25 ปี Chungking Express
หนัง "ศาลพระภูมิ" ของคนหนุ่มสาว

ยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่าน… วันเวลาที่เปลี่ยนไป ก็ทำให้  “ความหมาย” ของหลายอย่าง ผิดเพี้ยนไปด้วย คำว่า “โรแมนติคฮีโร่” ก็เป็นหนึ่งในการถูกแปรและถูกแปล คลาดเคลื่อนไป

คนดูหนังยุคนี้ชอบคิดว่า โรแมนติคฮีโร่คือพระเอกที่รักการดินเนอร์ใต้แสงเทียน หรือปราบเหล่าร้ายแล้วพาเจ้าหญิงไปทำอะไรที่โรแมนติค (ส่วนหนึ่งต้องโทษสื่อ ที่ตีความออกมาผิดๆ ) อันที่จริง มันหมายถึงตัวละคร ซึ่งก็มักเป็นตัวเอก ได้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ความถูกต้อง แม้จะยอมให้ตัวตาย เพื่อผดุงความดีงามไว้ ก็ถือว่าเป็นฮีโร่ที่โรแมนติค (คนที่เรียนมาทางวรรณกรรม ควรคุ้นศัพท์คำนี้)

เพราะแท้จริงแล้ว คำของมันคือ Romance อันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการกินข้าวใต้แสงเทียนริมน้ำกับสาวๆ เลย ตัวละครที่โด่งดังมากของงานตระกูลโรมานซ์ คือ ดอน กิโฆเต้ ใน Man of La mancha ที่เมื่อเกือบ 35 ปีที่แล้ว เคยมีคณะละครสองแปดนำมาทำเป็น “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่” ที่ม. ธรรมศาสตร์

Monument of Don Quixote and Sancho in Madrid SansiriBlog
อนุสาวรีย์ดอนกิโฆเต้ และซานโช่ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “โรแมนติคฮีโร่” ของคนทั่วไปนี้เป็น “คนละอย่าง” กับการเจตนา “เปลี่ยนความหมาย” ของคนทำหนังบางคน ต่อหนังบางแนว เช่น หว่อง คาร์-ไว

ผู้กำกับที่เกิดเซี่ยงไฮ้ไปเติบโตที่ฮ่องกงคนนี้ ดังที่สุดในยุค 90s งานของเขามีลักษณะของ filmnoir ที่โดยขนบเก่า ก็จะเกี่ยวกับด้านมืดของคน อาจจะมีเซ็กส์ เงิน และการฆาตกรรม (หนังสองเรื่องที่ถือเป็นต้นไม้ใหญ่ของ “ฟิล์มนัวร์” ก็คือ The Postman Always Rings Twice กับ The Lady from Shanghai)

The Postman Always Rings Twice SansiriBlog
ภาพยนตร์เรื่อง The Postman Always Rings Twice ภาพจาก TV Guide
The Lady from Shanghai SansiriBlog
ภาพยนตร์เรื่อง The Lady from Shanghai ภาพจาก UK Chili

แต่ฟิล์มนัวร์แบบ หว่อง เขาหมายถึงรูปแบบการถ่ายทำนำเสนอ ภาพในหนังของเขาจึงมักพร่าเลือน แสดงถึงความอ่อนไหวสูง เน้นอารมณ์ความรู้สึกที่เปราะบางของตัวละครและคนดู ที่สำคัญมากและมักเป็น “จุดร่วม” ก็คือ ตัวละครต่างๆ มักเป็น “คนนอก” ของสังคม ไม่นำพา ไม่อิงแอบ ไม่วิ่งตามกับสังคมกระแสหลักใดๆ ต่อให้งานการที่ทำจะรับใช้สังคมหลักก็ตาม (เช่น พนักงานร้านฟาสต์ฟู้ด หรือ แอร์โฮสเตส รวมไปถึงตำรวจ แต่ตัวละครพวกนี้ จะไม่มีที่มาที่ไปชัดเจนอยู่ดี)

หนังเรื่องหนึ่งที่บังเอิญมาครบรอบ 25 ปีพอดีในปีนี้ และสะท้อนทุกอย่างที่ว่ามา ก็คือ Chungking Express (1994) โดยชื่อหนังมาจากการผสมคำระหว่าง จุงกิง แมนชั่น กับร้านฟาสต์ฟู้ดที่ชื่อ มิดไนท์ เอกซ์เพรส (จุงกิง แมนชั่น เป็นเกสต์เฮาส์ ราคาถูก ที่นอนแคบๆ เอาไว้ซุกหัวนอนบนฝั่งติดแผ่นดินในฮ่องกง)

โดยพล็อทอย่างย่นย่อนั้น หนังแบ่งออกเป็นสองเรื่องสั้นๆ

เรื่องแรกเกี่ยวกับ ตำรวจรหัส 223 กับนักฆ่าสาวผมทอง ที่มีอันต้องมาอยู่ในห้องนอนด้วยกันคืนหนึ่ง โดยไม่มีเซ็กส์ใดๆ ฉากหลังเรื่องแรกอยู่ในฝั่งติดแผ่นดิน ส่วนแรกนี้ได้สร้าง pop culture หรือ “ปรากฏการณ์วัฒนธรรมป๊อป” ขึ้นมาอย่างหนึ่ง คือ สับปะรดกระป๋อง หมดอายุวัน 1 พฤษภาคม

จนในเวลาต่อมา ถ้าใครพูดคำว่า สับปะรดกระป๋องหมดอายุ 1 May หลายคนจะจำได้ว่ามันมาจากเรื่องนี้ ที่มาของมันก็คือ นางเอกนั้นชื่อ เมย์ ชอบกินสับปะรดกระป๋อง ส่วนพระเอกหลังจากถูกเทโดยแฟนสาววันที่ 1 April เขาจึงตั้งหลักว่า เขาจะซื้อสับปะรดกระป๋องที่มีวันอายุ 1 May กินไปเรื่อยๆ จนครบ 30 วัน

ภาพยนตร์เรื่อง Chungking Express ภาพจาก Medium

สำหรับเรื่องที่สอง เป็นเรื่องเกี่ยวกับตำรวจรหัส 633 ที่ถูกแฟนสาวทอดทิ้งไป แต่ขณะเดียวกันเขาก็มีพนักงานสาวชื่อ เฟย์ พยายามจะเข้ามาแทนที่ แม้ว่าที่สุดแล้ว จะแทนที่ได้ นางก็ทิ้งเขาไปอีกคนอยู่ดี เรื่องที่สองนี้ ปรากฏการณ์ป๊อปที่เกิดขึ้นคือ ทรงผมสกินเฮดเท่ของ เฟย์ หว่อง และเพลงยุคเก่าอย่าง California Dreaming

ทำไมหนังเรื่องนี้ถึงดังมาก และคลาสสิค ถึงขนาดที่ว่าสำนักหนังอย่าง sight & sound เลือก Chungking Express ให้ติดหนึ่งในหนังฟิล์มนัวร์คลาสสิค (อีกเรื่องที่ถูกเลือกของเขาคือ Fallen Angel)

อย่างแรก การใช้ภาพ ถ่ายภาพ เล่าเรื่องด้วยภาพ ที่สั่นไหวพร่าเลือน แทนความรู้สึกเปราะบางอ่อนไหว อ้างว้างเดียวดายนั้น เป็นที่ถูกใจและ “โดน!” ใจคนหนุ่มสาวทุกยุค คนยุค 90 เป็นต้นมารู้สึกว่าพวกเขาเดียวดาย มีความเป็นปัจเจกสูง เข้าใจยาก และที่สำคัญมีโลกส่วนตัวในระดับเข้มข้น จน isolate เมื่อตัวละครในหนังเป็นแบบนี้ด้วย จึงเหมือนพูดแทนจิตใจเขา

Chungking Express SansiriBlog2
ภาพยนตร์เรื่อง Chungking Express ภาพจาก Medium

ประการที่สอง ในหนังมีแฟชั่นแบบยุค 90 ที่ไม่ต้องปรุงแต่งมาก ไม่ว่าจะเป็นชีวิตฟาสต์ฟู้ดแบบคนเมือง แฟชั่นแว่นตา ผมสีบลอนด์ หรือ ความโรแมนติคแบบเก่าบนเกาะฮ่องกง ทำให้คนดูรู้สึกว่านี่คือหนังที่เป็นฮ่องกงจริงๆ ไม่ใช่ฮ่องกงปรุงแต่ง ไม่ใช่ฮ่องกงประดิดประดอย จนหว่อง คาร์-ไว ถึงขนาดเคยบอกว่า เขารักเกาะฮ่องกงในยุค 70 เหมือนที่ วู้ดดี้ อัลเลน รักแมนฮัตตันในยุคเดียวกัน

ถ้าคุณอยากรู้ว่า ในช่วงเวลาหนึ่ง หรือแม้แต่ในช่วงเวลานี้

คนหนุ่มสาวในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ชอบหนังสไตล์อาร์ทๆ แบบไหน เนื้อหาที่ไม่ปะติดปะต่อ กล้องถ่ายสั่นไหว ไม่ดูประณีตแบบใด ตัวละครไม่มีที่มาชัดเจน อย่างไร แล้วทำไมถึงกลายเป็น หนังในดวงใจของคนหนุ่มสาวได้

Chungking Express คือทุกอย่างที่ว่ามา

น่าเสียดายว่าในห้วงยามที่ครบรอบ 25 ปี และมีการนำมาจัดฉาย ในหลายประเทศนั้น

“ฮ่องกง” ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องเอง กลับไม่มีเวลาทำกิจกรรมนี้ 

ในยามนี้… 

Related Articles

ปิดร้านคุย! ร้านโปสเตอร์หนังดีสุดของไทย

 ไม่ใช่เพียงนักข่าวสาวของ “วอชิงตัน โพสต์” จะบุกไปที่บ้านของเขา นักข่าวหนุ่มของ “เนชั่นกรุ๊ป” ก็ยังแอบไปปิดร้านคุยกับ “เขา”ผู้เป็น “เจ้าของพื้นที่” ร้านโปสเตอร์หนังที่ดีที่สุดของไทย ผู้ชายคนนี้มีชื่อว่า สันติ ตันติภัณฑรักษ์…เขาแฝงตัวและหลบเร้นชีวิตอย่างเรียบง่าย ด้วยการเปิดร้านซอกหลืบกว้าง 1 เมตร ยาว 4 เมตร ในสยามสแควร์

Minority ใน “วัฒนธรรมป๊อป”

ถ้าวัดกันอย่างหยาบๆ คำว่า Fanatic ถูกใช้ในวงการหนังแบบ “ติดปาก” กับหนัง Star Wars เป็นเรื่องแรกๆ ความหมายของมันคือ ลัทธิหรือสาวก แต่ไม่ใช่สาวกแฟนคลับในแบบ Harry Potter เหตุผลประการหนึ่งเพราะว่า ด้วยเนื้อหาของผลงาน จอร์จ ลูคัส นั้น มีความสลับซับซ้อนในตัวละครมากมาย

Tenet-Sansiri Blog 05

ถ้า Tenet ไม่ได้เงิน นี่คือ 5 เหตุผลสำคัญ!

มีเด็กนักเรียนนักศึกษากลุ่มหนึ่ง นั่งคุยกันว่า พวกเขาอยากนัดกันไปดูหนัง Tenet ของ “เสด็จพ่อโนแลน” ด้วยกิตติศักดิ์ร่ำลือ ถึงความลึก ล้ำ และเท่ ของผู้กำกับคนนี้ หลายพูดกันว่า คริสโตเฟอร์ โนแลน คือคนทำหนังที่ “แนว” สุดแล้วในตอนนี้ แต่จะว่าไปไม่น่าใช่ เพราะหนังแนวๆ นี้ที่แจ้งเกิดให้กับเขา