ถอดรหัส Joker
"หน้ากาก" ที่ใครไม่ได้ใส่

แม้ ทอดด์ ฟิลิปส์ จะมีความตั้งใจ เทคไซด์ อย่างเต็มที่กับ supervillain เบอร์ต้นๆ อย่าง Joker แต่ผมก็เจตนาดีเลย์ การเขียนถึงหนังเรื่องนี้ ให้ช้าลง… เพื่อให้หลายๆ ท่าน ได้ไปชมภาพยนตร์ที่ทำเงินเกินคาด เรื่องนี้ก่อน

ไม่อยากชี้นำครับ และหน้าที่หนึ่งของนักวิจารณ์คือ การเชื่อมสะพานความคิด ไม่ใช่บอกว่าหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้ “ต้องดูหรือห้ามดู” สำหรับมุมมองและความคิดเห็น เราทุกคนสามารถจะเห็นต่างกันไปได้มากมายหลายมุม เพราะศิลปะคืออาร์ท มันไม่ควรถูก “กรอบ” ครอบคลุม จนต้องมีความเห็นเดียว

ตอนนี้ขอมีทัศนะการดูหนัง มาแชร์กันสัก 5 ข้อนะครับ

Joker Sansiri Blog 2
ภาพยนตร์เรื่อง Joker (2019) ภาพจาก Forbes

1. Message ที่แอบแฝง 

จะด้วยความบังเอิญหรือไม่ตั้งใจก็ตาม นักแสดงสมทบอีกคนหนึ่งของเรื่องนี้ก็คือ โรเบิร์ต เดอ นีโร ซึ่งมีภาพซ้อนทับกับ โจ๊กเกอร์ ที่แสดงโดย วาคิน ฟีนิกซ์ แถมยังมี “อะไรๆ” ละม้ายคล้ายคลึงกันอยู่ในที

กล่าวคือ เดอ นีโร นั้น เคยเล่นเป็น ทราวิส บิคเคิล ใน Taxi Driver ปี 1976 ที่บาดเจ็บมาจากสงครามเวียดนาม พูดง่ายๆ คือเป็นสิ่งตกค้างจากสงคราม และแอนตี้สังคมที่ไม่ยุติธรรม มีเพียงอาชีพที่ไม่เหมือนโจ๊กเกอร์ ทราวิส ขับแท็กซี่ เหมือนที่ โจ๊กเกอร์ (หรืออาเธอร์) เป็นตัวตลกรับจ้าง

ทั้งสองตัวละครนี้ (ทราวิสและโจ๊กเกอร์) มีจุดเหมือนจุดร่วมหลายอย่าง แต่ที่หนัง “ซ่อนไว้” อย่างเหนือชั้นก็คือ ชื่อผู้หญิง

เอาเรื่อง Taxi Driver ก่อน เด็กสาวคนหนึ่งในหนังที่แสดงโดย โจดี้ ฟอสเตอร์ มีชื่อว่า Betsy มีนัยยะถึงการเดิมพัน หรือ Bet แต่ชีวิตเธอไม่เคยได้ “พนัน” หรือมีโอกาสได้เดิมพันสักครั้ง มีแต่จนตรอก ถูกต้อน

มาถึง Joker บ้าง แม่ของ อาเธอร์ เรียกเขาว่า Happy เพื่อจะบอกว่าชีวิตของเขา มีแต่ความสุข (หรืออย่างน้อย ควรเป็นสุข) แต่สิ่งที่เป็นจริงคือ อาเธอร์แทบไม่เคยพบกับความสุขเลย จะ Betsy หรือ Happy จึงไม่เคยมีอยู่จริง และจบลงด้วย tragedy ทั้งสองเรื่อง

Taxi driver Sansiri Blog
ภาพยนตร์เรื่อง Taxi Driver (1976) ภาพจาก IMDb

2. กักและขังความเจ็บปวด

เคยสังเกตมั้ยว่า ปกติชื่อหนังที่ขึ้นมาบนจอนั้น จะเป็นฟอนท์ธรรมดา แต่ทำไม Joker ถึงขึ้นมากางยืนเต็มจอแบบเต็มตา !

ชีวิตของโจ๊กเกอร์ มีสภาพเหมือนถูกขัง ล็อคไว้ ออกไม่ได้ ตลอดทั้งเรื่องนี้ เราจึงเห็น “สัญลักษณ์” ที่โผล่มาเรื่อยๆ ในภาพของการกักขัง จองจำ ตัวอักษรชื่อ JOKER ที่ปะทะหน้าจอเต็มตาคนดูตอนเริ่มเรื่อง เป็นการบอกเราถึงการออกไม่ได้ของตัวละคร

หลังฉากนี้ ยังมีภาพเงาทับ ที่เหมือนซี่กรง ทาบลงบนตัวของเขาอีก ฉะนั้น ถ้าดูทั้งเรื่อง คุณจะเห็นการล็อค/ ปลดล็อค ออกได้/ ออกไม่ได้ สลับไปมา

joker-sansiri-blog-3
ภาพยนตร์เรื่อง Joker (2019) ภาพจาก Beartai

3. ปลดล็อคความรู้สึก ปลดปล่อยความอัดอั้น

โดยลำพังการดูหนังทั่วไปของคนดู อาจจะบอกว่าเครียดอยู่แล้ว นั่นเพราะ Joker เป็นงานแนว charactor study หรือหนังศึกษาสภาพจิตตัวละคร หนังแบบนี้ไม่ขาย “พล็อทสำเร็จรูป” เป็นส่วนสำคัญ มันเหมือนหนังยุโรป ที่มุ่งตัวละครมากกว่าพล็อท

มีฉากหนึ่งที่เสมือนปลดล็อค ปลดปล่อยคนดูออกจากกรง นั่นคือ ตอนที่ โจ๊กเกอร์ยิงใส่ผู้ชาย 3 คนในรถไฟใต้ดิน แปลกมั้ยว่า ทำไมการกระทำความชั่วของเขา จึงถูกสมยอม รู้สึกโล่ง จากคนดู นั่นเพราะว่า หนังสะสมความอึดอัดมาตลอดทาง เหมือนขังเรา พอเสียงปืนดัง และเป็นการตอบโต้กลับไปบ้าง ผู้ชมจึงเหมือนถูก “ปลดล็อค”

ใครอยากดูหนังที่คล้ายกันแบบนี้ ลองดู The Graduate ของ ไมค์ นิคลอส์

4. ความชั่วร้ายที่ไม่ต่างกับสิ่งโสมม

ขณะที่ตอนต้นเรื่องของ Taxi Driver เราได้เห็น “สิ่งชั่วร้าย” ผ่านเข้ามาในสายตา ทราวิส มากมาย ไม่ว่าจะเป็น แมงดาโสเภณี สัตว์เลื้อยคลาน น้ำสกปรกตามพื้นถนน ขณะที่ใน Joker เราได้เห็นการบรรยายต้นเรื่อง เช่นกัน คล้ายกัน นั่นคือ “กองทัพหนู”

ข่าวกองทัพหนูบุกเมือง แล้วไม่มีการจัดการที่ดีพอ ในหนังสองเรื่องนี้ ใช้ “แมงดาโสเภณี” กับ “กองทัพหนู” เหมือนกัน นั่นคือ ความโสมมชั่วร้าย ที่กำลังครอบงำเมือง

จะ ก็อตแธม หรือ นิวยอร์ค จะ Taxi Driver หรือ Joker ความชั่วร้ายก็เต็มเมือง!

Joker Sansiri Blog 5
ภาพยนตร์เรื่อง Joker (2019) ภาพจาก IMDb

5. การแบกรับไม่มองไม่เห็น

เคยสังเกตมั้ยว่า ทำไม blocking การเดินของ โจ๊กเกอร์ ถึงมักเป็นการเดินขึ้นบันได มากกว่าการเดินลง เป็นไปได้มั้ยว่า การเซ็ทเดินขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่า มันแบก มันถูกกดทับ แต่พอมีฉากเดินลง เดินราบบนพื้น กลับกลายเป็นการวิ่งหนีตำรวจ เพราะทำผิดไปเสียอย่างนั้น

Level การขึ้น ยังไม่ใช่มีแค่บันไดเท่านั้น ลิฟท์ที่ โจ๊กเกอร์ ใช้ขึ้นเพื่อไปเข้าที่พักอาศัย ก็เป็นลิฟท์ขึ้นมากกว่าลิฟท์ลง

แต่ไม่ว่าอะไรจะขาวหรือดำ ขึ้นหรือลง ผมคิดว่า ข้อผิดพลาดอย่างหนึ่งของหนังเรื่องนี้คือ การที่บทภาพยนตร์ทำการเทคไซด์ตัวเอก

ความรุนแรงเป็นเหมือนความถูกต้องที่ชอบธรรม

หรือว่า – หนังต้องการจะแดกดันว่า ที่แบทแมนกระทำนั้น ก็ศาลเตี้ย – ไม่แพ้กัน ?

Related Articles

ปิดร้านคุย! ร้านโปสเตอร์หนังดีสุดของไทย

 ไม่ใช่เพียงนักข่าวสาวของ “วอชิงตัน โพสต์” จะบุกไปที่บ้านของเขา นักข่าวหนุ่มของ “เนชั่นกรุ๊ป” ก็ยังแอบไปปิดร้านคุยกับ “เขา”ผู้เป็น “เจ้าของพื้นที่” ร้านโปสเตอร์หนังที่ดีที่สุดของไทย ผู้ชายคนนี้มีชื่อว่า สันติ ตันติภัณฑรักษ์…เขาแฝงตัวและหลบเร้นชีวิตอย่างเรียบง่าย ด้วยการเปิดร้านซอกหลืบกว้าง 1 เมตร ยาว 4 เมตร ในสยามสแควร์

Minority ใน “วัฒนธรรมป๊อป”

ถ้าวัดกันอย่างหยาบๆ คำว่า Fanatic ถูกใช้ในวงการหนังแบบ “ติดปาก” กับหนัง Star Wars เป็นเรื่องแรกๆ ความหมายของมันคือ ลัทธิหรือสาวก แต่ไม่ใช่สาวกแฟนคลับในแบบ Harry Potter เหตุผลประการหนึ่งเพราะว่า ด้วยเนื้อหาของผลงาน จอร์จ ลูคัส นั้น มีความสลับซับซ้อนในตัวละครมากมาย

Tenet-Sansiri Blog 05

ถ้า Tenet ไม่ได้เงิน นี่คือ 5 เหตุผลสำคัญ!

มีเด็กนักเรียนนักศึกษากลุ่มหนึ่ง นั่งคุยกันว่า พวกเขาอยากนัดกันไปดูหนัง Tenet ของ “เสด็จพ่อโนแลน” ด้วยกิตติศักดิ์ร่ำลือ ถึงความลึก ล้ำ และเท่ ของผู้กำกับคนนี้ หลายพูดกันว่า คริสโตเฟอร์ โนแลน คือคนทำหนังที่ “แนว” สุดแล้วในตอนนี้ แต่จะว่าไปไม่น่าใช่ เพราะหนังแนวๆ นี้ที่แจ้งเกิดให้กับเขา