางอยู่หน้าประตูห้อง

Related Articles

7 เรื่องฟุตบอลที่ใครอาจไม่รู้!

โจนาธาน วิลสัน นักข่าว คนเขียนบทความของ The Guardian พูดเหมือน “หมาเฝ้าบ้าน” ที่มีคนตาม follow ล้านกว่า อย่าง Henry Winter ที่ไปออกความเห็นใน GQ ว่า “ฟุตบอล” คือตลาดที่ใหญ่ที่สุด กว้างกว่า

European Super League Feature

ความเป็นไปได้อีกครั้งของ European Super League?

ในปีนี้ผมเขียนถึงประเด็นของลีกฟุตบอลในทวีปยุโรปที่นับวันจะมีความเป็นพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ มาก็หลายครั้งแล้ว แต่ยิ่งเวลาผ่านไป ก็ยิ่งมีประเด็นใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ส่อให้เห็นว่า โครงสร้างของการแข่งขันฟุตบอลลีกแบบเดิมๆ ในทวีปยุโรปนี้กำลังถูกรุกรานและคุกคามจากอำนาจของเงินตราและผลประโยชน์จำนวนหลายแสนล้านบาทที่มองไปตอนนี้ยังไงผมก็ยังเห็นกรรมวิธีการแบ่งเค้กในเรื่องของรายได้ระหว่างสโมสรในลีกยอดนิยม กับสโมสรในลีกที่ถดถอย หรือระหว่างสโมสรยักษ์ใหญ่ กับสโมสรเล็กๆ ยังไงๆ ก็คงหาจุดลงตัวได้ยาก ถ้าผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์ผมมาตลอดจะพอจำได้ว่าผมเคยเขียนถึงบรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ในลีกของยุโรปที่ถูกนายทุนและเจ้าของเงินทั้งจากสหรัฐอเมริกาเข้าไปซื้อกิจการจากเจ้าของเก่าหรือเข้าไปถือหุ้นเป็นพาร์ตเนอร์รายใหญ่สุดของสโมสรอันเนื่องมาจากโอกาสในการทำรายได้มหาศาลจากลิขสิทธิ์ค่าถ่ายทอดสดที่เราพูดกันที่ตัวเลขหลักแสนล้านบาทกันแล้วสำหรับ EPL ไม่ว่าจะเป็นสโมสร Arsenal, Aston Villa, Bournemouth, Liverpool,

“สถานีแรก” ของแฟชั่นเสื้อบอล

นิตยสาร Wired ผู้คุยว่ามักจะล้ำสมัยในเนื้อหา ได้บอกไว้ว่า โลกหลังยุคโควิด-19 หรือเรียกเท่ๆ ว่า New Normal จะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกแล้ว  ทว่า บทบาทใหม่ในโลกออนไลน์ ยังคงเป็นของ Top 4 อันไม่ได้หมายถึง แมนซิ ลิเวอร์พูล แมนยู หรือ