แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG ซึ่งย่อมาจาก environment (สิ่งแวดล้อม) social (สังคม) และ governance (บรรษัทภิบาล) ปัจจุบันได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งจากบริษัทจดทะเบียน นักลงทุน และผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่ใครก็หลีกเลี่ยงไม่สนใจไม่ได้ในตอนนี้
จากทั้ง 3 มิติดังกล่าว นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าถ้ามองในมุมที่จับต้องได้แล้ว มิติด้านสิ่งแวดล้อม คือสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด เพราะมีกลไกการวัด ตัวเลขเกณฑ์มาตรฐาน และเป้าหมายจับต้องได้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการทางธุรกิจต่าง ๆ ปริมาณการปล่อยของเสียจากการผลิต ปริมาณการใช้กระดาษ การประหยัดพลังงานและการใช้น้ำในสถานประกอบการ การกำจัดขยะ ฯลฯ
อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่ภาครัฐเองก็ให้ความสำคัญ มีการจัดตั้งองค์กรก๊าซเรือนกระจกฯ มีการออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนการซื้อการขาย และถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต รวมถึงการตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2608 ด้วย
ในเชิงเวทีการค้าโลก เป็นที่แน่นอนว่ากฎเกณฑ์เรื่องของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะถูกหยิบขึ้นมาเป็นเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่สหภาพยุโรปจะจัดเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) สำหรับสินค้านำเข้าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
และสหรัฐก็เริ่มมีการเสนอร่างแผนจัดเก็บภาษีนำเข้าผู้ก่อมลพิษ ซึ่งรูปแบบกลไกภาษีดังกล่าวจะส่งผลให้สินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงแข่งขันได้ยาก เราเองต้องรีบกลับมามองว่ามาตรฐานการผลิตของผู้ประกอบการไทยจะสอดคล้องกับกลไกดังกล่าวหรือไม่
ไม่ใช่เฉพาะภาคการค้าระหว่างประเทศที่จะได้รับผลกระทบ เรื่องของธุรกรรมภายในประเทศเราเองก็ได้รับแรงกดดันจากมิติทางด้านสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
ยกตัวอย่างภาคธุรกิจอสังหาฯให้เห็นภาพชัด ธุรกิจนี้มีห่วงโซ่อุปทานต้นน้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่ถูกนำมาคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย (สินค้า ผลิตภัณฑ์ ที่นำมาใช้ประกอบเป็นที่อยู่อาศัย รวมถึงเชื้อเพลิงและขยะต่าง ๆ ที่เกิดจากกิจกรรมก่อสร้างที่ผู้รับเหมาเป็นคนดำเนินการ)
เมื่อมีมิติด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นปัจจัย ผู้ประกอบการจะเริ่มหันไปเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์อันมีกระบวนการผลิตที่ก่อเกิดก๊าซเรือนกระจกต่ำหรือเป็นศูนย์ หรือเลือกใช้ผู้รับเหมาที่มีเทคโนโลยีการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
แต่ในความเป็นจริง จะมีคู่ค้าสักกี่รายที่ตอบโจทย์ดังกล่าว เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่านวัตกรรมต่าง ๆ อันจะนำมาซึ่งผลิตภัณฑ์ กระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมักจะมาพร้อมกับต้นทุนที่สูงขึ้น ความได้เปรียบจะตกอยู่กับคู่ค้ารายใหญ่ที่มีศักยภาพและต้นทุนมากพอที่จะปรับกระบวนการผลิตสินค้าและก่อสร้างของตัวเองให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว
ในขณะที่ธุรกิจรายย่อยหรือ SMEs อาจจะขาดศักยภาพและเงินทุนในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตภายในกรอบเวลาที่แข่งขันได้
นอกจากนี้แล้ว ผมเชื่อว่าแรงกดดันจะทำให้ภาครัฐนำมาตรการภาษีต่าง ๆ ที่จะใช้ “ลงโทษ” คนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาบังคับใช้ในเร็ววัน ในขณะที่มาตการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี เพื่อ “จูงใจ” ให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนมาผลิตสินค้าและบริการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะมีคนได้ประโยชน์อยู่บางกลุ่ม เพราะการปรับมาใช้พลังงานสะอาด แผงโซลาร์ หรือเทคโนโลยีกำจัดของเสีย เหล่านี้มีต้นทุนสูง SMEs อาจสู้ไม่ไหว จึงเห็นได้ว่า SMEs จะเสียเปรียบทั้งขึ้นและล่องถ้าปรับตัวไม่ทัน
อันนี้ต้องขอฝากการบ้านไว้กับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย SMEs คือหน่วยธุรกิจที่สำคัญกับการเติบโตของประเทศและจ้างงานจำนวนมาก ผมคิดว่าภาครัฐควรเร่งบทบาทตัวเองในการสนับสนุนเพื่อให้ภาคธุรกิจ SMEs สามารถตัดสินใจลงทุนปรับกระบวนการผลิตด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำระยะยาว หรือสนับสนุนเงินลงทุนบางส่วนไปเลย เป็นต้น
อย่าให้แรงกดดันเรื่องสิ่งแวดล้อมทำให้ SMEs ไทยอยู่ไม่ได้นะครับ