ผ้าพันคอ ผ้าพันใคร ?

การคว้าแชมป์ยุโรปสมัยที่ 6 ของลิเวอร์พูลนั้น ไม่ได้ทำให้ธุรกิจหลายอย่าง (ทั้งจริงใจและฉาบฉวย) บูมขึ้นมาเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้ “ผ้าพันคอ” ที่เสียแชมป์ให้แมนยูมานานหลายปี ได้กลับมาครองยอดขายสูงสุดอีกครั้งหนึ่ง…

โดยส่อแววว่า 2-3 ปีจากนี้ไป ผ้าพันคอหน้าสนามแอนฟิล์ดและในชอปของหงส์แดง น่าจะเป็นเบอร์ 1 อีกพักใหญ่ในแง่ยอดขาย

ภาพจาก USA Today

กระนั้นก็ดี ถ้าจะขุดคุ้ย ย้อนกลับไปถึงการทำงานของ “ผ้าพันคอฟุตบอล” นอกจากอ่านหนังสือ The Soccer Tribe ของ เดสมอนด์ มอร์ริส แล้ว เรายังต้องไปนั่งสนทนากับ “พ่อค้าผ้าพันคอ” หลาย ๆ สนามอีกด้วย

ผมมีวอทแอปของคนขายผ้าพันคอหน้าสนามบางคน และได้สอบถามหลายเรื่องเกี่ยวกับอาชีพของเขา ที่บ้านเอง ก็สะสมผ้าพันคออยู่ราว ๆ 400 กว่าผืน ซื้อหมดตั้งแต่ฟุตบอลโลก บอลยุโรป บอลพรีเมียร์ลีก หรือเอฟเอคัพ ฯลฯ

ถ้าเอาข้อมูลที่ไม่เป็นทางการ ผ้าพันคอถูกแสดงออกทีมแรก ๆ คือ อาร์เซนอลและเชฟฟิล์ดฯ (ซึ่งเมืองหลังคือสถานที่ผลิตถ้วยแชมป์ต่าง ๆ) แต่ช่วงเวลา 130 ปีของผ้าพันคอ เราต้องยอมรับว่า มันได้เดินทางไกลข้ามแม่น้ำ ภูเขา และทำหน้าที่ ที่ “เกินเลย” หน้าที่ของผ้าพันคอไปไกลมาก

ใช่ครับ เว็บ ruffneckscarves มีข้อมูลว่า แฟนปืนใหญ่ในปี 1882 เอามารัดพันลำคอเพื่อป้องกันอากาศหนาวในสนามบอล แต่ มอร์ริส บอกว่าในเวลาต่อมา ด้วยอะไรต่อมิอะไร ผ้าพันคอก็เป็นมากกว่าผ้ากันหนาว เพราะมันคือการถูกใช้เชิงสัญญะทางการเมือง เช่นการประท้วงตั๋วแพง การเหน็บข่มคู่แข่งถึงประวัติศาสตร์ เช่น ผ้าพันคอแมนยู ที่ข่มผ้าพันคอแมนซิ เกี่ยวกับจำนวนถ้วยแชมป์

ผ้าพันคอในยุคแรก ๆ เป็นสีเดียว one single club ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะเป็นแนวแฟชั่น half and half scarf ที่แบ่งครึ่ง ๆ คนละสี และถักปักวันเวลาแข่งลงไป จากนั้น ก็มีธีมของทีม เช่น เอาเทพ ตำนาน ซุปตาร์ 3-7 คนมาถักหน้าลงไป ยกตัวอย่าง เชลซีกับยุคมู หรือเบอร์ 7 จำนวน 7 คนของแมนยู ขณะที่ลิเวอร์พูลก็มีเหมือนกัน เอาตำนานผู้จัดการทีมที่พาทีมคว้าแชมป์ยุโรป มาถักหน้าตารวมกัน

ภาพจาก Manchester Evening News

แล้วใครเป็นคนออกแบบครับ ?

ธุรกิจผ้าพันคอนี่ เขามีครีเอทีฟนะครับ คล้าย ๆ พวกแท็บลอย์ดของ The Sun, The Mirror ที่จะมีครีเอทีฟคิดคำข่าวพาดหัว เล่นภาษาพ้องรูปพ้องเสียงพ้องความ แบบที่แวดวงวิชาการของอังกฤษบอกว่ามันเป็น Play a Punch คือเล่นคำกับเล่นความ

ครีเอทีฟออกแบบผ้าพันคอฟุตบอล ไม่จำเป็นต้องเป็นแฟนทีมใดทีมหนึ่ง ขอเพียงมี “ความเข้าใจ” เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของแฟนบอล และแคะ แกะ แงะ insight ที่อยู่ในใจแฟนทีมนั้น ๆ ออกมา ก็พอ แต่นี่ยังไม่ใช่ “ไม้ตาย” นะครับ เพราะ “อาวุธเด็ด” ของธุรกิจผ้าพันคอคือ ต้อง “รู้เท่าทัน” กระแสและความต้องการ

เช่น ตอนที่ลิเวอร์พูลผ่านบาร์เซโลน่าแบบโกงตาย 4-0 มา แทนที่จะรีบผลิตปั่นผ้าพันคอนัดชิงยุโรปออกมา พ่อค้าบางคนทำผ้าพันคอ ชนะ 4-0 ออกมาก่อน เพราะเขามองว่านัดชิงเหลือเวลาอีกหนึ่งเดือน ถึงเวลานั้นค่อยทำมาขาย ก็มีเวลาถมเถ

นอกจากนี้ โรงงานผลิต ก็ต้องคำนวณให้ออกว่า เมื่อสายพานมีจำกัดการขย่มแท่น เขาจะต้องผลิตอะไรก่อนดี จะผลิตแดงเดือดหรือบอลยุโรป จะผลิตบอลดาร์บี้หรือบอลทีมชาติ ถ้ามีเวลาจำกัด

สิ่งที่ผมแปลกใจมากในการเดินทางไปอังกฤษเกือบ 40 ครั้งระหว่าง 1997-2019 ไม่ใช่ผ้าพันคอใครสวยไม่สวย ขายดีไม่ดี แต่กลับเป็นแง่มุมที่แปลกไปคือ ผ้าพันคอหน้าสนามต่อเกมนั้น มีการผลิตออกมาเพียงแค่ 300 ผืนในเกมเล็ก

และ 500 ผืนใน big match !

ภาพจาก The Anfield Wrap

เกมเล็กหมายถึง ลิเวอร์พูลเจอวีแกน หรือ แมนยูพบนอริช เป็นทีมใหญ่ที่แข่งกับสโมสรไม่ดัง ผ้าพันคอพวกนี้จะขายไม่ดีครับ เหตุผลเพราะในเกมพวกนี้ แฟนบอลมองว่าไม่น่าเก็บ ทีมใหญ่ก็คงชนะสบาย ๆ และคนที่มาดู มักไม่ใช่เอเชีย แอฟริกา ที่เป็นคนซื้อหลัก ๆ ของ “ตลาดผ้าพันคอ”

คนที่ซื้อผ้าพันคอ มักเป็นแฟนบอลต่างชาติ เพราะคนอังกฤษแท้ ๆ ซื้อผ้าพันคอน้อย เนื่องจากคุ้นเคย สะดวก จะซื้อเมื่อไหร่ก็ได้ แต่คนต่างชาติ อาจมาสนามเพียง “ครั้งเดียว” ในชีวิต เมื่อเดินทางมาดู สิ่งละอันพันละน้อย อะไรก็ตาม ที่จะ recall เขาถึงประสบการณ์การมานี้ได้ เขาก็ซื้อ

ลึกไปกว่านั้น สมมติว่าผ้าพันคอเกมเล็ก แมนยูเจอนอริช ทำออกมา 300 ผืน ถ้านอริชกลับพลิกเสมอแมนยูที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด ได้ ผ้าพันคออาจเจ๊งเลยขายไม่ออก แต่ถ้าแดงเดือด ทำออกมา 500 ผืน ไม่ว่าผลจะจบลงอย่างไร แฟน ๆ สีแดงก็อยากเก็บไว้เป็นที่ระลึกว่า ครั้งหนึ่งเคยมาดู

เทรนด์ล่าสุด ที่เพิ่งเกิดขึ้นก็คือ แม้ว่าสินค้าจะเป็นผ้าพันคอฟุตบอล แต่แฟนบอลไม่ได้ซื้อมาเพื่อพันคอ เพราะซื้อมาเก็บ ซื้อมาอัดกรอบ ประกาศเกียรติคุณ ใส่เฟรม กลายเป็นของประดับบ้าน หรือถ้าจะจำแนกแยกแยะลงไปอีก การเก็บผ้าพันคอครบทุกเวอร์ชั่น ก็กลายเป็นกิจกรรมของแฟนบอลกลุ่มหนึ่งไปแล้ว

ในอนาคตอันใกล้นี้ ผ้าพันคอน่าจะเดินทางไปถึงขั้นเป็น Touting scarf ที่มาแทน เสื้อยืดล้อด่าหน้าสนาม โดยไม่ว่าจะชื่นชม ด่าทอ กันรุนแรงเพียงใด

ผ้าพันคอทุกผืนเดินทางมาจากแท่นผลิตเดียวกัน…

นั่นคือโรงงานที่เลสเตอร์และนอตติงแฮม !

Related Articles

7 เรื่องฟุตบอลที่ใครอาจไม่รู้!

โจนาธาน วิลสัน นักข่าว คนเขียนบทความของ The Guardian พูดเหมือน “หมาเฝ้าบ้าน” ที่มีคนตาม follow ล้านกว่า อย่าง Henry Winter ที่ไปออกความเห็นใน GQ ว่า “ฟุตบอล” คือตลาดที่ใหญ่ที่สุด กว้างกว่า

European Super League Feature

ความเป็นไปได้อีกครั้งของ European Super League?

ในปีนี้ผมเขียนถึงประเด็นของลีกฟุตบอลในทวีปยุโรปที่นับวันจะมีความเป็นพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ มาก็หลายครั้งแล้ว แต่ยิ่งเวลาผ่านไป ก็ยิ่งมีประเด็นใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ส่อให้เห็นว่า โครงสร้างของการแข่งขันฟุตบอลลีกแบบเดิมๆ ในทวีปยุโรปนี้กำลังถูกรุกรานและคุกคามจากอำนาจของเงินตราและผลประโยชน์จำนวนหลายแสนล้านบาทที่มองไปตอนนี้ยังไงผมก็ยังเห็นกรรมวิธีการแบ่งเค้กในเรื่องของรายได้ระหว่างสโมสรในลีกยอดนิยม กับสโมสรในลีกที่ถดถอย หรือระหว่างสโมสรยักษ์ใหญ่ กับสโมสรเล็กๆ ยังไงๆ ก็คงหาจุดลงตัวได้ยาก ถ้าผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์ผมมาตลอดจะพอจำได้ว่าผมเคยเขียนถึงบรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ในลีกของยุโรปที่ถูกนายทุนและเจ้าของเงินทั้งจากสหรัฐอเมริกาเข้าไปซื้อกิจการจากเจ้าของเก่าหรือเข้าไปถือหุ้นเป็นพาร์ตเนอร์รายใหญ่สุดของสโมสรอันเนื่องมาจากโอกาสในการทำรายได้มหาศาลจากลิขสิทธิ์ค่าถ่ายทอดสดที่เราพูดกันที่ตัวเลขหลักแสนล้านบาทกันแล้วสำหรับ EPL ไม่ว่าจะเป็นสโมสร Arsenal, Aston Villa, Bournemouth, Liverpool,

“สถานีแรก” ของแฟชั่นเสื้อบอล

นิตยสาร Wired ผู้คุยว่ามักจะล้ำสมัยในเนื้อหา ได้บอกไว้ว่า โลกหลังยุคโควิด-19 หรือเรียกเท่ๆ ว่า New Normal จะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกแล้ว  ทว่า บทบาทใหม่ในโลกออนไลน์ ยังคงเป็นของ Top 4 อันไม่ได้หมายถึง แมนซิ ลิเวอร์พูล แมนยู หรือ