ในเรื่องของการจัดการปัญหาสังคมไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยากจน ปัญหาประชากรขาดการศึกษาที่เหมาะสม ปัญหาโรคภัยร้ายแรง หรือการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานหรือพลัดถิ่นของประชากรจากเหตุสงครามกลางเมือง สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลประเทศต่างๆ และหน่วยงานการกุศลและองค์กรระหว่างประเทศต้องประสบปัญหาคล้ายๆ กันตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาก็คือเรื่องการระดมทุนเพื่อที่จะใช้ในการดำเนินการและบรรลุเป้าหมายที่เรียกได้ว่าเป็นภารกิจสำคัญและยากไม่แพ้การจัดการปัญหาเลยทีเดียว ซึ่งโดยมากรูปแบบการระดมทุนที่เราคุ้นเคยกันมาตลอดก็จะเป็นการบริจาคเงินเข้าหน่วยงานเหล่านั้นหรือการตั้งงบประมาณของรัฐบาลที่ต้องผ่านกระบวนการแบบดั้งเดิมที่ทำกันมานานแสนนานแล้ว
นั่นคือปัญหาใหญ่ของฝั่งองค์กรและรัฐบาล ในขณะเดียวกันฝั่งของหน่วยงานหรือกลุ่มบุคคลที่อุทิศตนให้กับการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์หรือที่เรียกตัวเองว่า Social Entrepreneur ก็ประสบปัญหาในการเพิ่มศักยภาพให้กับตนเองสืบเนื่องมาจากปัญหาเงินทุนดังกล่าวข้างต้นที่ยังใช้ระบบเดิมในการระดมทุน กระบวนการยื่นขออนุมัติต่างๆ เป็นไปตามระบบระเบียบเดิมๆ ที่ถูกวางไว้เป็นศตวรรษมาแล้ว ในขณะที่อีกฟากของตลาดทุนสำหรับองค์กรธุรกิจเพื่อทำกำไรกลับมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นๆ เรื่อยๆ ยิ่งในยุคเชื่อมต่อระหว่าง 1960’s กลางๆ ถึง 1970’s ต้นๆ ที่มีการสร้าง Investment Vehicle ตัวใหม่ขึ้นมาในชื่อของ Venture Capital หรือ ธุรกิจเงินร่วมลงทุน ซึ่งได้กลายมาเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในเศรษฐกิจยุคใหม่และส่งผลให้ Entrepreneurship เติบโตอย่างรวดเร็วในกว่า 50 ปีที่ผ่านมา
ในขณะที่กลุ่มธุรกิจ Startup เพื่อทำกำไรสามารถคิดค้นพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อเติบโตไปเป็นบริษัทขนาดกลางและใหญ่ได้ด้วยเงินจาก Venture Capital แต่กลุ่ม Social Entrepreneur และองค์กรที่ไม่หวังกำไรกลับไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายแบบเดียวกัน ส่งผลให้พวกเค้าไม่สามารถพัฒนากระบวนการหรือริเริ่มไอเดียเพื่อที่จะได้ทดลองอะไรใหม่ๆ ในการจัดการปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ปัญหาบางอย่างแพร่กระจายเร็ว หรือมีการเปลี่ยนแปลง Dynamic ตลอดเวลา ทำให้เกิดความไม่สมดุลย์กันระหว่าง Problem กับ Solution ในหลายๆ ครั้ง
อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ Investment Vehicle อย่าง Venture Capital ไม่เคยได้ผลสำหรับองค์กรไม่หวังผลกำไร
ถ้าท่านผู้อ่านเป็นผู้ลงทุนในกองทุนหรือ Venture Capital ต่างๆ จะพอทราบดีว่ามีบริษัทที่ทำหน้าที่บริหารกองทุนเหล่านี้ให้ข้อมูลกับท่านในการประเมินผลการลงทุนในรูปแบบของผลตอบแทนเป็นตัวเงินหรือกำไรต่างๆ โดยตัวเลขเหล่านี้ก็ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบ audit ต่างๆ มาแล้ว รวมถึงบรรดานักวิเคราะห์ทางการเงินต่างๆ ก็มีการให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่องถึงสภาพตลาดและผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจนั้นๆ จึงไม่ใช่เรื่องยากที่ผู้ลงทุนจะตัดสินใจ ในทางกลับกันถ้าเป็นในส่วนขององค์กรไม่หวังผลกำไรนั้นการประเมินผล Impact ที่เกิดจากเงินที่ได้รับนั้นทำได้ยากและไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเป็นผลกำไรหรือราคาหุ้นให้เห็นเนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นบางครั้งไม่มีมาตรฐานดรรชนีในการตรวจจับหรือ Benchmark ที่ทำให้มองเห็นภาพ อีกทั้งผลกระทบบางครั้งเป็นผลกระทบในระยะยาวที่ยิ่งทำให้ยากในการมองเห็น
อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกเดินหน้าเข้าสู่ยุคของ Data Analytics รวมถึงเทคโนโลยีหลายๆ อย่างเช่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ Smart Phone หรือ Internet of Thing และ Sensor ที่มีราคาถูกลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การเก็บข้อมูลต่างๆ มาใช้ประมวลผลทำได้รวดเร็วและแม่นยำขึ้นอย่างมาก จากเดิมที่ต้องคอยลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์ ปัจจุบันสามารถส่งข้อมูลหรือมอนิเตอร์ Real Time ได้ในหลายรูปแบบ สามารถมองเห็น Impact ได้รวดเร็วและปรับแผนงานได้รวดเร็วทันเหตุการณ์มากขึ้น ประเด็นเรื่องของการมองเห็น Return of Investment ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่เคยเป็น เมื่อเป็นเช่นนี้ ในระยะหลังๆ เราจึงเริ่มเห็นหลายๆ องค์กรระดับโลกนำเอาแนวคิดของการระดมทุนแบบ Venture Capital ของ Silicon Valley มาใช้กันเยอะขึ้น โดย UNICEF ซึ่งเป็นองค์กรที่ผมได้มีโอกาสร่วมงานเป็นพันธมิตรด้วยนั้นก็เป็นรายหนึ่งที่กล้าจัดตั้ง Venture Capital ขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกให้กับ Startup ในประเทศกำลังพัฒนาที่มีแนวความคิดและศักยภาพในการพัฒนา Solution ที่จะมาช่วยแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในท้องที่นั้นๆ
ผมมาทราบและลองศึกษาแนวคิดนี้ของ UNICEF ภายหลังจากที่ทีมงานของบริษัทได้ไปเข้าฟังสัมมนาเรื่อง Innovation ที่อิสราเอลและมี UNICEF Venture เป็นหนึ่งใน Panel ด้วย ซึ่งมีหลายสิ่งครับที่ผมศึกษาดูแล้วเป็นเรื่องที่น่าสนใจเลยทีเดียว
อย่างแรก แนวคิดนี้ของ UNICEF เป็นการนำเอาแนวคิดในเรื่องของ Agility ความยืดหยุ่นและกล้าเสี่ยงในการลงทุนมาผสมอย่างลงตัวกับลักษณะขององค์กรอย่าง UNICEF ที่มีเครือข่ายทั่วโลกและทำให้เรื่องของการ Scale Up ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ Startup นั้นทำได้อย่างรวดเร็ว
อย่างที่สอง UNICEF Innovation Fund นั้นมีหลักแนวคิดที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการทำงานแบบ Collaborative ซึ่งส่งผลให้มีเงื่อนไขว่า Startup ที่ UNICEF Innovation Fund จะลงทุนนั้นต้องพัฒนา Solution ต่างๆ ในรูปแบบ Open Source หรือ Open Standard และ Open Data เพื่อที่จะเปิดให้ทุกคนเข้าถึงและเชื่อมต่อกับระบบอื่นๆ ได้ง่าย ข้อดีที่จะเกิดขึ้นจากตรงนี้ (สำหรับคนที่ความรู้เรื่องไฮเทคงูๆ ปลาๆ อย่างผม) ก็คงจะเป็นการที่ Solution แต่ละอันที่ได้รับเงินสนับสนุนถูกนำไปพัฒนาต่อยอดโดยคนอื่นได้ สามารถประยุกต์ Solution ที่ใช้ได้จริงแล้วกับบางประเทศบางพื้นที่ให้ใช้ได้กับสภาพแวดล้อมอื่นได้ง่าย ส่งผลให้การได้รับประโยชน์จาก Solution นั้นๆ มีวงกว้างได้เร็วขึ้น
อีกอย่างที่น่าสนใจก็คือแม้ UNICEF จะเป็นคนดูแลเงินทุน Innovation Fund นี้ แต่เมื่อลงทุนไปแล้ว UNICEF จะไม่เข้าไปมีส่วนในการถือหุ้นใดๆ ของ Startup เหล่านี้ รวมทั้งการที่ซอฟท์แวร์ต่างๆ ที่จะถูกพัฒนาขึ้นมานั้นเป็น Open Source ที่ใครก็เข้าถึงได้ไม่มีลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรแต่อย่างใด ถือว่าเป็นการลงทุนเพื่อที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานของซอฟท์แวร์และระบบต่างๆ ที่ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง
อ่านจาก Annual Report ของปีที่แล้วก็มีตัวอย่างการให้เงินลงทุนไปแล้วเช่น Startup ชื่อ mPower จากบังคลาเทศที่พยายามจะสร้างแพล็ตฟอร์มดิจิตัลในเรื่องของการมอนิเตอร์สุขภาพของแม่และเด็กและการให้วัคซีนกับเด็กอย่างเป็นระบบ ซึ่งบริษัทนี้ก็ไม่ใช่เล่นเพราะผู้ร่วมก่อตั้งก็มาจากนักศึกษา MIT และ Harvard เลยทีเดียว หรืออีกรายก็เช่น Startup ที่ทำเรื่องเกี่ยวกับโดรนส่งวัคซีนเพื่อใช้ในประเทศ Vanuatu ที่เป็นหมู่เกาะในทะเลแปซิฟิกซึ่งเข้าถึงยากทำให้เด็กในแต่ละครอบครัวมีโอกาสได้รับวัคซีนถูกต้องตามเวลามากขึ้น
ก็นับเป็นเรื่องดีมากๆ ที่เราจะได้เห็นองค์กรระดับโลกนำเอาแนวคิดแบบใหม่ๆ มาใช้กับการจัดการปัญหาสังคมที่มีมานานแล้ว ในขณะเดียวกัน โลกของ Venture Capital ที่เคยถูกมองว่าเป็นสัตว์กระหายเงินจะมีโอกาสได้เปลี่ยนมุมมองบ้าง และผมเชื่อครับว่าจะมีนักลงทุนอีกมากมายที่จะหันมาให้ความสำคัญกับแนวคิดอย่าง UNICEF Innovation Fund กันมากขึ้น
บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Post Today ฉบับเดือน พฤศจิกายน 2560
ติดตามมุมมองสบายๆ ของเศรษฐา ทวีสิน ได้ที่ คลิก